สร้างและสาง ส.ขอนแก่น สไตล์ “ดร.เจริญ รุจิราโสภณ” ยามวิกฤตยึดคติ “ยังสู้อยู่หรือเปล่า”
สร้างและสาง ส. ขอนแก่น
สไตล์ “ดร.เจริญ รุจิราโสภณ”
ยามวิกฤตยึดคติ “ยังสู้อยู่หรือเปล่า”
ส.ขอนแก่น เริ่มก่อร่างธุรกิจจากทำแหนมหมูขายด้วยแรงมือปลุกปั้นขณะไร้ทุนเครื่องจักรและไม่มีเงินเป็นปึกๆ คอยเกื้อหนุน แต่วันนี้กิจการขยายฐานเติบโต แผ่กว้างธุรกิจอาหารพร้อมทานไปตลาดโลกหลายประเทศ “ดร.เจริญ รุจิราโสภณ” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัทในกลุ่ม บอกตัวเลขรายได้คร่าวๆว่า แต่ละปีมียอดขายนับพันล้านบาท ซึ่งมาไกลได้มากโขถ้าย้อนจำเปรียบกับภาพชีวิตลงมือทำด้วยแรงของผัว-เมียเมื่อเกือบ 40 ปีที่แล้ว
ความสำเร็จในวันนี้ หากมองทวนไปสู่ช่วงเริ่มแรกตามหลักคิดย้อนศร “จากปลายน้ำสู่ต้นน้ำ”ของ“ ดร.เจริญ รุจิราโสภณ”แล้ว กิจการของเขาไม่ได้มีเพียงทุนกะละมังหนึ่งใบกับเนื้อหมู 3 กิโล และแรงมือของผัว-เมียเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ “ทุนสมองกับแรงใจกล้าสู้มุ่งมั่นไปให้ถึงที่หมาย” โดยสมองของเขาคิดถึงธุรกิจอาหารส่งขายในตลาดโลก แม้ไม่มีเงินทุนหนาแน่น แต่แรงใจพร้อมผลักดันให้สู้จึงลงมือนวดแหนมหมูออกขาย ค่อยๆสะสมกำไรเป็นทุนนำไปลงหลักปักฐานที่กิจการต้นน้ำ สร้างฟาร์มเลี้ยงหมูได้มาตรฐานคุณภาพไว้เป็นวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อลดทอนผลกระทบจากวิกฤตเนื้อหมูขึ้นราคา
จากฟาร์มเลี้ยงหมู นานปีเข้ากิจการขยับฐานการผลิตไปสู่อาหารทะเล ตั้งโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ทำลูกชิ้นปลาและอาหารประเภท “ซีฟู้ด” ส่งออกไปต่างประเทศจนขึ้นชื่อโด่งดัง ผลิตภัณฑ์ ส. ขอนแก่นติดตรึงกลุ่มลูกค้าและเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก ยังไม่เท่านั้น สิ่งสำคัญการขยายธุรกิจต้องมีสินค้าใหม่มาให้บริการลูกค้ามากขึ้นจึงเปิดร้านอาหารอีสานสไตล์หรูบริการไก่ย่าง ส้มตำ ยำรสเด็ด ขาหมูยูนนาน เสริฟลูกค้าชอบทานข้าวนอกบ้านตามยุคสมัยเศรษฐกิจเฟื่องฟูถึง 30 สาขา
“ดร.เจริญ รุจิราโสภณ” ย้อนเล่าพลิกมุมคิดธุรกิจต่าง GEN ในรายการสัมภาษณ์พิเศษกลุ่มปิดผ่านระบบซูมของธนาคารกสิกรไทย เมื่อ 26 ต.ค. 2565 โดยมี “ณชา จึงกานต์กุล” เจ้าของธุรกิจผลไม้แปรรูปแบรนด์คันนา “Kunna” ซึ่งเป็นนักธุรกิจต่างวัยร่วมถ่ายทอดแนวคิดและประสบการณ์ด้วย
กล่าวเฉพาะนักธุรกิจรุ่นเก๋าประสบการณ์อย่าง “ดร.เจริญ” เขากล่าวว่า การสร้างธุรกิจต้องมองลูกค้าก่อนว่าต้องมุ่งทำกิจการค้าขายกับลูกค้ากลุ่มไหน และจะขยายธุรกิจไปได้แค่ไหน สำหรับ ส. ขอนแก่น คิดถึงลูกค้าใหญ่ทั้งโลก แต่เริ่มสร้างจากจุดแข็งในไทยเพื่อขยับไปตลาดเอเซีย แล้วขยายไปเจาะตลาดโลก
ธุรกิจ ส. ขอนแก่น เริ่มด้วยผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมู โดยคิดสร้างให้เติบโตแบบทวนน้ำ หรือคิดจากปลายน้ำไปสู่ต้นน้ำ คือขายอาหารคนรับประทานไปหากิจการอาหารสัตว์ สิ่งสำคัญการทำธุรกิจเริ่มแรกต้องเป็นการลงทุนต่ำแล้วมีกำไร เพื่อนำไปขยายสร้างกิจการต้นน้ำของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน
“เราเริ่มธุรกิจด้วยแรงทำงานจากสามี-ภรรยาก่อน แต่เราต้องการมุ่งไปขายให้ลูกค้าตลาดอินเตอร์ จึงมีเงินทุนและการสนับสนุน จนทำให้อาหารทะเลแปรรูปดังไปทั่วโลกจากการขายลูกชิ้นปลาก่อน จนขณะนี้มีรายได้นับพันล้านบาทต่อปี ดังนั้น วิธีการสร้างธุรกิจของเราจึงเริ่มตั้งเป้าโตจากต่างประเทศ นอกจากนี้เรายังมีธุรกิจอาหารแนวอีสานคลาสสิก สัมตำ ไก่ย่าง ขาหมูยูนนาน ทำมาประมาณ 20 ปี มีรวม 30 สาขาให้บริการลูกค้า
“ดร.เจริญ” กล่าวว่า เริ่มการค้าขายโดยใช้ทุนน้อยหรือเรียกได้ว่าไม่มีทุนเลย เราขายหมูหยองเพราะเห็นหนทางไปสู่ธุรกิจข้ามชาติ และสามารถทำครบวงจรได้ คือ ทำฟาร์มและผลิตอาหารสัตว์ ธุรกิจหมูหยองมุ่งผลิตขายที่ประเทศจีนที่มีประชากร 1.4 พันล้านคน คนจีนชอบกินหมูหยองมาก เรียกได้ว่า แทบทุกคน จึงเริ่มมองเห็นทางทำธุรกิจข้ามชาติได้เป็นจริง
“เมื่อหมูขึ้นราคา แต่เราเห็นวิกฤตผ่านมามาก เราจึงขอบีโอไอเพื่อลงทุนสร้างฟาร์มหมูไว้คอยแก้ปัญหาราคาขึ้น ปัจจุบันเนื้อหมูราคา 170 บาทต่อกิโลกรัม ขึ้นถึง 55% แต่เราเพิ่มราคาขายหมูหยองเพียง 10% เนื่องจากเราเลี้ยงหมูเองและมองสถานการณ์ไปข้างหน้า 15 ปี และการทำธุรกิจควรเชื่อไว้เสมอว่า ถ้าวัตถุดิบขาดมือต้องไม่เกิน 6 เดือน เราจึงไม่เจอวิกฤต ซึ่งเป็นประสบการณ์การคิดล่วงหน้า ด้วยการสต๊อกวัตถุดิบไว้ 6 เดือน เมื่อวัตถุดิบสินค้าขึ้นราคา เราจึงอยู่รอดได้
ดังนั้น การสร้างธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ “ดร.เจริญ” ย้ำว่า อยู่ที่การเริ่มต้น ถ้าจะทำธุรกิจข้ามชาติ แข่งกับต่างประเทศ ต้องเรียนรู้จากสิ่งที่เป็นจุดแข็งไทยทางด้านอาหารแบบ 3 S คือ Soil-ดิน และ Sun-อาทิตย์ แล้วมี Sea จากการท่องเที่ยวเข้ามาในไทย ด้วยเหตุนี้ธุรกิจเราจึงมาจาก Sea อย่างเดียว คือ ซีฟู้ด กลยุทธ์ธุรกิจของเราจึงเน้นจากสิ่งดีและสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศ แล้วเน้นถึงคุณภาพอาหาร รวมถึงสร้างคนที่ใช่และเก่ง แล้วนำเอาระบบมาใส่ที่หลัง เป็นวิธีการให้เราขยายสาขาต่างๆ ได้ จนมีคุณภาพ
“ดร.เจริญ” ในวัย 75 ปี บุกเบิก ส. ขอนแก่นจนมีอายุธุรกิจถึง 39 ปี เติบโตด้วยฐานแข็งแกร่ง ในวันนี้ เขายังบริหารบริษัทในกลุ่มอีก 8 แห่ง คือ บริษัท มหาชัยฟู้ดส์ จำกัด บริษัท เอส เค เค ฟู้ด จำกัด บริษัท ส. ปศุสัตว์ จำกัด บริษัท ส. เทรนนิ่งเซ็นเตอร์ จำกัด บริษัท ทรีดีฟู้ดแอนด์เบฟเวอเรจ จำกัด บริษัท ส. ขอนแก่นฟู้ดส์ (เนเธอร์แลนด์) บี.วี. บริษัท มะริดซีฟู้ดส์ (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซีเอ็นเอ็น โฮลดิ้ง จำกัด
การสร้างทายาทสืบทอดธุรกิจในกลุ่มนั้น “ดร.เจริญ” กล่าวว่า พร้อมถ่ายประสบการณ์สู่ทายาทรุ่นลูก โดยปัจจุบัน เขาให้ทายาท 2 คนทำธุรกิจหาประสบการณ์ โดยบอกว่า ให้โอกาสได้ลองผิดลองถูก ให้เป็นตัวของตัวเอง และเมื่อได้ผ่านช่วงนี้แล้ว จึงคิดจะให้ทำธุรกิจร่วมกันได้
เมื่อธุรกิจเริ่มขยาย “ดร.เจริญ” เชื่อว่า คอมพิวเตอร์มีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ ทั้งๆ ที่เขาไม่รู้เรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ต้องลงทุนจ้างช่างด้วยเงินถึง 5 แสนบาทมาวางระบบ เขียนโปรแกรม ซึ่งในวันนั้น เขาเล่าทวนเหตุการณ์ว่า ต้องรื้อลิ้นชักหาเงินมาจ่ายแทบไม่ทัน แต่ในวันนี้ ส. ขอนแก่น มีพนักงานเกือบ 2 พันคน สิ่งนี้แสดงถึงวิธีคิดและการตัดสินใจทำในสิ่งที่เชื่อว่า สำคัญและถูกต้องกับกิจกรรมในอนาคต แล้วก็ส่งผลถึงความสำเร็จที่เป็นจริง
แม้ธุรกิจ ส. ขอนแก่น เติบโตอย่างมั่นคงในวันนี้ แต่เคยมีความผิดพลาดเป็นบทเรียนอยู่เช่นกัน โดยเป็นบทเรียนจากวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 ซึ่งทำให้ต้องสูญเสียกับการเงินกู้ถึง 100 ล้านบาทเพียงชั่วข้ามคืน เพราะอัตราแลกเปลี่ยนพุ่งทยานสูงขึ้น และการสูญเสียดังกล่าว “ดร.เจริญ” เล่าย้ำเตือนว่า การประกอบธุรกิจมีวิกฤตเกิดขึ้นได้เสมอ ขออย่าชะล่าใจ
ส่วนการทำให้ธุรกิจเติบโตยั่งยืน “ดร.เจริญ” กล่าวว่า ต้องเน้นที่นิวโปรดักส์กับนิวมาร์เก็ต ซึ่งมีความหลากหลายให้อยู่ได้ และเรากำลังจะแตกเป็น “สตรีทฟู้ด” เพราะเห็นโอกาสกับการอาหารหรูกันแล้ว เราจึงเน้นสินค้าราคาถูก เพื่อสร้างลูกค้าฐานล่าง ทำจากอาหารว่างเป็นอาหารประจำวัน เช่น อกไก่สายพันธุ์แน็ค นอกจากนี้ยังลดปริมาณแล้วลดราคาลงเพื่อเป็นสินค้าใหม่ที่จะทำให้ธุรกิจอยู่ได้และยั่งยืน
นอกจากนี้ เรายังเปิดโรงงานที่ต่างประเทศ โดยมีฐานการผลิตในเนเธอร์แลนด์ (ฮอลแลนด์) และเปิดเพิ่มในสหรัฐเมื่อต้นมกราคมนี้ เพื่อกระจายสินค้าไปส่วนต่างๆ การตั้งฐานการผลิตที่ต่างประเทศ เราใช้วัตถุดิบของต่างประเทศมาผลิตสินค้าขาย เช่น จีน สหรัฐ เป็นต้น
“ในการค้าขาย สมัยก่อนเรายึดลูกค้าดุจเป็นพระเจ้า จึงสร้างแต่ความพึงพอใจให้ลูกค้า แต่เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไป เรามาขายด้านสนองสุขภาพด้วย โดยแหนมเราเติมจุลินทรีย์ลงไป เพื่อให้ลูกค้าได้สิ่งที่ดีทั้งคุณภาพสินค้าและสุขภาพของลูกค้า แล้วลูกค้าจะอยู่กับเรายั่งยืน เพราะอร่อย ถูก และได้สุขภาพ
“ชีวิตทำธุรกิจ ไม่ได้เรื่องง่าย มีอุปสรรคครั้งแล้วครั้งเล่า มื่อเกิดปัญหาขออย่าท้อ อย่าถอย ยึดมั่นเสมอคือ “จนเงิน ถ้าไม่จนใจ จนไม่นาน ถ้าจนเงินและจนใจ จะจนตลอดกาล” พร้อมยึดมั่นคติพจน์ ประจำใจเมื่อเจอวิกฤตว่า ยังสู้อยู่หรือเปล่า”
ในช่วงผู้ฟังถามผ่านระบบซูม “ดร.เจริญ”กล่าวถึงการผลิต การวิจัยอาหารให้รสชาติสากลว่า ต้องใช้การโปรโมชั่น โน้มน้าวให้ลูกค้ามาลองชิม เราจะได้การรับรู้กลับมาว่า ชอบ ไม่ชอบ แล้วค่อยๆปรับรสชาติไปเรื่อยจนให้เป็นที่ถูกใจของลูกค้าทั้งหมด
ส่วนคำถามการทำธุรกิจของคนตัวเล็กกับยักษ์ใหญ่ “ดร.เจริญ” กล่าวเปรียบเทียบว่า ปลาใหญ่มักตายน้ำตื้น แต่ตัวเล็กไปน้ำลึกก็ถูกกิน ดังนั้น ต้องต่างคนต่างอยู่ มาเน้นสินค้าที่ลูกค้าต้องการ สำหรับปัจจัยการเลือกฐานการผลิตในต่างประเทศนั้น ต้องรู้เขา รู้เรากับการใช้ค่าจ้างแรงงานถูก ไม่ให้เกิดความเสี่ยง เช่น ประเทศยุโรปทุกประเทศมีศักดิ์ศรีเท่ากัน แต่โปแลนด์ค่าจ้างแรงแค่ 3 หมื่นกว่าต่อเดือน ส่วนประเทศอื่นเป็นแสน เราจึงเลือกโปแลนด์เป็นต้น
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
https://www.instagram.com/sammachiv/