skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ASF หมูระบาด ผู้ผลิตรายย่อยยับ

ASF หมูระบาด ผู้ผลิตรายย่อยยับ

ASF หมูระบาด ผู้ผลิตรายย่อยยับ

 

ปรากฎการณ์โรคอหิวาต์แอฟริกาในหมู หรือ ASF ผุดขึ้นในไทยเมื่อช่วงปลายปี 2564 แล้วต่อเนื่องข้ามปีถึง ม.ค. 2565 มีรูปธรรมที่ไม่ใช่เรื่องหมูๆ อย่างเดียว เพราะเกษตรกรเลี้ยงหมูได้เปิดโปงซากหมูตายนำไปฝัง แล้วราคาหมูแพงได้รุมบดขยี้ทำลายความเชื่อมั่นรัฐบาลในด้านการบริหารจัดการปัญหาที่ล่าช้า

 

 

ประเด็น ASF หมูจึงกลายเป็นเรื่องงัดข้อทางการเมืองครั้งสำคัญระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้าน แล้วยังลากอารมณ์เดือดร้อนของประชาชนมาเป็นแนวร่วมกระหน่ำตีกรมปศุสัตว์ โยงไปถึงพรรคการเมืองคุมกระทรวงเกษตรและกระทรวงพาณิชย์อย่างมีนัยที่ซ่อนความขัดแย้งกันอยู่ลึกๆ

 

ดังนั้น ปัจจัยเรื่องหมูจึงเป็นปัญหาซับซ้อนที่สัมพันธ์กันความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างหลากหลาย ทั้งเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย ผู้บริโภค อุตสาหกรรมส่งออกหมูรายใหญ่ อีกทั้งการบริหารจัดการปัญหาที่รัฐบาลต้องรับไปเต็มๆอย่างยากจะหลีกเลี่ยงได้ ถึงอย่างไรก็ตาม โรค ASF ได้สร้างความเสียหายต่อประชากรโลกมานานกว่า 100 ปีแล้ว ซึ่งไม่ใช่สิ่งใหม่ โรคใหม่ที่ไทยจะมุดหนีเอาตัวรอดได้พ้น

 

เส้นทางระบาด ASF หมู

รายงานจากมูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) ซึ่งถอดความจาก African Swine Fever (ASF) สืบค้นการระบาดของ ASF หมูว่า โรคนี้มีผลกระทบต่อหมูเลี้ยงและหมูป่า โดยรู้จักเป็นครั้งแรกในประเทศเคนยา ทวีปแอฟริกา เมื่อปี ค.ศ. 1921 หรือ 101 ปีที่แล้ว และคาดว่ากระจายการระบาดไปในหลายประเทศใน 4 ทวีปมีจำนวนหมูรวมกันมากกว่า 78% ของโลก

 

       

 

 

รายงานระบุว่า การระบาดของ ASF ครั้งแรกนอกทวีปแอฟริกาเกิดขึ้นที่ประเทศโปรตุเกสเมื่อปี ค.ศ.1960 ในฟาร์มหมูใกล้เมืองลิสบอน จนต้องฆ่าหมูมากกว่า 10,000 ตัวจึงสามารถควบคุมการระบาดได้อย่างรวดเร็ว จนเงียบหายไปนาน 3 ปี

 

แล้วในปี ค.ศ. 1963 พบการระบาดซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้แพร่กระจายอย่างรวดเร็วไปยังคาบสมุทรไอบีเรียทั้งหมด ตั้งแต่นั้นมา ASF ยังคงอยู่ในคาบสมุทรไอบีเรียเป็นเวลาประมาณ 35 ปี จนกระทั่งสามารถกำจัดได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1994 ในโปรตุเกส และ ปี 1995 ในสเปน ยกเว้นบนเกาะซาร์ดิเนียที่ยังคงพบปัญหาจากโรคนี้อยู่ในปัจจุบัน

 

นอกจากการการระบาดในยุโรปแล้ว โรคนี้ยังเดินทางข้ามไประบาดในทวีปอเมริกา ในไฮติ บราซิล คิวบา และโดมินิกัน แต่ก็ได้รับการกำจัดควบคุมจนหายไประหว่างปี 1971-1980

 

วนรอบระบาดซ้ำยุโรปลามถึงเอเซีย

ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ASF ยังคงพบในหลายประเทศในทวีปแอฟริกา แต่มีความซับซ้อนเกี่ยวกับการระบาดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเพิ่มจำนวนการเลี้ยงหมูที่เพิ่มขึ้น 2 เท่าจึงทำให้มีการรายงานการระบาดเพิ่มขึ้น โดยปี ค.ศ.2007 ASF ก็โผล่กลับมาพบอีกครั้งในยุโรป และแพร่ไปอย่างรวดเร็วใน อาร์เมเนีย อาเซอร์ไบจาน และสหพันธรัฐรัสเซีย และส่งผลกระทบต่อ ยูเครน (2012) และเบลารุส (2013)

 

ต่อมาในปี ค.ศ.2014 โรคนี้เข้าสู่สหภาพยุโรป (EU) ผ่านทางลิทัวเนีย โปแลนด์ ลัตเวีย และเอสโตเนีย ตั้งแต่ปี 2016 มีประเทศในยุโรปอีก 9 ประเทศได้รับผลกระทบ เช่น มอลโดวา (2016), โรมาเนีย (2017), สาธารณรัฐเช็ก (2017), บัลแกเรีย (2018), ฮังการี (2018), เบลเยียม (2018), สโลวาเกีย (2019), เซอร์เบีย ( 2019) และล่าสุด กรีซ (2020) ซึ่งทำให้มีความเสี่ยงสำหรับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และสเปน โดยสองประเทศหลังเป็นผู้ผลิตหมูรายใหญ่ที่สุดในสหภาพยุโรป

 

มีข้อสังเกตว่าการระบาดของ ASF ในยุโรปนั้นมีการพบการระบาดใน 2 ลักษณะ คือในยุโรปตะวันตกพบการระบาดในหมูป่า ส่วนในยุโรปตะวันออกมักพบการระบาดในหมูเลี้ยงทั่วไป ภาพสะท้อนนี้ชี้ให้เห็นว่าการควบคุมการระบาดของโรคในแต่ละแหล่งและประเภทของการเลี้ยงหมูนั้นมีความแตกต่างกัน ตามประเภทและวิธีการเลี้ยง ตั้งแต่หมูป่า การเลี้ยงแบบครัวเรือน และการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม

 

ASF ส่งผลกระทบอย่างชัดเจนและร้ายแรงที่สุดเมื่อกระจายมายังเอเชีย ประเมินว่าจำนวนหมูที่ได้รับผลกระทบทั่วโลกนั้น โดยมากกว่า 80% เป็นหมูในเอเชีย ซึ่งการระบาดเกิดขึ้นครั้งแรกใน ส.ค. 2018 ที่ประเทศจีน จากฟาร์มหมูในเมืองเสิ่นหยาง การศึกษาทางทางพันธุกรรมของไวรัสที่แยกได้คล้ายคลึงกันกับไวรัสที่แพร่กระจายในยุโรป และจากการระบาดส่งผลกระทบต่อปริมาณหมูที่ผลิตได้ในประเทศไม่เพียงต่อการบริโภค ราคาหมูเพิ่มสูงขึ้นกว่าปกติถึง 2.5 เท่าตัว แม้ว่าจะมีการนำเข้าเพื่อชดเชยแล้วก็ตาม

 

 

การระบาดที่จีนแพร่ไปสู่ประเทศต่างๆ อีก 12 ประเทศ ในปี ค.ศ. 2019  ได้แก่ มองโกเลีย เวียดนาม กัมพูชา ฮ่องกง เกาหลีเหนือ ลาว เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้ ติมอร์-เลสเต อินโดนีเซีย และในปี  2020 ขยายไปสู่ปาปัวนิวกินี  

 

ไทยเพิ่งพบ ASF แต่ชดเชยย้อนหลัง

ส่วนประเทศไทย ซึ่งมีปริมาณการเลี้ยงหมูขุนประมาณ 22 ล้านตัวต่อปี แต่เมื่อหมูตายไป 3 ล้านตัวเมื่อ ธ.ค. 2564 การส่งสัญญาณโรคระบาดหมูมาถึงไทยแล้ว แต่กรมปศุสัตว์กลับเห็นต่าง แล้วปล่อยปัญหาให้บานปลายทำลายการลงทุนของเกษตรกรเลี้ยงหมูรายย่อยจนป่นปี้ โอกาสฟื้นตัวริบหรี่ ส่วนประชาชนต้องบริโภคหมูแพง

 

เมื่อเสียงประชาชนบ่นราคาหมูแพงดังถี่มากขึ้น การสืบค้นต้นเหตุจากหมูตายด้วยโรค ASF จึงถูกประโคมขึ้น กระทั่งกรมปศุสัตว์ต้องออกมายอมรับการระบาดหลังตรวจพบ ASF ที่ฟาร์มหมูในจังหวัดนครปฐม 1 รายเมื่อ 11 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยนายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ แถลงอย่างเป็นทางการ พร้อมยืนยันไม่ได้ปกปิดข้อมูลการระบาดของ ASF ทั้งที่หมูตายกันดาษดื่นถึง 56 จังหวัดทั่วประเทศ กระทั่งรัฐบาลต้องควักงบประมาณจำนวน 574 ล้านบาทมาชดเชย เยียวยาโรคระบาดหมูย้อนหลังให้เกษตรกรที่ทำลายหมูไปแล้วในช่วง 23 มี.ค.-15 ต.ค. 2564 แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยารวม 4,941 คน คิดเป็นจำนวนหมู 1.59 แสนตัว

 

อย่างไรก็ตาม ช่วง ธ.ค.ปี 2564 ต่อเนื่องมาถึงกลาง ม.ค. 2565 ปัญหาราคาเนื้อหมูชำแหละแพงขึ้นอย่างมาก เช่น ราคาหมูสามชั้นจากกิโลกรัมละ 155 บาทเมื่อเดือน ก.ย. 2564 พุ่งขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 250 บาทในต้น ม.ค. จนส่งผลกระทบต่อชีวิตบริโภคของประชาชน เพราะราคาสินค้าที่สัมพันธ์กับหมูพุ่งขึ้นราคาตามไปด้วย ในขณะที่รัฐบาลเงียบไม่รีบแก้ปัญหาราคาแพงที่สังคมเคลือบแคลงว่าเชื่อมโยงมาจากการปกปิดโรค ASF เพื่อให้กลุ่มอุตสาหกรรมรายใหญ่ได้ประโยชน์จากการส่งออกหมูไปต่างประเทศมูลค่า 17,164 ล้านบาทในปี 2563 ซึ่งเพิ่มเกือบ 5 เท่าจากปี 2562 ส่งออกเพียง 3,570 ล้านบาท หรือไม่

 

การยอมรับจากกรมปศุสัตว์ว่ามีโรค ASF ระบาดในหมูที่ไทย ย่อมกระทบกับธุรกิจหมูทั้งระบบที่มีมูลค่า 200,000 ล้านต่อปี เนื่องจากจะส่งออกหมูไปต่างประเทศไม่ได้อย่างต่ำ 3 ปี และมีการคาดหมายว่า อาจจะยาวไปถึงปี 2573 ถึงจะส่งออกได้

 

 

ดังนั้น ความเสียหายจาก ASF จะส่งผลต่อธุรกิจเลี้ยงหมูยาวนานอีกหลายปี และที่สำคัญ ขณะนี้ปัญหาโรคระบาดหมูได้ทุบธุรกิจรายย่อยที่หมูตายไปหมดรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท การจะฟื้นตัวต้องใช้เวลานานและต้องลงทุนเปลี่ยนระบบเลี้ยงใหม่หมด ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านตาดำๆเลี้ยงหมูจึงยากขึ้นทุกวัน

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

 

Back To Top