skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“กรณีศึกษา” ปลูกป่าขายคาร์บอนเครดิต คนดูแลป่า – ป่าดูแลคน ชุมชนเข้มแข็ง  

“กรณีศึกษา” ปลูกป่าขายคาร์บอนเครดิต คนดูแลป่า – ป่าดูแลคน ชุมชนเข้มแข็ง  

กลไกหนึ่งในการแก้วิกฤติสิ่งแวดล้อม คือ “ผู้ก่อก๊าซเรือนกระจกต้องเป็นผู้แก้ด้วยการคืนอากาศบริสุทธิ์เทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อย” เพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) จึงกลายเป็นที่มาของ “ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิต” ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศ

ในบ้านเรา มีผู้เข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิต และได้สะท้อนมุมมองถึงคุณค่า และมูลค่า ที่ได้รับ ซึ่งอาจจะเป็นไอเดียให้ผู้สนใจเรื่องโครงการขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต

รายงานจากธนาคารโลก ระบุว่า เมื่อปี 2564 ทั่วโลกมีตลาดคาร์บอนเครดิตถึง 64 ตลาด  คิดเป็นมูลค่ารวมการซื้อขายระหว่างกันเกือบ 6,700 ล้านดอลลาร์ โดยตลาดใหญ่ที่สุด 4 แห่งของโลก  คือ สหภาพยุโรป จีน ออสเตรเลีย และแคนาดา

ขณะที่ในประเทศไทย ได้ดำเนินการแบบ “สมัครใจ” ภายใต้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.พัฒนาขึ้น

ปัจจุบัน (ม.ค.2567) มีผู้ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตไปแล้ว 162 โครงการ ในจำนวนนี้มีทั้งที่ที่ตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิตไปแล้ว และอยู่ระหว่างการตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิต

โครงการ “การปลูกป่าอย่างยั่งยืน ณ วัดหนองจระเข้ ตําบลบ้านนา อําเภอแกลง จังหวัดระยอง” เป็นโครงการขายคาร์บอนเครดิต ประเภทป่าไม้และพื้นที่สีเขียว โดยมี วัดหนองจระเข้ เป็นเจ้าของโครงการ มีระยะเวลาคิดเครดิตของโครงการระยะเวลา 20 ปี (15 ก.ย.2556-14 ก.ย.2576) โดยมีปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรองอยู่ที่ 16 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

พระครูสุนทรวรวัฒน์ (อุดร วรธมโม) เจ้าอาวาสวัดหนองจระเข้ เล่าถึงที่มาของโครงการนี้ว่า วัตถุประสงค์การปลูกป่าของวัด ก็เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของชุมชน ของผู้ที่มาปฏิบัติธรรม เยาวชนมาเข้าค่ายฯลฯ จะได้มีอากาศบริสุทธิ์ มีความร่มรื่น เมื่อปลูกป่าได้ระยะหนึ่ง ทางอบก. ได้ประสานให้เข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิต โดยมีเกณฑ์ต่างๆ ในการดำเนินการ อาทิเช่น การปรับพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน การซื้อพันธุ์ไม้ ปุ๋ย ดูแลเรื่องน้ำ วัชพืช ศัตรูพืช และป้องกันไฟป่า จนได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่กว่า 40 ไร่ จากพื้นที่ปลูกป่าในปัจจุบันทั้งหมด 150 ไร่ และขายคาร์บอนเครดิตไปแล้ว 1 ครั้งเมื่อปี 2564 เป็นเงินกว่า 30,000 บาท

“ปัจจุบันเรื่องการปลูกป่า ดูเหมือนว่าจะไม่มีใครสนใจ เพราะสนใจเรื่องการทำลายป่า แต่ทางวัดเห็นว่าป่ามีคุณค่ามหาศาล ป่าไม้ เป็นปอดของโลก ทำให้อากาศให้เย็นลง เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำ ลำธาร วัดจึงค่อยๆ ขยายพื้นที่ปลูกป่ามาเรื่อยๆ โดยนำรายได้จากการทอดผ้าป่า ไปขอซื้อที่ดินจากญาติโยมมาปลูกป่า

การปลูกป่าอาจใช้เงินลงทุนสูงกว่ารายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต แต่ทางวัดมองถึงประโยชน์ส่วนรวมซึ่งชุมชนจะได้รับเป็นอันดับแรก เรื่องรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต เป็นสิ่งที่เพิ่มขึ้นมาในภายหลัง”

ถ้าจะปลูกต้นไม้ ปลูกป่า ต้องปลูกในใจด้วย ต้องเสียสละ ไม่คิดถึงประโยชน์ส่วนตนมากกว่าประโยชน์ส่วนรวม ต้องรักป่าไม้จริง รักธรรมชาติ” เจ้าอาวาส วัดหนองจระเข้ ย้ำ

พร้อมแนะนำว่า สำหรับผู้สนใจจะเข้าร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิต ต้องปรับพื้นที่เป็นสัดส่วน ฝนตกน้ำต้องไม่ขัง มีการบริหารจัดการที่ดี โดยเฉพาะแนวป้องกันไฟป่า และต้องมีทุนในการหาพันธุ์ไม้ ปุ๋ย ค่าแรงงานในการปรับพื้นที่ ถอนหญ้า โดยต้องดูแลต้นไม้ต่อเนื่องอย่างน้อย 3 ปีกว่าต้นไม้จะแข็งแรงเพียงพอ หรือมีความสูงประมาณ 2 เมตร

ขณะเดียวกันต้องมองไปที่ประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับจากการปลูกป่า นอกเหนือจากรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิตเพียงอย่างเดียว

อีกโครงการ คือ “การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทําลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่า และการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จังหวัดเพชรบุรี” เป็นโครงการป่าไม้และพื้นที่สีเขียว โดยกรมป่าไม้เป็นเจ้าของโครงการ และชุมชนบ้านโค้งตาบาง เป็นผู้เข้าร่วมโครงการ มีระยะเวลาคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการ 20 ปี (13 กุมภาพันธ์ 2558- 12 กุมภาพันธ์ 2578) รวมปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ได้รับการรับรอง 5,259 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการตกลงซื้อขายคาร์บอนเครดิต

ฉันท์ อัครสกุลภิญโญ ประธานเครือข่ายป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง กล่าวถึงที่มาของป่าชุมชนว่า เกิดจากชุมชนมีความเข้มแข็งในการดูแลป่า ป้องกันไฟป่า โดยก่อนหน้านี้ก็มีผู้บุกรุกทำลายป่าด้วยกิจกรรมต่างๆ ทั้งการตัดไม้ เผาถ่าน การระเบิดเหมืองแร่ฟลูออไรด์ แต่ชุมชนก็ต่อสู้กับสิ่งเหล่านี้จนประสบความสำเร็จ

ทางกรมป่าไม้จึงประสานมายังชุมชน ให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชน เพื่อให้ชุมชนดูแลป่า ในปีแรกมีสมาชิก 25 คนช่วยกันดูแลป่า ปลูกป่าเสริม ป้องกันไม่ให้เกิดไฟไหม้ป่า โดยมีกลุ่มคนเลี้ยงวัวเป็นหน่วยลาดตระเวนดับไฟป่าชุดแรก เมื่อทำเช่นนี้ระบบนิเวศน์ป่าจึงเริ่มกลับมา

ปัจจุบันมีพื้นที่ป่าชุมชน 3,277 ไร่ เป็นที่มาของโครงการขายคาร์บอนเครดิตในพื้นที่กว่า 1,400 ไร่ โดยกรมป่าไม้เป็นเจ้าของโครงการ และถือว่า โครงการนี้เป็น “แปลงคาร์บอนเครดิตแห่งแรกในประเทศไทย ที่ดำเนินการโดยกรมป่าไม้” ในปี 2558

“ตอนนั้น เราก็ไม่รู้ว่าคาร์บอนเครดิตคืออะไร ก็ต้องเรียนรู้ โดยมีคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และอบก.ประสานเข้ามาว่าชุมชนจะต้องทำอย่างไรบ้างก่อนจะขายคาร์บอนเครดิต เช่น การทำแปลง การปลูกป่าเสริม-ดูแลป่า ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็น ต้นเต็ง และรัง  โดยโครงการนี้กรมป่าไม้เป็นผู้ลงทุน ส่วนชุมชนเป็นผู้ดูแลป่า ตามกฎหมายชุมชนจะได้รับการแบ่งปันรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต สัดส่วน 90% และรัฐ(กรมป่าไม้) ได้รับรายได้จากการขายคาร์บอนเครดิต สัดส่วน 10%”

ขณะที่ความคุ้มค่าในการดำเนินโครงการขายคาร์บอนเครดิต “ประธานเครือข่ายชุมชนบ้านโค้งตาบาง” ระบุว่า ความคุ้มค่าในเชิงตัวเงินยังไม่สามารถประเมินได้ เนื่องจากยังไม่ได้ซื้อขายคาร์บอนเครดิตกัน แต่สิ่งที่ชุมชนได้รับและเห็นว่าเป็นประโยชน์มากที่สุดคือการฟื้นป่าเสื่อมโทรมกลับมามีระบบนิเวศน์ที่ดีอีกครั้ง โดยป่าจะเป็นทั้งแหล่งอาหาร แหล่งยาสมุนไพรชุมชน ทำให้อากาศบริสุทธิ์ และเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชน

“ขายคาร์บอนเครดิตคุ้มค่าไหม เรายังไม่รู้เรื่องตัวเงิน เรายังพูดไม่ได้ตรงนั้น แต่การที่เราได้ป่ากลับมา ทำให้ชุมชนได้อากาศที่ดี ได้อาหารดี ได้ยารักษาโรคจากป่า เป็นแหล่งรายได้เมื่อป่าสมบูรณ์ อาทิ การเกิดขึ้นของเห็ดโคนป่า ผักหวาน ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น 20,000-30,000 บาทต่อครัวเรือน”

ประธานเครือข่ายป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง ยังระบุว่า อีกสิ่งที่ชุมชนได้คือ “ความภูมิใจ” หลังจากชุมชนร่วมกันดูแลป่าไม่ให้เจ็บป่วย มากว่า 20 ปี ทำให้เขาหัวโล้นกลับมามีต้นไม้ สุดท้ายป่าก็จะกลับมาดูแลชุมชน ดูแลคนทั้งโลก เป็นเครื่องฟอกอากาศของโลก

และทั้งหมดนี้คือ “คุณค่าและมูลค่า” ที่ชุมชนได้รับจากการร่วมโครงการขายคาร์บอนเครดิต ที่จะว่าไปแล้ว “ตัวเงิน” ที่ได้จากการขายคาร์บอนเครดิต ในบางโครงการ โดยเฉพาะโครงการขนาดเล็ก (ไม่เกิน 100 ไร่) อาจไม่คุ้มค่านักเมื่อเทียบกับการลงทุนในช่วงแรกของโครงการขายคาร์บอนเครดิตซึ่งค่อนข้างสูง ทั้งจากการขึ้นทะเบียน การเตรียมแปลง การจ้างผู้ตรวจประเมินภายนอก การลงทุนเมล็ดพันธุ์ กล้าไม้ ค่าแรงงาน การดูแลต้นไม้ ฯลฯ อีกทั้งต้องใช้เวลาในการดำเนินการราว 3 ปีกว่าจะขายคาร์บอนเครดิตครั้งแรกได้ ขณะที่ราคาขายคาร์บอนเครดิตจะผันแปรไปตามความต้องการของตลาดในอนาคต

ทว่า สิ่งที่ชุมชนได้รับตรงกันจากการปลูกป่า คือ การได้ผืนป่า เป็นอากาศบริสุทธิ์ เป็นปอดของโลก ของคนในพื้นที่ เป็นทั้งแหล่งอาหาร  ยาสมุนไพร  ความสมบูรณ์ของป่ายังเป็นแหล่งสร้างรายได้ให้ชุมชนต่อเนื่อง ทำให้ชุมชนรัก-สามัคคีในการดูแลป่า ปลูกต้นไม้ ทำให้ชุมชนเข้มแข็ง เมื่อคนดูแลป่า – ป่าก็จะกลับมาดูแลคน ในที่สุด

 

**ขอบคุณภาพวัดหนองจระเข้ จากเว็บไซต์ กรมการพัฒนาชุมชน


Back To Top