สัมมาชีพ-ททท. เดินหน้าส่งเสริมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว พื้นที่ชุมชนบ้านเดื่อ จ.หนองคาย พร้อมวางแนวทาง ชู “ไซรัปมะเดื่อ” เป็นของดีประจำท้องถิ่น
มูลนิธิสัมมาชีพ โดย นายจารุพันธ์ุ จารโยภาส ที่ปรึกษาโครงการส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว พร้อมด้วยนางสาวอารีย์ คงแจ่ม รองผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ และนางสาววิไลรัตน์ ชมทิศ เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายงานระดมทุน มูลนิธิสัมมาชีพ ได้ลงพื้นที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนบ้านเดื่อ อำเภอเมือง จังหวัดหนองคาย เพื่อจัดเวทีให้ความรู้กับชุมชนท่องเที่ยว เรื่อง มาตรฐาน STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating / รางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) และการจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG และ SDGs ที่ประชุมนำเสนอ Power point แนะนำให้แกนนำและคณะกรรมการวิสาหกิจท่องเที่ยวบ้านเดื่อ ได้เข้าใจถึงมาตรฐานต่างๆ และแนวทางการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน ซึ่งในครั้งนี้ได้ร่วมกันหารือถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน
ตอนนี้ชุมชนมีการพัฒนาไซรัปจากลูกมะเดื่อ ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ของชุมชนบ้านเดื่อที่นำเอาทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาเพิ่มมูลค่าสร้างงานสร้างรายได้ในชุมชน และการพัฒนาปรับปรุงพื้นที่บริเวณร้านเชฟชุมชนไปสู่การจัดทำลานนวดแผนไทย จากการประชุมพบว่าบ้านเดื่อมีการทำท่องเที่ยวแนวส่งเสริมสุขภาพ และชุมชนมีหมอนวดแผนไทยประมาณ 20 คน ที่มีฝีมือด้านการนวดแผนไทยแต่ไม่มีที่รองรับการนวดให้กับนักท่องเที่ยวและบุคคลสนใจทั่วไป ด้วยที่ผ่านมาใช้ที่ร้านเชฟแต่หากมีนักท่องเที่ยวมาทานอาหารก็จะไม่สะดวก หรือจะนวดที่บ้านพักอาศัยก็ไม่สะดวกเนื่องจากบางบ้านมีเด็กเล็ก มีผู้สูงอายุ และผู้ป่วย จึงอยากจะมีจุดบริการที่เป็นศูนย์กลางของชุมชนจึงมีแนวทางพัฒนาลานนวดชุมชนบริเวณร้านเชฟชุมชน
และหลังจากการนำเสนอข้อมูลก็ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลซึ่งกลุ่มได้เตรียมข้อมูลเพื่อยื่นขอมาตรฐาน STAR มีการร่างโปรแกรมท่องเที่ยวร่วมกันในที่ประชุม ซึ่งจะเน้นโปรแกรมท่องเที่ยวด้านสุขภาพเป็นสำคัญ เช่น กิจกรรมปั่นจักรยาน ชมวิถีริมฝั่งโขง การนวดแผนไทย และอาหารพื้นถิ่นที่มีมะเดื่อเป็นวัตถุดิบ
ผลการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน และจัดทำโปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว
(Green Community Tourism)
จากการลงพื้นที่ทางมูลนิธิสัมมาชีพได้เชิญ คุณจารุพันธ์ จารโยภาส ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการฯ และอดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมไปให้ความรู้และช่วยประสานงานเรื่องการพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ให้กับชุมชน โดยเบื้องต้นมีการประสานงานกับศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาค 4 เพื่อร่วมส่งเสริมและพัฒนาสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน ตามแนวทาง BCG ชุมชนบ้านเดื่อจะมีการพัฒนา ผลิตภัณฑ์ และบริการ ดังนี้
- การพัฒนาไซรัปมะเดื่อ เพื่อเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ผสมกับเครื่องดื่ม เป็น Welcome Drink ต้อนรับนักท่องเที่ยว จากมะเดื่อซึ่งเป็นพืชท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นเครื่องดื่มที่มีประโยชน์และคุณค่าต่อร่างการและสุขภาพ
- ด้านบริการ ชุมชนจะพัฒนาปรับพื้นที่จัดทำลานนวด เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวและผู้สนใจทั่วไป โดยจะมีการขยายพื้นที่บริเวณร้านเชฟชุมชนออกไปอีก 3 เมตร จะทำให้มีพื้นที่ให้กับหมอนวดแผนไทย การพัฒนาพื้นที่ดังกล่าวจะทำให้หมอนวดแผนไทยในชุมชนประมาณ 20 คนได้มีรายได้และมีงานทำต่อไป
โปรแกรมท่องเที่ยวสีเขียว จะมีการพัฒนาจากโปรแกรมเดิมที่มีอยู่แต่ใส่กิจกรรมที่ส่งเสริมด้านสุขภาพให้มากยิ่งขึ้น
การยื่นมาตรฐาน STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ชุมชนจะมีการยื่นขอการรับรองมาตรฐานสาขานันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว โดยชุมชนได้พิจารณาแต่ละข้อของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ และมุ่งมั่นที่จะได้ในระดับ 5 ดาว และเตรียมข้อมูลที่จะขอรางวัลอุสาหกรรมท่องเที่ยวในครั้งต่อไปด้วย โดย กลุ่มได้เกียรติบัตรแล้วแต่ต้องการพัฒนายกระดับให้ได้ในระดับ Silver Awards และ Gold Awards ต่อไป
โปรแกรมท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว ชุมชนบ้านเดื่อ จ.หนองคาย ที่ไม่ควรพลาด!
13.00 น. สักการะหลวงพ่อใหญ่ทันใจ ขอพรได้สมดังตั้งใจ สักการะหลวงพ่ออุทุมพร และชมพระพุทธรูปสมัยล้านช้าง ล้านนา ชมเรือยาวโบราณแก้วคูณเมือง สร้างจากต้นตะเคียนทองทั้งต้นโดยไม่ได้ต่อ ชมโบสถ์มหาอุตม์สร้างเมื่อปี พ.ศ.2400
14.00 น. cooking class กับเชฟชุมชน
15.00 น. เรียนรู้การทำสบู่มะเดื่อ
16.00 น. ร่วมทำเสื้อมัดย้อมสีมะเดื่อตัวเดียวในโลก (เสื้อที่ฉันทำเองกับมือ)
17.00 น. นวดแผนไทย นวดอโรมา มะเดื่อ ริมฝั่งโขง
18.00 น. รับประทานอาหารเย็น (เมนูพื้นถิ่น) เมนูหลักเมี่ยงปลานิล น้ำพริกมะเดื่อ
19.00 น. เข้าที่พัก (บ้านพักโฮมสเตย์)
08.00 น. รับประทานอาหารเช้าที่บ้านพักโฮมสเตย์
09.00 น. ทำกระทงดอกไม้เพื่อล่องเรือลอยกระทงดอกไม้บูชาวัดพังโคนที่จมอยู่ใต้แม่น้ำโขง
10.00 น. พายซับบอร์ดในแม่น้ำโขง หรือ ปั่นจักรยานชมบรรยากาศชุมชนริมฝั่งโขง และถ่ายรูปเช็คอินกับต้นมะเดื่ออายุ 600 กว่าปี และร่วมเพาะพันธุ์มะเดื่อ (ร่วมสร้างสิ่งแวดล้อม ด้วยสองมือเรา)