skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
มอหินขาว: ชีวิตและจิตวิญญาณชุมชน
Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

มอหินขาว: ชีวิตและจิตวิญญาณชุมชน

มอหินขาว: ชีวิตและจิตวิญญาณชุมชน

“มอหินขาว” เป็นกลุ่มหินธรรมชาติขึ้นชื่อของจังหวัดชัยภูมิ  โดยกลุ่มหินชุดแรก คือ “เสาหิน 5 ต้น (แท่ง)” เป็นหินที่มีความสูงประมาณ 12 เมตร จำนวนหนึ่งใน 5 มีต้นหนึ่งที่มีขนาดใหญ่ขนาด 22 คนโอบ เสาหิน 5 ต้นนี้นับเป็นเสาหินที่เด่นที่สุด และเป็นไฮไลต์ของการมาเที่ยวมอหินขาว

 

อีกทั้งกลุ่มหินที่เรียกแตกต่างกันไป ทั้งเรียกกลุ่มหินโขลงช้าง หรือ “ดงหิน” เพราะมีแท่งหินรูปร่างแปลกประหลาดมากมาย มีรูปร่างคล้ายเจดีย์ กระดองเต่ารองเท้าบูท หินกลุ่มที่ 3 เป็นแท่งหินและเสาหินขนาดเล็กกระจายอยู่บนลานหินกว้างโดยลาดเอียงขึ้นไปจดหน้าผา ที่มีชื่อว่า “ผาหัวนาค”

 

แม้มอหินขาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติขึ้นชื่อและงดงาม  มีอากาศดี มีโอโซนบริสุทธิ์สูดเก็บได้เต็มปอด แต่มีความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการโดยเฉพาะ“อุทยานแห่งชาติภูแลนคา” ซึ่งยังเป็นปัญหากดทับ รุกครอบครองพื้นที่ชุมชน

 

เครือข่ายชาวบ้านรอบมอหินขาวที่ได้ผลบกระทบจากความขัดแย้งกับอุทยานแห่งชาติภูแลนคา มานานนับ 10 ปี ซึ่งมีอย่างน้อย 3 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 1 บ้านหนองฉนวน ตำบลซับสีทอง หมู่ที่ 5 บ้านวังน้ำเขียว และหมู่ที่ 9 บ้านวังคำแคน รวมประชากรประมาณ 900 กว่าครัวเรือน โดยชุมชนเหล่านี้อยู่ห่างจากมอหินขาวเพียง 5 กิโลเมตร

รายงานนี้ ตัดตอน สรุปเนื้อหาสำคัญจากงานวิจัยท้องถิ่น ชื่อ “สิทธิชุมชนมอหินขาวกับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคีเครือข่าย หมู่ที่ 1 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 9 ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเสนอต่อสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกสว.) เมื่อพฤศจิกายน 2562

 

งานวิจัยท้องถิ่นนี้ คณะวิจัยเป็นชาวบ้านที่อยู่รายรอบมอหินขาว โดยการนำของนายเจริญ  เจสันเทียะ ด้วยเหตุนี้ องค์ความรู้ แนวคิด และความต้องการจึงเป็นเสียงของ“คนใน”ที่เน้นถึงวิถีชีวิตของชุมชุน มากกว่าความต้องการของ“คนนอก” มุ่งหวังให้มอหินขาวเป็นเพียงสินค้าสนองต่อคนเมือง นักท่องเที่ยวได้มาชื่นชมในวันหยุด

 

การนำเสนอรายงานนี้ เพื่อให้เห็นที่มาที่ไปของอดีตที่ซุกซ่อนอยู่ในแหล่งท่องเที่ยวมอหินขาวอันลือชื่อของจังหวัดชัยภูมิ ดังนั้น ในปัจจุบันไปถึงอนาคตการต่อสู้ของชุมชนจึงยังไม่ยุติ ชุมชนได้รับผลกระทบจากการขายสินค้ารายได้เสริม ส่วนนักท่องเที่ยวเชิดหน้าสูดอากาศสดชื่นด้วยอารมณ์เป็นสุข

 

ชุมชนและชีวิต

ทั้ง 3 หมู่บ้านที่รายรอบมอหินขาวนั้น ประกอบอาชีพแยกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ อาชีพขายของในแหล่งท่องเที่ยว ด้านการเก็บดอกหญ้าแปรรูปทำไม้กวาด ด้านการเก็บหน่อไม้ ด้านการเก็บเห็ด การเลี้ยงสัตว์ การเก็บกลอย โดยมีมูลค่าทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากการใช้ประโยชน์จากมอหินขาวประมาณปีละกว่า 46 ล้านบาท จึงพออนุมานได้ว่า มอหินขาวคือสายเลือด คือชีวิต คือจิตวิญญาณของชาวบ้านที่นี่

 

ที่มาของชุมชนเหล่านี้ เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 2507 โดยชาวบ้านประมาณ 63 ครอบครัวได้ทำการปักหลักอยู่อาศัย และใช้ประโยชน์ในการหาอยู่หากินบนพื้นที่มอหินขาวและโดยรอบ 3,500 ไร่ กระทั่งในปี 2523 รัฐบาลยุคนั้นพยายามสลายกองกำลังคอมมิวนิสต์ในป่าเขา ได้ขอให้ชาวบ้านย้ายลงมาจากมอหินขาว และลงมาหมดปี 2542 แล้วในปี 2544 ชุมชนกับนายอำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ได้ทำข้อตกลงกันพื้นที่ 3,500 ไร่เป็นเขตพื้นที่สาธารณะ โดยชาวบ้านหรือชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ได้ แต่ไม่ได้อยู่อาศัย

ข้อตกลงร่วมของชุมชนกับราชการโดยสรุป คือ 1. ต้องการให้มอหินขาวเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างชาวบ้านและทางราชการ โดยเฉพาะการท่องเที่ยวและการค้าขาย 2. มอหินขาวถือว่าเป็นที่ของชุมชนที่แบ่งให้การท่องเที่ยวยังอยู่ในอาณาเขตของหมู่บ้านวังคำแคนและชาวบ้านต้องช่วยกันดูแลรักษาสมบัติล้ำค่าชิ้นนี้ และ 3. ชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่เดิมต้องย้ายออกและทางการจะจ่ายค่าชดเชยให้ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ส่วนวัดที่เดิมตั้งอยู่ที่มอหินขาว (บริเวณที่มีซุ้มพระพุทธรูปในปัจจุบัน) ให้ย้ายออกมาอยู่ที่วัดป่าพรหมราชศรัทธาธรรม

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าชุมชนจะไม่สามารถอยู่อาศัยในพื้นที่ 3,500 ไร่ได้ แต่สามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเลี้ยงสัตว์ การเก็บผักผลไม้ สมุนไพร หาปลา หาปู ต่าง ๆ  โดยมีโซนพื้นที่เก็บหาอาหารของชุมชนอยู่ 2 จุดใหญ่ๆ คือ

 

โซนที่ 1 พื้นที่เก็บอาหาร มีเนื้อที่ 1.48 ตารางกิโลเมตร หรือ 925 ไร่ อยู่บนภูแลนคา ติดสันด้านตะวันตก (ไม่ถึงมอหินขาว) การใช้ประโยชน์ของชาวบ้าน คือ เก็บผักกาดหญ้า ผักตองหงอง ผักเทียน กรอย ผักกอด ผักหนา ผักอีหมูบ ผักกระเจียว หนอนตายหยาก ผักอ๊อบแอบ คอแลน มะไฟป่า ลำไยป่า หมากเบ็ญ กระชาย ข่า สมุนไพร ไนมวัว ตาไก้ ตากวาง หมากพีพ่วน บักม่าง มะม่วงป่า เครืองูเห่า ม้ากระทืบโรง ย่านางแดง มะขามป้อม คลองน้ าวังเวน  มีปลาซิว ปลาอีด ปลาดุกป่า ปลาขาว กบหมื่น กบโลด กบหงอน (หายาก) หอยป่า (หอยหอมหายาก) หอยเวียน

 

โซนที่ 2 พื้นที่เก็บหาอาหารของชุมชน เป็นเขตต่อเนื่องจากโซนที่ 1 พื้นที่หาอยู่หากินบริเวณหน้าผา อยู่ฝั่งหน้าผาลงไปถึงตีนเขาด้านล่างทิศตะวันตก คิดเป็นเนื้อที่ 562 ไร่

 

เผชิญหน้าอุทยานฯภูแลนคา

ตามข้อเท็จจริงที่ได้มีข้อตกลงร่วมกันระหว่างราชการกับชุมชนเมื่อปี 2544  ถือว่ามอหินขาวตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของหมู่บ้าน เป็นสมบัติร่วมกันของชุมชน และชุมชนมีสิทธิและโอกาสในการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่

 

อย่างไรก็ตาม เมื่ออุทยานแห่งชาติภูแลนคา ประกาศเป็นอุทยานในปี 2550 เขตอุทยานแห่งชาตินี้กินพื้นที่ตั้งแต่ผาเกิง สุดแม่น้ำชี จนถึงภูหลง ภูหยวก จรดมาทางใต้ถึงผาหัวนาค ช่วงนั้นมอหินขาว กลุ่มแท่งหิน 5 แท่ง และกลุ่มหินโขลงช้าง ยังไม่เป็นเขตพื้นที่อุทยานฯ

 

ประกอบกับเป็นช่วงเวลาที่ชุมชนได้ดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเคียงคู่กับกิจกรรมวิถีชีวิตชุมชนอย่างเป็นปกติสุข แต่เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ทางการได้มีการประชุมและมีมติขอร้องให้มอหินขาวเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ ทำให้ชุมชนในพื้นที่เกิดความระส่ำระส่ายวิตกกังวล เป็นประเด็นใหญ่ที่ชุมชนในพื้นที่ช่วงนั้นถกเถียงเรื่องนี้อย่างสับสนและไม่เข้าใจต้นสายปลายเหตุที่เกิดขึ้น

 

จนในปี 2557 พื้นที่มอหินขาวส่วนหนึ่ง ซึ่งอยู่ตรงตำแหน่งที่เรียกว่า “ผาหัวนาค” ได้กลายเป็นเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคาอย่างเป็นทางการเรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นอีกไม่นาน อธิบดีกรมป่าไม้มาสำรวจมอหินขาวในพื้นลุ่มที่ที่เหลืออยู่ ซึ่งก็คือ พื้นที่ตรงจุดที่มี “กลุ่มหินโขลงช้างและกลุ่มหินแท่งใหญ่ 5 แท่ง” ตามที่หัวหน้าอุทยานแห่งชาติทำเรื่องขอผนวกร่วมกันเป็นเขตอุทยานแห่งชาติเต็มพื้นที่

 

แล้วร้านค้าขายสินค้าให้นักท่องเที่ยวทั้ง 18 ร้านของชุมชนถูกรื้อถอน ทำให้ชาวบ้านขาดรายได้ไป แม้ต่อมาไม่นานได้มีการสร้างขึ้นใหม่ เป็นอาคารอเนกประสงค์ มีห้องร้านค้า 16 ห้อง ทำให้ชาวบ้านดีใจมาก แต่กลับกลายเป็นว่า จนถึงปัจจุบันชาวบ้านยังไม่สามารถเข้าไปขายสินค้าได้เลยเนื่องจากยังไม่มีการส่งมอบอาคารจนถึงปัจจุบัน ถ้าเข้าไปขายก็จะถูกตักเตือนว่า ถ้ามีอะไรเกิดขึ้นพวกชาวบ้านต้องรับผิดชอบทั้งหมด

 

ด้วยเหตุนี้ร้านค้า 18 ร้านค้า ก็ต้องสูญเสียรายได้ไป ปัจจุบันเหลือเพียง 1-4 ร้านที่ตั้งขายอยู่เป็นประจำ โดยเฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ และเทศกาล ตั้งร้านอยู่บริเวณชายคาของอาคารอเนกประสงค์ ได้นำผลิตภัณฑ์จากการแปรรูปไม้กวาด แปรรูปกล้วยฉาบ ผลผลิตทางการเกษตร เช่น มัน เผือก ฯลฯ มาจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว

 

รายงานวิจัย ระบุว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับมอหินขาวในปัจจุบัน ชาวบ้านรู้ดีว่า ถ้าไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดให้เห็นเชิงประจักษ์แล้ว อาจจะสูญเสียพื้นที่ส่วนที่เหลือของมอหินขาวให้กับเขตอุทยานแห่งชาติภูแลนคาอีกก็ได้

 

ฉะนั้นในปี 2558 ผู้ใหญ่บ้านร่วมกับชุมชน จัดตั้งกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนามอหินขาวขึ้นมา เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นเจ้าของพื้นที่ที่เป็นของชุมชน โดยมีการจัดกิจกรรมประจำเดือนและประจำปีขึ้นมา อาทิเช่น กิจกรรมตัดหญ้า เก็บขยะล้างห้องน้ำ ที่สำคัญคือ กิจกรรมปลูกป่า โดยมี อบต.และชุมชนเข้าร่วมประมาณเดือนสิงหาคมของทุกปี

 

ด้วยความคาดหวังว่า ชุมชนเองจะมีความสามัคคี มีความเข้มแข็ง แสดงหน้าที่ในความรับผิดชอบ ด้วยสำนึกในจิตใจ แม้จะไม่มีงบประมาณมาสนับสนุนก็ตาม ซึ่งความคาดหวังของชุมชน 1) ร่วมกันรักษา ร้องขอสิทธิชุมชนคืน เพื่อพัฒนาเป็นการท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านวังคำแคน 2) ขอจัดตั้งเป็นป่าชุมชน  ถวายแด่พ่อหลวงและพระราชินี 3) ขอคืนมอหินขาวและร้านค้า 18 หลังแก่ชุมชน 4) ฟื้นฟูกิจกรรมพัฒนาป่าชุมชน การบวงสรวงมอหินขาว  การปลูกป่าและอื่นๆ

 

กำเนิดท่องเที่ยวมอหินขาว

ในปี 2544 มีเวทีประชุมร่วมกันระหว่างชาวบ้านกับทางการ นำโดยนายสุรพล สายพันธ์ นายอำเภอเมือง มีความเห็นร่วมกันว่าอยากทำมอหินขาวให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

 

ถัดจากนั้น ในช่วงปี 2546 – 2547 กรมป่าไม้ร่วมกับชุมชนมีกิจกรรมปลูกป่ากันอย่างต่อเนื่อง ช่วงนี้เองเริ่มมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวชมมอหินขาวกันมากขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนจึงเห็นเป็นโอกาส จึงได้มีการจัดตั้งกลุ่มโฮมสเตย์ขึ้นในปี 2548 โดยมีนายจวน หนองสระ เป็นประธานกลุ่ม หลังจากนั้นไม่นานก็เกิดกลุ่มอาชีพผลิตข้าวเกรียบฟักทอง กล้วยฉาบ มันฉาบ เป็นต้น

 

การท่องเที่ยวทำให้ชาวบ้านได้มาตั้งร้านขายของบริเวณมอหินขาว ประมาณทั้งหมด 18 ร้าน ได้แก่ ร้านขายที่ระลึก ของกินของอยู่ ของเบ็ดเตล็ด เต้นท์ ซึ่งสามารถสร้างรายได้จากการที่มีนักท่องเที่ยวมา โดยปีๆ หนึ่ง ร้านค้าสามารถสร้างรายได้ครอบครัวหรือร้านละ 100,000 บาทต่อปี หรือประมาณ 1,800,000 บาทต่อปีเป็นรายได้เสริมเข้าครัวเรือนชุมชนรายรอบมอหินขาว

 

นอกจากนี้ชุมชนยังพัฒนาการท่องเที่ยวร่วมกันตลอดทั้งปี 2560-2561 โดยใช้สโลแกนว่า “ท่องเที่ยวมหานครกลางหาว มอหินขาว ภูแลนคา” ซึ่งชาวบ้านได้ใช้ชื่อการรวมตัวครั้งนี้ว่า “เครือข่ายการท่องเที่ยวโดยชุมชนนครกลางหาว” โดยมีชาวบ้านหมู่ที่ 1 หมู่ที่ 5 และหมู่ที่ 9 บริเวณมอหินขาว ตำบลท่าหินโงม ได้เกิดความตื่นตัวลุกขึ้นมาจัดการท่องเที่ยวร่วมกัน ทำให้เห็นว่า ชุมชนมีความตระหนักในเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากร และอยากร่วมกันดูแลรักษาอนุรักษ์และฟื้นฟู

 

ชุมชนกับความคับข้องใจอุทยานฯ

ในรายงานวิจัย ระบุถึงชาวบ้านข้องใจเรื่องการผนวกคับข้องใจอย่างมาก จากคำบอกเล่าของนายเจริญ เจสันเทียะ อดีตผู้ใหญ่บ้าน เล่าว่า “การผนวกพื้นที่ไม่มีแผนที่สักฉบับให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้รับรู้เขตแดนที่จะผนวก ส่วนไหนชาวบ้านจะใช้ได้ ส่วนไหนใช้ไม่ได้ ถ้าอุทยานบอกว่าจะผนวกสองพันไร่ (เรื่องนี้ชาวบ้านยังมีความเข้าใจไม่ตรงกัน บางคนบอกว่าพันกว่าไร่) แต่นอกเขตทำไมห้ามด้วย ชุมชนบนพื้นที่ 3,500 ไร่ เหตุใดจึงไม่สามารถเข้าไปใช้ประโยชน์ได้อีกเลย”

 

นอกจากนี้นางสันหทัย เกาะกลาง  กล่าวว่า “ตอนนี้ทุกอย่างเก็บไม่ได้ แม้แต่ยอดขี้เหล็กก็ยังไม่กล้าเก็บไปกิน เหมือนเป็นการลงโทษจากทางอุทยาน ขณะที่ยังไม่ประกาศเป็นเขตอุทยานฯ ก็ห้ามไปหมด เช่น ห้ามเก็บเห็ด ทางไปไร่ไปสวนไปวัดก็ลำบาก ผิดโน่นผิดนี่ ตั้งแต่รั้วกั้น ขายของไม่ได้ตามปกติ มีส่วนร่วมพัฒนาก็ไม่ได้ เช่น เคยตัดหญ้า ก็ไม่ได้ ขู่จับ” แม้แต่ทาง อบต.เองก็ไม่มีเอกสารสักชิ้นที่ระบุว่าเป็นแผนที่การผนวกมอหินขาวอยู่ในองค์กร”

อีกอย่างตามที่เคยตั้งร้านขายของ 18 ร้าน เมื่อมีการประกาศการผนวกก็ถูกรื้อถอนออก บอกว่าจะสร้างอาคารอเนกประสงค์ให้ แต่เมื่อสร้างเสร็จก็ไม่มีการส่งมอบ อาคารก็เป็นอาคารร้าง แต่ปัจจุบันมีชาวบ้านเข้าไปขายของประมาณ 1-4 ร้าน ในบริเวณอาคารร้างนั้น (บริเวณลานจอดรถ)

 

รวมถึง แนวคิดที่ไม่ตรงกัน จึงไม่เกิดส่วนร่วมในการบริหารจัดการมอหินขำวร่วมกัน ท่านหัวหน้าอุทยานแห่งชาติภูแลนคา มีแนวคิดว่า “ท่องเที่ยวเป็นที่ของรัฐไม่ได้เป็นของใครเลย”ดังนั้น แนวคิดการทำท่องเที่ยวโดยชุมชน ที่ชุมชนและเครือข่ายต้องการทำ จึงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย  ถ้าอยู่แบบนี้ไม่ใช่อยู่ด้วยการร่วมกันสร้างสรรค์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน มันอยู่อย่างตัวใครตัวมัน ใครมีอำนาจหน้าที่เป็นผู้ตรวจก็จับเอา

 

ขอวิถีชีวิตกลับคืน

เนื่องจากข้อข้องใจหลายๆ ประการ และผลกระทบที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิตชุมชน การพึ่งพาอาศัยหาอยู่หากินบนพื้นที่ รวมทั้งผลกระทบด้านเศรษฐกิจ อาชีพที่เกี่ยวข้องกับมอหินขาวได้หายไป รวมมูลค่าทั้งสิ้นปีละ 46 ล้านบาท จึงเกิดการร้องเรียนคัดค้านจากชาวบ้านมอหินขาวมาโดยตลอด สิ่งที่ชุมชนต้องการ คือ พื้นที่เป็นป่าสงวนชุมชนและการท่องเที่ยวชุมชน

 

พื้นที่ป่าสงวนชุมชน เป็นพื้นที่ที่สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ ในรายงานวิจัยระบุว่า การอยู่กับป่าไม้ดีแบบไหน  คือเขาสามารถทำข้อตกลงกับกรมป่าไม้ในการขอดูแลพื้นที่ เช่น วัดสุคะโต มีแค่ 15 ไร่ในการตั้งวัด แต่วัดมีเนื้อที่ 500 ไร่ที่เหลือเป็นป่า ทำข้อตกลงการฟื้นฟูว่า การอนุรักษ์ป่า  พื้นที่ที่เหลือเราปลูกฟื้นฟู นี้คือข้อตกลงที่เกิดขึ้น

 

รายงานวิจัยท้องถิ่น ระบุว่า ชุมชนมีมติร่วมกัน เราจะทำท่องเที่ยวชุมชน  มีโฮมสเตย์รอบห้วย ในช่วงแรกคนมาพักเยอะ แต่ช่วงเข้าปีที่ 3 เริ่มไม่มีคนเข้าพัก  เพราะชาวบ้านคิดว่าการท่องเที่ยวคนจะมาทุกวันซึ่งไม่ใช่ ถ้าเราเปรียบเทียบกับการท่องเที่ยวชุมชนจะมาเป็นฤดูกาล  ดังนั้นชุมชนจึงต้องเข้มแข็ง  จัดการรวมกลุ่มกัน

“มอหินขาว” เป็นมรดกเม็ดงามของชาวชัยภูมิที่คนไทยทั่วไปเริ่มรู้จักมากขึ้น มีระบบนิเวศที่มีลักษณะเฉพาะตัวที่น่าศึกษา มีก้อนหินมากมายหลากหลายรูปแบบที่แปลกตา มีกล้วยไม้ที่สวยงามหาดูจากที่อื่นได้ยาก

 

ในปัจจุบันมอหินขาวมีส่วนหนึ่งอยู่ในความดูแลของอุทยานแห่งชาติภูแลนคา ตรงตำแหน่งที่เรียกว่า “ผาหัวนาค” แต่ในพฤติการณ์แล้ว เสมือนอุทยานแห่งชาติได้ครอบทับเอาพื้นที่หิน 5 แท่ง และกลุ่มหินโขลงช้างเข้าเป็นเขตของอุทยานด้วย

 

ดังนั้น ชุมชนจะต้องเสียพื้นที่ทำกิน ไร่สวนของชุมชนจะเปลี่ยนแปลง และเกิดผลกระทบอย่างมากกับวิถีชีวิตและจิตวิญญาณธรรมชาติ…. “มอหินขาว”ผู้คน นักท่องเที่ยวธรรมชาติต้องได้สัมพันธ์ รับรู้ชีวิตชุมชนที่ถูกอุทยานกดทับไว้

 

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top