skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
สานพลัง ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจชุมชน’  แก้ปัญหาความยากจน-เหลื่อมล้ำ สังคมไทย

สานพลัง ขับเคลื่อน ‘เศรษฐกิจชุมชน’ แก้ปัญหาความยากจน-เหลื่อมล้ำ สังคมไทย

สามอดีตรัฐมนตรี ร่วมถ่ายทอดมุมมองในการพัฒนาชุมชนในการเสวนา “ทิศทางชุมชน ทิศทางประเทศไทย” จากเวที “15 ปีสัมมาชีพ สานพลังไทย สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” ที่จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ ได้แก่ “ดร.อุตตม สาวนายน” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ และ “นิพนธ์ บุญญามณี” อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

โดยต่างเห็นสอดคล้องกันว่า ต้องสร้างกลไกการขับเคลื่อน รวมถึงมีวิธีคิดที่ถูกต้อง เพื่อทำให้ “เศรษฐกิจชุมชน” เข้มแข็งอย่างยั่งยืน และการผลักดันเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตจะเป็นกุญแจสำคัญในการแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ในประเทศ ทำให้ชุมชนเกิดภูมิต้านทานรับมือวิกฤติ

 

*สร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร ดันเศรษฐกิจชุมชน

ก้าวข้ามความยากจน -เหลื่อมล้ำ

“ดร.อุตตม” สะท้อนมุมมองปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ ในสังคมไทย ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ว่า เกิดจากที่ผ่านมายัง “ไม่ตกผลึก” ถึงวิธีการแก้ไขปัญหา ทำให้ชุมชนไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ประเทศไทยไม่สามารถก้าวข้ามในเชิงการพัฒนาให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลกได้

ทั้งนี้เห็นว่า “การสร้างมูลค่าเพิ่มภาคการเกษตรให้เข้มแข็ง” คือทางออกจากวังวนความยากจนและความเหลื่อมล้ำ ซึ่งต้องเริ่มจากการพัฒนาภาคชุมชน แทนการพัฒนาประเทศที่ผ่านมา ซึ่งเน้นไปที่การพัฒนาอุตสาหกรรม เป็นหลัก

“มองกลับไป ประเทศไทยมีพื้นฐานการเกษตรที่ประเสริฐ เพียงแต่เราไม่สามารถพลิกสู่การเกษตรที่มูลค่าเพิ่มสูงขึ้นได้ อาทิ การยึดโยงของดีในชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน ทำให้ชุมชนไม่สามารถลืมตาอ้าปากได้

30 กว่าปีที่ผ่านมา เราเน้นอุตสาหกรรม โดยที่เราไม่ได้หันมาดูตัวเราที่แท้จริงว่ามีอะไรดี แล้วนำมาใช้ให้เต็มศักยภาพ ตอนนี้โลกพลิกไปอย่างรวดเร็ว เป็นหนังสือบทใหม่ เรายิ่งต้องเร่งปรับ ไม่เช่นนั้นก็จะยากจน และเหลื่อมล้ำต่อไปอีก เพราะโลกไปเร็วมาก”

ดร.อุตตม ยังกล่าวถึงการแก้ปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศจีน ซึ่งค่อนข้างประสบความสำเร็จว่า เกิดจากความจริงจังของผู้นำประเทศที่ประกาศยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำ โดยกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาชาติเพื่อก้าวไปสู่การพัฒนาท้องถิ่น อย่างแยกออกจากกันไม่ได้ ประเมินจุดแข็งจุดอ่อนของแต่ละท้องถิ่น แล้วระดมสรรพกำลังเข้าไปฟื้นฟูแก้ไขปัญหา

กระทั่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ประกาศว่าจีนสามารถเอาชนะความยากจนได้แล้ว  เปอร์เซ็นต์ความยากจนลดลงมาก จนสหประชาชาติยังชื่นชมประเทศจีน

“จีนแก้ไขปัญหาความยากจนได้ โดยเริ่มจากการพัฒนาในระดับชาติ พื้นที่ชุมชนในวันนี้สำคัญไม่ด้อยไปกว่าอุตสาหกรรม แต่ของเราไม่ทำเรื่องชุมชนเท่าที่ควร จึงเขย่งและอันตรายเหลือเกินที่จะได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้

หลังโควิด เศรษฐกิจไทยถือว่าฟื้นตัวช้าที่สุดในอาเซียน ถูกเวียดนาม มาเลเซีย แซง แล้วถ้าไม่เร่งแก้ไข โอกาสของคนรุ่นใหม่จะอยู่ตรงไหน หากเรายังยึดโยงรายได้หลักของประเทศอยู่เพียงการส่งออกสินค้าพื้นฐาน และการท่องเที่ยว”

ดร.อุตตมยังระบุว่า นอกจากรอกลไกรัฐในการแก้ปัญหาแล้ว ภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ยังต้องผนึกกำลังเป็น “เครือข่าย” แก้ไขปัญหา โดยมูลนิธิสัมมาชีพ ก็สามารถเข้าไปมีบทบาทได้ในการเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

“สัมมาชีพ อย่าคิดว่าเราเล็กแล้วประเทศเราใหญ่โต เพราะมูลนิธิสัมมาชีพ ดำเนินการ มา 15 ปี มีเครือข่ายชุมชนมากมายที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ถ้าเราไม่ช่วยกันทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ต่อไปคนจีนจะทำหมด ขณะที่คนไทยขาดทักษะ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเร่งเรื่องการพัฒนาคนในชุมชน ไม่เช่นนั้นจะขาดพลังในการพัฒนา เกิดปัญหาสะสมยากจน เหลื่อมล้ำ เปราะบาง เราจะอ่อนไหวต่อสถานการณ์โลก เพราะเศรษฐกิจข้างในไม่เข้มแข็ง”

 

*มูลนิธิสัมมาชีพ เชื่อมโยงเครือข่าย ผนึกกำลัง

สร้างเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

ด้าน “สนธิรัตน์” แสดงความเห็นต่อปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยว่า เกิดจากระบบการปกครองที่ผ่านมา ที่ให้ส่วนกลางเข้มแข็ง แต่ชุมชนอ่อนแอ ทำให้คนในชุมชนด้อยโอกาส หรือเสียโอกาส กลายเป็นวังวนนำไปสู่ประชาธิปไตยที่อ่อนแอ เพราะชุมชนรอความช่วยเหลือจากรัฐ ไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกได้ทัน

ดังนั้นจึงต้องสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง  คู่ขนานไปกับเศรษฐกิจชุมชนที่เข้มแข็ง จึงจะแก้ปัญหาความยากจน-เหลื่อมล้ำ เป็นประชาธิปไตยที่แข็งแรงได้

แนวทางหนึ่งนอกจากรอกลไกรัฐ คือการเชื่อมโยงภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมายังไม่เกิดขึ้นเท่าที่ควร “เราเป็นสังคมต่างคนต่างอยู่” ทำให้ขาดพลังในการสร้างการเปลี่ยนแปลง

ทั้งนี้ “สนธิรัตน์” มองว่า มูลนิธิสัมมาชีพซึ่งดำเนินการมา 15 ปี จะเป็นส่วนหนึ่งในการเข้าไปมีส่วนแก้ไขปัญหานี้ มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง เพราะถ้าชุมชนไม่สามารถยืนด้วยขาตัวเองได้ ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำได้

“วันนี้มูลนิธิสัมมาชีพ มีต้นแบบสัมมาชีพ หรือบุคคล องค์กร ที่ประสบความสำเร็จ แจกรางวัลกันทุกปี เลยอยากชวนคิดว่า ควรจะนำความสำเร็จเหล่านี้ไปสู่การสร้างพลังของการเชื่อมโยงให้เกิดสเกลที่ใหญ่ขึ้น โดยการเชื่อมโยงกับองค์กรอื่นที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีให้กับภาคชุมชน เช่น  เราอาจจะต้องทำให้ชุมชนที่เข้าไปส่งเสริมให้เกิดว๊อยซ์ เพื่อให้ส่วนกลาง หรือภาคเอกชนมองเห็น แล้วไปเชื่อมโยงความร่วมมือ ไปแก้ปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ เรื่องเศรษฐกิจชุมชน เป็นเรื่องที่ 15 ปีสัมมาชีพทำให้เกิดรูปธรรมความสำเร็จได้” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าว

 

*กระจายอำนาจ สร้างอาชีพ พัฒนาคน

หนทางลดปัญหายากจน -เหลื่อมล้ำ

ขณะที่ “นิพนธ์” ระบุว่า ในฐานะอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เห็นว่า “การกระจายอำนาจ” ทำให้ท้องถิ่นและชุมชนเข้มแข็ง จะเห็นหนทางในการแก้ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ

“เมื่อ 40-50 ปีก่อน วิถีชนบทกับเมืองต่างกันมาก ถ้าหมู่บ้านไหนมีถนนลาดยางถือว่าเป็นเมืองแล้ว หมู่บ้านไหนได้ไฟฟ้าคือฆ่าวัวเลี้ยงฉลอง แต่วันเวลาผ่านไปเราเริ่มเห็นการยกระดับชนบทเป็นเมือง เป็นการแก้ปัญหาความยากจนในเชิงครัวเรือน ซึ่งต้องทำเรื่องเหล่านี้ให้มากขึ้น ด้วยการกระจายอำนาจให้ชนบทเป็นเมืองขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องทำให้เมืองที่เป็นมหานครมีเยอะขึ้น เช่น เมืองหลักๆ ของภาค ต้องทำให้เป็นเมืองมหานคร หากทำได้ จะเกิดการกระจายอาชีพไปสู่เมืองมหานคร ไม่รวมศูนย์อำนาจไว้ที่กรุงเทพมหานคร การกระจายความเป็นมหานครให้มากขึ้น คือการลดความเหลื่อมล้ำ”

 

อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยยังเห็นว่า แนวทางการสร้างชุมชนเข้มแข็งคือการสร้างอาชีพ สอนให้คนจับปลาเป็น ไม่ใช่การแจกเงิน ซึ่งประเด็นดังกล่าวฝ่ายการเมืองต้องกล้าที่จะวิพากษ์ตัวเอง หากยังคงแข่งกันใช้นโยบายแบบนี้หาเสียงเลือกตั้ง จะยิ่งทำให้ชุมชนอ่อนแอ

“ชุมชนเข้มแข็งต้องสร้างอาชีพ รู้ว่าพื้นที่ไหนมีปัญหาอะไรก็เข้าไปแก้ให้ตรงจุด อย่าไปใช้ยาขนานเดียวกันกับทุกโรค  ต้องกระจายอำนาจ ไม่รวมศูนย์อำนาจ เพราะถ้ารวมศูนย์ฯจะไม่สามารถแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างได้ ประเทศไทยมีสารพัดโรคต้องใช้ยาให้ถูกโรค”

เขายังบอกด้วยว่า อีกหนทางในการสร้างชุมชนเข้มแข็ง คือการ “พัฒนาคน” ให้มีการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้ไปพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น

“หัวใจสำคัญคือทำให้คนมีความรู้ นำเทคโนโลยีใหม่ๆมาสอนชุมชน ทำให้ชุมชนมีอาชีพไม่รอแจก ถ้าหวังการศึกษาในระบบใช้เวลา 4 ปีกว่าจะเรียนจบปริญญาตรียาก ตอนนี้ต้องปรับหลักสูตร 2 เดือนให้มีอาชีพได้ แล้วชุมชนจะเข้มแข็ง”  อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าว


Back To Top