skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล นำทัพวิสาหกิจชุมชนฯ โกอินเตอร์

อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล นำทัพวิสาหกิจชุมชนฯ โกอินเตอร์

“เมื่อเราเปลี่ยนแปลงตัวเองได้ ก็ควรจะเปลี่ยนพวกเขา (วิสาหกิจชุมชน) ได้บ้าง”

        “อรพินทร์ พญาพิทักษ์สกุล” ประธานกรรมการบริหาร บริษัททีเอชซีจี กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจกัญชงกัญชาครบวงจร  กล่าวถึงแง่คิดซึ่งนำสู่ความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในการทำธุรกิจตามมา

แง่คิดดังกล่าว เธอ “คลิก” มาจากช่วงที่เข้าอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership  for Change- LFC) ซึ่งจัดขึ้นโดยมูลนิธิสัมมาชีพ โดยเธอเข้าร่วมอบรมรุ่นที่ 10

ทีเอชซีจี กรุ๊ป เติบโตจากวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน เป็นผู้ผลิตและแปรรูปบุกเกษตรอินทรีย์ส่งออก ต่อมาได้ขยายตัวสู่ผู้ผลิตและพัฒนาผลิตภัณฑ์จากกัญชง กัญชา เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการแพทย์

  

 

ความเปลี่ยนแปลงที่ “อรพินทร์” หมายถึง คือการเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการดำเนินธุรกิจ ใช้ “การตลาดนำผลิต” ยึดความต้องการของผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง แล้วผลิตสินค้าตามความต้องการ ธุรกิจจึงจะเติบโตอย่างยั่งยืน ตามแนวทางสัมมาชีพ

“ก่อนมาอบรม LFC เราเคยทำธุรกิจแบบหนึ่ง ไม่ได้ไปร่วมมือกับใครมากนัก แต่พอมาฟังวิทยากรเก่งๆ หลายคนสอนในคลาส ประสบการณ์ของท่านเหล่านั้นสอนให้เรารู้ว่า เราควรจะก้าวเดินอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ โดยเฉพาะเรื่องตลาดนำการผลิต ตอนนั้นได้ฟังท่านสมคิด (จาตุศรีพิทักษ์) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรองประธานคณะกรรมการที่ปรึกษามูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวปาฐกถา ท่านพูดเรื่องนี้

นี่คือแนวคิดของนักยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเมืองไทย ท่านพูดมาขนาดนี้ เราก็ต้องคิดว่า จะไปต่อยอดกับธุรกิจเราอย่างไร”

การต่อยอดธุรกิจที่เธอกุมบังเหียน คือ เข้าไปเชื่อมโยง พัฒนา วิสาหกิจชุมชนให้ปลูกกัญชง กัญชา และกระท่อมได้มาตรฐานตามความต้องการของ “ตลาดทางการแพทย์” รวมถึงการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ และยกระดับวิสาหกิจชุมชนเหล่านั้น จากเกษตรกรธรรมดา ปลูกแล้วขายให้พ่อค้าคนกลาง ให้รู้จัก “วิถีการเป็นนักธุรกิจด้วยตัวเอง” ไม่ได้ปิดกั้นว่า ปลูกแล้วจะต้องขายกลับมาที่บริษัทเท่านั้น แต่วิสาหกิจชุมชนสามารถไปทำการตลาดเอง หรือขายกับเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนด้วยกันเองได้

“แรกเริ่มเราไปสนับสนุนเต็มที่เรื่อง Know how สอนให้เขาเรียนรู้ต้นน้ำเรื่องการปลูกกัญชา กัญชง กระท่อม ทำให้เป็นเกษตรอินทรีย์ ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (แนวทางการปฏิบัติทางการเกษตร เพื่อผลิตสินค้าปลอดภัย) ซึ่งไม่ได้ทำง่ายๆ

เมื่อได้มาตรฐานการผลิตการันตีคุณภาพแล้ว ก็นำไปสู่การแปรรูปผลิตภัณฑ์ เราก็ไปสอนให้เขารู้ว่า ควรจะทำอะไรให้ขายได้ และควรไปขายที่ไหน สินค้าตอบโจทย์กับความต้องการผู้บริโภคไหม คือ ตลาดนำผลิตเสมอ เพราะถ้าไม่มีตลาดก็ไปต่อไม่ได้”

ประธานกรรมการบริหาร ทีเอชซีจี กรุ๊ป เล่าว่า จากแนวคิดและการปฏิบัติดังกล่าวที่ส่งต่อไปยังวิสาหกิจชุมชนซึ่งบริษัทเข้าไปส่งเสริมการปลูกพืช 3 ชนิดนี้ ทำให้ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนกัญชา กัญชง และกระท่อม อยู่ในเครือข่ายมากกว่า 200 วิสาหกิจชุมชน จัดตั้งเป็นสมาคมอุตสาหกรรมกัญชากัญชงและกระท่อม ถือเป็นการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง เป็นฐานที่มั่นให้กับทีเอชซีจีในการรุกธุรกิจนี้อย่างครบวงจร โดยมีเป้าหมายที่การทำ “ตลาดส่งออก” ซึ่งตลาดในหลายประเทศเปิดกว้าง โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา และหลายประเทศในยุโรป

พากว่า 200 วิสาหกิจชุมชน โกอินเตอร์ !

“ปลายทางคือโกอินเตอร์อย่างเดียว เราเน้นไปที่การพัฒนาเชิงการแพทย์ ซึ่งในต่างประเทศมีข้อกำหนดน้อยกว่าในประเทศ เช่น ในประเทศการใช้สารสกัดบางตัวต้องจ่ายโดยคลินิกเท่านั้น ต้องจ่ายด้วยแพทย์แผนไทยเท่านั้น แต่ในต่างประเทศไม่จำเป็น ขณะที่ข้อกำหนดในไทยสามารถขอผลิตเพื่อส่งออกได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสารสกัดนั้นๆ ที่จะขาย ปริมาณเท่าไหร่ก็ได้ อยู่ที่ว่าประเทศอื่นๆ จะรับได้เท่าไหร่ ทำให้บริษัทมองเห็นโอกาสในตลาดส่งออกเป็นหลัก”

ประธานกรรมการบริหาร ทีเอชซีจี บอกด้วยว่า นอกจาก 4 บริษัทใหญ่ในสหรัฐอเมริกาที่ลงนามเอ็มโอยูกับทีเอชซีจีเพื่อร่วมกันพัฒนาสินค้าที่มีส่วนผสมจากกัญชากัญชงแล้ว ยังมีบรูไน ออสเตรีย และบางประเทศในยุโรป ที่ต้องการนำผลิตภัณฑ์และสารสกัดที่บริษัทพัฒนาขึ้นไปจำหน่าย โดยปัจจุบันบริษัทได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของกัญชากัญชง ในหลากหลายหมวด อาทิเช่น ยา สินค้าเครื่องอุปโภค-บริโภคอย่าง ชาสมุนไพร ของทานเล่น ยาสระผม ครีมนวดผม ผลิตภัณฑ์สปาอโรมา เครื่องสำอาง เซรัม เป็นต้น ถือเป็นความสำเร็จที่เกิดขึ้น จากการต่อยอดแนวคิดที่ได้จากการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติ

“เราคิดว่าเราจบหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง เราก็ต้องการดึงให้วิสาหกิจชุมชนมาเปลี่ยนแปลงกับเรา บางครั้งก็มีอุปสรรคบ้าง แต่ถามว่า ทุกวันนี้ประสบความสำเร็จไหม ก็ประสบความสำเร็จ เพราะระยะเวลาไม่นานแค่ปีกว่า เราสามารถรวบรวมให้คนเข้ามาอยู่กับเราได้กว่า 200 วิสาหกิจชุมชน ส่วนใหญ่เป็นกัญชา กัญชง กระท่อม

             

ขณะที่การพัฒนาสายพันธุ์กัญชา วิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งแพม อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ที่เป็นเครือข่ายของบริษัท สามารถขึ้นทะเบียนสายพันธุ์กัญชาของตัวเองได้ถึง 7 สายพันธุ์ ขายกิ่งพันธุ์ให้วิสาหกิจชุมชนอื่นไปต่อยอดได้ เกิดการยอมรับและกลายเป็นการสร้างความมั่นคงด้านการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และการตลาดได้เป็นอย่างดี” ประธานกรรมการบริหาร ทีเอชซีจี กรุ๊ป กล่าว

 

 

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top