“เตาชีวมวลไร้ควัน” หนุนชุมชน โลว์คาร์บอน-ลดต้นทุนเชื้อเพลิง
การพัฒนาเตาชีวมวลไร้ควัน ของคณะนักวิจัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน และ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา นอกจากจะเป็นนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การลดคาร์บอนให้กับกลุ่มชุมชนแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนเชื้อเพลิง และลดปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้ภาคเกษตรอีกด้วย
การพัฒนานวัตกรรม “เตาชีวมวลไร้ควัน” ซึ่งมีขึ้นเพื่อสนับสนุนชุมชนให้มีส่วนร่วมในการลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจกด้วยต้นทุนต่ำ ถือเป็นผลงานของอาจารย์จาก 2 สถาบันการศึกษา โดย ดร.นราวดี บัวขวัญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย และดร.นุชประวีณ์ ลิขิตศรัณย์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน นักวิจัยร่วม (ภายใต้ทุนจากหน่วยงานบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ในชื่อโครงการวิจัยการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชนบนวิถีแห่งสายน้ำตามแนวทางการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์)
หลักการทำงานของเตาชีวมวลไร้ควัน จะถูกออกแบบให้เชื้อเพลิงชีวมวลมีการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ เพื่อลดควัน (ก๊าซเรือนกระจก) ในการประกอบอาหารลง เรียกว่าเป็นเตาลดโลกร้อนได้
ดร.นุชประวีณ์ ลิขิตศรัณย์ นักวิจัยร่วม เล่าถึงที่มาของงานวิจัยนี้ว่า โจทย์ของงานวิจัย คือการหาแนวทางลดการปล่อยคาร์บอนในภาคการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อพัฒนากิจกรรมท่องเที่ยว จึงกลายมาเป็นบทสรุปของการวิจัยเรื่องเตาชีวมวลไร้ควัน เพราะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้
ที่สำคัญ ชุมชนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง สามารถขยายผลจากการประกอบการด้านกิจกรรมท่องเที่ยว สู่การใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย
ภาพ : ดร.นุชประวีณ์ ลิขิตศรัณย์
การพัฒนาเตาชีวมวลไร้ควัน ได้นำพฤติกรรมการประกอบอาหารและการประกอบการ กิจกรรมภายในชุมชน มาปรับร่วมกับปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่ โดยเปลี่ยนจากการใช้แก๊สหุงต้มเป็นเชื้อเพลิง เป็นการใช้เตาชีวมวลไร้ควัน โดยนำเศษวัสดุในชุมชน อาทิเช่น แกลบ กะลามะพร้าว เปลือกต้นจาก กิ่งไม้ ใบไม้ มาเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล
นอกจากจะเป็นเตาที่ไร้ควันแล้ว ยังสามารถปรับระดับความแรงของไฟตามความต้องการใช้งานได้อีกด้วย จากการพัฒนาระบบควบคุมกระบวนการเพิ่มอากาศ ซึ่งถือเป็น “จุดต่าง” จากเตาชีวมวลทั่วไป ส่งผลให้ชุมชนมีความสะดวกในการใช้งาน และออกซิเจนเผาไหม้ได้อย่างเหมาะสม
การที่เตาชีวมวลสามารถทำความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดต้นทุนเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร เมื่อเทียบกับการใช้แก๊สหุงต้ม ยังส่งผลให้เกิดความสามารถในการแข่งขันแก่ชุมชนได้
“เตาชีวมวล เป็นเตาที่มีอยู่แล้ว แต่เรานำมาปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพสูง ตอบโจทย์การใช้งานของชุมชนมากที่สุด อาทิเช่น พัฒนาเป็นเตาระบบไฮบริด (Hybrid Stove) สามารถใส่เชื้อเพลิงชีวมวลทั้งจากด้านบนของเตาและช่องกลางเตา จึงช่วยประหยัดเชื้อเพลิง เพราะควันก๊าซจะหมุนวนมาเป็นเชื้อเพลิง โดยไม่ต้องเติมเชื้อเพลิงอีกจนสิ้นสุดการเผา และขยายขนาดของเตาให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้ชุมชนใช้ประกอบอาหารได้นานขึ้น”
ประการสำคัญ การใช้เตาชีวมวลไร้ควันจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าการใช้แก๊สหุงต้ม
ทั้งนี้ จากการวิจัยพบว่า เตาชีวมวลไร้ควันจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ได้มากกว่าการใช้แก๊สหุงต้ม 1.1724 kg.CO2eq (กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ต่อการประกอบอาหาร 3 ชั่วโมง
นอกจากเตาชีวมวลจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว “ดร.นุชประวีณ์” ยังบอกด้วยว่า การนำเชื้อเพลิงชีวมวลซึ่งเป็นเศษวัสดุทางการเกษตร ขยะธรรมชาติ ภายในชุมชนมาใช้เป็นเชื้อเพลิงจะช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (pm2.5) จากการเผาทิ้งขยะชีวมวลภายในชุมชน
“แทนที่จะเผาทิ้งขยะชีวมวลเหล่านั้น ก็นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาชีวมวลไร้ควัน จะช่วยลดฝุ่น pm2.5 อีกด้วย (การประกอบอาหาร 1 ครั้ง โดยเฉลี่ยพบว่าต้องใช้เชื้อเพลิงชีวมวล 10 กิโลกรัม)
วิธีนี้จึงทำให้ชุมชนแทบไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงเลย เทียบกับการซื้อถ่าน ใช้แก๊สหุงต้ม ซึ่งล้วนมีส่วนทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกทั้งสิ้น และต้นทุนก็สูงกว่าด้วย
หรือต้นทุนการผลิตเตาชีวมวลไร้ควันเองก็ค่อนข้างต่ำ เพราะตัวเตาสามารถใช้วัสดุที่หาได้ง่ายราคาไม่แพงในชุมชน หรือขยะที่ไม่ใช้แล้วในชุมชน อาทิ ถังสี”
เป้าหมายของงานวิจัยเตาชีวมวลไร้ควัน นอกจากจะเป็นนวัตรรมเพื่อลดการปลดปล่อยคาร์บอนแล้ว ยังเป็นความพยายามนำเศษวัสดุเหลือใช้ในชุมชน มาสร้างมูลค่าเพิ่มในทุกพื้นที่ที่ไปทำงานวิจัย
ปัจจุบันนี้ เตาชีวมวลไร้ควันได้ผลิตไปแล้วกว่า 10 เตา ส่งมอบให้กับชุมชนท่องเที่ยวต่างๆ ในภาคกลางและภาคใต้ นำไปใช้ในฐานกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน ซึ่งได้รับการตอบรับดีจากชุมชน และอยู่ระหว่างขยายผลงานวิจัยไปยังบางจังหวัดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ “ดร.นุชประวีณ์” เผย
นี่คือ นวัตกรรมเตาชีวมวลไร้ควัน ที่นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่น pm2.5 ลดต้นทุนเชื้อเพลิงได้อีกด้วย
จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจในการลดค่าครองชีพไปพร้อมกับการรักษ์โลก และดูแลสุขภาพ
ชุมชนที่สนใจเรียนรู้การผลิตเตาชีวมวลไร้ควัน สามารถแจ้งความจำนงไปได้ที่นักวิจัย Email: Nuchpravee.l@ku.th