“นวัตกรรม” สร้างมูลค่าเศรษฐกิจชีวภาพ หนุนชุมชน รายได้มั่นคง มีสัมมาชีพ
เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Econonomy) ถือเป็นมิติเศรษฐกิจสำคัญที่จะนำมาซึ่ง “ทางรอด” ให้กับภาคเศรษฐกิจ ภาคเกษตรกรไทย จากความหลากหลายทางชีวภาพที่มีในประเทศ และการนำนวัตกรรมมาต่อยอด
ดังนั้น ใน Mudule ที่ 3 ของการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change – LFC) รุ่นที่ 14 ซึ่งจัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ภายใต้ธีม “BCG in Collaboration: เพิ่มคุณค่าธุรกิจ ช่วยเศรษฐกิจยั่งยืน” จึงจัดขึ้นในหัวข้อ “Bio Econonomy: นวัตกรรมสร้างมูลค่า จากเศรษฐกิจชีวภาพ”
ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ วิทยากรที่ร่วมให้ความรู้ต่างมองเห็นตรงกันว่า ประเทศไทย เป็นประเทศที่มี “ศักยภาพ” จากความหลากหลายทางชีวภาพ ตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร จึงควรใช้ศักยภาพนี้ ผลักดันการเติบโตเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการนำเศรษฐกิจชีวภาพมาพัฒนา “เศรษฐกิจฐานราก” ให้มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
บันได 5 ขั้น สร้างสัมมาชีพใส่ธุรกิจ
มงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสัมมาชีพ ปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “BCG Economy: สร้างสัมมาชีพใส่ธุรกิจ” ได้ระบุว่า หัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG สู่การสร้างความกินดีอยู่ดี กระจายรายได้สู่คนในชนบท คือการสร้าง “มูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์” ประกอบด้วย 5 เคล็ดลับ ได้แก่ 1. วิถีการค้าที่ยั่งยืน 2.วิถีท้องถิ่นที่โดดเด่นแตกต่าง 3.วิถีการออกแบบและผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก 4.วิถีผู้บริโภค เชื่อถือมีมาตรฐาน และ 5.วิถีดิจิทัล สื่อสารถึงผู้บริโภค
ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสัมมาชีพ ขยายความว่า วิถีการค้าที่ยั่งยืน หมายถึงการทำธุรกิจที่อิงหลักการ ESG ดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และมีธรรมาภิบาล, การมีวิถีท้องถิ่นที่โดดเด่นแตกต่าง คือการยึดแนวทาง เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา ซึ่งเป็นศาสตร์การพัฒนาของในหลวง ร.9 ในการพัฒนาเชิงพื้นที่ (Area Based), การออกแบบผลิตภัณฑ์รักษ์โลก สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งเป็นเทรนด์โลก, การสร้างความน่าเชื่อถือต่อผู้บริโภค หมายถึงการสร้างแบรนด์สินค้าให้แข็งแกร่ง มีมาตรฐานที่น่าเชื่อถือ และวีถีดิจิทัล หมายถึงการนำช่องทางออนไลน์ซึ่งเป็นช่องทางเข้าถึงคนจำนวนมากด้วยต้นทุนต่ำ มาใช้สื่อสารกับผู้บริโภค
“คนในชนบทสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มผลิตภัณฑ์ โดยใช้ปัญญา นี่คือการนำการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง ซึ่งบันได 5 ขั้น นี้ถ้าทำได้จะทำให้สินค้าท้องถิ่น มีเสน่ห์มากขึ้น เป็นที่ต้องการของตลาด สามารถขยับราคาขาย สร้างกำไรต่อหน่วยได้สูงขึ้น ไม่ต่างจากหลายแบรนด์สินค้าที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ใครปรับตัวเร็วที่สุด ผู้ที่จะอยู่รอด เช่น ขมิ้นชัน ถือเป็นโสมไทยที่ดีที่สุด ซึ่งต้องใส่คุณค่าตามบันได 5 ขั้นลงไป
บันได 5 ขั้นนี้จะนำไปสู่การสร้างความยั่งยืนต่อ คน(กินดีอยู่ดี) ธุรกิจ(มีกำไรบนฐานความไม่เบียดเบียนตนเอง และผู้อื่น) และโลก(ดูแลสิ่งแวดล้อม) นั่นคือ แนวทางการมีสัมมาชีพ” ประธานกรรมการบริหาร มูลนิธิสัมมาชีพ กล่าว
มิตรผล จากฐานเกษตร สู่ Bio-based มูลค่าสูง
ด้าน คมกริช นาคะลักษณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สานงานองค์กรสัมพันธ์และบริหารองค์กร เพื่อความยั่งยืน กลุ่มมิตรผล ปาฐกถาพิเศษ “มิตรผล: จากฐานเกษตร สู่ Bio-based มูลค่าสูง” ระบุว่า ปัจจุบันกลุ่มมิตรผลเป็นผู้ผลิตน้ำตาล ที่มีกำลังการผลิตอันดับ 3 ของโลก และอันดับ 1 ในไทย และเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาสินค้าเกษตรพื้นฐาน คือ อ้อยและน้ำตาล สู่ธุรกิจบนฐานชีวภาพ เพื่อสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล โดยทางกลุ่มได้บริหารความเสี่ยงในธุรกิจน้ำตาลซึ่งเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ มีราคาขึ้นลงผันผวนตามตลาดโลก ใน 3 ด้าน ได้แก่
การพัฒนา Value chain ในภาคเกษตร นำผลพลอยได้ (By Product) จากอ้อยและน้ำตาล รวมถึงพืชเกษตรอื่น มาต่อยอดสู่ธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล ซึ่งใช้ชานอ้อยเป็นเชื้อเพลิง, ธุรกิจเอทานอล ที่ผลิตจากกากน้ำตาล (โมลาส) รวมถึงธุรกิจวัสดุทดแทนไม้ ที่ผลิตจากเศษไม้ยางพารา เป็นต้น
การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจด้วยเศรษฐกิจ BCG กลุ่มมิตรผลได้กำหนดเป้าหมายในอนาคตของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล (New S-Curse) สู่ธุรกิจบนฐานเศรษฐกิจชีวภาพในยุคที่ 3 (3rd Generation) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ Bio-based Chemical Products ได้แก่ เม็ดพลาติกไบโอโพลีเอททิลีน สารให้ความหวานแคลอรีต่ำ โพรไบโอติกส์ฟังก์ชั่นแนลฟูดส์ กรดอินทรีย์ เครื่องสำอางและเครื่องบำรุงผิว เป็นต้น
และการสร้างความยั่งยืนให้ห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจ กลุ่มมิตรผลได้รับการจัดอันดับเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน อันดับ 1 ของโลกในกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหาร ในปี 2023 จากการจัดอันดับของ S&P Global และยังตั้งเป้าหมายปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2050
“ประเทศไทยมีคนอยู่ในภาคเกษตรสัดส่วนถึง 33% แต่ผลักดันการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศ (GDP) ได้เพียง 9% สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ เศรษฐกิจชีวภาพถือเป็นสิ่งที่จะแก้ปัญหานี้ได้ ที่บอกว่าพืชเกษตรปลูกไปก็จน แต่ถ้าปลูกแล้วไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่ม ก็จะแก้จนได้ แม้จะไม่ง่าย เช่น อ้อย ที่นอกจากนำมาทำน้ำตาล ยังนำผลพลอยได้ขยายไปสู่ธุรกิจ Bio-Based หากทำได้สำเร็จ ก็จะสร้างการกินดีอยู่ดีให้กับคนในภาคเกษตรมากขึ้นอย่างแน่นอน” คมกริช กล่าว
นวัตกรรม หนุนเศรษฐกิจชีวภาพ
ดร.กิตติศักดิ์ โชติกิติพัฒน์ ผู้ก่อตั้ง บริษัทแบมบู รีฟอร์ม จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจเพาะพันธุ์กล้าไผ่ ทำสวนไผ่ และใช้นวัตกรรมแปรรูปไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และบรรยายในหัวข้อ “สร้างป่า สร้างรายได้ สร้างสุข” ได้ระบุถึงจุดเริ่มต้นในการทำธุรกิจว่า เกิดจากความต้องการแก้ไขปัญหาความเป็นอยู่ของผู้คนในภาคเกษตร จึงมองถึง “ไผ่” ซึ่งเป็นพืชโตเร็ว สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างรวดเร็ว และยังช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม จึงตัดสินใจปลูกไผ่เป็นป่าเศรษฐกิจ
“ไผ่อยู่กับสังคมไทยมานาน สามารถใช้ประโยชน์หลากหลาย ทั้งปัจจัย 4 ได้แก่ ทำเป็นอาหาร ยา เครื่องนุ่งห่ม และที่อยู่อาศัย ระยะเวลาปลูกยังสั้น เพียง 3-4 เดือนก็สามารถนำใบมาสกัดใช้งานได้แล้ว ปลูกครั้งเดียวยังอยู่ได้เป็นร้อยปี ถือเป็นความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ ดังนั้นหากใครมีพื้นที่ว่าง การปลูกไผ่ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ”
ดร.กิตติศักดิ์ ยังกล่าวว่า การแปรรูปไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่า หากนำ “นวัตกรรม” มาพัฒนาต่อ จะทำให้ผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น บริษัทจึงได้นำแนวทางดังกล่าว มาแปรรูปไผ่เป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ หมอนถ่านไม้ไผ่ดูดกลิ่น, น้ำส้มควันไม้, ถุงถ่านไม้ไผ่ดูดกลิ่นอับชื้น, ถ่านชีวภาพ หรือ ไบโอชาร์ (Biochar), ผงถ่านล้างสารพิษ, สเปรย์ดับกลิ่นอเนกประสงค์ เป็นต้น
ผู้ก่อตั้ง บริษัทแบมบู รีฟอร์ม ยังเห็นว่า ทางรอดของประเทศไทย คือการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG ซึ่งมีเศรษฐกิจชีวภาพเป็นมิติขับเคลื่อนที่สำคัญ ผสานกับนวัตกรรม ขยับจากเกษตรพื้นฐาน สู่ธุรกิจ Biotechnology , Biochemical, Biofuel โดยผู้ประกอบการจะต้องใช้ตลาดนำ เสริมด้วยการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม จึงจะตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค เป็นที่ต้องการของตลาด
และทั้งหมดนี้ คือ แบบอย่างของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชีวภาพ ตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร นำนวัตกรรม และมุมมองการตลาดที่ใช่มาขับเคลื่อน ซึ่งจะนำสู่ชุมชน ท้องถิ่น ที่มีรายได้มั่นคง มีสัมมาชีพ และอยู่เย็นเป็นสุขอย่างแท้จริง