เปิดเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว @บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 จ.นราธิวาส
เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2567 มูลนิธิสัมมาชีพ นำโดยนายจารุพันธ์ จารโยภาส อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และ ที่ปรึกษาโครงการ ส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว (Green Community Tourism ) คุณอารีย์ คงแจ่ม รองผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ พร้อมด้วยนางสุกัญญา สุขสุพันธ์ นักวิจัยท้องถิ่น ลงพื้นที่ประชุมร่วมกับแกนนำชุมชนท่องเที่ยวบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ถึงแนวทางการดำเนินงานโครงการ ส่งเสริมการพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว (Green Community Tourism ) โดยความร่วมมือระหว่างมูลนิธิสัมมาชีพ และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยว ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส
ซึ่งการลงพื้นที่ครั้งนี้ มูลนิธิสัมมาชีพได้จัดประชุมร่วมกับประธานและสมาชิกกลุ่มท่องเที่ยวบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 ซึ่งเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนงานให้บริการการท่องเที่ยวฯ ณ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว หมู่ที่ 13 ตำบลสุคิริน อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส โดยที่ประชุมได้มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์การท่องเที่ยวในปัจจุบัน ซึ่งมีกระแสการท่องเที่ยวตามแนวทาง BCG เพื่อการสร้างการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเป็นเทรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวที่ได้รับการยอมรับจากนักท่องเที่ยวทั้งใน และต่างประเทศ อันเนื่องมาจากสภาวะโลกร้อน ที่มากระทบต่อวิถีชีวิตของการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน ซึ่งส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมต่างๆ และนโยบายการส่งเสริมได้มุ่งเน้นถึงการพัฒนาที่คำนึงถึงความยั่งยืน นั้นหมายถึงการลด ละ เลิก กิจกรรมต่างๆที่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยวนับเป็นกิจการที่ก่อให้เกิดรายได้เข้าประเทศ และที่สำคัญคือเป็นธุรกิจที่มีความสำคัญต่อการสร้างงาน สร้างอาชีพ และรายได้ให้กับคนในประเทศ
การท่องเที่ยวชุมชนนับเป็นกิจการของชุมชนที่มีการบริหารจัดการโดยชุมชน และเกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ให้ชุมชนอย่างแท้จริง และครั้งนี้ชุมชนก็ได้ตระหนักถึงการจัดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG และได้แลกเปลี่ยนถึงผลิตภัณฑ์ สินค้า และบริการของกลุ่มที่เน้นเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อม โดยชุมชนบ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 เป็นชุมชนที่มีต้นทุนด้านความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีทรัพยากรที่สำคัญ คือ พื้นที่ป่าชุมชน พื้นที่ต้นน้ำของแม่น้ำสายบุรี มีอาชีพหลักของชุมชน คือการทำสวนผลไม้ สวนยางพารา และที่สำคัญคือชุมชนมีการทำสวนในลักษณะสวนผสมผสาน หรือที่เรียกว่าสวนพ่อเฒ่า ที่มีลักษณะการปลูกต้นไม้ร่วมกับป่าธรรมชาติ และใช้ระบบนิเวศในการดูแลกันเอง ไม่ใช้สารเคมีที่จะส่งผลกระทบต่อธรรมชาติและสายน้ำ ชุมชนได้มีการนำเอาทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์มีเป็นจุดขายให้กับนักท่องเที่ยวที่มีใจรักธรรมชาติได้เรียนรู้และสัมผัสผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น เดินป่าศึกษาธรรมชาติ ล่องแก่งเพื่อสัมผัสความใสสะอาดของลำธาร
นอกจากกิจกรรมด้านธรรมชาติแล้วชุมชนยังมีการนำประวัติศาสตร์ของหมู่บ้านคอมมิวนิสต์มาลายาในอดีตมาให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้อีกด้วย และสิ่งที่ประทับใจมากของนักท่องเที่ยวคือการได้ลิ้มรสอาหารพื้นถิ่นชาวไทยมุสลิม เช่น ข้าวยำ ซุปคอมมิวนิสต์ น้ำพริกผักสด เมนูปลาพื้นถิ่น ล้วนเป็นอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติในชุมชน ที่มีความปลอดภัย สด สะอาด โดยเฉพาะดอกดาหลาที่เข้าร่วมกับอาหารได้เกือบทุกเมนูก็ว่าได้
การจัดการดังกล่าวเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ตามแนวทาง BCG (Bio-Circular-Green Economy) อย่างชัดเจน นอกจากนี้ในที่ประชุมได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน ชุมชนได้ตระหนักถึงการพัฒนาเพื่อขอการรับรอง STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ซึ่งจะเป็นมาตรฐานที่รับรองว่าชุมชนได้ปฏิบัติตามมาตรการ SDGs โดยชุมชนจะมีการรวบรวมข้อมูลต่างๆตามข้อกำหนดเพื่อเตรียมเป็นเอกสารข้อมูลพร้อมรูปประกอบในการยื่นขอการรับรอง STAR ในลำดับต่อไป
สำหรับแผนการพัฒนาของชุมชน และการเพิ่มกิจกรรมเพื่อเป็นแนวทางท่องเที่ยวสีเขียว ชุมชนมีแนวคิดเรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ของฝาก ของที่ระลึก ให้กับนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันชุมชนมีการทำสบู่มังคุดแต่ยังไม่ได้รับการตอบรับจากนักท่องเที่ยวมากนัก จึงมีแนวคิดจะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ จากวัสดุในท้องถิ่น และต้องการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวช่วงฤดูผลไม้ยากให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปสัมผัสกับสวนผลไม้ และได้ลองชิมรสชาติผลไม้ที่สดจากสวนจริงๆ
วันที่ 14 มิถุนายน 2567 ชุมชนบ้านจุฬา 12 ได้พาทีมงานมูลนิธิสัมมาชีพ ไปดูเส้นทางต่างๆของการท่องเที่ยวในชุมชน จุดชมหมอก ร้านกาแฟชุมชน กิจกรรมบ้านหมอฝังเข็ม (แพทย์แผนจีน) พิพิธภัณฑ์บ้านจุฬาภรณ์พัฒนา 12 เป็นสถานที่เก็บรวบรวมประวัติศาสตร์คอมมิวนิสต์มาลายา เป็นต้น