skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ยางไร้กลิ่นเพื่อสิ่งแวดล้อม  ปรับสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG

ยางไร้กลิ่นเพื่อสิ่งแวดล้อม ปรับสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG

ยางไร้กลิ่นเพื่อสิ่งแวดล้อม

ปรับสู่โมเดลเศรษฐกิจ BCG

 

“เราวางแผนทำยางเครปบางสีน้ำตาลอัดแท่ง โดยการยางแห่งประเทศไทยจะซื้อไปเก็บ วางแผนการขาย ซึ่งจะทำให้ราคายางพารามีเสถียรภาพและปรับขึ้นทุกปี เกษตรกรจะอยู่ดีกินดีมากกว่านี้” นายธนากร จีนกลาง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา จ.บุรีรัมย์ วาดหวังถึงแผนการแปรรูปและขายยางพาราในอนาคตที่จะมุ่งเดินไปให้ถึงอย่างภูมิใจ

นายธนากร จีนกลาง ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มฐานเกษตรยางพารา

 

 

ในความภูมิใจนั้น มีส่วนประกอบทั้งมิติอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของคนๆ หนึ่งที่มีความรู้แค่ชั้น ม.3 จากศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน แต่เพราะเป็นคนใฝ่รู้ จึงเป็นผู้สร้างนวัตกรรมยางพาราแห่งภาคอีสาน

 

“เราพูดได้ว่า อ.โนนสุวรรณ เป็นอำเภอเล็กๆ แต่สร้างนวัตกรรมการแปรรูปยางพาราได้ นั่นมาจากการเอาปัญหามาวางก่อน แล้วหาวิธีแก้ไข พร้อมสอบถามครูอาจารย์ที่เรียนมาทางสายนี้”

 

ในอดีต “ธนากร” เริ่มปลูกยางทั้งๆ ที่คนอีสานเชื่อว่า ยางพาราเหมาะกับสภาพภูมิอากาศภาคใต้ เขาบุกเบิกปลูกที่ อ.โนนสุวรรณ จ.บุรีรัมย์ หมั่นดูแลรักษา 6-7 ปี จนยางยืนต้นเติบใหญ่กรีดน้ำยางขายได้ ความสำเร็จนี้กลายเป็นต้นแบบจูงใจให้เกษตรกรปรับไร่มันสำปะหลังหันมาปลูกยางเพิ่มมากขึ้น กระทั่งรวมกลุ่มตั้งสหกรณ์ ขยับแยกตัวมาเป็นวิสาหกิจชุมชนแปรรูปยางส่งขายให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง

 

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯ ที่เขาเป็นประธาน รับซื้อน้ำยางสดและยางก้อนถ้วยนำมาแปรรูปเป็นยางแผ่นรมควันสีน้ำตาลสวยงาม แห้ง 100% ทั้งแผ่น จนเป็นที่สนใจทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศผูกออเดอร์สั่งซื้อจำนวนมากในแต่ละปี

 

ไม่เพียงเท่านั้น ยางแผ่นของวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้ยังได้ชื่อว่า “ไร้กลิ่น (เหม็น)” จนบริษัทญี่ปุ่นบินมาพิสูจน์ด้วยตนเองและพึงพอใจ ในอนาคต “ธนากร” บอกว่า วิสาหกิจชุมชนฯ แห่งนี้ จะยกระดับการผลิตเป็นยางอัดแท่งที่ได้คุณภาพ STR 20 (Standard Thai Rubber) ซึ่งสามารถเก็บรักษาและดันราคายางพาราให้สูงขึ้น

 

 

สิ่งสำคัญในการแปรรูปจากน้ำยางสด ยางก้อนถ้วย มาเป็นยางแผ่นรมควัน และยางเครปบางไร้กลิ่นนั้น “ธนากร” พยายามพัฒนาให้สอดรับกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ทั้งการเป็นเศรษฐกิจชีวภาพ (B-Bio Economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (C-Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (G-Green Economy) โดยมีกระบวนการผลิตไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจุดเริ่มต้นอยู่ที่การคิดค้นนวัตกรรมทำให้แห้ง 100% ทั้งแผ่นด้วยการอบด้วยแสงอาทิตย์ แทนการรมควันด้วยไม้ฟืน จึงช่วยลดควันและความร้อนจากฟืน ซึ่งเป็นตัวทำลายผิวยางให้เสื่อมและทำให้ยางขาดได้ง่ายขึ้น

 

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนฯ เน้นทำให้ยางแผ่นบางอบแห้งด้วยแสงอาทิตย์ผ่านพาราโบลาโดม ซึ่งมีแผ่นโพลิคาร์บอเนตกรองความร้อนจนได้อุณหภูมิไม่เกิน 70 องศา ทำให้ยางแห้งทั่วแผ่น 100% ไม่ขึ้นรา ยางเหนียวแน่นไม่เสื่อมคุณภาพ เก็บสต๊อกได้นาน ไว้รอขายในช่วงที่มีราคาสูงขึ้น จึงเป็นจุดเริ่มต้นแก้ปัญหาราคายางได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

“แต่ก่อน เราไม่เคยรู้เลยว่าแสงอาทิตย์หรือแสงยูวีทำลายเซลล์ยางพาราได้เกิน 50% ถ้าเราตากยางตามธรรมชาติ ยกตัวอย่างยางเครป ไม่เกิน 7 วันยางจะขาด แต่เมื่อนำมาตากหรืออบแห้งในพาราโบลาโดม ผ่านแผ่นโพลิคาร์บอเนต ปรากฏว่ายางอยู่ได้นานขึ้น 1-2 เดือนก็ไม่ขาด”

 

 

“พาราโบลาโดม” เป็นนวัตกรรมใหม่ที่วิสาหกิจชุมชนฯ ได้รับความร่วมมือจาก ม.ศิลปากร แนะนำให้ใช้ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์แบบเรือนกระจก โดยโดมมีโครงสร้างเป็นเหล็กโค้งรูปพาราโบลา ยึดติดกับพื้นคอนกรีตและปิดคลุมด้วยแผ่นโพลีคาร์บอเนต ด้านหน้ามีประตูและช่องอากาศไหลเข้า ส่วนด้านหลังมีพัดลมระบายอากาศที่ทำงานโดยใช้ไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์ ภายในระบบอบแห้งขนาดกลางและขนาดใหญ่ จะมีท่ออากาศจากเครื่องเผาไหม้ก๊าซ (LPG gas burner) ติดตั้งอยู่นอกระบบอบแห้งทางด้านหลัง เพื่อให้ความร้อนเสริม ยางแผ่นดิบอบแห้งจะวางผึ่งตากอยู่บนราวเหล็กเป็นชั้นๆ เรียงตามแนวยาวของโรงอบแห้งพาราโบลาโดม

 

กระบวนการทำงานของพาราโบลาโดม อาศัยหลักการเรือนกระจก (Greenhouse effect) คือ เมื่อแสงดวงอาทิตย์ส่องผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนต เข้าไปตกกระทบผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบต่างๆ ภายในระบบอบแห้ง ผลิตภัณฑ์และส่วนประกอบเหล่านั้นจะดูดกลืนรังสีดวงอาทิตย์ ทำให้มีอุณหภูมิสูงขึ้นและแผ่รังสีอินฟราเรดออกมา แต่รังสีอินฟราเรดส่วนใหญ่จะไม่สามารถผ่านแผ่นโพลีคาร์บอเนตได้ จึงถูกเก็บกักอยู่ภายใน ทำให้อุณหภูมิภายในระบบอบแห้งสูงขึ้น ช่วยทำให้น้ำในผลิตภัณฑ์ระเหยออกมาได้เร็วกว่าการตากแดดตามธรรมชาติ

 

 

ส่วนความชื้นที่ระเหยออกมา จะถูกพัดลมดูดออกไปภายนอก และอากาศจากภายนอกจะไหลเข้ามาแทนที่ทางช่องอากาศด้านหน้า แผ่นโพลีคาร์บอเนตเป็นฉนวนความร้อนที่ดี จึงช่วยลดการสูญเสียความร้อนจากการพาความร้อน นอกจากนี้ ยังช่วยป้องกันฝนและแมลงหรือสิ่งสกปรกต่างๆ ทำให้ผลิตภัณฑ์อบแห้งที่ได้สีไม่คล้ำ

 

“ธนากร” บอกว่า เมื่ออบแห้งยางแผ่นดิบด้วยแสงอาทิตย์ในพาราโบลาโดม แล้วสิ่งที่ตามมาคือ ได้ยางไร้กลิ่น แถมยางแผ่นสวยใส จึงขายได้ราคาดี เหนืออื่นใด เขามองถึงการลดการผลิตยางแผ่นรมควันในอนาคต นั่นจะเท่ากับลดการใช้ฟืน ลดฝุ่นควันในอากาศ ทำให้ไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม และยังลดต้นทุนซื้อฟืนปีละราว 7-8 แสนบาทได้อีก

 

“เมื่อคิดค้นนวัตกรรมอบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ผ่านแผ่นโพลิคาร์บอเนตแล้ว ต่อไปยางแผ่นรมควันก็ไม่ต้องใช้อีก เราก็อบด้วยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นยางแห้งส่งให้กับบริษัทอินโนเวชั่นซึ่งเข้ามาช่วยเรื่องการตลาดยางเครปแผ่นบาง

 

 

ยางเครปแผ่นบางเป็นสิ่งที่ลูกค้าสนใจมาก เพราะเมื่อนำไปผสมสารเคมี ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จะมีกลิ่นยางธรรมชาติที่ไม่ใช่กลิ่นสารเคมีรุนแรง และขั้นต่อไปเราจะพัฒนาไปสู่ยางเครปบางสีน้ำตาลอัดแท่งที่มีคุณภาพสูง”

 

นี่คือ สิ่งมุ่งหวังในการก้าวเดินสู่การแปรรูปยางพาราของวิสาหกิจชุมชนฯ และของธนากร จีนกลาง เป็นก้าวย่างที่ต้องใช้งบประมาณหลักร้อยล้านบาทเพื่อพัฒนาสู่โรงงานอัดแท่ง แต่ที่สำคัญ “เพื่อกลุ่มเกษตรกรกรจะอยู่ดีกินดีไปมากกว่านี้” เขาหวังไว้เช่นนั้นด้วยแววตาจริงจัง


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top