พลัง 3 ประสาน ผนึกงานสร้าง”นักธุรกิจเพื่อชุมชน”
พลัง 3 ประสาน ผนึกงานสร้าง
“นักธุรกิจเพื่อชุมชน”
งานวิชาการกำลังก้าวสู่แนวทางใหม่ เมื่อสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหาร คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมมือกับมูลนิธิสัมมาชีพ คิดกลับด้านการเรียนการสอน
จากที่เคยอยู่ในรูปแบบข้างบนสู่ข้างล่าง ได้หันมาเน้นเศรษฐกิจชุมชนหรือฐานราก เติมเต็มงานวิชาการ เพื่อสร้างส่วนผสมที่จะเป็น “แม่แบบ” องค์ความรู้ของเศรษฐกิจฐานราก
แนวทางการเรียนการสอนนี้ เภสัชกร ดร.พิสิฐ อุ่ยรุ่งโรจน์ นายกสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหารฯ คาดหวังว่า ชุดความรู้จะทำให้บรรลุเป้าหมายงานสร้าง “เกษตรกรเป็นนักธุรกิจเพื่อชุมชน” ดังนั้น แก่นสำคัญจึงอยู่ที่การนำ “ความสำเร็จ” ของกิจการชุมชนมาเป็นแหล่งเรียนรู้ เติมเต็ม และขยายถ่ายทอดออกไปกว้างไกล ด้วยการจับมือประสานของ 3 พลังเป็นอย่างน้อยคือ “ชุมชน-วิชาการ-ธุรกิจ” ร่วมกันบุกเบิกกระบวนการให้เป็นจริงเป็นจังขึ้น
พลัง 3 ประสานดังกล่าว ก่อรูปความร่วมมือขึ้นเมื่อ 9 ม.ค. 2566 ด้วยการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU เพื่อเริ่มเดินก้าวแรก โดยมูลนิธิสัมมาชีพ ซึ่งเป็นองค์กรสาธารณะทำงานชุมชนร่วมมือกับสมาคมปริญญาโทสำหรับผู้บริหารฯ ตัวแทนภาควิชาการและภาคธุรกิจ ได้ร่วมคิดสร้างวางแนวทางนำความรู้จากชุมชนไปรังสรรค์ให้เกษตรกรเป็นนักธุรกิจเพื่อชุมชนในอนาคต
งานสร้างเกษตรกรเป็นนักธุรกิจ
เภสัชกร ดร.พิสิฐ กล่าวว่า สมาคมฯ ต้องการเห็นเกษตรกรเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เพราะองค์ความรู้ทั้งหมดเกษตรกรมีพร้อมอยู่แล้ว แต่งานวิชาการจะนำนวัตกรรมใหม่เข้าไปเติมเต็มกลุ่มเกษตรกรอย่างไร เพื่อให้เกิดกิจกรรมปลายน้ำ คือ การทำธุรกิจของเกษตรกรเอง
“เมื่อโลกสมัยใหม่เป็นโลกดิจิตัล การทำตลาดแบบเดิมๆ ไม่ตอบโจทย์ เราจึงวางแนวทางเน้นเรื่องมาร์เก็ตติ้งก่อน เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเกษตรกร” เภสัชกร ดร.พิสิฐ ขยายแนวคิดของแนวทางความรู้ใหม่
งานนี้จะเริ่มด้วยแผน “เรียนรู้จากชุมชน” โดยนำกลุ่มเศรษฐกิจฐานรากที่ประสบความสำเร็จเป็นต้นแบบ เป็นแหล่งความรู้ เป็นต้นแบบ ไปปรับใช้กับกิจการของชุมชนอื่นๆ นั่นคือ การนำเหล่าวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมมาชีพที่ได้รับรางวัลจากมูลนิธิสัมมาชีพ และกรณีศึกษาอื่นๆ รวม 101 กิจการ มาขยายสู่กิจการของชุมชนอื่นๆ และพัฒนาต่อยอดในวงกว้างมากขึ้น
“เราเอาโมเดลแคนวาสเข้าไปจับสาขากิจกรรมที่สำเร็จ เพื่อขยายต่อสู่พื้นที่อื่นๆ เราจึงต้องการให้มูลนิธิสัมมาชีพมาร่วมเป็นเครือข่าย ซึ่งจะทำให้เรามีกรณีศึกษารวม 101 เคส ประกอบด้วย 16 วิสาหกิจชุมชนต้นแบบ กิจการด้านสหกรณ์การเกษตร และศูนย์ทางการข้าวของกระทรวงเกษตรฯ” เภสัชกร ดร.พิสิฐ กล่าว
ผลิตหลักสูตรระยะสั้นเร่งรัด
ดร.สุนทร คุณชัยมัง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยรังสิต ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่จะมาร่วมสร้างหลักสูตร เติมเต็มความรู้สมัยใหม่ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนและธุรกิจ SME โดยจะจัดทำหลักสูตรเร่งด่วนระยะสั้น 3 ด้าน ประกอบด้วย การนำโมเดลธุรกิจสังคมของแคนวาส (Model Canvas) มาสำรวจความพร้อมของวิสาหกิจชุมชนที่สนใจจะพัฒนาตัวเอง ค้นหาจุดแข็ง เพื่อนำไปสู่ความสำเร็จทั้งระยะสั้นและยาว
หลักสูตรที่สอง การเน้นวิเคราะห์คุณค่าเชิงพื้นที่ เพื่อสร้างคุณค่า สร้างประโยชน์ต่อท้องถิ่นและชุมชน ทั้งด้านรายได้และการพัฒนา ส่วนหลักสูตรที่สาม การเรียนรู้ความสำเร็จจากต้นแบบวิสาหกิจชุมชน 16 แห่ง และ SME 11 แห่ง เพื่อต่อยอดขยายความสำเร็จไปสู่พื้นที่อื่น ทั้งในระดับหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด หรืออาจก้าวไกลไปถึงระดับประเทศ
“หลักสูตรระยะสั้นทั้ง 3 ด้านนี้ วิสาหกิจชุมชนหรือสังคมเกษตรกร หรือ SME ต่างจังหวัดสามารถรับรู้ข้อมูลใหม่ไปเติมเต็มกระบวนการทำงาน จัดการผลิตภัณฑ์เข้าสู่ตลาดในด้านโซเชียลมีเดียได้ด้วย”
ผนึกพลัง 3 ประสาน
ปฏิบัติการสร้างทั้งองค์ความรู้และหลักสูตรระยะสั้นเพื่อปูทางไปสู่ความมุ่งหวังให้เกษตรกรเป็นนักธุรกิจเพื่อชุมชน เบื้องต้นกำหนดแผนงานไว้ว่า จะเริ่มขึ้นภายในไตรมาสแรกของปี 2566 และสิ่งนี้จะเป็นอีกก้าวย่างที่เศรษฐกิจฐานรากมุ่งหวังจะก้าวข้ามไปสู่อนาคตใหม่ของชุมชน
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv