skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
‘เอ็นนู’ ชี้รัฐเดินถูกทาง ‘แก้หนี้ประชาชน’ แนะออกมาตรการเสริม ‘ดูแลลูกหนี้’ แก้หนี้ยั่งยืน

‘เอ็นนู’ ชี้รัฐเดินถูกทาง ‘แก้หนี้ประชาชน’ แนะออกมาตรการเสริม ‘ดูแลลูกหนี้’ แก้หนี้ยั่งยืน

“เอ็นนู” เผยรัฐเดินถูกทางแก้หนี้ทั้งระบบ จี้หน่วยงานรัฐเร่งเจรจาเจ้าหนี้นอกระบบลดดอกเบี้ยโหด โอนหนี้นอกระบบสู่นาโน –ฟิโกไฟแนนซ์ ลดต้น-ลดดอก แนะแก้ปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ธนาคารเจ้าหนี้ – นอนแบงก์ ต้องมีมาตรการดูแลลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย อบรมสร้างวินัยการเงิน แบ่งเงิน 3 ก้อน เงินใช้สร้างอาชีพ ชำระหนี้ เงินออมยามฉุกเฉิน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ใช้จ่ายอย่างมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออม

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ

นายเอ็นนู ซื่อสุวรรณ กรรมการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ รองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ และอดีตรองผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ให้สัมภาษณ์ในรายการ “ลับคมธุรกิจ” คลื่น FM 90.5 ถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ (หนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ) ของรัฐบาลที่กำหนดเป็น “วาระแห่งชาติ” ว่า ในหลักการถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว เนื่องจากหลังการระบาดของโควิด 19 ทำให้ประชาชนเป็นหนี้ในระบบและนอกระบบจำนวนมาก โดยสัดส่วนหนี้ครัวเรือนสูงถึงกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ไม่นับรวมหนี้นอกระบบ จึงเป็นเรื่องที่รัฐต้องเร่งแก้ปัญหา เพื่อทำให้ประชาชนที่เป็นลูกหนี้มีสภาพคล่องทางการเงินมาสร้างรายได้เลี้ยงตัวเองและชำระหนี้ในอัตราดอกเบี้ยที่เป็นธรรม

“ช่วง 2 ปีของสถานการณ์โควิด เกิดการล็อคดาวน์ทำให้ประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพได้ เกษตรกรไม่สามารถนำสินค้าเกษตรไปขายได้ พ่อค้าแม่ค้าก็ไม่สามารถรับซื้อสินค้าไปขายได้ ร้านอาหารปิดดำเนินการยาว เมื่อขาดรายได้ทำให้ประชาชนไปกู้หนี้ในระบบ และหนี้นอกระบบ ส่วนคนที่เป็นหนี้ในระบบและนอกระบบอยู่แล้ว ก็ไม่มีเงินมาชำระหนี้ก็จะกลายเป็นหนี้เสีย ดังนั้นการที่รัฐทำเรื่องนี้ โดยกำหนดให้มีมาตรการเร่งรัด ใครที่มีปัญหาในการชำระหนี้ให้มาติดต่อกับธนาคารของรัฐ โดยเฉพาะ ธ.ก.ส.และธนาคารออมสิน เพื่อเข้าสู่กระบวนการแก้ไขปัญหา ปรับโครงสร้างหนี้ ยืดระยะเวลาการชำระ เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย ซึ่งจะเสียประวัติทางการเงิน นับเป็นเรื่องที่ดี”

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนตัวเห็นว่า การแก้หนี้นอกระบบจะประสบความสำเร็จได้นั้น หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น หน่วยงานสังกัดกระทรวงมหาดไทยไม่เพียงเจรจากับลูกหนี้ ยังจำเป็นต้องเรียกเจ้าหนี้นอกระบบมาเจรจาให้รู้ว่า การปล่อยกู้ด้วยดอกเบี้ยสูงกว่าที่กฎหมายกำหนด และมีรายได้จากการปล่อยกู้โดยไม่ชำระภาษี เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การเจรจาลดดอกเบี้ยไม่ให้เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด มิเช่นนั้นจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

“กฎหมายกำหนดว่า จะต้องคิดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 15 ต่อปี แต่เจ้าหนี้นอกระบบ คิดดอกเบี้ยร้อยละ 10-20 ต่อเดือน  หากคิดที่ดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อเดือน เท่ากับร้อยละ 120 ต่อปี ซึ่งถือเป็นดอกเบี้ยที่โหดเกินไป ทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถหาเงินมาชำระหนี้ได้เพราะดอกเบี้ยมากกว่าเงินต้น สมัยที่ผมเป็นรองผู้จัดการธ.ก.ส.ก็เรียกเจ้าหนี้มาคุย ก็สามารถช่วยเหลือลูกหนี้ได้”

นอกจากนี้ยังเห็นว่า กลไกของนาโนไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยเพื่อผู้ประกอบอาชีพ) และฟิโกไฟแนนซ์ (สินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด) เป็นอีกหนทางในการที่ลูกหนี้จะโอนหนี้นอกระบบมายังสององค์กรนี้ เพื่อเปลี่ยนดอกเบี้ยสูงเป็นดอกเบี้ยต่ำ โดยปัจจุบันนาโนไฟแนนซ์มีจำนวน 47 บริษัท ดอกเบี้ยอยู่ที่อัตราไม่เกินร้อยละ 33 ต่อปี (รวมค่าธรรมเนียม) ขณะที่ ฟิโกไฟแนนซ์ มีจำนวน 1,129 บริษัท ทั้งสององค์กรมีสถานะเป็นนอนแบงก์ สามารถปล่อยกู้ได้โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่ติดเงื่อนไขเครดิตบูโร ขณะที่การชำระหนี้เป็นการลดต้น-ลดดอก

อย่างไรก็ตาม นายเอ็นนูกล่าวว่า การ “แก้ปัญหาหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน” ถือเป็น “หัวใจสำคัญที่สุด”  ดังนั้น นอกจากนาโนไฟแนนซ์ และฟิโกไฟแนนซ์ รวมถึงธนาคารเจ้าหนี้จะรับโอนหนี้จากลูกหนี้มาบริหารแล้ว  เห็นว่า ควรจะต้องมี “มาตรการดูแลลูกหนี้” เช่น การอบรมลูกหนี้ของตัวเองให้มีวินัยทางการเงิน มีการบริหารจัดการหนี้ที่ดี เพื่อไม่ให้กลับมามีปัญหาในการชำระหนี้ จนเป็นหนี้เสีย กลับไปกู้หนี้นอกระบบ กลายเป็นปัญหาระยะสั้นที่วนมาไม่จบสิ้น และหากลูกหนี้เกิดปัญหาดังกล่าวจำนวนมาก อาจลามเป็นปัญหาของนอนแบงก์ และธนาคารเจ้าหนี้ในภายหลัง

“ลูกหนี้ต้องมีความรู้ว่า ลูกหนี้ที่ดีควรเป็นอย่างไร เงินต้องมี 3 ก้อน ก้อนแรกสำหรับทำอาชีพตัวเอง ก้อนที่สองมีไว้สำหรับชำระหนี้ และก้อนที่สามเป็นเงินออมนำมาใช้กรณีฉุกเฉิน ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ร.9 ไม่ใช้จ่ายเงินเกินตัว ใช้จ่ายเงินอย่างมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันด้วยการออมเงิน เพื่อว่า ยามมีปัญหาจะสามารถแก้ไขปัญหาทางการเงินได้เอง ไม่ต้องพึ่งรัฐบาลอีก

ดังนั้นการแก้ไขปัญหาหนี้อย่างยั่งยืน ต้องทำทั้ง 2 ทาง คือ ทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน โดยเจ้าหนี้ก็ต้องดูแลลูกหนี้ไม่ให้เป็นหนี้เสีย คิดดอกเบี้ยอย่างเป็นธรรม ลูกหนี้ก็ต้องช่วยเหลือตนเอง วางแผนทางการเงินให้ดี และเมื่อเกิดปัญหาในการชำระหนี้ ควรปรึกษาเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกร่วมกัน ไม่ใช้วิธีการหนีหรือเจตนาเบี้ยวหนี้ ขณะเดียวกันรัฐก็ต้องเร่งจัดการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบซึ่งเป็นเรื่องผิดกฎหมายให้หมดไปโดยเร็ว” นายเอ็นนู กล่าว


 

 

Back To Top