skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“อุตตม” รื้อใหญ่อุตฯ น้ำตาล-SME ผลักดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ

“อุตตม” รื้อใหญ่อุตฯ น้ำตาล-SME ผลักดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ

        “อุตตม” เตรียมรื้อใหญ่ อุตสาหกรรมน้ำตาลรับอุตสาหกรรมชีวภาพ ผลิตอาหารสุขภาพ ยาและเวชภัณฑ์ หวังเพิ่มรายได้ชาวไร่อ้อย พร้อมเร่งมาตรการขับเคลื่อน SME ผลักดันรายได้สู่ท้องถิ่นทั่วประเทศ

ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวใน การบรรยายโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสัมมาชีพ เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2561 ว่า “กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี พิจารณาเห็นชอบ เรื่องการปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาลทั้งระบบ ให้สามารถนำอ้อยซึ่งจากเดิมใน พ.ร.บ. กำหนดไว้ให้นำมาผลิตเฉพาะน้ำตาลเท่านั้น เพื่อใช้ในการผลิตสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมชีวภาพ เช่น การผลิตอาหารทางการแพทย์ อาหารสุขภาพ และอาหารเพื่อผู้สูงอายุ ยาและเวชภัณฑ์ต่างๆ”

สำหรับการปรับเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมน้ำตาล นอกจากจะทำให้เกิดการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์จากเดิม เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรชาวไร่อ้อย ซึ่งจะมีการจัดสรรสัดส่วนรายได้ให้กับชาวไร่อ้อยได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

นอกจากนี้ “กระทรวงอุตสาหกรรมจะประชุมติดตามผลของมาตรการช่วยเหลือ SME ได้แก่

1. การขยายศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม

2. การจัดตั้งศูนย์สนับสนุนและช่วยเหลือ

3. การสร้างโค้ช

4. การจัดทำฐานข้อมูลประชากร SME หรือ SME Big Data

5. โครงการ Big Brother เชื่อมต่อ SME สู่ห่วงโซ่การผลิตระดับโลก

6. การผลักดัน SME สู่ห่วงโซ่การผลิตผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม B2B

7. โครงการเสริมแกร่ง SME รอบรู้การเงิน

8. ยกระดับ SME สู่มาตรฐานที่เหมาะสมโดยพัฒนามาตรฐานเฉพาะ

9. ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และยังมีอีก 1 คือ มาตรการทางด้านการเงินที่ SME Development Bank ดูแลมาตรการต่างๆ เหล่านี้ จะต้องประเมินผลว่ามีความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมว่ามากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะช่วยเสริมความเข้มแข็งและปิดจุดอ่อนที่เป็นปัญหาเพื่อให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้” ดร.อุตตม กล่าวทิ้งท้าย

อนึ่ง ประเทศไทยตั้งเป้าเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพ (ไบโอ ฮับ) ของโลก ซึ่งมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลัง, ยางพารา, ข้าว, น้ำตาลและ  ปาล์มน้ำมัน โดยส่งเสริมใช้นวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาต่อยอดอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรไปสู่อุตสาหกรรมชีวภาพ ได้แก่ พลังงานชีวภาพ (ไบโอดีเซลและเอทานอล),  ผลิตภัณฑ์ชีวภาพ (พลาสติกชีวภาพและเคมีชีวภาพ) และ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม สารสกัดจากธรรมชาติ รวมถึงต่อยอดไปสู่การผลิตในอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง เป็นต้น

Back To Top