skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
‘สภาอุตสาหกรรม’ จับมือ ‘สัมมาชีพ’  สองพลังงาน ร่วมเขยื้อนภูเขา

‘สภาอุตสาหกรรม’ จับมือ ‘สัมมาชีพ’ สองพลังงาน ร่วมเขยื้อนภูเขา

ไม่บ่อยครั้งนัก ที่จะได้เห็นองค์กรภาคเอกชนมาร่วมมือทำงานกับภาคประชาสังคมอย่างใกล้ชิด แต่สิ่งดังกล่าวมีให้เห็นแล้วกับการทำงานของมูลนิธิสัมมาชีพที่มุ่ง “เชื่อม” องค์กรต่างๆ โดยเฉพาะภาคเอกชน ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนเก่ง มันสมองระดับ “ครีม” ของประเทศ  มีความพร้อมทั้งองค์ความรู้ เทคโนโลยี เพื่อมาทำงานพัฒนาด้วยกัน

ความร่วมมือกันในลักษณะนี้ หมายถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดย่อมมีประสิทธิภาพสูงขึ้น และมิใช่ส่งผลดีแค่ด้านยกระดับเศรษฐกิจชุมชนเท่านั้น แต่ยังกินความรวมถึงการลดปัญหาสังคม ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำ หรือปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

 

ดังความร่วมมือจะที่เกิดขึ้นในเร็วๆ นี้ คือ ความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมและมูลนิธิสัมมาชีพเมื่อผู้นำของสององค์กร “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ “มงคล ลีลาธรรม” ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ ได้พบปะหารือถึงความร่วมมือ ทั้งความร่วมมือในโครงการอบรมหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” และความร่วมมือกันขับเคลื่อนด้าน BCG กับพื้นที่ชุมชน

คุณมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ (ภาพขวามือ)

“มงคล” ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวถึงความร่วมมือในหลักสูตร “ผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง” ที่มูลนิธิสัมมาชีพจัดทำขึ้นว่า หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 13 หรือ Leadership for Change : LFC#13 เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นประเด็นของ BCG Model in Action หรือการนำเศรษฐกิจ BCG มาเป็นแนวทางในการพัฒนาธุรกิจและยังมีการลงพื้นที่ปฏิบัติการจริง ซึ่งเศรษฐกิจ BCG นั้นจะเกี่ยวข้องกับคนส่วนใหญ่ของประเทศไม่ว่าจะเป็นเอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร ดังนั้น ผู้เข้าร่วมอบรมจะสามารถนำความรู้ด้าน BCG ไปปรับใช้ในธุรกิจ องค์กรของตนเอง ก่อให้เกิดการปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจ BCG ในวงกว้าง

 

ขณะเดียวกัน องค์ประกอบของผู้อบรมที่ให้มีส่วนผสมทั้งภาครัฐ เอกชน ชุมชน ก็เพื่อให้คนเหล่านี้จะได้ร่วมมือกันเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนงาน

ทำให้มีพลังในการผลักดัน สร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้ !!

ประการสำคัญ หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจะเน้นหลักคิดด้านสัมมาชีพ คือการไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ซึ่งสิ่งดังกล่าวถือว่าจะสร้างความยั่งยืนทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมอย่างแท้จริง

“เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชน เกษตรกร คนกลุ่มนี้ถือเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศและเกี่ยวข้องกับฐานเศรษฐกิจหลักของประเทศ ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตร อาหาร ท่องเที่ยว ดังนั้น มูลนิธิจึงจัดทำหลักสูตรโดยเน้นเรื่อง BCG เพื่อนำยุทธศาสตร์ประเทศมาช่วยพัฒนา ยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเชื่อมโยงกับผู้ที่จะเข้าอบรมหลักสูตรอย่างสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนให้แข็งแรง รวมถึงความร่วมมือในด้านอื่นๆ ด้วย” นายมงคล กล่าว

 

สำหรับหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง ได้จัดขึ้นโดยมูลนิธิสัมมาชีพตั้งแต่ปี 2553 ในปี 2566 นี้จะเปิดอบรมในวันที่ 18 สิงหาคมที่จะถึงนี้

เกรียงไกร เธียรนุกุล
ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ด้านประธานสภาอุตสาหกรรมฯ  “เกรียงไกร” กล่าวว่า นอกเหนือจากความร่วมมือข้างต้นแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ ยังจะร่วมมือขับเคลื่อนด้าน BCG กับมูลนิธิสัมมาชีพ โดย BCG ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมแห่งอนาคตและสภาอุตสาหกรรมฯ มีโครงการนำร่องด้าน BCG คือ อุตสาหกรรมเกษตรอัจฉริยะ Smart Agriculture Industry หรือ SAI โครงการดังกล่าวนี้สามารถเชื่อมโยง ต่อยอดกับวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายของมูลนิธิได้

“โครงการ SAI สามารถเชื่อมโยงการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมและต่อเนื่องได้ ประเทศไทยมีเกษตรกรกว่า 30 ล้านคน แต่สร้างจีดีพีได้ไม่ถึง 10%  เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้หนีไม่พ้นความจน คนรุ่นใหม่ก็หนีเข้ากรุง การพัฒนาด้านเกษตรจึงไม่มี เห็นได้จากผลผลิตต่อไร่เราต่ำ

ตามแผนของ SAI จะขยายพื้นที่ทั้ง 5 ภาค ทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชน ต่อยอดกับ Area Based สามารถแมทช์กับดีมานด์ ไซส์ พวกกลุ่มยา กลุ่มสมุนไพร ซึ่งทางสภาอุตสาหกรรมฯ จะมอบหมายให้ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ ในแต่ละจังหวัดเข้ามาร่วมด้วย กลุ่มวิสาหกิจชุมชนจะทำในลักษณะ smart farming เป็นซัพพลายเชนให้อุตสาหกรรมก็ได้ จะช่วยยกระดับธุรกิจ ลดความเหลื่อมล้ำ ลดปัญหาสังคม ได้นอกจากแก้ปัญหาเศรษฐกิจ” ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าว

 

 

ก่อนหน้านี้ ทางสภาอุตสาหกรรมฯ เองได้ทำงานร่วมกับมูลนิธิสัมมาชีพในโครงการรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ โดย “มานะผล ภู่สมบุญ” รองประธานสภาอุตสาหกรรม มาทำหน้าที่เป็นกรรมการรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ และขณะนี้ได้ขึ้นเป็นประธานคณะกรรมการรางวัลดังกล่าว

รางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพมีเป้าหมาย คัดเลือกเอสเอ็มอีเป็นต้นแบบในการประกอบกิจการ ควบคู่ไปกับการมีความรับผิดชอบต่อสังคม เพื่อเป็นแบบอย่างแก่เอสเอ็มอีรายอื่นๆ ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรมจึงถือว่าเหมาะสมในแง่มุมมองเชิงธุรกิจควบคู่กับด้านสังคม

“ธุรกิจจะเติบโต ต้องทำธุรกิจโดยมีสัมมาชีพ คือ มีคุณธรรม มีจริยธรรม ซึ่งภาคอุตสาหกรรมเองจะขาดตรงนี้ไม่ได้

รางวัลนี้ถือว่ามีประโยชน์กับผู้ประกอบการ เพราะเมื่อเป็นเอสเอ็มอีที่มีคุณภาพ สถาบันการเงินก็เตรียมสนับสนุน เอสเอ็มอีก็สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ง่ายขึ้น มูลนิธิสัมมาชีพก็จะได้ประโยชน์ในแง่การมีส่วนพัฒนาผู้ประกอบการด้วย

นอกจากนี้ อุตสาหกรรม เอสเอ็มอี ในภูมิภาคหลายๆ ธุรกิจ ถือเป็นต้นน้ำ ถ้าได้ร่วมมือกับพื้นที่ชุมชนของมูลนิธิสัมมาชีพก็จะเป็นประโยชน์ทั้งการพัฒนาเอสเอ็มอีในต่างจังหวัด การเป็นคู่ค้า ต้นน้ำของบริษัทใหญ่ๆ” รองประธานสภาอุตสาหกรรม กล่าว

ถือเป็นความตั้งใจจากสององค์กร เพื่องานยกระดับเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็งนั่นเอง


Back To Top