skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
‘ไทยทิชชูคัลเจอร์ฯ’ เอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ ธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ดันรายได้เกษตรยั่งยืน

‘ไทยทิชชูคัลเจอร์ฯ’ เอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ ธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืช ดันรายได้เกษตรยั่งยืน

จากจุดเริ่มต้นธุรกิจ ต้องการนำนวัตกรรมมา “เพิ่มผลผลิตพันธุ์พืช” ในเวลาอันรวดเร็ว แทนการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีอื่นๆ “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ” ได้สร้างโอกาสให้กับเอสเอ็มอีจาก จ. มหาสารคาม ให้เติบโตจนสามารถส่งออกได้ถึง 30% ของยอดขาย

ส.ต.อ.อนุวัช อินปลัด (ภาพซ้าย) และสาวิตรี อินปลัด (ภาพขวา)

ส.ต.อ.อนุวัช และสาวิตรี อินปลัด  คือสามีภรรยา ผู้ก่อตั้งบริษัทไทยทิชชูคัลเจอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายต้นกล้าพันธุ์พืชที่เกิดจากการขยายพันธุ์ด้วยเทคนิค “การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ”ไม้ประดับ พืชไร่ พืชสวน ไม้ผลและไม้เศรษฐกิจ ในชื่อแบรนด์ TTCI จำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

จากคุณภาพต้นกล้าจากการเพาะเนื้อเยื่อซึ่งมีคุณสมบัติเด่นหลายประการ เช่นสามารถผลิตต้นกล้าได้ปริมาณมากในเวลาอันรวดเร็ว ไม่กลายพันธุ์ และทนทานต่อโรค ทำให้ธุรกิจแขนงนี้สามารถเติบโตได้ดี

ขณะเดียวกัน ความเชี่ยวชาญยังทำให้บริษัทสามารถเพาะเลี้ยงสายพันธุ์พืชต่างประเทศขึ้นในไทย ช่วยทดแทนการนำเข้า สร้างรายได้และลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรไทย

แนวทางการพัฒนาธุรกิจดังกล่าว จึงมีส่วนส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตรให้เป็นอาชีพที่มั่นคง เหมาะกับประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรม

นอกเหนือจากความสามารถทางธุรกิจแล้ว บริษัทยังมีส่วนช่วยดูแลการสร้างอาชีพให้ชุมชน ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม จึงเป็นที่มาของการได้รับรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ ประจำปี 2566 ที่มูลนิธิสัมมาชีพมอบให้

“ธุรกิจจะเติบโตได้ จะต้องโตไปพร้อมกับการดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม  ผมรู้สึกดีใจที่ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ จะทำให้ผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศรู้จักและเห็นถึงความสำคัญของธุรกิจนี้มากขึ้นว่า มีส่วนทำให้อาชีพด้านเกษตรกรรมของไทย เข้มแข็งขึ้นได้อย่างไร” ส.ต.อ.อนุวัช เผย

ทว่า ก่อนธุรกิจจะประสบความสำเร็จในวันนี้ได้ ต้องเผชิญกับการล้มลุกคลุกคลานมาไม่น้อย

“อนุวัช” เล่าว่า พืชชนิดแรกที่เริ่มต้นเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ คือ กล้วยน้ำว้าและกล้วยหอม เนื่องจากในขณะนั้น (ช่วงโควิดระบาด ในปี 2564) ต้นอ่อนมีราคาแพง อีกทั้งยังมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด เขาจึงหาวิธีที่จะให้ได้ต้นพันธุ์ด้วยการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ เพราะสามารถเพิ่มปริมาณจากต้นไม้ต้นเดียวเป็นจำนวนมากกว่าเท่าตัวในเวลาไม่นานนัก และยังได้ต้นกล้าที่มีคุณภาพให้ผลผลิตสูง แข็งแรง ปลอดเชื้อ ทำให้เกษตรกรเข้าถึงกล้าพันธุ์ได้เร็วขึ้น

“แรกเริ่มธุรกิจ เรายังไม่มีความรู้เรื่องการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อมาก่อน จึงไปเรียนรู้กับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง กลับมาสร้างศูนย์เกษตรเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ แต่เนื่องจากขาดทักษะ จึงลองผิดลองถูก  ทำให้การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อครั้งนั้นไม่ประสบผลสำเร็จ มีต้นทุนการดำเนินการที่สูงขึ้น จนต้องหาทุนเพิ่มด้วยการนำผลไม้ (ลำไยและแก้วมังกร) ไปจำหน่าย เพื่อนำมาเป็นทุนซื้อสารเคมีและวัสดุต่างๆ เรียกว่า ทดลองแล้วทดลองเล่า ไปบ่มเพาะความรู้เพิ่มเติมจาก สวทช. (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ) จนมีความชำนาญ รู้ถึงกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อว่า ทำอย่างไรจึงจะทำให้พืชเจริญเติบโต ตอนนี้ บริษัทฯ เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชมากกว่า 190 สายพันธุ์แล้ว” ส.ต.อ.อนุวัช เล่า

เขายังให้ข้อมูลว่า จุดเด่นซึ่งถือเป็นวัตกรรมของบริษัทฯ อยู่ที่การพัฒนาเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อพืชเศรษฐกิจได้หลายสายพันธุ์ ทั้งพืชเศรษฐกิจไทยและต่างประเทศ และยังคิดค้นนวัตกรรมสารเคมีที่ใช้เพาะเลี้ยงให้ต้นกล้าสมบูรณ์ โดยนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาปรับใช้ เช่น นำนุ่นมาทดแทนวุ้นในอาหารสังเคราะห์ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนแล้ว ยังช่วยให้ต้นกล้าเติบโตได้ดี

นอกจากนี้ยังมีเทคโนโลยีในการอนุบาลต้นกล้าพืช ทำให้เจริญเติบโตได้ดีในหลายสภาวะอากาศตามแต่ภูมิภาคของประเทศ

“ปัจจุบันเราสามารถพัฒนาสายพันธุ์แอปเปิ้ลพืชให้ปลูกได้ในไทย เพื่อลดการนำเข้า โดยที่ผ่านมาไทยนำเข้าแอปเปิ้ลปีละ 4,000 ล้านบาท ถ้าสามารถปลูกได้เองในประเทศ รายได้ในส่วนนี้ก็จะตกเป็นของเกษตรกรไทย นอกจากนี้เรายังพัฒนาสายพันธุ์มันสำปะหลังป้องกันโรคระบาด (ไวรัส หรือโรคใบด่าง) ทำให้เกษตรกรได้ต้นพันธุ์ที่ดี และยังลดต้นทุนที่เกิดจากค่ายาปราบศัตรูพืชและจากผลผลิตเสียหาย ทำให้รายได้เกษตรกรดีขึ้น ทำให้เกิดความยั่งยืนด้านรายได้”

ส.ต.อ.อนุวัช ยังประเมินว่า ในอีก 5 ปีจากนี้ ภาพรวมธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อในประเทศไทย จะเป็นที่รู้จักของตลาดในไทยและต่างประเทศมากขึ้นและเติบโตสูง จากขณะนี้ที่บริษัทมีสัดส่วนการส่งออกอยู่ที่ 30% ของยอดขายราว 40  ล้านบาทต่อปี  โดยตลาดส่งออกหลักจะเป็น เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ เคนยา  ซาอุดิอาระเบีย และแอฟริกา

เขาจึงวางแผนขยายงานรองรับ โดยจะรับคนงานเพิ่มขึ้นปีละ 100-200 คน ซึ่งจะทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ จ.มหาสารคาม อันเป็นที่ตั้งของบริษัทแห่งนี้ และมีส่วนทำให้แรงงานคืนถิ่น กลับมาสร้างรายได้ในชุมชน ดูแลครอบครัวตัวเอง มีสัมมาชีพ และมีความสุขในชีวิต

นี่คือเรื่องราวความมุ่งมั่นของเอสเอ็มอีรายหนึ่ง ที่ไม่เพียงมองการแสวงหารายได้เพื่อสร้างความอยู่รอดให้กับองค์กรตัวเองเท่านั้น แต่ยังออกแบบธุรกิจให้เกื้อกูลสังคม ชุมชน ไปด้วยกัน


Back To Top