skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
LFC ผู้นำ สร้างความเปลี่ยนแปลง  แล้วหนึ่งบวกหนึ่ง จะไม่เท่ากับสองอีกต่อไป

LFC ผู้นำ สร้างความเปลี่ยนแปลง แล้วหนึ่งบวกหนึ่ง จะไม่เท่ากับสองอีกต่อไป

ในการเสวนาหัวข้อLFC รวมรุ่น สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” ในงาน “15 ปี สัมมาชีพ สานพลังไทย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” เหล่าตัวแทนผู้จบหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change – LFC) ซึ่งเป็นหลักสูตรที่ดำเนินการโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ได้มาถ่ายทอดมุมมองถึงประโยชน์ที่จากการอบรมหลักสูตรนี้ โดยเฉพาะการนำไปขยายผลสร้างสัมมาชีพในพื้นที่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันมีผู้จบหลักสูตรนี้ราว 1,500 คน จากจำนวน 14 รุ่น

“มงคล ลีลาธรรม” ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพและประธานชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง กล่าวว่า หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change – LFC) นับว่ามีส่วนสร้างผู้นำเพื่อนำการเปลี่ยนแปลง เข้าไปแก้ปัญหาสังคม เปรียบเสมือน “คานงัด” ที่ศ.นพ.ประเวศ วะสี (ผู้ก่อตั้งมูลนิธิสัมมาชีพ) กล่าวไว้ โดยผู้นำจะต้องเริ่มจากการเข้าไปสร้างความสามัคคีให้เกิดขึ้นในชุมชนนั้นๆ ก่อนจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงที่ดีผ่านการเชื่อมโยงภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ต้องเป็นผู้นำเพื่อสร้างความสามัคคีให้กับชุมชน เชื่อมรัฐ เอกชน ประชาสังคม ร่วมกันเป็นคานงัด จึงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีขึ้น”

“มงคล” ยังเห็นว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรทางการเกษตร เป็นจุดแข็งของประเทศ ทำให้ยังมีอนาคต ยังมีความหวังในการผลักดันเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเศรษฐกิจในภาคการเกษตรให้แข็งแกร่ง จากปัจจุบันภาคการเกษตรขับเคลื่อนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) สัดส่วนเพียง 6 -10% หากสามารถเพิ่มเป็น 30% ได้ เศรษฐกิจไทยจะเปลี่ยนไปทันที

“เราอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า สุวรรณภูมิ จริงๆ เราเป็นแหล่งน้ำ แหล่งข้าวของโลก เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพอยู่แล้วในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการเกษตร ผมเคยไปดูแปลงสาธิตข้าวที่จังหวัดพิจิตร รู้ไหมว่าข้าว 1 เมล็ดปลูกแล้ว สามารถขยายเป็นกอ เป็นเกวียนได้ ทำให้จำนวนเมล็ดข้าวเพิ่มขึ้นจาก 1 เมล็ด กลายเป็น 34,000 เมล็ด หรือ 1 เกวียนได้ภายในระยะเวลา 6 เดือนของรอบการปลูก นี่คือมูลค่าเพิ่มของคานงัดที่ธรรมชาติให้กับประเทศไทย

เรื่องนี้ถ้าสามารถนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่ชุมชนให้มากขึ้นกว่านี้ ก็จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจรากฐาน ซึ่งจริงๆแล้วเราก็เข้าไปทำแล้วในหลายชุมชน”

ประธานชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ยังยกตัวอย่างถึงความมุ่งมั่นในการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ว่า เมื่อ 2,000 กว่าปีที่ผ่านมา มีนักปราชญ์กรีก อาร์คิมิดิส เคยกล่าวไว้ว่า “ฉันสามารถเปลี่ยนโลก หรือให้โลกหมุนไปได้ ขอเพียงให้สถานที่ฉัน และให้โอกาสให้ฉันอยู่ได้”

นี่คือความมุ่งมั่นที่อยากจะถ่ายทอดสู่ผู้จบหลักสูตรนี้เพื่อร่วมกันสร้างการเปลี่ยนปลงให้เกิดขึ้นกับประเทศไทยในทศวรรษหน้า คือเรื่องอาหารแห่งอนาคต เรื่องเกษตรอินทรีย์ อาหารสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ที่ประเทศไทยมีศักยภาพ

“ต่อให้โลกมีปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ เราก็ยังแข็งแกร่งได้ เงินทองเป็นเรื่องมายา ข้าวปลาอาหารเป็นเรื่องแท้จริง ประเทศไทยจึงไม่มีอะไรที่เหมาะสมเท่ากับการสร้างมูลค่าเพิ่มภาคเกษตร ต้องเชื่อมรัฐ เอกชน จุดเริ่มต้นที่ดีที่สุดคือชุมชน ซึ่งชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจะประกาศพันธมิตรเศรษฐกิจท้องถิ่นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อมีส่วนสร้างความแข็งแกร่ง เปลี่ยนแปลงประเทศ สังคม ชุมชน ให้ดีขึ้น” มงคล กล่าว

 

**แนวคิดสัมมาชีพ ต้นแบบ

หมู่บ้านสัมมาชีพกว่า 7 หมื่นแห่ง

“มนทิรา เข็มทอง” ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาทุนและองค์กรเงินทุนชุมชน กรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย (LFC รุ่นที่ 3) กล่าวว่า ได้นำหลักการสัมมาชีพ หรือการประกอบอาชีพที่ไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น และสิ่งแวดล้อม มีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ซึ่งได้รับจากการอบรมหลักสูตร LFC ไปเป็นแนวคิดในการของบประมาณจากภาครัฐ พัฒนาหมู่บ้าน ในความรับผิดชอบของกรมการพัฒนาชุมชน จำนวน 73,032 หมู่บ้าน ให้กลายเป็น หมู่บ้านสัมมาชีพ

“ดิฉันเรียน LFC รุ่นที่ 3 ออกสตางค์เรียนเอง เพราะต้องการความรู้ วิธีคิด เพื่อน แสวงหาทรัพยากรไปต่อยอดในการพัฒนาชุมชน ตอนนั้นดิฉันเป็นผู้อำนวยการกลุ่ม จึงเสนอแผนเพื่อของบประมาณสนับสนุนจากรัฐ จนได้งบมากว่าพันล้านบาทในการอบรมและพัฒนาชาวบ้านสู่การเป็นหมู่บ้านสัมมาชีพทั่วประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงมหาดไทย คือการสร้างความมั่นคงภายใน เพื่อทำให้คุณภาพชีวิตผู้คนดีขึ้น โดยสอนให้ชาวบ้านคิดเป็น ทำเป็น จากนั้นชาวบ้านจึงค่อยไปกู้เงินมาลงทุน ซึ่งมีกองทุนมากมายที่ปล่อยกู้ในเรื่องเหล่านี้ แต่เริ่มต้นจะต้องคิดเป็น คิดให้ได้ก่อน” “มนทิรา” กล่าว

 *ปลุกเศรษฐกิจชุมชน

ลดปัญหาเขาหัวโล้น จ.น่าน

“ฑิฆัมพร กองสอน” ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ อ.นาน้อย จ.น่าน และผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน (LFC รุ่นที่ 4)  ซึ่งได้รับรางวัลปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2567 กล่าวว่า หลังการอบรม LFC ได้เปลี่ยนวิธีคิดตนเอง จากความมุ่งมั่นโดยลำพังที่จะพัฒนาพื้นที่ เป็นการ “สร้างความร่วมมือ” จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาเกษตรอินทรีย์ที่ต้องใช้ “องค์ความรู้” นำชาวบ้านให้เปลี่ยนวิธีคิด ที่สำคัญจะต้องเป็นการเพาะปลูกที่ “สร้างรายได้” ให้ชาวบ้านลืมตาอ้าปากได้

เมื่อชาวบ้านมีความสุขในการดำรงชีวิต จะมีใจร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อมในภาพรวมของพื้นที่ตามมา โดยเฉพาะการลดพื้นที่เขาหัวโล้นจากการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ในอดีตของจังหวัดน่าน

“คำว่าสัมมาชีพต้องไม่เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่น ดูแลสิ่งแวดล้อม จึงเกิดโครงการ 1 ไร่เกษตรอินทรีย์ขึ้นในปี 2559 เพื่อให้ชุมชนมีน้ำมีป่า นั่นคือการส่งเสริมเกษตรอินทรีย์ แทนการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ซึ่งเป็นจังหวะที่น่านมีภูเขาหัวโล้น มีสารพิษตกค้างในลำน้ำ จึงทำให้โครงการเข้าสู่ระดับจังหวัด เกิดการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนขึ้น”

ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลบัวใหญ่ขยายความว่า จากปัญหาในพื้นที่ดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เกษตรอินทรีย์ เป็นคานงัด เพื่อชวนชาวบ้านมาร่วมให้มีรายได้ เพราะแน่นอนว่า ถ้าชาวบ้านท้องยังไม่เต็ม จะมาให้พวกเขาปลูกป่า ดูแลน้ำ ย่อมเป็นไปได้ยาก โครงการจึงต้องมุ่งไปที่การสร้างรายได้ก่อน โดยเริ่มต้นจากการปลูกฟักทองอินทรีย์ ซึ่งเป็นพืชพื้นถิ่นของจังหวัด ทำให้ทนต่อโรค ก่อนจะขยายผลไปสู่การปลูกผักซึ่งมีอายุเก็บเกี่ยวสั้น เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ รายวัน รายเดือน รายปี เข้ามาอย่างต่อเนื่อง

“การสร้างป่าโดยการปลูกป่าไม่เกิด แต่ถ้าสร้างป่าโดยการปลูกเศรษฐกิจชุมชน ป่าจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเมื่อคนมีรายได้เข้ามาทุกคน จะไม่คิดที่จะไปถากถางป่า ตอนนี้ไร่ข้าวโพด (พืชเชิงเดี่ยว) ลดลงเหลือราว 10% นอกนั้นเป็นป่ายางพารา แต่เราก็ไม่หยุด เพราะยางพารายังต้องรอเวลาสร้างรายได้ เราก็ต้องไปสร้างพื้นที่บริเวณป่ายางฯ เพื่อสร้างความหลากหลายทางชีวภาพในป่ายางฯ ให้ได้ เรากำลังขยายผลในเรื่องเหล่านี้ไปยังพื้นที่อื่นๆ ของจังหวัดน่าน เรื่องของสัมมาชีพเต็มพื้นที่ในอนาคตน่าจะได้เห็น” ผู้จัดการเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์น่าน กล่าว

 

**ผนึกกำลัง LFC สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีสังคม

ด้าน “โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ” ประธานกิตติมศักดิ์สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย (LFC รุ่นที่ 5) กล่าวว่า หลังการอบรม LFC เหมือนเป็นการเปิดโลกอีกใบ จากเดิมจะมองเห็นเพียงธุรกิจตนเอง สู่การมองเห็นโลกทั้งใบ สร้างแรงบันดาลใจขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น

“เมื่อเรามีวิธีคิดที่เปลี่ยนไป เราก็คิดต่อว่า แล้วเราพอจะทำอะไรได้บ้าง โดยเฉพาะการช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ไปหารือร่วมกับผู้ใหญ่หลายท่าน จึงเกิดเป็นการจัดตั้งสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทยขึ้น โดยมีท่านสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรมว.พาณิชย์ เป็นประธานก่อตั้ง และได้ร่วมทำงานกับชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง โดยเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ จะต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงจากภายในตัวเราก่อน จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงภายนอกให้สังคมดีขึ้นได้”

“โชนรังสี” ยังเห็นว่า ผู้ผ่านการอบรม LFC 14 รุ่น ราว 1,500 คน นับเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแกร่ง ที่จะร่วมกันนำการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้เกิดขึ้นกับสังคม โดยชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจะขอเป็นอีกเวทีที่จะผนึกความร่วมมือนั้น โดยชมรมฯ กำลังจะผลักดันโครงการ “ธนาคารเวลา แต้มแห่งความดี” โดยเชื่อมั่นว่า หากมีการผนึกกำลังของผู้จบหลักสูตร LFC

หนึ่งบวกหนึ่งจะไม่เท่ากับสองอีกต่อไป


Back To Top