เชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบ เติบโตไปด้วยกันตามแนวทางสัมมาชีพ
เชิดชูเกียรติบุคคลต้นแบบ
เติบโตไปด้วยกันตามแนวทางสัมมาชีพ
ค่ำคืน 25 พ.ย.ที่ผ่านมา คนหลากหลายอาชีพกว่า 500 คนมารวมตัวกันโดยนัดหมาย ณ คอนเวนชั่น เซ็นเตอร์ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กทม. เพื่อร่วมแสดงความยินดีกับบุคคล วิสาหกิจชุมชน และปราชญ์ชาวบ้าน ซึ่งได้รับรางวัลสัมมาชีพต้นแบบปี 2565 ภายใต้บรรยากาศงาน “Stronger Together” เศรษฐกิจท้องถิ่น ร่วมเสริมสร้างเศรษฐกิจไทย
คนเหล่านั้นมีทั้งนักธุรกิจ ผู้ผ่านการอบรมโครงการผู้นำเปลี่ยนแปลง 12 รุ่น (LFC) และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รวมทั้งนักการเมืองเข้าสมทบด้วย พวกเขาทักทายกันอย่างร่าเริง มียิ้มสดชื่นอบอวลในบรรยากาศคืนแห่งความสุข บางคนถือช่อดอกไม้สวยสดมามอบให้บุคคลเกียรติยศต้นแบบสัมมาชีพ
ในปี 2565 บุคคลต้นแบบสัมมาชีพมีเพียงหนึ่ง คือ นายเจริญ รุจิราโสภณ ประธานกรรมการบริหาร ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ และบริษัทในกลุ่ม ได้รับรางวัลทรงคุณค่านี้ เพราะด้วยความโดดเด่นจากการบุกเบิกกิจการเครือ ส.ขอนแก่น มากว่า 40 ปี ความวิริยะอุตสาหะ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เขามุ่งมั่นทำกิจการเล็กๆ เริ่มจากใช้มือออกแรงคลุกแหนมหมูขาย จนเป็นเติบโตเป็นอุตสาหกรรมสินค้าอาหารไทยไปบุกตลาดโลก มียอดการขายต่อปีมากกว่า 3,000 ล้านบาทในปัจจุบัน
นายเจริญ กล่าวว่า ดีใจที่ได้รางวัลนี้ เพราะมูลนิธิมอบรางวัลเพราะเชิดชูคุณธรรม พร้อมทั้งแสดงความยินดีกับบุคคลและกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับรางวัลด้วยว่า แสดงถึงการยกย่องคนดีในสังคมเพื่อคนชั้นล่างมีที่ยืนในประเทศ รวมทั้งหวังว่า จะได้มีโอกาสแบ่งปันประสบการณ์แก่ทุกท่านและสิ่งที่ทำไปก็ยินดีที่ท่านได้เป็นไอเดียขยายงานการทำธุรกิจและการแข่งขัน โดยจุดกำเนิด ส.ขอนแก่นมาจากวิสาหกิจชุมชนเล็กๆ แล้วขยายจำหน่ายไปทั่วประเทศและต่างประเทศจนปัจจุบันสามารถพบสินค้า ส.ขอนแก่นได้ทุกมุมโลก
“ผมเห็นว่าสัมมาชีพมีจุดประสงค์ให้สัมมาชีพเกิดขึ้นทั่วพื้นที่ ทั่วประเทศ ในความคิดของตัวเองเห็นว่า หนึ่งตำบล หนึ่งสินค้า ซึ่งเป็นรูปแบบเลียนแบบเมืองฟูโอกะของประเทศญี่ปุ่น แต่ต่างจากไทยเพราะเมืองฟูโอกะมีนักท่องเที่ยวทั่วโลก เมื่อผลิตสินค้าก็ขายได้” นายเจริญ กล่าว พร้อมเสนอว่า สินค้าไทยแม้มีโอทอป แต่สินค้าไม่ได้มีทั่วประเทศ ขายได้เฉพาะบางพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยวไป ดังนั้น จะทำอย่างไรให้สินค้าขายได้ทั่วประเทศนั้น ต้องเน้นที่ผลิตสินค้าที่ขายได้ ไม่ใช่ผลิตสินค้าที่มีอยู่ของพื้นที่
นอกจากนี้ ยังมีอีก 5 ปราชญ์ชาวบ้านเข้ารับรางวัลปราชญ์ต้นแบบสัมมาชีพ ประกอบด้วย นายชัยพร พรหมพันธุ์ นายบรรจง พรมวิเศษ นางประภาพรรณ ศรีตรัย นายเปลี่ยน สีเสียดค้า และนายสุริยา ศิริวงษ์ โดยบุคคลดังกล่าวนี้ล้วนมีภูมิปัญญาความเป็นปราชญ์แตกต่างกัน ดังนั้น 5 คนย่อมมีความเป็นผู้รู้ใน 5 สาขาวิถีการผลิตที่ถ่ายทอดให้ชุมชนและสังคมได้สืบสาน
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีรางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพอีก 5 ประเภท คือ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มกาแฟบ้านถ้ำสิงห์ จ.ชุมพร ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร, วิสาหกิจชุมชนหม้อห้อมทุ่งเจริญย้อมสีธรรมชาติ จ. แพร่ ด้านการแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่ไม่ใช่อาหาร, วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม จ.สุพรรณบุรี ด้านการบริการและการท่องเที่ยวโดยชุมชน, วิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน (PGS) จ.สมุทรสาคร ด้านเกษตร และกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิตบ้านชากไทย จ.จันทบุรี ด้านการเงินและสวัสดิการชุมชน
อย่างไรก็ตาม รางวัลต้นแบบสัมมาชีพ ทั้งหมดปวงนี้ แม้เป็นการตอกย้ำถึงการทำงานเพื่อสังคมแม้การจัดงานประกาศรางวัลประดับเกียรติยศ แต่สิ่งสำคัญที่ยังดำรงอยู่ พร้อมพัฒนา ขยายแนวทางสัมมาชีพให้ลงหลักปักฐานได้มั่นคงยิ่งขึ้น คือ การรังสรรค์การผลิตเศรษฐกิจชุมชนให้คนตัวเล็กตัวน้อยให้หมู่บ้านและประเทศได้รับประโยชน์ในอนาคตที่ยั่งยืน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีพ กล่าวเชิดชูเกียรติยศ และแสดงความยินดีต่อผู้ที่ได้รับรางวัลทุกคนว่า ทุกท่านเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น เศรษฐกิจประเทศ สามารถนำพาธุรกิจ วิสาหกิจ ฝ่าวิกฤติมาได้แม้ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ด้วยการบริหารจัดการต้นทุน มีนวัตกรรมใหม่ ๆ และยังเป็นผู้ยึดหลักสัมมาชีพ ทำธุรกิจโดยไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เอาเปรียบสังคม ร่วมมือกับท้องถิ่น ชุมชน จนประสบความสำเร็จ
“นี่คือบทบาทของบุคคลต้นแบบ-วิสาหกิจชุมชนต้นแบบ-ปราชญ์ชุมชนต้นแบบสัมมาชีพที่พร้อมจะเติบโตไปกับท้องถิ่น ชุมชน ในการเสริมสร้างเศรษฐกิจไทยให้มีความแข็งแกร่งได้อย่างแท้จริง และสอดคล้องกับแนวทางของมูลนิธิในการมุ่งสร้างสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ต่อไป” นายประเสริฐ กล่าวยกย่อง
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods