เปิดเงื่อนไข ‘ขายคาร์บอนเครดิต’ โอกาสเพิ่มรายได้ ที่เกษตรกรไทย ต้องรู้..!
“โอกาสการขายคาร์บอนเครดิต” ของเกษตรกรไทยที่มีจำนวนประชากรมากถึง 25 ล้านคน ถือเป็นเทรนด์ใหญ่ที่น่าสนใจ จากแนวทางปรับตัวลดโลกร้อนด้วยการ “ชดเชยคาร์บอนเครดิต” (การซื้อการดูดซับก๊าซคาร์บอนจากแหล่งอื่น ที่คนอื่นช่วยดูดซับกลับคืนมาให้ในปริมาณเทียบเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยไป) เพื่อสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)
ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินระบุว่า พื้นที่เกษตรกรรมของไทยมีมากถึง 153,184,527 ไร่ หรือร้อยละ 47.77 ของพื้นที่ทั้งประเทศ จึงสามารถดูดซับคาร์บอนได้จำนวนมาก โดยต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
ทั้งนี้ ประเทศไทยได้เปิดตลาด (ซื้อ-ขาย) คาร์บอนเครดิตใน “ภาคสมัครใจ” แล้ว ภายใต้ โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ซึ่งเป็นกลไกที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.พัฒนาขึ้น
ปัจจุบันมีโครงการภาคป่าไม้ที่ได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิต (ก่อนการขายคาร์บอนเครดิตต้องได้รับการรับรองคาร์บอนเครดิตจาก อบก.) จำนวน 6 โครงการ คิดเป็นปริมาณคาร์บอนเครดิต 118,915 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ประกอบด้วย
- โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน ณ วัดหนองจระเข้ ต.บ้านนา อ.แกลง จ.ระยอง
- โครงการปลูกป่ายั่งยืนของศูนย์การเรียนรู้ป่าวังจันทร์ โดยสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศ ปตท.
- โครงการป่านิเวศระยองวนารมย์ จีซี เอสเตท
- โครงการการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการทำลายป่า และความเสื่อมโทรมของป่าและการเพิ่มพูนการกักเก็บคาร์บอนในพื้นที่ป่าชุมชนบ้านโค้งตาบาง จ.เพชรบุรี
- การปลูกป่าอย่างยั่งยืน โครงการขนาดใหญ่ในพื้นที่สวนป่าขุนแม่คำมี สวนป่าวังชิ้น สวนป่าแม่ยม-แม่แปง จ.แพร่
- โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน โรงไฟฟ้าราชบุรี โดยบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด (มหาชน)
*คิดเครดิตภาคป่าไม้ 10 ปี ภาคเกษตร 7 ปี
อบก. ระบุถึง “ข้อควรรู้ในการทำโครงการคาร์บอนเครดิต ภาคป่าไม้และการเกษตร” ว่า ชนิดของก๊าซเรือนกระจกที่จะได้รับการรับรอง ได้แก่ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซไนตรัสออกไซด์ ก๊าซไฮโดรฟลูออไรคาร์บอน ก๊าซเปอร์ฟลูออไรคาร์บอน ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ และก๊าซไนโตรเจนฟลูออไรด์
โดยกำหนดระยะเวลาการคิดเครดิตในภาคป่าไม้ 10 ปี (ขอต่ออายุได้ครั้งละ 10 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) ส่วนระยะเวลาในการคิดเครดิตในภาคเกษตร กำหนดไว้ที่ 7 ปี (ขอต่ออายุได้ครั้งละ 7 ปี ไม่จำกัดจำนวนครั้ง) โดยผู้ที่จะเข้าร่วมโครงการต้องแสดงหลักฐานเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเอกสารที่ยืนยันว่าเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่นั้นๆยินยอมให้ดำเนินการ ต้องมีพื้นที่ดำเนินการไม่น้อยกว่า 10 ไร่ โดยสามารถเสนอโครงการได้ทั้ง โครงการเดี่ยว โครงการแบบควบรวม และโครงการแผนงาน
ขณะที่กระบวนการขึ้นทะเบียนจนถึงการรับรองคาร์บอนเครดิต ต้องใช้ระยะเวลานาน 3-5 ปี โดยการขึ้นทะเบียน ประกอบด้วย การกำหนดขอบเขตและสำรวจพื้นที่ (ดำเนินการโดยผู้พัฒนาโครงการ), การจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ (ดำเนินการโดยผู้พัฒนาโครงการ), การตรวจความใช้ได้โดยผู้ประเมินภายนอก (ผู้พัฒนาโครงการเป็นผู้ว่าจ้าง) ไปจนถึงการขึ้นทะเบียน (ผู้พัฒนาโครงการเป็นผู้รวบรวมเอกสารยื่นอบก.)
เมื่อได้รับการขึ้นทะเบียนแล้ว ขั้นตอนถัดไปคือ การรับรองคาร์บอนเครดิต ประกอบด้วย การสำรวจพื้นที่หาการกักเก็บคาร์บอน การจัดทำเอกสารรายงานการติดตามประเมินผล การทวนสอบปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากผู้ประเมินภายนอก และการรับรองคาร์บอนเครดิต
*“ปลูกป่ายั่งยืน – ไม้เศรษฐกิจโตเร็ว” ขายคาร์บอนเครดิตได้
ทั้งนี้ โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืน โครงการปลูกป่าอย่างยั่งยืนโครงการขนาดใหญ่ และสวนป่าเศรษฐกิจ สามารถขายคาร์บอนเครดิตได้ โดย อบก.มีเกณฑ์การขอรับรองคาร์บอนเครดิต ดังนี้
การปลูกป่าอย่างยั่งยืน ต้องมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 10 ไร่ สามารถมีได้มากกว่า 1 พื้นที่ เป็นไม้ยืนต้น ไม่มีการทำไม้ออกทั้งหมดในช่วงระยะเวลา 10 ปี มีปริมาณการกักเก็บคาร์บอนไม่เกิน 16,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มีเอกสารสิทธิ์ หรือได้รับการอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การปลูกป่าอย่างยั่งยืน โครงการขนาดใหญ่ มีพื้นที่โครงการได้มากกว่า 1 พื้นที่ เป็นไม้ยืนต้น ไม่มีการทำไม้ออกทั้งหมดในช่วงเวลา 10 ปี มีเอกสารสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
การปลูกสวนไม้เศรษฐกิจโตเร็ว ต้องเป็นชนิดไม้ยืนต้นโตเร็วตามประกาศของ อบก. ไม่มีการเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศน์ป่าไม้ดั้งเดิม ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการตัดไม้ยืนต้นออกก่อนครบอายุรอบตัดเพื่อทำการปลูกไม้ยืนต้นโตเร็วรอบใหม่ มีการกำหนดรอบตัดไม่น้อยกว่า 10 ปี และไม่มีการทำไม้ออกทั้งหมดตลอดอายุโครงการ มีเอกสารสิทธิ์หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
*ใช้พื้นที่รัฐต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิต
ด้านการประเมินการกักเก็บคาร์บอน มี 3 ทางเลือก คือ จากการนับจำนวนต้นไม้ (ใช้สำหรับพื้นที่ที่มีขนาดแปลงย่อยไม่เกิน 30ไร่ และรวมพื้นที่ทั้งโครงการไม่เกิน 1,000 ไร่, จากการวัดรอบขนาดต้นไม้ ซึ่งเป็นการประเมินการกักเก็บคาร์บอนจากมวลชีวภาพของต้นไม้โดยสมการแอลโลเมตรี ซึ่งมวลชีวภาพของต้นไม้ ประกอบด้วยมวลชีวภาพเหนือพื้นดิน และใต้ดิน, การประเมินโดยเทคโนโลยีสำรวจระยะไกลด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์
หลังการประเมินการเก็บคาร์บอนเครดิตแล้ว ยังมี “ระเบียบการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต” หากบุคคลหรือองค์กรมีการใช้พื้นที่รัฐ หรือร่วมกับรัฐดำเนินการ จะต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิตที่จัดเก็บได้ให้กับหน่วยงานรัฐ เช่น ใช้พื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, พื้นที่ของกรมป่าไม้ จะต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิตสัดส่วนร้อยละ 10 หากใช้พื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช จะต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิต เท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10
หากเป็นพื้นที่ป่าชุมชน โดยเข้าไปปลูกและบำรุงป่าชุมชน ต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนร้อยละ 5 และให้กับหน่วยงานรัฐที่ดูแลป่าชุมชน ร้อยละ 5 หากเข้าไปอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าชุมชนและจัดการป่าชุมชน ต้องแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนร้อยละ 40 และแบ่งปันให้กับหน่วยงานรัฐที่ดูแลป่าชุมชน ร้อยละ 10 ซึ่งเป็นไปตามระเบียบของแต่ละหน่วยงานที่กำหนดไว้
**ยางพารา สัก ยูคาฯ กระถิน โกงกาง ดูดซับคาร์บอนสูง
ทั้งนี้ ยังพบว่าต้นไม้แต่ละชนิด มีอัตราการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่แตกต่างกัน โดยต้นไม้ที่มีอัตราดูดซับค่อนข้างมาก ได้แก่ ยางพารา สัก ยูคาลิปตัส กระถินเทพา กระถินณรงค์ โกงกาง ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับระยะปลูก และจำนวนต้นต่อไร่ ด้วยเช่นกัน
ขณะที่ตามสถิติการซื้อขายคาร์บอนเครดิตภายในตลาดคาร์บอนเครดิตของไทย (ข้อมูล 31 มี.ค.2566) พบว่า ราคาขายคาร์บอนเครดิตสำหรับป่าไม้ (Forestry) มีราคาซื้อขายล่าสุดที่ 2,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มากกว่าราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในประเภทอื่น
*“ฟื้นฟูป่าชายเลน” ต้นทุนต่อหน่วยต่ำสุด
ด้านการประเมิน “ต้นทุนต่อหน่วย” ของการดำเนินการตามโครงการ T-VER ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายในการปลูกและดูแลป่า ระยะเวลา 10 ปี พบว่า รูปแบบการปลูกและฟื้นฟูป่าชายเลน จะมีต้นทุนต่อหน่วย (บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า) ต่ำที่สุด โดยพื้นที่ 100 ไร่ ต้นทุนอยู่ที่ 157 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า รองลงมาคือการทำสวนป่าไม้เศรษฐกิจโตเร็ว การทำสวนป่าไม้เศรษฐกิจโตช้า และการฟื้นฟูป่าบก ตามลำดับ โดยพื้นที่ปลูกต้นไม้ยิ่งมากเท่าไหร่ต้นทุนต่อหน่วยจะต่ำลง
**ค่าใช้จ่ายรับรองคาร์บอนเครดิต 10 ปี 4.3 แสนบาท
อบก. ประมาณการค่าใช้จ่ายในการรับรองคาร์บอนเครดิต โดยตั้งสมมติฐานการประเมินในพื้นที่ดำเนินโครงการ 100 ไร่ และมีการปลูกต้นไม้ไว้แล้ว มีการวางแปลงตัวอย่างร้อยละ 1 ของพื้นที่โครงการ พบว่า ในระยะเวลา 10 ปี จะมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 431,000 บาท, พื้นที่ดำเนินโครงการ 500 ไร่ จะมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 823,000 บาท,พื้นที่ดำเนินโครงการ 1,000 ไร่ จะมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ 1,190,000 บาท
ประกอบไปด้วย ค่าสำรวจวางแปลงตัวอย่าง ค่าตรวจสอบความใช้ได้จากผู้ประเมินภายนอก และค่าทวนสอบโครงการจากผู้ประเมินภายนอก โดยจะมีการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก 3 รอบ ได้แก่ ในปีที่ 3 ปีที่ 6 และปีที่ 10 เพื่อนำไปสู่การขายคาร์บอนเครดิตใน 3 รอบการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจกดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันมี “ศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต” ผ่านระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิตของ อบก. ในระบบออนไลน์ เพื่อจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายคาร์บอนเครดิต ให้ทำความตกลงหรือจับคู่สัญญากันได้
*เกษตรกร ร่วม ธกส. ผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ ขายคาร์บอนเครดิต
ทั้งนี้ องค์กรหรือบุคคล ไม่เพียงดำเนินการขอการรับรองและขายคาร์บอนเครดิตด้วยตัวเอง ปัจจุบันยังมี “หน่วยงานกลาง” อย่างธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) มาดำเนินการส่งเสริมเกษตรกร/ชุมชนขึ้นทะเบียนโครงการ T-VER ผ่านโครงการ ธนาคารต้นไม้ โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการไปแล้วใน 2 โครงการ ได้แก่ บ้านท่าลี่ จังหวัดเลย และบ้านแดง จังหวัดอุดรธานี ปริมาณคาร์บอนเครดิตที่จะได้รับเท่ากับ 151 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยธกส.มีกองทุนธนาคารต้นไม้ สนับสนุนทางการเงินกับเกษตรกร/ชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ถือเป็นโอกาสของเกษตรกร/ชุมชนในการสร้างรายได้จากการปลูกและดูแลต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต
*รวมกลุ่มไม่น้อยกว่า 9 คน ต้นไม้ไม่น้อยกว่า 9 ต้น
ธนาคารต้นไม้ หมายถึง กลุ่มบุคคลที่ปลูกและดูแลรักษาต้นไม้ตามแนวพระราชดำริ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง (ป่าไม้ใช้สอย ป่าไม้กินได้ ป่าไม้เศรษฐกิจ และประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ) ในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตนเอง และที่ดินสาธารณประโยชน์ของชุมชนเป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และการใช้ประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ
การเข้าเป็นสมาชิกธนาคารต้นไม้ แบ่งเป็น กรณีการตั้งกลุ่มใหม่ ต้องรวบรวมสมาชิกไม่น้อยกว่า 9 คนและต้องมีต้นไม้มาขึ้นทะเบียนไม่น้อยกว่าคนละ 9 ต้น และกรณีรับสมาชิกเพิ่มในกลุ่มที่มีอยู่เดิม ต้องผ่านการรับรองจากมติที่ประชุมกลุ่ม
ทั้งนี้ ความร่วมมือกันระหว่างเกษตรกร กับ ธกส. ประกอบด้วย ชุมชนต้องเป็นผู้อนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการป่าชุมชน ขณะที่กองทุนธนาคารต้นไม้ธกส.จะเข้าไปสนับสนุนทางการเงินผ่านกลไกลดก๊าซเรือนกระจก (LESS) สนับสนุนค่าใช้จ่ายผู้ตรวจประเมินภายนอก และจัดหาตลาดขายคาร์บอนเครดิต
ขณะเดียวกันจะมีการแบ่งปันคาร์บอนเครดิต หากเป็นที่ดินเกษตรกร ชุมชน/เกษตร แบ่งปันคาร์บอนเครดิตร้อยละ 70 กองทุนธนาคารต้นไม้ธกส. ร้อยละ 30, หากเป็นการปลูกป่าชุมชน จะแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนและกองทุนธนาคารต้นไม้ธกส. สัดส่วนร้อยละ 95 และให้หน่วยงานด้านป่าไม้ ร้อยละ 5, หากเป็นการอนุรักษ์ ฟื้นฟู จัดการป่าชุมชน จะแบ่งปันคาร์บอนเครดิตให้กับชุมชนและกองทุนธนาคารต้นไม้ธกส. ร้อยละ 90 และแบ่งให้กับหน่วยงานด้านป่าไม้ร้อยละ 10
*แนะ1โครงการควรมีพื้นที่อย่างน้อย 100 ไร่
สำหรับรูปแบบจะเป็นการปลูกป่าอย่างยั่งยืน โดยข้อมูลของ ธกส.ระบุว่า 1 โครงการควรมีพื้นที่อย่างน้อยประมาณ 100 ไร่ (สามารถรวมแปลงย่อยๆ หลายแปลงได้) เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการประเมิน ขณะที่ต้นไม้ขายคาร์บอนเครดิต เป็นพรรณไม้ทั่วไป พรรณไม้ป่าชายเลน กลุ่มปาล์ม ไผ่ โดยจะมีการขายคาร์บอนเครดิตทุก 3 ปี (โครงการ 10 ปีขาย 3 รอบ) ขณะเดียวกันในระ 10-15 ปีเกษตรกรจะมีต้นไม้เป็นทรัพย์สิน เป็นหลักประกันธนาคารได้ และในระยะ 15-20 ปีจะสามารถตัดขายสร้างรายได้ครอบครัว
นี่คือรายละเอียดและเงื่อนไขการปลูกต้นไม้/ปลูกป่า เพื่อนำไปสู่การขายคาร์บอนเครดิต เทรนด์แรงที่มีส่วนทำให้โลกเย็นลง และยังสร้างรายได้ โดยเฉพาะใน “ภาคการเกษตร” ของไทย
อย่างไรก็ตามเกษตรกร/ชุมชนที่สนใจควรศึกษารายละเอียดให้ถ่องแท้ ถึง “ความคุ้มค่า” ในการลงทุนเนื่องจากยังมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการค่อนข้างสูง และยังต้องประเมินราคาซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอนาคต โดยเกษตรกรหรือชุมชนอาจมองถึงตัวช่วย หรือผู้สนับสนุนทางการเงิน อาทิ ธกส.ที่มีกองทุนส่งเสริมในเรื่องนี้ผ่านโครงการธนาคารต้นไม้ มาช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินที่เกิดขึ้นว่า จะเป็นทางออกที่ดีในการเดินหน้าโครงการนี้มากน้อยเพียงใด