skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
โครงการ Marketplace ‘ชุมชนมีดี’ ทีทีบี-สัมมาชีพ รุก ‘ออนไลน์’ ขยายตลาดสินค้าชุมชน

โครงการ Marketplace ‘ชุมชนมีดี’ ทีทีบี-สัมมาชีพ รุก ‘ออนไลน์’ ขยายตลาดสินค้าชุมชน

ส่งมอบผลงานกันไปสดๆ ร้อนๆ สำหรับโครงการ Marketplace “ชุมชนมีดี กิจกรรมคืนประโยชน์สู่สังคม ภายใต้การดำเนินงานของ “ทีมอาสาสมัคร ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด” (มหาชน) หรือ TTB แก่ มูลนิธิสัมมาชีพ

ทั้งนี้ ทางธนาคารทหารไทยธนชาต โดยมูลนิธิทีทีบี ได้ดำเนินโครงการไฟ-ฟ้าเพื่อชุมชน ปี 2566 เปลี่ยน” เพื่อชุมชนดีขึ้นอย่างยั่งยืน โดยมีทีมอาสาสมัครของทีทีบี มาทำโครงการ กิจกรรมต่างๆ เพื่อเป็นการคืนสู่สังคมไทยอย่างยั่งยืน

หนึ่งในโครงการเหล่านั้น คือ การร่วมพัฒนาปรับปรุงเพจ “ชุมชนมีดี” แพลทฟอร์มออนไลน์ที่มูลนิธิสัมมาชีพได้ริเริ่มขึ้นเพื่อจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนในเครือข่ายของมูลนิธิ

โครงการนี้จะหาทางสนับสนุนศักยภาพการจำหน่าย และโปรโมทสินค้าวิสาหกิจชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ให้กว้างขวาง มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

เหล่าอาสาทีทีบีซึ่งก็คือ พนักงานของแบงก์ 16 คนที่ถือว่าเป็น Talent จากแผนกต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อ มาร์เก็ตติ้ง ไอที กฎหมาย ฯลฯ ได้มารวมตัวกัน นำโจทย์ไปขบคิด และหาแนวทางปรับปรุง จนนำมาสู่การส่งมอบผลงาน

คุณศรัณย์ ภู่พัฒน์  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวว่า ธุรกิจจะเติบโตอย่างยั่งยืนได้ สังคมจะต้องแข็งแรงด้วย จึงกลายเป็นที่มาของการทำงานร่วมพัฒนาสังคมในด้านต่างๆ ของทางทีทีบี โดยในโครงการนี้ โดยทีมอาสาสมัครสนใจที่จะพัฒนาเพจชุมชนมีดีของมูลนิธิสัมมาชีพ เพราะมั่นใจในคุณภาพสินค้าจากวิสาหกิจชุมชน และเชื่อมั่นว่า การปรับปรุงเพจให้น่าสนใจ เผยแพร่ให้ผู้คนได้รู้จัก จะสนับสนุนการจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้มากขึ้น ซึ่งในระยะกลางและระยะยาว หากเพจชุมชุมมีดีนำแนวคิดที่ได้จากโครงการนี้ไปต่อยอด จะทำให้การจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนผ่านช่องทางออนไลน์ ประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น
“วันนี้เรารู้สึกดีใจ ที่เป็นส่วนเล็กๆ ที่สามารถผลักดันเพจชุมชนมีดีให้สามารถก้าวต่อไป”

ทางด้าน คุณเอกภพ เมธากุล  ตัวแทนทีมอาสาสมัครของทีทีบี ระบุว่า จากเป้าหมายการพัฒนาเพจชุมชนมีดีในการขยายฐานลูกค้า โปรโมทสินค้าวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นนั้น ได้นำไปสู่ข้อเสนอแนะแนวคิดทั้งด้านการพัฒนาเนื้อหาและดีไซน์” ของเพจ อาทิเช่น การปรับดีไซน์เพจให้ดูทันสมัยแต่มีกลิ่นไอของธรรมชาติ สินค้าชุมชน วิธีดีไซน์ภาพสินค้า (Photo Content) ให้น่าสนใจมากขึ้น การนำเสนอเนื้อหาในลักษณะให้ความรู้พ่วงการจำหน่าย รวมถึงข้อแนะนำในการจัดหมวดหมู่สินค้า เพื่ออำนวยความสะดวกในการเลือกซื้อสินค้าในเพจ

ส่วน “การขยายกลุ่มลูกค้า” ประเมินว่า สามารถดำเนินการได้หลายส่วน เช่น การซื้อโฆษณาทางเฟซบุ๊คเพจเพื่อเพิ่มยอดไลค์ เพราะการเพิ่มฐานลูกค้า คือโอกาสการจำหน่ายสินค้า รวมไปถึงการโปรโมทเพจชุมชนมีดีข้ามแพลทฟอร์ม เช่น ผ่านช่องทาง Tik Tok โดยต้องวิเคราะห์ว่า เนื้อหาในลักษณะใดเข้ากับแพลทฟอร์มดังกล่าว รวมถึงในอนาคตอาจจะสร้าง Influencer เพื่อโปรโมทเพจ เป็นต้น
“เรามองว่าเพจชุมชนมีดี ยังมีศักยภาพพัฒนาได้อีกมาก เพื่อเป็นช่องทางโปรโมทสินค้าชุมชน จากที่ผ่านมาเน้นการจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนผ่านแสดงรูปภาพสินค้าเป็นหลัก”

ขณะที่ คุณธีระพันธ์ วระธีระ ในฐานะหัวหน้าโครงการกล่าวว่า  ทางทีมอาสาสนใจที่จะพัฒนาเพจชุมชนมีดี ก็เพื่อจะเป็นช่องทางจำหน่ายสินค้าและพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนของมูลนิธิให้มากขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ามูลนิธิสัมมาชีพจะนำความรู้ไปต่อยอดเพื่อพัฒนาเพจชุมชนมีดีในอนาคตต่อไป

ส่วนคุณวลัยพร ทิพยศุภลักษณ์ ผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวว่า ในการพัฒนาเพจชุมชนมีดีขึ้นมานั้น ทางมูลนิธิไม่ได้หวังผลกำไรเป็นหลัก แต่ทำขึ้นเพื่อช่วยให้ชุมชนได้ริเริ่ม มีความรู้ ประสบการณ์ การขายสินค้าบนออนไลน์ จนเมื่อเกิดความเชี่ยวชาญพอจะสามารถพัฒนาไปสู่การขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์บนแพลทฟอร์มต่างๆ ด้วยตนเองต่อไป“มูลนิธิฯ ถือว่าเป็นก้าวแรก แต่ทีทีบีถือเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยให้เพจชุมชนมีดีสามารถทำหน้าที่ของตนเองอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าถึงผู้บริโภค และช่วยสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน เนื่องจากการจำหน่ายสินค้าชุมชนแต่ละชิ้น จะเกี่ยวเนื่องกับหลายกลุ่ม ตั้งแต่ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้แปรรูป ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์ จึงถือว่า การพัฒนาเพจชุมชนมีดีจะช่วยสร้างเศรษฐกิจให้กับชุมชนได้หลายกลุ่ม”
และนี่คือ โครงการดีๆ ที่ภาคธุรกิจสามารถมอบให้กับสังคม โดยนำความรู้ ความเชี่ยวชาญ มาช่วยพัฒนาการจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชนในช่องทางออนไลน์ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาส สร้างรายได้ใหม่ให้วิสาหกิจชุมชน เอสเอ็มอีต่อไป


Back To Top