“วิเชฐ” รณรงค์สร้าง “ผู้นำสีเขียว” ผู้นำที่ดี ต้องมี “คุณธรรม-ไม่โกง”
ประธานกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รณรงค์สร้างผู้นำสีเขียว “มีคุณธรรม-ไม่โกง” สร้างประโยชน์สังคม ระบุผู้นำไม่ใช่ตำแหน่ง แต่คือ “ความเป็นผู้นำ” ขณะ “ดร.ธรณ์” ระบุโลกเดือด จังหวะดีที่สุด ที่ผู้นำจะสร้างการเปลี่ยนแปลง ด้วยการลงมือทำ
นายวิเชฐ ตันติวานิช ประธานกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง กล่าวปาฐกถาพิเศษ Great Leader = Great Change ในงานอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change-LFC) รุ่นที่ 14 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ โดยระบุถึงผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงที่ดีว่า ไม่ใช่การเป็นผู้นำ (Leader) โดยตำแหน่ง แต่ต้องเป็นผู้ที่มี “ความเป็นผู้นำ” (Leadership) จึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้
“ความเป็นผู้นำ ไม่ใช่ตำแหน่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่อยู่บนสุดของปิรามิดเท่านั้น แต่เป็นใครก็ได้ที่นำคนอื่นได้ มีวิสัยทัศน์ กล้าตัดสินใจ แก้ไขปัญหาได้ บริหารความเสี่ยงได้ จึงจะเกิดผู้ตาม มี องค์ประกอบสำคัญ 3 อย่าง คือ เป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิด (Influence) เป็นผู้ที่มีสิทธิอำนาจ (Authority) และเป็นผู้ที่มีอำนาจ (Power) หรือความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นตามความต้องการ ”
ประธานกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ยังกล่าวถึง “คุณสมบัติที่ผู้นำควรมี” คือ ต้องเป็นผู้ที่มีจิตสาธารณะ สร้างผลกระทบในวงกว้าง มีจิตวิทยาสูง มีความยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับสิ่งที่ตัวเองมั่นใจตลอดเวลา บริหารข้อมูลเก่ง มีแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจได้ แม้กระทั่งการสื่อสารกับตัวเองก็ต้องอธิบายตัวเองได้ว่าเหตุใดจึงตัดสินใจเช่นนั้น ที่สำคัญ ต้องเป็นผู้ที่มี “คุณธรรม” รู้จักแยกแยะผิดชอบชั่วดี “ไม่โกง”
“สิ่งหนึ่งที่ต้องรณรงค์กันคือ ชีวิตดีได้ต้องไม่โกง ไม่ต้องร่ำรวยมหาศาล แต่เป็นชีวิตที่สุขสบาย มีเพื่อน ทีมงาน มีคนนับถือ ทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม เมื่อจากโลกไปแล้วจะมีคนพูดถึง ลูกหลานได้รับคำชื่นชม”
นอกจากนี้ การเป็นผู้นำยังไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ชนะเสมอไป ผู้นำ “แพ้ได้” แต่ขอให้แพ้แล้วไม่ถอย ต้องลุยใหม่ ไม่ใช่ “สู้ตาย” แต่ต้องเป็น “สู้ไม่ตาย” และเมื่อเห็นว่ายังไม่รู้สิ่งใด ยังตามโลกไม่ทันเรื่องใด ก็ต้องฝึกฝน (Up skill – Re skill –New skill)
“อยากสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้มาอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ให้เป็นผู้นำที่ดี เป็นผู้นำสีเขียว ถ้าพวกท่านทำสังคมเล็กๆ ในท้องถิ่น ชุมชนของพวกท่านให้ดี ก็จะเกิดแรงกระเพื่อมเป็นฐานที่ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ สังคมก็จะค่อยๆ ดีขึ้นไปเอง” ประธานกรรมการสถาบันผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง กล่าว
ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งบรรยายในหัวข้อ “โลกเดือด: ความหลากหลายทางชีวภาพที่หายไป” ได้กล่าวถึงผลกระทบของภาวะโลกเดือดว่า ไม่เพียงทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะทรัพยากรทางทะเลจากทะเลที่ร้อนขึ้น ทำให้สัตว์น้ำน้อยลง เกิดปะการังฟอกขาว ซึ่งกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเท่านั้น ภาวะโลกเดือด ยังส่งผลกระทบต่อ “ความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลก” โดยเฉพาะผลกระทบกับลูกหลาน หรือคนในเจเนอเรชันถัดๆ ไป
“เราพูดถึงภาวะโลกร้อนมาเกือบ 30 ปี ว่าให้ช่วยกันลดโลกร้อน แต่สิ่งที่จะเจอตอนนี้และอนาคตคือ โลกจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่ร้อนตาย แต่จะอดตาย ดังนั้นสาระสำคัญไม่ใช่เรื่องผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเดียว แต่คือเรื่องของความเป็นอยู่ของผู้คนบนโลก” ดร.ธรณ์ ย้ำ
นอกจากนี้ ภาวะโลกเดือด ยังทำให้ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว “กำหนดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม” กับสินค้านำเข้ามากขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงธุรกิจบริการ เช่น โรงแรม จะต้องเป็น โรงแรมสีเขียว หรือธุรกิจสถาบันการเงิน จะพูดถึงเรื่องกรีนไฟแนนซ์ หรือการปล่อยสินเชื่อสีเขียวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการรายใหญ่และรายเล็กทั้งห่วงโซ่การผลิต (ซัพพลายเชน) ต้องเร่งปรับตัวสู่การเป็นผู้ประกอบการสีเขียว เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขัน
ดร.ธรณ์ ยังเห็นว่า วิกฤติโลกเดือดที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ยังนับเป็น “จังหวะที่ดีที่สุด” ที่ผู้นำจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้น ด้วยการลงมือแก้ไขปัญหา นั่นเพราะทุกคนต่างรู้สึกว่าได้รับผลกระทบ
“สังเกตได้ว่าตอนนี้ผู้ประกอบการต่างให้ความสนใจเรื่องนี้ มีการศึกษาดูงาน และปรับองค์กรตัวเองสู่ Net Zero ขณะที่ต่างชาติที่มาท่องเที่ยว เข้าพักโรงแรม ไม่อยากช่วยโลกแค่นำผ้าเช็ดตัวแขวนไว้ใช้ต่อ แต่ต้องการรู้สึกว่าได้ช่วยโลกมากกว่านั้น เช่น เข้าร่วมกิจกรรมรักษ์โลก นำปะการังไปวางในทะเล เป็นต้น” รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าว