I Love Flower Farm ต้นแบบเกษตรท่องเที่ยว
I Love Flower Farm ต้นแบบเกษตรท่องเที่ยว
หน่วยงานเกษตรเชียงใหม่เชิดชู “ณวิสาร์ มูลทา” เจ้าของสวนไม้ดอก I Love Flower Farm เป็นเกษตรกรต้นแบบ Smart Farmer เพราะเธอต่อยอดอาชีพเกษตรจากรุ่นพ่อแม่ที่ปลูกไม้ตัดดอกขาย แล้วปรับตัวสู่เกษตรท่องเที่ยว ขยายกิจการจนแบ่งปันรายได้ให้เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนได้เป็นกอบเป็นกำ
ณวิสาร์ เป็นคนบ้านป่าไผ่ ต.เหมืองแก้ว อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ พื้นฐานครอบครัวทำสวนไม้ตัดดอกขายมา 20 ปี ส่วนเธอลงแรงทำสวนดอกไม้ช่วยพ่อแม่อย่างต่อเนื่อง โดยทำทุกขั้นตอนทั้งปลูก ใส่ปุ๋ย รดน้ำ เธอบอกว่า รักดอกไม้ เมื่อได้ทำในสิ่งที่รัก จึงมีความสุข และไม่รู้จักเหนื่อย
เป็นธรรมดา สวนไม้ตัดดอกย่อมมีรุ่งและตกต่ำ ในช่วงย่ำแย่ดอกไม้ล้นตลาด ขายไม่ออก เธอบอกว่า ถึงขั้นต้องตัดไม้ดอกทิ้งแล้วแก้ปัญหาหาลู่ทางฟื้นกิจการใหม่
เหนืออื่นใดแล้ว เธอไม่ล้มเลิกทำสวนไม้ตัดดอกของครอบครัว แต่กลับศึกษาช่องทางการตลาดใหม่ โดยพุ่งเป้าขายตรงกับลูกค้าที่ใช้ดอกไม้จริงมากกว่าผ่านพ่อค้าคนกลาง เพื่อให้ลูกค้าได้ดอกไม้มีคุณภาพสด พร้อมส่งกลุ่มลูกค้าได้ทั่วประเทศ
ไม่เพียงเท่านั้น เธอยังต่อยอดสวนไม้ตัดดอกเป็นเกษตรท่องเที่ยว เปิดให้ประชาชนเข้าชมสวนดอกไม้หลากหลายสีบานสะพรั่งชูช่อในพื้นที่ 12 ไร่ และจากจุดนี้จึงยกระดับรายได้ไปถึงวิสาหกิจชุมชนด้วย นั่นเท่ากับเธอเดินไปสู่ความสำเร็จร่วมกับชุมชนตามที่เธอต้องการและบอกด้วยแววตาเป็นสุขว่า เราได้ชุมชนก็ได้ด้วย
“ถ้าคนมาเที่ยว I Love Flower Farm แล้ว จะมีทุกอย่าง มีร้านค้า เราอยากแบ่งปันรายได้สู่ชุมชน ถ้าเราทำทุกอย่างที่ตัวเองหมด ชุมชนจะไม่ได้เลย” เธอเล่าอย่างปลาบปลื้มใจที่สวนดอกไม้ของเธอมีการกระจายและแบ่งปันรายได้เข้าชุมชน
ณวิสาร์ บอกถึงจุดสูงสุดของเกษตรท่องเที่ยวที่ประชาชนเข้ามาชมสวน ถ่ายรูปกับดอกไม้เป็นที่ระลึก โดยมียอดจองถึง 5,000 คน แต่สามารถรับได้วันละ 400 คนเท่านั้น ดังนั้น การก้าวเดินไปพร้อมชุมชน คือ เธอแนะนำให้เที่ยวชมสวนไม้ดอกอื่นๆ ของชุมชน ซึ่งเป็นการกระจายรายได้ต่อกันและกัน
ข้อมูลเกษตรอำเภอแม่ริมระบุว่า ตำบลเหมืองแก้ว มี 9 หมู่บ้าน มีเกษตรกรปลูกไม้ดอกประมาณ 78 ราย โดยเกษตรกรทั้งหมดได้พยายามลดต้นทุนการปลูกด้วยการลดการใช้สารเคมี แล้วเปลี่ยนมาใช้สารชีวพันธุ์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ไม้ดอกของเกษตรกรในพื้นที่ 1 ไร่ มีรายได้ประมาณ 150,000 บาทต่อปี หลังจากที่มีการเปิดสวนให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาถ่ายรูป รายได้จะเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30-50
สวนไม้ตัดดอกของตำบลแห่งนี้นับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ สร้างรายได้ให้ชุมชนปีละ 80–100 ล้านบาทจากปลูกไม้ดอกเบญจมาศ พีค๊อก มาร์กาเร็ต ดาวเรือง โดยมีพื้นที่ปลูกประมาณ 203 ไร่ สลับเปลี่ยนหมุนเวียนกับการปลูกข้าว
แต่ละปีเทศบาลตำบลเหมืองแก้วจัดงานวันดอกไม้บานและผลผลิตทางการเกษตร เป็นงานประจำปีในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ โดยประชาชนจะเข้าชมสวนดอกไม้ พร้อมซื้อสินค้าชุมชนติดไม้ติดมือเป็นที่ระลึกการท่องเที่ยวได้ด้วย
เธอบอกว่า จากสถิตินักท่องเที่ยวที่บริเวณลานจอดรถของชุมชน มีเข้ามาในชุมชนเฉลี่ยวันธรรมดา วันละไม่กว่า 3,000 -5,000 คน ส่วนวันหยุดนักขัตฤกษ์ และเสาร์-อาทิตย์ มีนักท่องเที่ยวหมุนเวียนในชุมชนไม่ต่ำกว่าวันละ 10,000 คน คาดว่ามีเงินจากการจำหน่ายดอกไม้และการท่องเที่ยวสวนดอกไม้ ที่ ต.เหมืองแก้ว นับล้านบาท
สำหรับ I Love Flower Farm ณวิสาร์ บอกว่า เธอเริ่มต่อยอดสวนไม้ตัดดอกเป็นเกษตรท่องเที่ยวมาตั้งปี 2562 ด้วยการปลูกมากาเร็ต และคัตเตอร์ ซึ่งเป็นสีขาวกับสีม่วง จนประสบความสำเร็จมีนักท่องเที่ยวจองมาชมความสวยงามเป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ สวนไม้ดอกของเธอ ยังปรับสีสรรความสวยงาม โดยนำดอกสร้อยไก่จากญี่ปุ่นเข้ามาปลูก อีกทั้งยังปลูกข้าวสาลี และดอกคาโนร่าซึ่งนำเข้ามาจากเกาหลี เพื่อสร้างความแปลกใหม่ให้กับนักท่องเที่ยว
“เมื่อทำเป็นแหล่งท่องเที่ยว เรามีแผนการตลาดถึง 5 แผนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว เรามีคนคอยเช็คเทรนสีของปี ถ้าเรารู้ว่าลูกค้าท่องเที่ยวเราเป็นใคร เราไปไกลแน่นอน” ณวิสาร์ บอกและว่า ลูกค้าเธอส่วนมากเป็นคนภาคกลาง กลุ่มเป้าหมายคือคน Gen-X และ Gen-Y เพราะสามารถเข้าแพลตฟอร์มต้องการมาเที่ยวได้
“เมื่อนักท่องเที่ยวจำนวนมากมาชมสวนไม้ดอก จึงมีอาชีพสามล้อพ่วงตามมา โดยลุงที่ว่างจากการทำการเกษตร มาขับรถสามล้อพ่วง แล้วมีไกด์ชุมชนพาเที่ยว ส่วนกลุ่มแม่บ้านทำขนมส่งเราชุดละ 20 บาท ทำน้ำสมุนไพรตามฤดูกาลไว้ขายนักท่องเที่ยว”
ณวิสาร์ บอกว่า การปรับ I Love Flower Farm มาเป็นเกษตรท่องเที่ยวแบบใหม่ เป็นการนำสิ่งที่มีอยู่แล้วมาปรับตัว โดยมั่นใจว่าไปได้แน่นอน และไปได้ดีด้วย นอกจากนี้ เรายังมีทุกอย่าง มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าชุมชนไว้บริการนักท่องเที่ยว
เธอภาคภูมิใจ ที่เห็นผลผลิตเกษตรท่องเที่ยวประสบความสำเร็จ และยังชื่นชมสวนไม้ดอกในชุมชนหลากหลายสีสรร เบ่งบานโตวันโตคืนรอรับนักท่องเที่ยวเข้ามาพื้นที่ตำบลเหมืองแก้ว ได้สัมผัส ถ่ายรูป ด้วยรอยยิ้มเป็นสุข
“ตรงนี้เป็นความสุขของเรา เกินฝันเราแล้ว เราได้และชุมชนได้ด้วย เกิดการแบ่งปัน เราไปด้วยกัน”เธอบอกพร้อมรอยยิ้มเย็นๆของลมหนาว