skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
Soft Power เมื่อรัฐฮุบเคลม“มิลลิ”

Soft Power เมื่อรัฐฮุบเคลม“มิลลิ”

Soft Power เมื่อรัฐฮุบเคลม“มิลลิ”

 

ปรากฎการณ์สาวน้อยวัย 19 ปี “มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล” ศิลปินเดี่ยวสัญชาติไทยคนแรกโชว์ร้องเพลงแร็ปบนเวทีโคชเชลลา (Coachella) คอนเสิร์ตระดับโลก ได้สั่นสะเทือนให้ “ข้าวเหนียวมะม่วง” ขายดิบขายดี เกิดกระแสฟีเวอร์ไปทั่วประเทศ

 

อีกทั้งกระตุ้นชาวต่างชาติให้ลิ้มชิมรสขนมผสมผลไม้อันขึ้นชื่อของไทยได้โด่งดังหลังซบเซาฉุดราคามะม่วงให้พ้นความตกต่ำดิ่งเหวจนชาวสวนนำไปเททิ้ง พร้อมเรียกร้องกดดันให้รัฐบาลรีบหามาตรการช่วยเหลือเร่งด่วน แต่ก็ขยับเขยื้อนอืดอาดตามเดิมและชินชา ส่วนมิลลิคือ ผู้มาช่วยเกษตรกรได้ทันฤดูข้าวเหนียวมะม่วง

 

กระแส “มิลลิ” พุ่งแรงถึงขั้นสถานทูตต่างๆ ของไทย ได้โปรโมทข้าวเหนียวมะม่วงให้เป็นที่รู้จักของชาวต่างชาติมากขึ้น สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกา ประจำประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊ก ยกย่องชื่นชมข้าวเหนียวมะม่วง สุดปัง! และระบุว่า ขนาดอดีตประธานาธิบดีทั้ง 4 ยังอยากขอลองชิม

 

ยังมีอีก เพจเฟซบุ๊กสถานทูตสวีเดนประจำประเทศไทย โพสต์คลิปนายยอน ออสเตริม เกรินดาห์ล เอกอัครราชทูตสวีเดนประจำประเทศไทย ชิมข้าวเหนียวมะม่วง พร้อมคำชมว่า อร่อยมาก แล้วนับนิ้วให้คะแนน 9 จากเต็ม 10

 

รมต.ออกปากชม-ขอบคุณมิลลิ

ไม่เพียงเท่านั้น รมช.เกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ โพสต์ชมมิลลิ ที่ช่วยยกระดับมะม่วงของเกษตรกรขายออกได้ราคาสูงขึ้น ว่า “ขอบคุณน้องมิลลิค่ะ ไม่งั้นพี่คงช่วยเกษตรกรซื้ออีกหลายตันเลยค่ะ” คำชื่นชมของ รมช.เกษตรฯ ท่านนี้ บ่งบอกได้เป็นอย่างดีและสิ้นสงสัยกับมาตรการของรัฐบาลที่ปล่อยให้เกษตรกรเสี่ยงชีวิตกับราคาตกต่ำกันตามลำพัง การช่วยเหลือแค่ซื้อด้วยเงินส่วนตัวเป็นครั้งคราวตามฐานคะแนนเสียง แต่นั่นเป็นวิธีที่ไม่ได้ยับยั้งความเดือดร้อนสาหัสของชาวสวนมะม่วง

 

 

อาการฟีเวอร์ของมิลลิมาแรงเช่นนั้น มีรายงานว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกผลไม้อันดับ 7 ของโลก และมะม่วงถือเป็น 1 ใน 5 ของผลไม้ส่งออกของไทย ที่เป็นที่นิยมของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะตลาดในเอเชียเป็นผู้ค้าอันดับต้นๆ กลับมามีความคึกคักให้กับพ่อค้า แม่ค้า ที่มีลูกค้ามาอุดหนุนกันอย่างคับคั่ง แน่ละความฮือฮาเช่นนี้ย่อมส่งไปถึงชาวสวนมะม่วงได้ขายผลผลิตมีราคาที่น่าพอใจทั้งในตลาดต่างประเทศและในประเทศ

 

นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน ถึงกับออกปากว่า มะม่วงน้ำดอกไม้ราคาพุ่ง 10 บาท โดยกระแสมิลลิทำให้เกรดคุณภาพมีราคาขึ้น อยู่ที่กิโลกรัมละ 25-35 บาท จากปี 2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ 22-25 บาท ส่วนเกรดคละกิโลกรัมละ 11-13 บาท จากปี 2564 อยู่ที่กิโลกรัมละ 8-12 บาท

 

รัฐบาลชู  Soft Power ร่วมเคลม

ยังไม่พลาดอีกตามเคย เป็นการขยับลู่ตามกระแสมิลลิของรัฐบาล โดย “ธนกร วังบุญคงชนะ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี อ้างว่า มิลลิเป็นอีกหนึ่งศิลปิน/เยาวชนไทย ที่ช่วยส่งเสริม ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) ของไทย ให้เป็นที่รู้จักทั่วโลกตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งก็ว่ากันไปตามสไตล์ควบรวบประโยชน์ของอำนาจบังคับคุมแข็งที่เป็นมาจนมึนชิน

 

ดังนั้น การควบรวมมิลลิเข้ากับซอฟต์พาวเวอร์ อาจบ่งถึงการรักษาหน้าของรัฐบาลที่สามารถผลักดันนโยบายซอฟต์พาวเวอร์ ให้เป็นจริงจังขึ้นจนสำเร็จ หรืออย่างน้อยสะท้อนผ่านผู้แสดงที่ถูกดึงรวบมาเป็นส่วนหนึ่งในเชิงนโยบาย จนผู้คนแตกตื่นกับข้าวเหนียวมะม่วง รวมถึงก่อนหน้านี้มี “ลิซ่า-ลลิษา มโนบาล” นักร้องหญิงผู้ปลุกวัฒนธรรมท้องถิ่นอีสานและลูกชิ้นยืนกินในจังหวัดบุรีรัมย์ ขายดีเป็นเทน้ำเทท่า และโด่งดังรู้จักกันทั่วประเทศ โดยกระแสเช่นนี้ล้วนถูกอธิบายในชุดความคิดเชิงนโยบายแบบซอฟต์พาวเวอร์ เพื่อให้ตลาดทำตามอย่างสมัครใจตามอำนาจต้องการ

 

แม้อำนาจแบบซอฟต์พาวเวอร์ เป็นอำนาจมุ่งให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ เป็นอำนาจอันละมุน อ่อนนุ่ม ชักชวนให้เกษตรกรได้ประโยชน์ แต่ถูกฮุบเอามาสู่อำนาจแข็งกระด้างอย่างไม่รู้สึกรู้สา ทั้งที่สังคมท้วงติงตำหนิว่า อำนาจรัฐไม่ได้ส่งเสริมให้เป็นจริงเป็นจัง เพราะดัชนีซอฟต์พาวเวอร์ของไทยในปี 2565 ล่นลงมาอยู่ที่อันดับ 35 จาก 120 ประเทศของโลก ต่ำกว่าสิงคโปร์ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน

 

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับอันดับที่ลดลงนั้น บทความของทีดีอาร์ไอ ตั้งข้อสังเกตว่า อาจแสดงให้เห็นว่ามีประเทศอื่น ๆ แซงไทยขึ้นมา เช่น ประเทศอียิปต์ ประเทศบราซิล ประเทศอินเดีย และประเทศแอฟริกาใต้ ฉะนั้นซอฟต์พาวเวอร์ที่สะสมมาหากไม่หาทางเติมเพิ่ม อันดับของไทยจะลดลงไปเรื่อย ๆ พร้อมกังวลถึงอันดับที่ตกลงอาจหมายความถึงความน่าดึงดูดของประเทศที่ลดลง ที่อาจทำให้รายได้ของประเทศจากมูลค่าทางเศรษฐกิจลดลงด้วย

 

เปิดกว้างตีความ-ขยายฐาน“ความเป็นไทย”

วันนี้ไทยมีจุดเด่นเรื่องอาหาร ท่องเที่ยว และการบริการ ขณะที่กระแสซอฟต์พาวเวอร์ของข้าวเหนียวมะม่วง 1 ใน 50 ขนมหวานที่ทั่วโลกชื่นชอบ โดยเฉพาะผู้คนในแถบเอเชียและยุโรปบางส่วน ซึ่งมิลลิได้ใช้เครื่องมือผ่านบทเพลงบอกเล่าของดีเมืองไทยให้ผู้คนแตกตื่นกันอีกครั้ง แต่จะยืนระยะจนลงรากหยั่งเป็นอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ได้แค่นานไหน คำตอบจึงอยู่ที่การเอาจริงของรัฐบาลเป็นด้านหลัก

 

 

เมื่อซอฟต์พาวเวอร์เป็นเครื่องมือการตลาดที่มีความสำคัญแล้ว บทความน่าสนใจของ ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ นักวิชาการ ทีดีอาร์ไอ มีความเห็นว่า หากภาครัฐต้องการจะสนับสนุนการใช้ซอฟต์พาวเวอร์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสร้างชื่อเสียงแก่ประเทศไทย ภาครัฐจำเป็นจะต้องคำนึงว่า วัฒนธรรมเป็นสิ่งที่ขายได้ตลอด ถ้าเกิดรู้จักการสร้างคุณค่า

 

ดังนั้น การจะพัฒนาวัฒนธรรมไทยให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ขายได้ ภาครัฐจำเป็นจะต้องเปิดโอกาสให้เกิดการสร้างคุณค่าขึ้นอย่างหลากหลาย มิควรเข้าไปห้ามหรือแทรกแซงพัฒนาการทางวัฒนธรรมดังที่เคยเกิดขึ้นหลายกรณี แต่ควรช่วยโปรโมทและโฆษณาวัฒนธรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ เช่น การออกมาชื่นชม เป็นต้น

 

“ส่วนปรากฎการณ์ซอฟต์พาวเวอร์ข้าวเหนียวมะม่วงจะเป็นกระแสระยะยาว หรือกระแสระยะสั้น เราปฏิเสธไม่ได้ว่ามิลลิ เพลงของเธอ และข้าวเหนียวมะม่วงก็มีส่วนในการกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ เห็นความสำคัญของการสร้างซอฟต์ พาวเวอร์มากขึ้น”

 

 

ในอีกด้านหนึ่ง มีมุมมองว่า ทำไมมิลลิไม่นำสิ่งที่ “ไทยกว่านั้น” ขึ้นไปแสดง การกะเกณฑ์และยึดเอกลักษณ์ความเป็นไทยแบบเดิม ๆ อาจเป็นห่วงผูกคอ มากกว่าเป็นการใช้ความเป็นไทยมาเสริมแรงการทำแบรนด์ของประเทศ การตีกรอบที่แคบทำให้การเปลี่ยนแปลงและปรับเปลี่ยนความเป็นไทยในมุมใหม่ ๆ ไม่เกิดขึ้น และ “ความเป็นไทย” อาจเข้าถึงได้ยากสำหรับคนในยุคปัจจุบัน

 

“ความเป็นไทย” มีได้หลากหลายรูปแบบ และสามารถถูกตีความได้โดยคนไทยเอง หรือคนต่างชาติที่มองเราเข้ามา เพราะฉะนั้น “ผู้สืบทอด” วัฒนธรรม ต้องมีความยืดหยุ่นในการตีความและการปรับใช้ ข้อสังเกตอีกประการจากการทานข้าวเหนียวมะม่วงของมิลลิ คือ การโปรโมทความเป็นไทยที่ไม่ได้ยัดเยียดความเป็นไทยแบบเดิม ๆ ที่บางครั้งคนในชาติเองยังเข้าไม่ถึง หรือเข้าใจได้ยาก ส่วนนี้ไม่ได้บอกว่าศิลปะวัฒนธรรมเก่าแก่ที่ควรอนุรักษ์ต้องถูกละทิ้งไป แต่การทำให้ความเป็นไทยร่วมสมัยมากขึ้น หรือใช้สื่อที่หลากหลายมากขึ้นจะทำให้คนในวงกว้างมีความรู้สึกร่วม (engaged) มากขึ้นด้วย

 

ในปัจจุบัน การตีความ “ความเป็นไทย” เป็นสิ่งที่สามารถ “ไหล” ได้ง่ายมาก ซึ่งการยอมรับสิ่งนี้ ทำให้เราก้าวทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยเฉพาะในยุคที่การสื่อสารมีหลายช่องทาง และการเล่าเรื่องมีได้หลายรูปแบบ การสื่อสารศิลปะ วัฒนธรรมของประเทศใด ๆ ที่มีจุดเชื่อมโยงกับประเทศ หรือสังคมอื่น ๆ ได้มาก มักจะได้รับความนิยมมากด้วย

 

นอกจากนี้ การยึดติดว่าคนไทยเท่านั้นที่สามารถขายความเป็นไทยในมุมต่าง ๆ ได้ อาจเป็นแนวคิดที่ยังแคบเกินไป เพราะเมื่อศิลปินชาติอื่นใช้ของที่มาจากไทย เอาความเป็นไทยไปตีความและนำเสนอในมุมใหม่ ๆ ก็ทำให้โลกรู้จักประเทศเรามากขึ้นเหมือนกัน เช่น ยูทูบเบอร์ชื่อดัง Uncle Roger ที่ไม่ใช่คนไทย แต่นำเสนอความไทยจากการคอมเมนต์อาหารไทย ก็ทำให้ชาวโลกเข้าใจความเป็นอาหารไทยมากขึ้น

 

“หากรัฐบาลต้องการยกระดับซอฟต์ พาวเวอร์ของประเทศ การอนุรักษ์สิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องเดินให้ทันสิ่งที่ร่วมสมัยด้วย ที่ผ่านมาประเทศไทยมีผลงานร่วมสมัยที่สร้างชื่อเสียงบ้างแล้ว และสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น T-POP ซีรีส์วาย หรือผลผลิตจากวงการภาพยนต์ เป็นต้น” ดร.ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์ ตั้งข้อสังเกตุ

 

 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top