skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เกษตรอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจชุมชน  แสงสว่างปลายอุโมงค์ จุดแข็งที่ไทยแข่งได้

เกษตรอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจชุมชน แสงสว่างปลายอุโมงค์ จุดแข็งที่ไทยแข่งได้

ในงานมอบรางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ครั้งที่ 10 ประจำปี 2567 ในวาระครบรอบ 15 ปีมูลนิธิสัมมาชีพ “ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รองประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพระบุว่า การขับเคลื่อนเกษตรอุตสาหกรรมและการสร้างเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง จะเป็นหนทางปลดล็อคปัญหาเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน แก้ปัญหาความยากจนได้ เช่นเดียวกับ “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ปี 2567 กล่าวปาฐกถาพิเศษ สะท้อนถึงความสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชน โดยเฉพาะในเกษตรอุตสาหกรรม เพราะจะเป็น “จุดแข็ง” ของประเทศในการสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน รับมือหลากความท้าทายจากปัจจัยภายในประเทศและโลกได้

 

เกษตรอุตสาหกรรม-เศรษฐกิจชุมชน” เข้มแข็ง

สร้างเศรษฐกิจไทย ให้โตยั่งยืน

       “ดร.สมคิด” กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีความหลากหลายทางชีวภาพติดอันดับต้นๆ ของโลก การทำเกษตรอุตสาหกรรมจึงเป็นหนทางที่จะทำให้แข่งขันได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการขับเคลื่อนเศรษฐกิจบนฐานของ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) เป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio – Circular – Green Economy) นี่คือ แสงสว่างปลายอุโมงค์ เป็นความต้องการที่แท้จริงของโลก และเป็นจุดแข็งที่ประเทศไทยจะแข่งได้

“ท่ามกลางวิกฤติ อุตสาหกรรมที่ยังไปได้ดีอยู่คือ เกษตรอุตสาหกรรม และอาหาร เพียงแต่วันนี้เราต้องใส่วิทยาการ แล้วนำวัตถุดิบทางการเกษตรที่เรามีภายในประเทศ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด”

*ยุคหน้า ธุรกิจไม่จำเป็นต้องใหญ่

ขายความละเมียด เอกลักษณ์ชุมชน

เขายังกล่าวด้วยว่า ในยุคสมัยข้างหน้า การค้าสามารถผ่านอินเตอร์เน็ตออนไลน์ได้ ทำให้ธุรกิจไม่จำเป็นต้องเป็นขนาดใหญ่ ยิ่งเป็นธุรกิจที่มีความละเมียด มีเอกลักษณ์แต่ละชุมชน ยิ่งจะเป็นที่ต้องการของทั่วโลก ดังนั้นอุตสาหกรรมชุมชนในไทยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว หากได้รับการต่อยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมก็จะแข่งขันได้ โดยภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วมมือกัน

“ยุคสมัยเปลี่ยนไป สินค้าชุมชนที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวจะสามารถขายได้ทั่วโลก แต่ต้องหาหนทาง ช่วยเหลือคนตัวเล็กเหล่านี้ เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยเฉพาะการผนึกความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของสถาบันเอกชนหลักของประเทศ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนรูปธรรมให้เกิดขึ้น” ดร.สมคิด กล่าว

 

** “เกษตรอุตสาหกรรม”

ทางรอดเศรษฐกิจไทย

ด้าน “เกรียงไกร” ระบุว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญความท้าทายหลากหลายด้าน ทั้งจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิเช่น การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี สงครามการค้า ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ รวมไปถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ยากจะรับมือ

ขณะที่ปัจจัยในประเทศ ไทยยังคงเผชิญความท้าทาย จากการติดกับดักรายได้ปานกลาง และการเข้าสู่สังคมสูงวัยเต็มรูปแบบ กระทบความสามารถในการแข่งขัน ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) เติบโตต่ำ และรายได้จากการส่งออกของไทย ซึ่งคิดเป็นกว่า 60% ของ GDP นั้น ส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต ทำให้มูลค่าเพิ่มอยู่ในประเทศต่ำ

ดังนั้นหนทางในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย คือการหันมาพึ่งพาภาคเกษตรอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยที่เป็นประเทศเกษตรกรรม ทำให้มูลค่าเพิ่มทางการผลิตและการค้าอยู่ภายในประเทศมากที่สุด  นำไปสู่การกระจายรายได้ แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทำให้คนไทยกินดีอยู่ดี

“ประเทศไทย ส่งออกมหาศาลและหลงไปกับตัวเลขการส่งออก แต่ไส้ในจริงๆ เงินตกอยู่ในกระเป๋าคนไทยไม่มาก เพราะส่วนใหญ่เป็นการรับจ้างผลิต

วันนี้โลกเปลี่ยน เรามีเพื่อนบ้านที่แข็งแกร่ง ไม่ว่า เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์กำลังตามมา ขณะที่จีน ผลิตสินค้าได้ทุกประเภท และมีราคาต่ำ แล้วเราจะไปต่ออย่างไร”

 

*นำร่องเกษตรอัจฉริยะ 8 อุตสาหกรรม

จุดเปลี่ยนสร้างมูลค่าเพิ่มแทนรับจ้างผลิต 

ในฐานะประธาน ส.อ.ท. “เกรียงไกร” ระบุว่า ที่ผ่านมา ส.อ.ท. ในขับเคลื่อนแนวทางดังกล่าว ด้วยการสร้างโครงการนำร่อง ‘Smart Agriculture Industry’ หรือ โครงการเกษตรอัจฉริยะ ใน 8 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมยา โดยเฉพาะการแปรรูปสมุนไพรไทยเป็นสารสกัดสำคัญ อุตสาหกรรมไบโอคอสเมติกส์  อุตสาหกรรมอาหารเสริม อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต อุตสาหกรรมพลังสะอาด อุตสาหกรรมไบโอพลาสติก อุตสาหกรรมเส้นใยธรรมชาติ และอุตสาหกรรมไบโอเคมิคัลส์ ซึ่งล้วนเป็นจุดเปลี่ยนสร้างมูลค่าเพิ่มต้นน้ำ – กลางน้ำ และปลายน้ำ ให้อยู่ในประเทศ แทนการรับจ้างผลิต

 

*พร้อมผนึกเครือข่ายมูลนิธิสัมมาชีพ – LFC

ยกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย

นอกจากนี้ ส.อ.ท. ยังอยู่ระหว่างผนึกความร่วมมือในลักษณะ Area Based กับสภาอุตสาหกรรมจังหวัดที่มีอยู่ทั่วประเทศเพื่อดำเนินการในเรื่องเหล่านี้  ผ่านโครงการ One Province One Industry (หนึ่งจังหวัดหนึ่งอุตสาหกรรม) และ ส.อ.ท.พร้อมจะเป็นพันธมิตรกับเครือข่ายมูลนิธิสัมมาชีพ หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (LFC) ผ่านการดำเนินการต่างๆ เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับเกษตรกรซึ่งเป็นคนภาคส่วนใหญ่ของประเทศ “พลิกวิกฤติเป็นโอกาส”

ทำให้ลูกหลานเกษตรกรไทยที่ไปทำงานในเมือง กลับมาบ้านเกิด เพื่อร่วมกันพัฒนาจุดแข็งในภาคเกษตรของไทยต่อไป

“วันนี้เราจะร่วมกันพลิกฟื้นจุดแข็งของประเทศไทยในภาคเกษตรอุตสาหกรรม มาจับมือร่วมกัน สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทย เข้มแข็งสามารถแข่งขันได้อย่างยั่งยืน”

 

*ช่วยคนตัวเล็ก หนุนเศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง

“ดร.สมคิด” ยังได้กล่าวแสดงความยินดีกับบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2567 คือ “เกรียงไกร” โดยระบุว่าเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมกับรางวัลนี้ จากความมุ่งมั่นพัฒนาภาคเอกชนให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับคนตัวเล็ก หรือ ธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งเป็นภาคส่วนที่ต้องให้ได้รับความช่วยเหลือ ลดผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้ จากปัญหาเชิงโครงจากการปรับตัวจากอุตสาหกรรมล้าสมัยสู่อุตสาหกรรมที่แข่งขันได้ และปัจจัยภายในและภายนอกประเทศที่มากระทบ

 

*เศรษฐกิจปี 2568 ยังน่าเป็นห่วง

เขาระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2540 (วิกฤติต้มยำกุ้ง) เป็นต้นมาจนถึงขณะนี้ ไม่มีช่วงเวลาใดที่ผู้คนยากลำบากเท่าเวลานี้ และไม่มีวี่แววจะดีขึ้น คนมีรายได้น้อย รายจ่ายสูง ภาระหนี้สูง ราคาสินค้าต้นทุนสูงขึ้น การกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจึงเหมือนการเทน้ำลงไปในหลุมทราย การพึ่งรายได้จากการส่งออกก็ไม่สามารถทำได้ เพราะส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมล้าสมัย ขณะที่การให้ความสำคัญกับการศึกษา นวัตกรรม และการวิจัยยังน้อย ทำให้ไล่ตามไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก

“ต้องโทษตัวเราเองที่ช้า มองไม่เห็นอนาคต ภาคการเมืองสนใจแต่เรื่องเฉพาะหน้า สนใจการเลือกตั้งครั้งต่อไป การสร้างนวัตกรรมนั้นยาก อธิบายให้ชาวบ้านก็ไม่เข้าใจ จึงถูกปล่อยปละละเลย เศรษฐกิจในปีหน้า (ปี 2568) จึงยังน่าเป็นห่วง ทุกคนจึงต้องเตรียมพร้อม ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี จะอยู่รอดได้อย่างไร

วันนี้ ไม่เพียง มาแสดงความยินดีกับบุคคลต้นแบบสัมมาชีพ แต่ฝากท่านประธาน ส.อ.ท. ให้เป็นหลักในฐานะสถาบันเอกชน ช่วยทำให้คนตัวเล็กแข็งแรง เปลี่ยนความคิดจากอุตสาหกรรมขนาดใหญ่มาเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรในประเทศ ให้เข้าถึงเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่างๆ เช่น การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัลสำหรับการค้า และการสร้างระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ

การที่ ส.อ.ท.ให้ความสำคัญกับ เกษตรอุตสาหกรรม อาหารแห่งอนาคต นับว่ามาถูกทาง ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชน

ภาคธุรกิจก็ต้องช่วยกันเอง ประเทศไทยเดินได้เพราะเอกชนเข้มแข็ง  

ภาคเอกชนต้องร่วมกันแก้ปัญหาประเทศ ไม่รอรัฐบาลอย่างเดียว ช่วยกันทำให้เศรษฐกิจชุมชนเข้มแข็ง ถ้าทำได้คิดว่าไปรอด” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ทิ้งท้าย

 


Back To Top