เปิดเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว @วิสาหกิจชุมชนออนซอนเดโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง จ.เชียงราย
มูลนิธิสัมมาชีพ โดย นายจารุพันธุ์ จารโยภาส อดีตรองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และที่ปรึกษาโครงการ นางสาวอารีย์ คงแจ่ม รองผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ พร้อมด้วยนางสาวพรพิมล นวนกุล เจ้าหน้าที่พัฒนาผู้ประกอบการ มูลนิธิสัมมาชีพ ได้ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนออนซอนเดโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ต.บ้านแซว อ.เชียงแสน จ.เชียงราย เพื่อจัดเวทีให้ความรู้กับชุมชนท่องเที่ยว เรื่อง โครงการมาตรฐาน STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating / โครงการอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย (Thailand Tourism Awards) และการจัดการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืน ตามแนวทาง BCG และ SDGs ที่ประชุมนำเสนอ Power point แนะนำให้แกนนำกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออนซอนเดโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ได้เข้าใจถึงมาตรฐานต่าง และแนวทางการยื่นขอการรับรองมาตรฐาน และหลังจากการนำเสนอข้อมูลก็ได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนเพื่อให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น รวมถึงพูดคุยสอบถามเกี่ยวกับกลุ่มกิจกรรมของชุมชน
ผลการดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน และจัดทำโปรแกรมเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนสีเขียว
(Green Community Tourism)
หลังจากมีการประชุมพูดคุย ทางชุมชนมีผลิตภัณฑ์ตามแนวทาง BCG หลายอย่าง ทั้งนี้ทางแกนชุมชนขอหารือกันอีกครั้งว่าผลิตภัณฑ์เด่นที่จะนำมาเป็นหลักของผลิตภัณฑ์ชุมชนจะเป็นชนิดไหนดี แต่จากการพูดคุยพบว่า ผลิตภัณฑ์ตามแนวทาง BCG ของชุมชน ประกอบด้วย
1. ผ้าคาดผม ผลิตจากผ้าฝ้ายทอมือซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ขึ้นชื่อของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนออนซอนเดโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง นำมาแปรรูปเป็นผ้าคาดผมลวดลายต่างๆ ที่สวยงามเหมาะสำหรับเป็นของฝาก ของที่ระลึก
2. โมบายไซดักปลา สานจากไม้ไผ่ที่มีอยู่ในชุมชน สำหรับติดรถ ติดบ้าน ติดร้านค้า เอาไว้ดักเงินทองเข้าร้านเข้าบ้าน เป็นความเชื่อของชาวบ้าน เหมาะแก่การเป็นของชำร่วย ของฝาก ถือเป็นการอุดหนุนท้องถิ่น
3.ผ้าฝ้ายทอมือ เป็นสินค้า OTOP บ้านท่าขันทอง เป็นผ้าทอมือลายสายแม่น้ำโขง มีหลายแบบหลายสไตล์ สามารถนำไปเป็นของฝากของที่ระลึกหรือแปรรูปเป็นสินค้าอื่นๆ ได้ เช่น เสื้อ กระเป๋า ผ้าพันคอ ผ้าคาดผม เป็นต้น
นอกจากนี้ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนออนซอนเดโฮมสเตย์บ้านท่าขันทอง ยังมีวัฒนธรรมที่โดดเด่น ทั้งการฟ้อนรำ การแสดงต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิต สภาพแวดล้อมสวยงาม อากาศดีร่มรื่นเย็นสบายตลอดทั้งปี เพราะเป็นพื้นที่ที่อยู่ติดริมแม่น้ำโขง ทำให้นักท่องเที่ยวได้สัมผัสวิถีชีวิตของชาวอีสาน ที่พลัดถิ่นมาอยู่ที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย บนดินแดนเหนือสุดของประเทศไทย
โปรแกรมท่องเที่ยวสีเขียว จะมีการพัฒนาโปรแกรมท่องเที่ยวชุมชน นั่งรถอิต๊อก/อีแต๋น ชมไร่นาสวนผสม สวนผลไม้ตามฤดูกาลเดินชม ช้อปตลาดสีเขียวชุมชน ชิมอาหารพื้นถิ่น พักโอมสเตย์ รวมถึงล่องเรือเพื่อชมความงามของแม่น้ำโขง โปรแกรมต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นจุดขายของชุมชนสำหรับนักท่องเที่ยวที่มาเยี่ยมเยือน
การยื่นมาตรฐาน STAR : Sustainable Tourism Acceleration Rating ชุมชนจะมีการยื่นขอการรับรองมาตรฐานสาขานันทนาการและสถานที่ท่องเที่ยว และที่พักและโฮมสเตย์ โดยชุมชนได้พิจารณาแต่ละข้อของ SDGs ทั้ง 17 ข้อ และเตรียมขอที่จะขอรางวัลอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในครั้งต่อไปด้วย