skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
รายได้เกษตร: การเติบโตที่อ่อนแรงลง

รายได้เกษตร: การเติบโตที่อ่อนแรงลง

รายได้เกษตร: การเติบโตที่อ่อนแรงลง

 

EIC (Economic Intelligence Center) ของธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์การ‘ลืมตาอ้าปาก’ ของภาคเกษตรไทยว่า อยู่ในช่วงการเติบโตที่ถดถอย โดยชี้ว่า มีรายได้ครัวเรือนแบบอ่อนแรงลง เนื่องจากในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตช้าและสวนทางกับรายได้นอกภาคเกษตร พร้อมแนะนำ AgriTech มาแก้อาการโตช้าของรายได้ภาคเกษตร

 

ข้อมูล EIC ระบุว่า ในช่วงปี 1990 – 2001 รายได้จากภาคเกษตรเติบโตในระดับที่สูงถึง 7 % ต่อปี แต่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.9% ต่อปีในช่วงปี 2001 – 2010 และลดลงฮวบฮาบต่อเนื่องมาอยู่ที่ 2.9% ต่อปี ในช่วงปี 2010 – 2020

 

 

การเติบโตแบบลดลงดังกล่าว ทำให้รายได้ภาคเกษตรสวนทางกับการเติบโตของรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 7.3% ในช่วงปี 2010 – 2020  ซึ่งอัตราการเติบโตที่สวนทางกันนั้นส่งผลให้ปี 2019 เป็นปีแรกในประวัติศาสตร์ ที่ครัวเรือนเกษตรมีรายได้จากภาคเกษตรต่ำกว่ารายได้จากนอกภาคเกษตร โดยในปี 2020 ระดับรายได้จากภาคเกษตรของครัวเรือนเกษตรอยู่ที่ราว 187,000 บาทต่อปีหรือเฉลี่ยราวเดือนละ 6,100 บาทต่อคน (1 ครัวเรือนเกษตรมีแรงงาน 2.57 คน) ในขณะที่รายได้นอกภาคเกษตรอยู่ที่ราว 210,000 บาทต่อปีหรือเฉลี่ยราวเดือนละ 6,800 บาทต่อคน

 

EIC พบว่า การขยายเนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรในไทยได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1990 โดยหลังจากนั้นเป็นต้นมา เนื้อที่ใช้ประโยชน์ทางการเกษตรก็ปรับตัวลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้การเพิ่มปริมาณผลผลิตทางการเกษตร ผ่านการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงทศวรรษ 2000 และ 2010 ไม่สามารถทำได้เหมือนอย่างในช่วงทศวรรษ 1990

 

 

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาผลิตภาพการผลิตของสินค้าเกษตร ก็จะพบว่านับตั้งแต่ช่วงกลางทศวรรษ 2000 ผลผลิตต่อไร่ของข้าว มันสำปะหลังและอ้อย อยู่ในระดับที่ทรงตัวมาอย่างต่อเนื่อง แตกต่างจากในช่วงก่อนหน้า ที่ผลผลิตต่อไร่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน

 

นอกจากนั้น ราคาสินค้าเกษตรที่มีแนวโน้มทรงตัวในช่วงทศวรรษ 2010 ยังเป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้รายได้จากภาคเกษตรเติบโตช้าลง โดยจากข้อมูล พบว่าในช่วงทศวรรษ 2010 ราคาข้าวเปลือก ยางพารา มันสำปะหลังและอ้อย มีแนวโน้มค่อนข้างทรงตัว

 

แตกต่างจากช่วงก่อนหน้าที่ราคามีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยราคาสินค้าเกษตรที่ค่อนข้างทรงตัว เป็นผลมาจากปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่อยู่ในระดับที่สูงกว่าความต้องการบริโภค กดดันให้ราคาสินค้าเกษตรทรงตัวอยู่ในระดับที่ต่ำ

 

ปัจจัยฉุดรั้งอุตสาหกรรมเกษตร

EIC ระบุว่า อุตสาหกรรมเกษตรไทยจำเป็นต้องปรับตัวครั้งใหญ่ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความท้าทายสำคัญหลายด้าน ได้แก่

 

1) ความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจและนโยบายด้านการเกษตรของประเทศคู่ค้า/คู่แข่ง ในช่วงที่ผ่านมา ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความไม่แน่นอนสูงขึ้น จากเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้น นโยบายด้านการเกษตรของประเทศต่างๆ ก็มีความไม่แน่นอนมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งสภาวการณ์ดังกล่าว จะส่งผลให้อุตสาหกรรมเกษตรไทยซึ่งพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดโลกค่อนข้างมาก ต้องเผชิญกับความผันผวนมากขึ้น ทั้งในแง่ของราคาและความต้องการบริโภค

 

2) ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่รุนแรงขึ้น เช่น สงครามรัสเซีย ยูเครน ส่งผลให้ราคาปุ๋ยเคมี ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

3) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate change) ทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้น และทำให้ผลประกอบการของเกษตรกรและผู้แปรรูปสินค้าเกษตรมีแนวโน้มผันผวนตามไปด้วย จากทั้งต้นทุนการผลิตและปริมาณผลผลิตหรือวัตถุดิบที่มีความไม่แน่นอนสูง ผู้บริโภคก็ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากราคาอาหารที่อาจปรับตัวสูงขึ้น และอาจมีไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภค

 

4) นโยบายและมาตรการเพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Economy) เช่น มาตรการการค้าระหว่างประเทศ การเก็บภาษีคาร์บอน เป็นต้น จะทำให้ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

5) กระแสความยั่งยืน (Sustainability) เป็นหนึ่งในเทรนด์สำคัญของโลก ที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมเกษตร โดยในอนาคตผู้บริโภคหรืออุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้สินค้าเกษตรเป็นวัตถุดิบมีแนวโน้มจะเลือกซื้อสินค้าที่มาจากกระบวนการผลิตที่ยั่งยืน และดูแลสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

 

ความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรต้นน้ำ คือ หนึ่งในปัจจัยชี้วัดว่า อุตสาหกรรมเกษตรไทยจะสามารถปรับตัวเพื่ออยู่รอดและเติบโตไปกับโลกใหม่ได้อย่างยั่งยืนหรือไม่

 

 

ความท้าทายต้องเผชิญ

ความท้าทายหลัก ๆ ที่อุตสาหกรรมเกษตรกำลังเผชิญ ล้วนต้องอาศัยความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกร ซึ่งเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะกระทบโดยตรงต่อการเพาะปลูกพืชของเกษตรกร ซึ่งหากเกษตรกรปรับตัวไม่ได้ เช่น ไม่สามารถลงทุนในแหล่งน้ำหรือปรับเปลี่ยนพันธุ์พืช ผลผลิตสินค้าเกษตรก็จะปรับตัวลดลงอย่างมาก เมื่อเกิดภัยแล้งหรือน้ำท่วมที่รุนแรง หรือการรับมือต่อกระแสความยั่งยืน ก็ต้องอาศัยการปรับตัวของเกษตรกร

 

เนื่องจากกระบวนการเพาะปลูกพืช คือ กิจกรรมการผลิตที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในห่วงโซ่อุตสาหกรรมเกษตร ตัวอย่างเช่น ข้อมูลของ Our World in Data ชี้ให้เห็นว่ากระบวนการเพาะปลูกข้าวมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นสัดส่วน 90% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดในห่วงโซ่มูลค่าข้าวโลก หากเกษตรกรไม่สามารถปรับกระบวนการผลิตให้เป็นไปตามมาตรฐานความยั่งยืน มีโอกาสสูงที่สินค้าเกษตรไทยจะถูกกีดกันออกจากการค้าในตลาดโลกในระยะต่อไป

 

รายได้เกษตรกรที่อยู่ในระดับต่ำและเติบโตช้าลง กำลังฉุดรั้งความสามารถในการปรับตัวของเกษตรกรไทย รายได้ภาคเกษตรที่เติบโตช้าลงจะส่งผลให้ครัวเรือนเกษตร โดยเฉพาะครัวเรือนที่พึ่งพารายได้จากภาคเกษตรในระดับสูง มีภาระหนี้สินที่สูงขึ้น จนเป็นอุปสรรคต่อการลงทุนเพื่อปรับตัว

 

กล่าวคือ ครัวเรือนเกษตรไม่มีแรงจูงใจ และไม่สามารถจะลงทุนเพื่อการปรับตัวได้ เนื่องจากมีรายได้ ไม่พอรายจ่าย และมีภาระหนี้สูง จนติดอยู่ในวังวนของกับดักหนี้ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เราจะคาดหวังให้เกษตรกรปรับกระบวนการผลิตให้มีความยั่งยืนและมีภูมิคุ้มกันต่อภาวะโลกร้อนได้อย่างไร หากครัวเรือนเกษตรกรยังคงมีปัญหาเรื่องปากท้องอยู่

 

แนวทางเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือนเกษตรไทย

การเพิ่มรายได้จากภาคเกษตรให้ครัวเรือนเกษตรไทย EIC เสนอแนะว่า สามารถทำได้ผ่าน 3 แนวทางสำคัญ ได้แก่

 

1) การเพิ่มปริมาณผลผลิต ผ่านการยกระดับผลผลิตต่อไร่ ครัวเรือนเกษตรไทยยังมีโอกาสเพิ่มปริมาณผลผลิตได้โดยไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มเติม เนื่องจากผลผลิตต่อไร่ของพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทยทุกชนิดยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตต่อไร่ค่อนข้างมาก

 

จากข้อมูลของ Global Yield Gap Atlas พบว่าปริมาณศักยภาพผลผลิตต่อไร่ของข้าวนาปีของไทยในปี 2018 อยู่ที่ 880 กิโลกรัมต่อไร่ แต่ผลผลิตต่อไร่ที่เกิดขึ้นจริงในปี 2021 อยู่ที่ราว 445 กิโลกรัมต่อไร่ ซึ่งต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตต่อไร่อยู่ถึง 49.4%

 

 

ขณะที่ผลจากงานวิจัยในไทยชี้ให้เห็นว่า ผลผลิตต่อไร่ที่เกิดขึ้นจริงของมันสำปะหลัง อ้อยและยางพารา อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าศักยภาพผลผลิตต่อไร่อยู่ถึง 53.3%, 51.7% และ 38.1% ตามลำดับ ซึ่งหากครัวเรือนเกษตรสามารถยกระดับผลผลิตต่อไร่ได้ ปริมาณผลผลิตก็จะปรับตัวเพิ่มส่งผลให้รายได้ภาคเกษตรปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

 

2) การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง EIC พบว่า ครัวเรือนเกษตรไทยยังมีโอกาสในการปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชเกษตรที่มีมูลค่าสูงได้อีกมาก เนื่องจากปัจจุบันพื้นที่ทำการเกษตรส่วนใหญ่ของไทยยังถูกใช้ไปกับการเพาะปลูกพืชที่มีมูลค่าต่ำ ตัวอย่างเช่น พื้นที่เกษตรของไทยกว่า 51.8% ถูกใช้ไปกับการเพาะปลูกข้าว ในขณะที่พื้นที่ปลูกผักและผลไม้อยู่ในระดับต่ำเพียง 5.1%

 

โดยจากข้อมูล พบว่า มูลค่าผลผลิตต่อไร่ (ราคาที่เกษตรกรได้รับ คูณ ปริมาณผลผลิตต่อไร่) ของข้าวในปี 2021 อยู่ที่ราว 3,500 บาท ถึง 6,200 บาท ในขณะที่มูลค่าผลผลิตต่อไร่ของทุเรียน หอมแดง พริกไทย อยู่ที่ 162,308 บาท 72,011 บาท และ 70,607 บาทตามลำดับ

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมของดินในไทย เพื่อใช้ปลูกพืชมูลค่าสูง ก็จะพบว่า ไทยยังมีโอกาสขยายพื้นที่เพาะปลูกพืชมูลค่าสูงได้อีกมาก ตัวอย่างเช่น กรมพัฒนาที่ดิน ประเมินว่าไทยมีพื้นที่เหมาะสมสูงสำหรับการปลูกทุเรียน 11.7 ล้านไร่ แต่ในปี 2021 ไทยมีพื้นที่เพาะปลูกทุเรียนเพียง 1.2 ล้านไร่เท่านั้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า การปรับโครงสร้างการผลิตไปสู่พืชมูลค่าสูงในสัดส่วนที่เหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่เพาะปลูกและความต้องการของตลาด จะช่วยยกระดับรายได้ภาคเกษตรให้สูงขึ้นได้

 

3) การยกระดับราคาที่เกษตรกรได้รับ เกษตรกร (ผู้ขาย) เป็นผู้ผลิตและนำสินค้าเกษตรมาขายให้กับผู้แปรรูปสินค้าเกษตร (ผู้ซื้อ) ซึ่งหากในตลาดมีการแข่งขันสูง กล่าวคือ มีผู้ซื้อจำนวนมาก มาแย่งซื้อสินค้าจากเกษตรกร ก็จะทำให้ราคาที่เกษตรกรได้รับปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

ในทางตรงกันข้าม หากตลาดมีการแข่งขันที่ต่ำ กล่าวคือ มีผู้ซื้อสินค้าจากเกษตรกรเพียงไม่กี่รายในพื้นที่และไม่มีการแข่งขันระหว่างกัน ก็จะทำให้เกษตรกรได้รับราคาสินค้าเกษตรในระดับที่ต่ำกว่าราคาที่ควรจะได้

 

ดังนั้น การเพิ่มการแข่งขันในตลาด ด้วยการทำให้ผู้ซื้อสินค้าจากเกษตรกรมีจำนวนมากขึ้น ก็จะสามารถช่วยให้เกษตรกรได้รับราคาที่สูงขึ้นได้

 

ประยุกต์ใช้ AgriTech เพิ่มผลผลิตและราคา

AgriTech หรือเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ กำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์ม ตั้งแต่การเพาะปลูก ไปจนถึงการตลาด ในประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ได้มีการนำ AgriTech มาช่วยในการทำการเกษตรอย่างแพร่หลาย เช่น การทำการเกษตรแบบแม่นยำ (Precision agriculture) ที่มีการนำเทคโนโลยีและข้อมูลมาใช้ในการจัดการการเพาะปลูกให้มีความเหมาะสมกับความต้องการของพืช เพื่อช่วยยกระดับประสิทธิภาพการเพาะปลูก

 

โดยความสำเร็จของการใช้ AgriTech ในประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผลให้มีความพยายามนำ AgriTech มาช่วยยกระดับการทำการเกษตรในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น สะท้อนได้จากจำนวนธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup) ด้านการให้บริการเทคโนโลยีเกษตรดิจิทัล ตั้งแต่การเพาะปลูกไปจนถึงการตลาด ในประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น จาก 53 รายในปี 2009 มาอยู่ที่ 713 รายในปี 2019 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 12 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

 

EIC พบว่า ตัวอย่าง AgriTech ที่น่าสนใจและมีศักยภาพในการช่วยยกระดับผลผลิตและราคาที่เกษตรกรได้รับในไทย มีดังต่อไปนี้

 

1) การใช้โดรนทำการเกษตร (Drone farming) โดรนที่ติดกับระบบเซ็นเซอร์และกล้องสามารถใช้เพื่อเก็บข้อมูลเกษตรด้านต่าง ๆ ในแปลงเพาะปลูกได้ เช่น ลักษณะพื้นที่เพาะปลูก ระดับความชื้น และอาการผิดปกติของพืช เป็นต้น ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อใช้ในการจัดการฟาร์มได้ เช่น การเลือกช่วงเวลาในการเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม การใช้โดรนหว่านเมล็ดพันธุ์พืชให้สม่ำเสมอ ฉีดพ่นสารเคมีเฉพาะจุดที่พืชผิดปกติ หรือใส่ปุ๋ยให้สอดคล้องกับความต้องการของพืชในแต่ละจุด เป็นต้น

 

โดยงานวิจัยในอินเดีย พบว่าการใส่ปุ๋ยให้สอดคล้องกับความต้องการของข้าวและข้าวสาลี จะสามารถช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้ระหว่าง 4-8% ขณะเดียวกันก็สามารถช่วยลดการใช้ปุ๋ยลงได้สูงถึง 15-35% เมื่อเทียบกับกรณีปกติ

 

 

2) การส่งเสริมการเกษตรผ่านระบบดิจิทัล (Digital agricultural extension) ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีเก็บข้อมูลระยะไกล เช่น ดาวเทียม ที่สามารถเก็บข้อมูลได้ละเอียดถึงระดับแปลงเพาะปลูกของเกษตรกร และความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เช่น Machine learning และ Artificial Intelligence (AI) ได้เปิดโอกาสให้เกษตรกร ซึ่งมีโทรศัพท์มือถือหรือสมาร์ตโฟน สามารถเข้าถึงข้อมูลเกษตรและคำแนะนำต่าง ๆ แบบเฉพาะเจาะจงต่อตัวเกษตรกรได้

 

3) แพลทฟอร์มเกษตรดิจิทัล (Digital agriculture platform) แพลทฟอร์มดิจิทัล สามารถช่วยเชื่อมโยงเกษตรกร เข้ากับผู้ขายปัจจัยการผลิต ผู้ให้บริการเครื่องจักรกลการเกษตรและผู้ซื้อสินค้าเกษตรที่กว้างขวางขึ้น จากแต่เดิมที่อาจจะเข้าถึงผู้ซื้อเพียงไม่กี่รายในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น การใช้แพลทฟอร์มออนไลน์ในการซื้อขายสินค้าเกษตรในอินเดีย เปิดโอกาสให้เกษตรเข้าถึงผู้ซื้อจากหลากหลายพื้นที่ และสามารถเลือกขายสินค้าให้กับผู้ซื้อที่เสนอซื้อในราคาที่สูงที่สุด

 

ทั้งนี้ผลการวิจัยพบว่า แพลทฟอร์มตลาดออนไลน์ช่วยให้ราคาข้าวเปลือก ถั่วและข้าวโพดที่เกษตรกรได้รับปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.1%, 3.6% และ 3.5% ตามลำดับ

 

4) เทคโนโลยีการเงินสำหรับเกษตร (Agri-Fintech) มีแนวโน้มพัฒนามากขึ้นเพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่าง ๆ มากขึ้น ตัวอย่างเช่น สตาร์ทอัพ Koltiva ในอินโดนีเซีย เปิดให้บริการ KoltiPay ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital wallet) ที่เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย เช่น รับชำระค่าสินค้าและค่าปัจจัยการผลิตต่าง ๆ สมัครประกันภัยพืชผลทางการเกษตร สมัครสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งจะรู้ผลภายในทันที เป็นต้น

 

เมื่อเกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น เกษตรกรก็จะสามารถซื้อปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ ซึ่งจะช่วยให้ผลผลิตต่อไร่ปรับตัวเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับงานศึกษาในสหรัฐฯ ที่พบว่า เมื่อเกษตรกรเข้าถึงสินเชื่อมากขึ้น ผลผลิตต่อไร่ก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ใช้ AgriTech ให้ประสบผลสำเร็จ

การส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้ AgriTech อย่างแพร่หลายในไทย เป็นสิ่งที่มีความท้าทายอย่างมาก ทั้งในระดับของเกษตรกรและผู้ให้บริการ AgriTech โดยในระดับเกษตรกร EIC พบว่า มีอุปสรรคอย่างน้อย 2 ประการที่ทำให้เกษตรกรไทยยังไม่นิยมใช้ AgriTech มากนัก

 

 

ประการแรก เกษตรกรส่วนใหญ่ของไทยมีพื้นที่เพาะปลูกขนาดเล็ก ทำให้ผลประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุนใช้ AgriTech ไม่คุ้มต่อการลงทุนเอง ประการที่สอง เกษตรกรจำนวนมากยังมีความรู้ความเข้าใจและทักษะในการใช้ AgriTech ในระดับต่ำ ในขณะเดียวกัน ผู้ให้บริการ AgriTech ในไทยก็เผชิญกับอุปสรรคอย่างน้อย 2 ด้านในการขยายบริการให้กับเกษตรกร ด้านแรก คือ การทำการตลาดแบบออนไลน์ ยังไม่ได้ผลมากนัก โดยผู้ให้บริการ AgriTech ยังต้องทำการตลาดโดยการไปจัดกิจกรรมและพบปะกับเกษตรกรโดยตรง ซึ่งกลยุทธ์การตลาดแบบนี้มีต้นทุนที่สูง ทั้งเงินและเวลา ด้านที่สอง คือ เกษตรกรจำนวนมากยังไม่มีความไว้วางใจที่จะใช้บริการจากผู้ให้บริการ AgriTech

 

ประสบการณ์ในต่างประเทศ ชี้ให้เห็นว่า การส่งเสริมให้เกิดการใช้ AgriTech อย่างแพร่หลาย จะมีปัจจัยแห่งความสำเร็จที่สำคัญ 3 ประการ ดังต่อไปนี้

 

1) จะต้องส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการ AgriTech แก่เกษตรกร แทนการให้เกษตรกรครอบครองเทคโนโลยีเอง แนวทางนี้จะช่วยให้ต้นทุนในการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรปรับตัวลดลงมาก เนื่องจากเป็นการแบ่งปันต้นทุนกับเกษตรกรรายอื่น ๆ โดยที่เกษตรกรไม่ต้องลงทุนเองทั้งหมด ตัวอย่างเช่น การใช้บริการจากผู้ให้บริการโดรนทางการเกษตร หรือการใช้บริการการจากผู้ให้บริการแพลทฟอร์มซื้อขายสินค้าเกษตร เป็นต้น

 

2) การใช้บริการ AgriTech จะต้องก่อให้เกิดประโยชน์แก่เกษตรอย่างชัดเจน กล่าวคือ ผู้ให้บริการ AgriTech จะต้องมีตัวชี้วัด ที่ทำให้เกษตรกรเห็นว่า การใช้บริการ AgriTech สามารถช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้จริง

 

3) จะต้องมีคนกลางในพื้นที่ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเกษตรคอยช่วยสนับสนุนการใช้ AgriTech แก่เกษตรกร โดยการมีคนกลางในพื้นที่จะช่วยให้เกษตรกรมีความไว้วางใจที่จะใช้บริการ AgriTech มากขึ้น นอกจากนั้น การมีคนกลางยังจะช่วยให้เกษตรกรที่ยังไม่มีทักษะด้านเทคโนโลยีดิจิทัลสามารถเข้าถึงบริการ AgriTech ได้

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top