skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
‘กรณีศึกษา’ เศรษฐกิจหมุนเวียน โอกาสธุรกิจใหม่ ดีต่อโลก

‘กรณีศึกษา’ เศรษฐกิจหมุนเวียน โอกาสธุรกิจใหม่ ดีต่อโลก

      เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นมิติเศรษฐกิจหนึ่งของ BCG เต็มไปด้วยโอกาสในการสร้างเศรษฐกิจใหม่-ธุรกิจใหม่ ที่ผู้คนทุกภาคส่วนของสังคม ตั้งแต่คนตัวเล็กอย่างภาคชุมชน ท้องถิ่น เอสเอ็มอี รวมถึงองค์กรขนาดใหญ่ จะนำไปปรับใช้

นี่คือ ความเห็นจากผู้บริหารจากบริษัทเอกชนที่มากด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญได้ถ่ายทอดไว้ใน “กรณีศึกษา” จากการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership For Change – LFC) รุ่นที่ 14 ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ในประเด็น Circular Economy : สู่โอกาสเศรษฐกิจใหม่  

 

เปลี่ยนผู้ร้าย(ขวดพลาสติก) เป็นพระเอก ด้วยธุรกิจรีไซเคิล

พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด

“พงษ์ศักดิ์ จึงรุ่งเรืองวัฒนา” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทไทยพลาสติก รีไซเคิล กรุ๊ป จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจรีไซเคิลพลาสติกซึ่งบรรยายในหัวข้อ PET Hero เปลี่ยนผู้ร้ายกลายเป็นพระเอก” ระบุว่า ขวดน้ำพลาสติก (PET) ที่ใช้แล้ว สามารถนำมารีไซเคิลเป็นเกล็ด PET  เพื่อใช้เป็นวัสดุดิบพื้นฐานในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมเส้นใย เสื้อผ้า และบรรจุภัณฑ์ นอกจากจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มได้แล้ว ยังสร้างรายได้ให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ธุรกิจขายของเก่า ซาเล้ง ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และยังสะท้อนถึงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ลดโลกร้อน  ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เป็นเศรษฐกิจหมุนเวียนอย่างแท้จริง

ดังนั้น ธุรกิจนี้จึงเปลี่ยนผู้ร้าย (ขยะจากขวดพลาสติก ผลิตจากฟอสซิล ย่อยสลายยาก) ให้กลายเป็นพระเอกผู้รักษ์โลก ขวดน้ำพลาสติกจึงไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากบริโภคด้วยความรับผิดชอบ

“ธุรกิจของเรา ช่วยเหลือซาเล้งให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ขยับฐานะจากรถซาเล้งเป็นรถกระบะ ช่วยบรรดานักคุ้ยให้เป็นอาเฮีย การจะสร้างความยั่งยืนได้ ต้องเริ่มต้นที่การแก้ปัญหาของคนฐานรากที่ขาดโอกาสก่อน”

พงษ์ศักดิ์ ยังบอกว่า ปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตปีละ 3-4 หมื่นตัน จากจุดรับซื้อทั่วประเทศ 1,100 จุด โดยแต่ละวันจะรับซื้อขวดพลาสติกใช้แล้ว 150 ตัน คิดเป็นเงิน 3-4 ล้านบาทที่กระจายออกไปสู่ฐานราก

นอกจากนี้ยังเห็นว่า การรีไซเคิลจะประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพสูง ต้องแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วน รัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม ต้องร่วมมือกันกำหนดนโยบายและกระบวนการดำเนินการ ประเทศไทยยังมีโอกาสขยายธุรกิจรีไซเคิลได้อีกมากมาย เนื่องจากขยะพลาสติกสามารถรีไซเคิลได้ รายได้ไม่ตกเป็นรายได้ของท้องถิ่นเหมือนในต่างประเทศ ทำให้ทุกคนสามารถมีรายได้จากการรวบรวมขยะรีไซเคิลมาจำหน่ายให้กับโรงงานรีไซเคิล

 

เชื้อเพลิงชีวภาพ โอกาสธุรกิจ

กรณีศึกษา ผลิตเชื้อเพลิงการบินจากน้ำมันใช้แล้ว

ธรรมรัตน์ ประยูรสุข
รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น

ด้าน ธรรมรัตน์ ประยูรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นและการค้าน้ำมัน บมจ. บางจาก คอร์ปอเรชั่น ซึ่งปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “เชื้อเพลิงเครื่องบิน จากน้ำมันพืชใช้แล้ว” ระบุถึงแนวทางการลดโลกร้อนว่า จะต้องเปลี่ยนสู่การใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงชีวภาพให้มากขึ้น และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตามข้อมูลพบว่า ภาวะโลกร้อน จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสัดส่วนกว่า 50% มาจากการใช้พลังงานจากฟอสซิล

ดังนั้น สิ่งที่บางจากฯ กำลังดำเนินการคือ รับซื้อน้ำมันใช้แล้วจากผู้บริโภค มาผ่านเทคโนโลยีเพื่อผลิตเป็นน้ำมันเครื่องบิน ซึ่ง นอกจากช่วยลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล ตอบโจทย์มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมด้านการบินของนานาประเทศ โดยเฉพาะสหภาพยุโรปแล้ว ยังดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค ให้ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตัน จากการใช้น้ำมันทอดซ้ำ สร้างรายได้ให้ประชาชนจากการนำน้ำมันทอดซ้ำมาจำหน่าย และยังดีต่อสิ่งแวดล้อมไม่ต้องนำน้ำมันทอดซ้ำไปทิ้งในท่อระบายน้ำ หรือพื้นที่สาธารณะอื่นๆ

“เราวิจัยเรื่องนี้มา 3-4 ปี หลายคนไม่เชื่อว่า เทคโนโลยีจะทำได้ขนาดนั้น ทำน้ำมันพืชใช้แล้วมาทำให้สะอาดกลับมาเป็นน้ำมันปาล์มได้อีกครั้ง จากนั้นนำไฮโดรเยนเข้าไปแตกโมเลกุล ผลิตออกมาเหมือนน้ำมันดิบจึงใช้เป็นเชื้อเพลิงเครื่องบินได้ทั้ง 100%  ไม่ต้องผสมเชื้อเพลิงอื่น โครงการของบางจากถือเป็นโครงการที่ใหญ่ที่สุดในเอเชีย มีกำลังการผลิต 1 ล้านลิตรต่อวัน”

เขายังกล่าวถึงปัญหาของการผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพจากพืชในประเทศไทย เช่น อ้อย ปาล์มน้ำมัน คือ การสร้างสมดุลระหว่างการบริโภค กับการนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ไม่ให้เกิดปัญหาการแย่งชิงวัตถุดิบ รัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางแก้ไขปัญหา หากต้องการผลักดันนโยบายการใช้พลังงานทดแทนให้มากขึ้น

 

ก่อสร้างสีเขียว ลดการสูญเสีย ลดต้นทุน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

สรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล
Climate Affair Director บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

อีกหนึ่งองค์กรที่นำเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว มาใช้ในการดำเนินธุรกิจ คือ บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ผ่านคำบอกเล่าของ สรศักดิ์ กีรติโชคชัยกุล Climate Affair Director บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ในการปาฐกถาพิเศษ “Green Construction ก่อสร้าง ไม่สูญเสีย” ระบุว่า เอสซีจีได้พัฒนาสินค้าและโซลูชัน เพื่อตอบโจทย์การก่อสร้างสีเขียว หรือ Green Construction ด้วยการใช้วัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ปูนซิเมนต์รักษ์โลก คอนกรีตลดโลกร้อน

รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อลดความสูญเสียจากการก่อสร้าง ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ระหว่างก่อสร้าง และหลังการก่อสร้าง ลดการใช้ทรัพยากรให้มากที่สุด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การออกแบบอาคารประหยัดพลังงาน มีการหมุนเวียนของอากาศ ระบายความร้อนได้ดี, การใช้โดรนในการวางแผนก่อสร้าง เพื่อลดการผิดพลาดในการก่อสร้าง, การนำระบบ BIM (Building Information Modeling) มาใช้ในการก่อสร้างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบ ไปจนถึงการก่อสร้าง โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์สร้างแบบจำลองเสมือนของอาคารที่แม่นยำ จึงคำนวณโครงสร้างอาคาร การใช้วัสดุก่อสร้าง คำนวณต้นทุนก่อสร้างได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดการสูญเสีย, การหล่อชิ้นงานจากโรงงานเพื่อมาประกอบในไซด์งานก่อสร้าง เพื่อลดเวลา ลดฝุ่นจากการทำงานในไซต์งาน และการใช้เทคโนโลยี 3D Printing ฉีดขึ้นรูปโครงสร้างอาคารสามมติ แทนการก่ออิฐแบบเดิม ทำให้ลดเวลา ลดคน และลดวัสดุก่อสร้าง

กรณีศึกษาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นโอกาสธุรกิจ บนพื้นฐานของเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว และยังช่วยแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นอีกด้วย


Back To Top