skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ถอดบทเรียน “ตง ธีระนุสรณ์กิจ” บุคคลสัมมาชีพกับวิถีสัมมาชีพ

ถอดบทเรียน “ตง ธีระนุสรณ์กิจ” บุคคลสัมมาชีพกับวิถีสัมมาชีพ

ถอดบทเรียน “ตง ธีระนุสรณ์กิจ” บุคคลสัมมาชีพกับวิถีสัมมาชีพ

“ตง ธีระนุสรณ์กิจ” กรรมการผู้อำนวยการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้ให้เกียรติบรรยายในหัวข้อ “บุคคลสัมมาชีพกับวิถีสัมมาชีพ” ในโครงการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 9 มีสาระน่าสนใจดังนี้

ในวันที่ 18 ธันวาคมปีนี้ ก็จะเป็นวันครบรอบ 60 ปี เมื่อ 60 ปีที่แล้ว เราก่อตั้งด้วยธุรกิจเล็กๆ ร่วมกับพี่น้องในครอบครัว ผมเริ่มทำธุรกิจตั้งแต่มูลค่าไม่ถึง 1 ล้านบาท เมื่อ 60 ปีที่แล้ว หากคิดเป็นวันก็ตกวันละ 3 หมื่นบาท สมัยนั้นถือว่าไม่เล็ก เรามาจาก 1 ล้านมาเป็น 10 ล้าน แล้วขึ้นมา 100 ล้าน และมาเป็นพันล้านเรื่อยมาเป็นหลายพันล้าน อีกในไม่ช้าเราต้องไปถึง 1 หมื่นล้าน แต่ละ 100 ล้าน นี่มันมีความหมายมาก

สมัยที่ผมทำไม่มีความรู้ ไม่มีวิชาการอย่างสมัยนี้ แต่มีความรู้ความตั้งใจ มีความขยันอดทน บนวิถีสัมมาชีพมีอยู่ในหลักบริหารทุกข้อ มีความซื่อสัตย์ จริยธรรม ในการทำธุรกิจหากย้อนไปดูจากวันนั้นจนถึงวันนี้ถือว่า ไม่ง่ายแต่ก็ไม่ยาก เรามาจากเล็กๆ จนโตบนวิถีสัมมาชีพ ต้องพอเพียงอย่าทำเกินตัว

กลยุทธ์กู้แบงก์ต้องพูดความจริง

ผมทำอะไรไม่เสี่ยง ต้องคิดรอบคอบ เวลากู้เงินกู้เท่าไหร่ก็ต้องคิดว่าจะต้องคืน เพราะฉะนั้นต้องคิดด้วยรอบคอบ ผมกู้เงินแบงก์ต้องคิดดูว่าจะได้หรือไม่ได้ ต้องมีแผนหนึ่ง สอง สาม และสี่ มีโครงการที่แน่นอนและยังต่อยอดให้เขาเห็น จะได้เกิดความเชื่อมั่น ที่สำคัญบริษัทเราทำธุรกิจ ต้องเป็นธุรกิจที่เราชำนาญ เอาธุรกิจที่ชำนาญนำร่อง เอาธุรกิจใหม่ที่ไม่ชำนาญมาต่อยอด

เวลาขอกู้เงินคนปล่อยกู้เขาก็อยากรู้เราทำอย่างไรมีกำไรเท่าไหร่ และจะคืนได้เมื่อไหร่ตอนที่เราคิดเรามองเห็นตลาดว่ามีเยอะเพียงแค่เราขาดตัวเงิน ดังนั้น ต้องคุยกัน ผมลงทุนใช้เงินกู้ 80% ใช้เงินตัวเองแค่ 20% เท่านั้น

ที่สำคัญอะไรที่เราคิดว่าไม่ไหวเราต้องพูดความจริง แบงก์ชอบคนพูดความจริง อย่าโกหกอันนี้เป็นสิ่งที่ผมทำเป็นที่ประจักษ์ ถ้าเราไม่ไหวเราต้องยอมรับ ขอเวลาเขายาวขึ้นจาก 5 ปี เป็น 10 ปี แต่ไม่เคยขอแฮร์คัต (ลดหนี้)

ตอนผมตั้งโรงงานชีส ก่อนปี 40 พอปี 40 ก็เกิดวิกฤติต้มยำกุ้ง ผมซื้อเครื่องจักรจากซื้อ 1 เครื่อง แต่ต้องจ่ายเงิน 2 เครื่องเพราะค่าเงินบาทอ่อนลงเท่าตัวจากราคา 27 บาทต้องจ่าย 56 บาท ผมต้องเป็นหนี้ แต่ผมไม่เคยขอแฮร์คัต (ลดหนี้) จ่ายครบทุกบาททุกสตางค์ เช่นเดียวกันเวลาผมปล่อยเครดิตให้ลูกค้าตอนนั้นจาก 30 วันก็ขยายออกไปเป็น 60 วัน ถ้าผิดนัดก็บอกมาตรงๆ เรายังส่งสินค้าให้ตามปกติ ปกติลูกค้าเขาแข็งแรง แต่ช่วงนี้เขาติดขัดเรายื่นน้ำไปให้เขาหนึ่งแก้ว เขาดื่มทุกอย่างก็โฟลว์ (ไหลลื่น) หมด แต่ถ้าเราไม่ให้เขาเอาของเขี้ยวๆ ให้เขาเคี้ยว ไม่เจ๊งก็ต้องเจ๊ง

ธุรกิจของเรานำเข้าเนยสด อาหารกระป๋อง ชีส น้ำมัน พาสต้า แป้งสำเร็จรูป มาจาก สเปน อิตาลี แต่ทุกวันนี้เกือบ 80% ผลิตในไทย แต่ถ้าเราไม่ผลิตเอง เราก็จะคิดว่าทำได้ก็ทำทำไม่ได้ก็เลิก แต่เราผลิตเองราคาย่อมเยาว์ คุณภาพดีเราให้ความสำคัญกับคุณภาพต้องมาก่อน มาตรฐานจะต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากล ส่วนพวกชีส เนย เราถูกเคลมว่าเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ รวมทั้งพวกแป้งมาทำเบเกอรี่ด้วย

ในการทำธุรกิจนำเข้าเรื่องการติดต่อกับต่างประเทศเป็นเรื่องสำคัญมาก สมัยก่อนไม่สะดวกสบายเหมือนสมัยนี้ ต้องเขียนจดหมาย สมัยนั้นไม่มีสถานทูตเหมือนสมัยนี้ที่สามารถเดินเช้าไปหาข้อมูลได้ แต่การทำธุรกิจสมัยก่อนต้องใช้ ฉลากที่ติดมากับกระป๋อง แต่จะใช้วิธีหาข้อมูลจากการอ่านฉลาก บางทีก็ให้เพื่อนช่วยซื้อฉลากจากฮ่องกง เอาที่ขายดีที่สุดแล้วก็อ่านจากฉลากซึ่งต้องใช้เวลานานมาก ตั้งแต่เขียนจดหมายไปหาเขาแล้วกว่าเขาจะตอบกลับมา 1 ฉบับ ใช้เวลากว่า 1 อาทิตย์  บางทีก็ 1 เดือน บางครั้งก็ติดต่อทางโทรเลข เรามีตู้ที่ไปรษณีย์กลางถึงเวลาก็ไปเปิดตู้ดูว่ามีอะไรส่งมาหรือไม่

สมัยนี้ง่ายเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงเร็วและก้าวหน้ามาก โทรศัพท์มือถือดูอะไรก็ได้หมด ธุรกิจก็ก้าวหน้าความเจริญก็มาก แต่การแข่งขันก็สูงเช่นกัน ฉะนั้น การทำธุรกิจต้องมีการเปลี่ยนแปลงมี การพัฒนาอยู่ตลอดเวลาจะทำแบบเดิมๆ ไม่ได้ นอกจากนี้ในการทำธุรกิจ อย่ามองแค่เรื่องเฉพาะหน้าต้องมองไกลๆ มองยาวๆ การมองเฉพาะหน้าอาจจะได้กำไรสูงสุดแต่ในระยะยาวต้องดูว่าจะเกิดผลกระทบอะไรตามมา เราต้องปรับตัวตลอดเวลา ต้องประยุกต์ไปตามความเป็นอยู่ รสนิยมผมปรับตัวตลอดเวลา ถ้าไม่ปรับตัวสินค้าผมก็ต้องรสเดิมๆ นอกจากปรับตัวแล้วเราต้องใส่ใจตลอดเวลาด้วย

ก้าวสู่บริษัทหมื่นล้าน

ปี 2515 เราปักหมุดตั้งโรงงานผลิตในประเทศ แต่ยังไม่ลืมนำเข้าเพราะการนำเข้าก็เหมือนห้องโชว์สินค้า ธุรกิจของเรา คิดจากรายได้ 80% ผลิตจากในประเทศ อีก 20% เป็นรายได้จากสินค้านำเข้า ปี 2528 มีโรงงานคุกกี้ ปี 2530 มีฟาร์มโคนม ในปีเดียวกันก็สร้างโรงงานผลิตน้ำผลไม้เข้มข้นแบรนด์ซันควิก

ขณะเดียวกันก็รีแบรนด์ใหม่  ในปี 2554 เปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่จาก “กิมจั๊วพาณิชย์” มาเป็น “กิมจั๊วกรุ๊ป” เพราะต้องการให้บริษัทมีความทันสมัย หากเป็นกิมจั๊วพาณิชย์คนจบมหาลัยปริญญาโท ปริญญาเอกจะมีใครอยากมาทำงานกับเรา และเปลี่ยนมาเรื่อยกระทั่ง กลุ่มบริษัทของเราก็ปรับโครงสร้างจดทะเบียนเป็น เคซีจี คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป เพื่ออนาคตเราจะเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เป็นบริษัทมหาชน เราต้องเตรียมพร้อมตอนนี้

เรามีศูนย์วิจัยนวัตกรรมใช้เงินลงทุน 100 ล้าน เราวิจัยค้นคว้าไม่เฉพาะบริษัทเรา ยังค้นคว้าให้องค์กรใหญ่ๆ ซอสเฟรนซ์ฟรายให้แมคโดนัล แล้วจะไม่ทำให้แบรนด์อื่นๆ ซึ่งเป็นการรักษาความลับซึ่งกันและกัน เราต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา

เมื่อเราจะเข้าตลาดหลักทรัพย์  เราต้องทำตัวเสมือนหนึ่งเราเข้าตลาดแล้ว จรรยาบรรณคืออะไร สิ่งที่ต้องรับผิดชอบ ความโปร่งใส หลีกเลี่ยงความเสี่ยงต้องวิเคราะห์ทุกเรื่อง เราเตรียมตัวเรื่องนี้มานาน  เราทำตัวเคซีจีเสมือนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ เราเตรียมพร้อมกันมาหลายปี

ปัจจุบันองค์กรเรามีคน 2 พันกว่าคน เราเริ่มจากคนสี่คนต่อมาก็มีภรรยา มีลูก มีหลานเข้ามา เพราะธุรกิจโตขึ้น บริษัทเราจะยั่งยืนยืนได้อย่างไรถ้าเรายังใช้ลูกหลานเราทำ บริษัทจะโตได้ต้องมีคนนอกเข้ามา ฉะนั้นเราต้องพร้อม เราต้องให้เกียรติเขาไม่ใช่ไปก้าวก่าย เราต้องให้เขาอยู่อย่างสบาย ธุรกิจเราจะต้องโตอย่างมั่นคงและต่อเนื่อง เราต้องเอาใจเขาใส่ใจเรา แล้วเอาใจเราใส่ใจเขา

เคล็ดลับการบริหาร

มีคนถามว่ามีเคล็ดลับอย่างไรให้บริษัทประสบความสำเร็จก็ต้องบอกว่า ทำในสิ่งที่เราถนัด พอเพียงก้าวทีละก้าว เอาก้าวที่เราชำนาญที่สุด ใส่ใจกันและกัน ให้เกียรติกัน พี่น้องต้องเป็นธรรมต้องเสมอภาค กับผู้ร่วมงานที่อยู่ในบริษัทเดียวกัน

ที่สำคัญในการทำธุรกิจโอกาส อุปสรรคมันคือความท้าทายมาพอดีกัน ทำธุรกิจห้ามท้อต้องแข็งแกร่งจิตใจมั่นคงแน่วแน่ มีแต่เดินหน้าอย่างเดียวทำเยอะปัญหายิ่งเยอะ ปัญหาแก้ไม่หมดในวันเดียว เวลามีอุปสรรคต้องคุยกัน อย่าสะสมในที่สุดมันจะระเบิด แต่อย่าให้ระเบิดต้องคุยกันก่อน ปัญหาต้องแก้ที่ต้นตอ

Back To Top