วิสาหกิจท่องเที่ยวการเกษตรม่อนแจ่ม หนุนเพิ่มรายได้เพื่อปากท้องชุมชนม้ง
การรวมตัวทำมาหากินของชาวม้ง กลุ่มชาติพันธุ์ที่ม่อนแจ่ม อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ กำลังถูกเจ้าหน้าที่รัฐมองอย่างไม่เข้าใจกับวิถีชีวิตดั้งเดิม “วิทยา เมธาอนันต์กุล” ประธานวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวการเกษตรม่อนแจ่ม อ.แม่่ริม เชียงใหม่ เล่าผ่านห้องสื่อคนจน สมัชชาคนจน เมื่อ 29 ก.ย.นี้ว่า แล้วความไม่เข้าใจของรัฐเช่นนั้น จึงนำมาสู่ชุดข้อมูลคลาดเคลื่อนกล่าวหาชุมชนชาวม้งบุกรุกป่า จนต้องเจรจาทำความเข้าใจ และรอพิสูจน์สิทธิ์การสืบทอดจากบรรพบุรุษในปัจจุบัน
“วิทยา” บอกว่า การตั้งวิสาหกิจเน้นไปที่การเพิ่มมูลค่าผลผลิตทางการเกษตร แต่ขณะนี้การเกษตรแทบไม่ได้ทำเพราะที่ดินชุมชนมีปัญหาจากรัฐ จึงต้องการให้รัฐมาพิสูจน์ข้อเท็จจริงกับข้อหาบุกรุกป่า ทั้งที่ชุมชนอยู่ในพื้นที่นี้มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ดังนั้น ขณะนี้ชุมชนจึงผลักดันการพิสูจน์สิทธิ์ในที่ทำกินก่อนการขยับในด้านวิสาหกิจชุมชน ซึ่งการเพิ่มมูลค่าผลผลิตก็จะเกิดขึ้นตามมา
คนกับป่าชีวิตพึ่งพาดั้งเดิม
ในวิถีชีวิตชาวม้ง คนอยู่กับป่าถูกถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษจากรุ่นสู่รุ่น “วิทยา” เล่าว่า ชุมชนแบ่งที่ดินและป่าออกเป็น 4 โซน คือ 1. โซนป่าที่อยู่อาศัย เป็นที่ตั้งของชุมชน ซึ่งโซนนี้ถูกกล่าวหาจากรัฐเมื่อสิงหาคม 2565 ว่าบุกรุกป่า แต่ชุมชนยืนยันว่า ทุกคนในสมาชิกของวิสาหกิจเป็นคนดั้งเดิมได้รับผืนดินสืบทอดจากบรรพบุรุษมาทอดๆ ดังนั้น ที่ดินอยู่อาศัยจึงเป็นของเขาและชาวม้งไม่ได้บุกรุกป่า
“ชาวบ้านรวมตัวเพื่อให้พิสูจน์ความเป็นมา และความเป็นที่ดินดั้งเดิมของบรรพบรุษ ซึ่งไม่ได้เป็นการบุกรุกป่า แต่คาดว่าเป็นความคลาดเคลื่อนด้านข้อมูลของหน่วยงานรัฐมากกว่า จึงรอการพิสูจน์ในขณะนี้ ดังนั้น ชุมชนแม้อยู่กับป่าก็ไม่ได้เบียดเบียนป่า หาผืนดินเพิ่มขึ้น”
- โซนป่าทำมาหากิน คือ การจัดการที่ดินเพื่อนำมาสร้างรายได้ให้ชุมชน “วิทยา” เล่าวว่า ในอดีตตั้งแต่รุ่นปู่จะมีที่ดินมาทำมาหากินประมาณกว่า 12,000 ไร่ แต่เมื่อการพัฒนาให้เพิ่มพื้นที่สีเขียว ชุมชนจึงสละลดพื้นที่การทำมาหากินแปลงใหญ่ลง จนปัจจุบันเหลือที่ดินที่ทำกินของชุมชนรวมกันเพียง 2,000 ไร่
- โซนป่าใช้สอย เป็นป่าที่ชุมชนดูแลร่วมกัน มีทั้งช่วยกันป้องกันไฟฟ่า การปลูกทดแทนสิ่งที่ชุมชนนำมาใช้ โดยต้องผ่านมติของชุมชนในการนำไม้มาใช้สอยในการสร้างบ้านอยู่อาศัย และสาธารณะ เช่น สร้างโรงเรียน ศาลาของชุมชน เป็นต้น
- โซนป่าปิด คือป่าดงเซ้ง เป็นป่าห้ามเข้า โดยทุกปีชุมชนทำพิธีป่าดงเซ้ง เพื่อให้ป่าปิดช่วยคุ้มครองธรรมชาติ และวิถีชีวิตของชาวบ้านในชุมชนม้ง
คนมาก ที่ดินเกษตรน้อย รายได้หดหาย
เมื่อผืนดินทำกินมีจำกัด การทำเกษตรเพื่อขายย่อมมีรายได้ไม่พอเพียงกับการเลี้ยงดูชีวิตคนรุ่นต่อรุ่นในชุมชนให้เติบใหญ่อย่างมีคุณภาพได้ ดังนั้น การรวมตัวกันตั้ง “วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวการเกษตรม่อนแจ่ม” มีความหวังในด้านหลัก คือ มุ่งเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรให้ขายมีรายได้มากขึ้น
“วิทยา” เล่าฉากชีวิตการเพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรว่า ชุมชนม่อนแจ่มเริ่มรวมตัวกันปี 2556 แต่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจปี 2558 โดยจุดเด่นของม่อมแจ่มอยู่ที่มีพืชผักผลไม้ และทิวทัศน์ธรรมชาติสวยงาม อากาศบริสุทธิ์ ดังนั้น จึงตั้งวิสาหกิจเพื่อส่งเสริมให้คนเข้ามารับประทาน ซื้อผลผลิตการเกษตร พร้อมได้ซึมซับสูดรับอากาศบริสุทธิ์ด้วย
“การรวมกลุ่มกันเริ่มจากเมื่อผลผลิตการเกษตรราคาตกต่ำ ขายไม่ได้กำไร หรือกำไรน้อย จึงเกิดการรวมตัวกัน เพื่อหาวิธีเพิ่มมูลค่าเกษตร โดยมีเจ้าหน้าที่โครงการหลวงมาส่งเสริมการเกษตรเชิงท่องเที่ยว และพาไปศึกษาดูงานการทำเกษตรเชิงท่องเที่ยวในที่อื่นๆ”
“วิทยา” เล่าว่า ตอนแรกรวมกันเพียง 5 ราย เมื่อลงมือทำจนเป็นรูปร่างจึงมีสมาชิกและจดทะะเบียนเป็นวิสาหกิจฯ จึงมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจากชาวบ้านทั้ง 3 หมู่บ้าน เพราะเห็นคุณค่าของวิสาหกิจ เข้าใจหลักการทำงาน จนมาเข้าร่วม ซึ่งขณะนี้มีสมาชิกกว่า 96 ราย
“ทั้งหมด 3 หมู่บ้าน ตั้งแต่เรื่องป่า เรื่องที่ดิน การทำมาหากิน หรือทุกหย่อมหญ้าของชุมชนม่อนแจ่มจะมีผู้อาวุโสคือ คนแก่เป็นคนดูแลให้ ในทุกเรื่องรวมตัวของวิสาหกิจ เรื่องคน ชุมชนของที่นี่ การทำมาหากินทั้งหมดจะผ่านผู้อาวุโส ซึ่งเป็นคนดั้งเดิมที่อยู่ที่นี่ ส่วนการเมือง ผู้นำท้องถิ่น ผู้ใหญ่บ้าน และ อบต. มาแค่ช่วยส่งเสริมผลักดัน” วิทยา กล่าวและย้ำว่า แต่แนวคิดรวมตัวของวิสาหกิจทั้งหมดเกิดจากชาวบ้าน โดยมีผู้อาวุโสเป็นที่ปรึกษาด้านนี้โดยตรง”
ท่องเที่ยวคือชีวิตและความเป็นอยู่
แม้ชุมชนมีปัญหาบุกรุกป่า ต้องรอการพิสูจน์สิทธิ์ที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ แต่ “วิทยา” บอกว่า การทำท่องเที่ยวเชิงเกษตรของชุมชนก็หยุดไม่ได้ เพราะเป็นอาชีพหาเลี้ยงครอบครัว ถ้าหยุดก็ไม่มีเงินส่งลูกไปโรงเรียน หรือไปหาหมอ อีกทั้งไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ดังนั้นอาชีพการท่องเที่ยววิสาหกิจชุมชนยังจึงต้องไปต่อ
“วิทยา” เล่าว่า วิถีชีวิตของชุมชนม้งม่อนแจ่ม เปลี่ยนแปลงไปตามปัจจัยธรรมชาติในแต่ละรุ่นของบรรพบุรุษ ในรุ่นของปู่ นอกจากทำมาหากินเลี้ยงปากท้องแล้ว ยังเน้นผลิตลูกมาใช้กำลังแรงงานช่วยการผลิตของครอบครัว เมื่อมาถึงรุ่นพ่อใช้แรงงานเพื่อปลูกฝิ่น ปลูกข้าว กระทั่งปัจจุบันเป็นคนยุคใหม่ครอบครัวขยายมากขึ้น แต่กระจุกตัวในผืนดินทำดินอันจำกัดและน้อยนิดเท่าเดิม ดังนั้น กำลังบางส่วนจึงออกจากชุมชนไปทำงานงานภายนอกเพื่อหารายได้มาช่วยสมทบความเป็นอยู่ของครอบครัว
ในส่วนวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวที่เกิดขึ้นนั้น มีบ้างที่เป็นส่วนดึงให้สมาชิกครอบครัวบางส่วนกลับมาชุมชน แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งถ้าบางครอบครัวมีที่ดินเพียงพอต่อการทำมาหากิน สำหรับบางครอบครัวมีผืนดินทำกินเพียง 2 ไร่ เมื่อครอบครัวขยายเพิ่มเป็น 7-8 ครอบครัวอาศัยอยู่ที่ผืนดินเดียวกัน ย่อมไม่พอเลี้ยงตัวเอง จึงต้องหารายได้จากภายนอกเข้ามาด้วยการรวมกลุ่มกันตั้งวิสาหกิจฯเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลผลิตการเกษตร
อีกทั้ง ยังมีชาวบ้านรุ่นใหม่ ไปเรียนรู้จากภายนอกมา แล้วนำความคิดที่ได้รับหรือสามารถติดต่อกับภายนอกมาสนับสนุนการเพิ่มมูลค่าผลผลิตและการท่องเที่ยวเชิงเกษตร รวมถึงการช่วยให้ที่ดินทำกินอันน้อยนิดได้เพิ่มมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้น คนรุ่นใหม่จึงมีความสามารถติดต่อประสานให้คนหรือหน่วยงานภายนอกมาช่วยเหลือวิสาหกิจชุมชน หรือกระจายแหล่งท่องเที่ยวให้ผู้คนได้รับรู้ยิ่งขึ้น
จุดเด่นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่ม เป็นที่พักแบบโฮมสเตย์ ไม่มีโรงแรม ไม่มีรีสอร์ท โดยที่พักในพื้นที่ 1 ไร่ของครอบครัวจะแบ่งเป็นห้องพักโฮมสเตย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 3-4 ห้อง เนื่องจากชุมชนมีพื้นที่น้อยนิด แต่ครอบครัวชุมชนใหญ่ เมื่อตั้งบ้านเรือนอยู่ในพื้นที่จึงหนาแน่น มองดูเหมือนคนมาก ดังนั้น ภาพการมองด้วยสายตาของรัฐ จึงเข้าใจข้อมูลคลาดเคลื่อนว่า ชาวม้งม่อนแจ่มบุกรุกป่ามาสร้างโฮมสเตย์บริการนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผิด
“วิสาหกิจเราอยู่กินแบบบ้านๆ โฮมสเตย์ก็เป็นแบบบ้านๆ มีผัก ผลไม้ที่ปลูกอยู่รอบที่พักมาบริการ การเที่ยวที่ม่อนแจ่ม จะได้เที่ยวแปลงผัก ผลไม้ สวนส้ม ถ่ายรูปกับแปลงดอกไม้ ที่พักอากาศบริสุทธิ์ และยังมีตลาดชุมชน นำผลผลิตชาวบ้านมาตั้งขาย ตั้งแต่กะหล่ำปลี ผักกาดขาว อะโวคาโด สตอเบอรี่ เป็นต้น ผลผลิตนี้เป็นสิ่งที่ปลูกในม่อนแจ่ม ชาวบ้านจะนำมาขายให้นักท่องเที่ยวได้ซื้อโดยตรง เป็นการส่งเสริมเกษตรชาวบ้าน เนื่องจากพื้นดินที่น้อยนิดเมื่อนำผลิตผลการเกษตรมาขายตลาดชุมชนจะได้ราคาดีกว่า ต่างกันกว่าการส่งขายที่อื่น เช่น ขายนักท่องเที่ยวได้ ก.ก.ละ 20-50 บาท หากส่งขายที่ตลาดไทได้เพียง ก.ก.ละ 2 บาท ราคาต่างกันมาก”
“วิทยา” บอกว่า การเดินทางมาม่อนแจ่ม ไปได้ทั้งรถส่วนตัว และทางเครื่องบินลงเชียงใหม่ แล้วเช่ารถโดยสารขึ้นม่อนแจ่ม แต่ล่าสุดมีรถตู้ราคาถูกบริการโดยตรงตามเส้นทางม่อนแจ่ม-แม่กำปอง-เชียงใหม่ นอกจากนี้สามารถโทรติดต่อกับโชเฟอร์ชาวม้ง กลุ่มชาติพันธุ์จะไปรับนักท่องเที่ยว ซึ่งชำนาญเส้นทางและจะปลอดภัยกว่ามาก
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods
https://www.instagram.com/sammachiv/
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ