รวมพลังภาคี สร้างพลังสังคม ‘มูลนิธิสัมมาชีพ’ ต่อยอดรางวัล ‘ปราชญ์-วิสาหกิจ-เอสเอ็มอี’ ต้นแบบ
อีกกิจกรรมที่ “มูลนิธิสัมมาชีพ” จัดคู่ขนานกับเวทีมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี ’66 นั่นคือ การเปิดเวที “เชื่อม” คนตัวเล็ก คนดีของสังคม ทั้งวิสาหกิจชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน เอสเอ็มอี กับองค์กรภาคีต่างๆ เพื่อจะได้ร่วมมือ พัฒนาชุมชน-สังคม-ประเทศด้วยกัน
เวที Sammachiv Award : ความสำเร็จและบทเรียนที่ควรส่งต่อ เป็นเวทีที่มูลนิธิสัมมาชีพได้จัดขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ที่ได้รับรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ไม่ว่าจะเป็นปราชญ์ชาวบ้าน วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอี ต้นแบบสัมมาชีพ ตลอดจนผู้ที่มีศักยภาพเข้ารอบรางวัลดังกล่าว ได้มาพบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รวมถึงได้เชื่อมโยงความร่วมมือซึ่งกันและกัน จะได้ยกระดับพัฒนาตัวเองต่อไป
ทั้งยังได้เชิญองค์กรภาคีต่างๆ มา “บูรณาการความร่วมมือ” กับผู้เข้าร่วมเหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นแง่การให้มุมมอง แนวคิด คำแนะนำ ไปจนถึงแนวทางสนับสนุนจากองค์กร เพื่อให้ฟอรัมเล็กๆ เหล่านี้ได้สร้างแรงกระเพื่อมในการร่วมเปลี่ยนแปลงชุมชน-สังคม
จนกลายเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ต่อไป
เวทีวันนั้นจึงเป็นการรวมคนดี มากความสามารถจากหน่วยงานต่างๆ เกือบร้อยคนมาร่วมแลกเปลี่ยนกัน
โดยองค์กรภาคีเครือข่ายของมูลนิธิสัมมาชีพที่เข้าร่วมภารกิจให้ข้อมูลและคำปรึกษา อาทิเช่น ธนาคารออมสิน ธนาคาร SME D BANK นิด้า เซ็นทรัลแล็บ บริษัทดี มี สุข (ไม่) จำกัด กรมการพัฒนาชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม บมจ. ไออาร์พีซี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และบมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล
“เอ็นนู ซื่อสุวรรณ” รองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า รางวัลที่แต่ละคนได้รับ สะท้อนว่าเป็นผู้ที่มีสัมมาชีพ มีหัวใจของสัมมาอาชีวะ เป็นคนดี มีความมุ่งมั่น สมควรที่คนดีเหล่านี้จะมีโอกาสมาพูดคุยรู้จักกัน เพื่อเชื่อมโยงความร่วมมือ อาทิเช่น ความร่วมมือของเอสเอ็มอีกับวิสาหกิจชุมชน ความร่วมมือของปราชญ์ชาวบ้านกับวิสาหกิจชุมชน หรือเอสเอ็มอี เพื่อกระจายความรู้ ความร่วมมือให้กว้างขวางออกไป กลายเป็นพลังสังคมที่ยิ่งใหญ่ สร้างสังคมเศรษฐกิจมั่งคั่ง สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ต่อไป
“ประเทศเรามีข้อดีเยอะ แต่คนดีๆ มักไม่มีโอกาสเจอกัน มูลนิธิสัมมาชีพจึงขอเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างโอกาสนั้น นำปราชญ์ชาวบ้าน เอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชน มารู้จักกัน ร่วมมือกัน เพื่อสร้างผลกระทบที่ดีต่อสังคม ประเทศ” รองประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ ระบุ
ด้าน ดร.นัชชา เทียมพิทักษ์ ผู้ก่อตั้งบริษัท วิชแอนด์ไวส์ จำกัด ส่งเสริมกิจการเพื่อสังคม และอาจารย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะวิทยากรระบุว่า ต้องการให้ผู้ร่วมกิจกรรมครั้งนี้ได้เรียนรู้ว่า กิจการหรือธุรกิจของตนเองอยู่ในช่วงใดของวงจรธุรกิจ เช่น ต้นน้ำ (การผลิตวัตถุดิบ) กลางน้ำ (การแปรรูป) และปลายน้ำ (สินค้าสำเร็จรูป) และจะหาแนวทางร่วมมือกันในแต่ละห่วงโซ่คุณค่า (Value chain) เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันได้อย่างไรบ้าง รวมทั้งการหาความร่วมมือระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมกับองค์กรภาคีเครือข่ายของมูลนิธิสัมมาชีพ เพื่อต่อยอดความร่วมมือ สร้างแรงกระเพื่อม สร้างพลังในสังคมให้เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางต่อไป
ดร.นัชชาให้ภาพ “ปัญหาหลักของธุรกิจ” ซึ่งเปรียบเสมือนหลุมดำว่า ในช่วงเริ่มกิจการ “หลุมดำแรก” จะอยู่ที่การขาดทักษะและประสบการณ์ในเชิงธุรกิจ จึงทำให้มีปัญหาในการหาตลาด และเมื่อเผชิญปัญหาจะเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า
“ถ้าเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคม มักพบข้อจำกัดเรื่องงบดำเนินการ จึงต้องพึ่งพางบจากภาครัฐและยังขาดทักษะทางธุรกิจ เน้นการทำมาหากินในท้องถิ่นมากกว่าทำมาค้าขาย ขณะที่ธุรกิจเอสเอ็มอีพบว่า ยังขาดการสร้างสมดุลสังคม ส่วนกิจการเพื่อสังคม (Social Enterprise –SE) จะมีเรื่องการสร้างสมดุลสังคม ควบคู่ไปกับการทำมาค้าขาย เป็นต้น”
เมื่อกิจการหรือธุรกิจ ผ่านพ้นช่วงเริ่มต้น เข้าสู่ ช่วงของการเติบโต “หลุมดำที่สอง” ที่จะพบคือ ปัญหาการหาเครือข่ายความร่วมมือ การขาดทักษะในการบริหารลูกค้าและการตลาด และปัญหาการบริหารกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ
และเมื่อกิจการก้าวสู่ช่วงโตเต็มวัย หรือประสบความสำเร็จระดับหนึ่งแล้ว “หลุมดำที่สาม” ที่พบคือ การสร้างระบบนิเวศน์ หรือกลไก เพื่อต่อยอดกิจการให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างยั่งยืน รวมถึงปัญหาการสนับสนุนเชิงยุทธศาสตร์ ที่สำคัญคือ องค์กรหรือกิจการขนาดเล็กมักประสบปัญหาเรื่องการจัดการทรัพยากรบุคคล
ดังนั้น กิจกรรมในวันดังกล่าว จึงเริ่มต้นจากการให้ผู้เข้าร่วมได้จับกลุ่มพูดคุยกัน โดยให้ประเมินว่า กิจการหรือธุรกิจตนอยู่ในช่วงใดของวงจรธุรกิจ และจะเชื่อมต่อความร่วมมือได้อย่างไร เช่น หากเป็นต้นน้ำอาจจะเชื่อมกับกลางน้ำหรือปลายน้ำ
หลังจากนั้น จะเป็นช่วงประเมิน “ปัญหาหลัก” ในการดำเนินกิจการ หรือดำเนินธุรกิจ เพื่อสะท้อน “ปัญหา” ไปสู่การแก้ไข และผลักดัน “โอกาส” ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต อันเป็นวัตถุประสงค์ของการจัดกิจกรรมครั้งนี้
ทั้งนี้ ปัญหาหลักๆ ที่แต่ละกลุ่มสะท้อน จะมีทั้งปัญหาความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง การขาดแคลนวัตถุดิบ ผลผลิตไม่เพียงพอ พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน ช่องทางการตลาด การบริหารจัดการลูกค้า แบรนด์ดิ้ง การแข่งขันด้านราคา ขาดแนวทางลงทุนต่อ ขาดนวัตกรรมใหม่ๆ การควบคุมคุณภาพผลผลิต
หลังระบุถึงปัญหาหลักๆ ของแต่ละรายแล้ว จะเป็นช่วงหารือกับองค์กรภาคีที่มาร่วม เพื่อนำไปสู่ข้อมูล คำแนะนำหรือแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป
ตัวอย่างจากการแลกเปลี่ยนระหว่างองค์กรภาคีกับชุมชนต่างๆ เช่น กรณีของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกองทุนออมทรัพย์บ้านดอนคา ทางนิด้าจะลงพื้นที่ศึกษาและหาแนวทางต่อยอดการลงทุนที่ไม่เสี่ยง รวมทั้งแนวทางพัฒนาด้านอื่นๆ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนมังคุดเพื่อการส่งออกท่ามะพลา จะร่วมมือกับออมสินในการต่อยอดการแปรรูปเปลือกมังคุด รวมทั้งยังมีโอกาสจากการจำหน่ายเปลือกมังคุดเพื่อสกัดและส่งออก
กลุ่มวิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชนบ้านน้ำเชี่ยว แลกเปลี่ยนกับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเรื่องมาตรฐานต่างๆ ที่เกี่ยวกับการบริการและผลิตภัณฑ์ของฝาก ของที่ระลึก เช่น มาตรฐาน มผช.
วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมล้านนาสันปูเลย จะร่วมมือกับกรมการพัฒนาชุมชนเพื่อขยายกลุ่มคนรุ่นใหม่และเครือข่ายนักเรียนในพื้นที่ เพื่อทดแทนกลุ่มแรงงานผู้สูงอายุ และจับมือกับออมสิน ธ.ก.ส. เพื่อหาทุนพัฒนากลุ่ม
สหกรณ์การเกษตรทุ่งวัดสิงห์ ซึ่งผลิตและจำหน่ายข้าว จะร่วมมือกับ สวทช. เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการเพิ่มผลผลิต เพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับสมาชิกในการหันมาปลูกข้าว กข 43
ดร.อัจฉรา โยมสินธุ์ นักวิจัย ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่ยั่งยืนและเศรษฐกิจพอเพียง สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) หนึ่งในองค์กรภาคีเครือข่ายมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า กิจกรรมในครั้งนี้ สิ่งที่เห็นคือ คนดีๆ มารวมตัวกัน และได้มาฟังมุมมองของผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งถือเป็น “แหล่งข้อมูลสำคัญ” ที่จะนำไปใช้เป็นมุมมองประกอบงานวิจัยด้านสังคมของสถาบันการศึกษา ที่จะนำไปใช้พัฒนาประเทศได้ต่อไป
รสริน วิรัญโท ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านน้ำเชี่ยว จ.ตราด ตัวแทนของผู้เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ระบุว่า ผู้เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ คือ คนเก่งและคนดี เพราะถ้าไม่ดีจริง จะไม่สามารถดำเนินกิจการที่ไม่รู้ว่าจะมีรายได้เกิดขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะการทำงานกับชาวบ้าน สิ่งนี้คือ “บททดสอบสำคัญ”
ขณะเดียวกันกิจกรรมในครั้งนี้ยังมีองค์กรภาคีเครือข่ายมาให้คำปรึกษา ซึ่งจากการรับคำปรึกษา พบว่า สิ่งสำคัญคือ ต้องทำตัวเองให้เข้มแข็งก่อน เมื่อพร้อมก้าวเดิน องค์กรภาคีเครือข่ายก็จะมองเห็นคุณค่าเข้ามาให้ความร่วมมือ
“ขอเป็นตัวแทนผู้เข้าร่วมกิจกรรมขอบคุณกิจกรรมในครั้งนี้ แม้เวลาจะไม่มาก แต่ทำให้เรารู้ว่า เรามาถูกที่ ถูกทางแล้ว สัมมาชีพที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง สังคม สิ่งแวดล้อม และเราก็พร้อมจะทำงานเพื่อประเทศชาติของเราต่อไป”
นี่คือ กิจกรรมดีๆ ที่มูลนิธิสัมมาชีพจัดขึ้น โดยความคาดหวังจะเป็น “สะพานเชื่อม” คนดีของสังคม
เพื่อบูรณาการความร่วมมือ “เขยื้อนภูเขา” เป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชุมชน-สังคม-ประเทศ ต่อไป