เชิดชู“ปราชญ์ชาวบ้าน” สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่
เชิดชู“ปราชญ์ชาวบ้าน” สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่
“สัมมาชีพ”ขยับอีกก้าว ชงรางวัล“ปราชญ์ชาวบ้านต้นแบบสัมมาชีพ” เชิดชูบุคคลมีคุณธรรม เสียสละเพื่อผลักดันชุมชนท้องถิ่นเข้มแข็งยั่งยืน มอบ 3 รางวัลรวม 1.5 แสนบาท พร้อมยกย่องเข้าร่วมกระบวนการขับเคลื่อนแนวทางสัมมาชีพ
“มูลนิธิสัมมาชีพ” องค์กรสาธารณกุศล ยึดมั่นแนวทาง “สร้างสัมมาชีพเต็มพื้นที่” โดยประสานความร่วมมือทั้งหน่วยงานรัฐ เอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม ผนึกกำลังสร้างความเข้มแข็งชุมชน สนับสนุนการประกอบอาชีพด้วยหลักสัมมาชีพ ซึ่งไม่เบียดเบียนตนเอง ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ไม่เป็นภาระสังคมและทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กับตระหนักถึงการจัดการรายจ่ายให้น้อยกว่ารายได้
ในปี 2565 มูลนิธิสัมมาชีพ จัดให้มีรางวัลขึ้นใหม่เรียกว่า “รางวัลปราชญ์ชาวบ้าน-ต้นแบบสัมมาชีพ” เพื่อยกย่องผลงานของนักพัฒนา ผู้บุกเบิก ริเริ่ม มุ่งมั่นสร้างสรรค์งานและความสำเร็จ นำเอาทักษะ ประสบการณ์ และการจัดการความรู้ (รวมทั้งเทคโนโลยี) ไปสร้างผลิตภัณฑ์ บริการ และกระบวนการทำงานที่ก่อให้เกิดคุณค่า และมูลค่าในอาชีพและกิจการที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นที่ยอมรับและเป็นที่ประจักษ์ทั้งในระดับชุมชน ท้องถิ่น หรือระดับประเทศ
รางวัลปราชญ์ชาวบ้าน-ต้นแบบสัมมาชีพ มี 3 รางวัล ๆ ละ 50,000 บาท พร้อมยกย่องผลงานในงานประจำปีของมูลนิธิสัมมาชีพ รวมทั้งเข้าร่วมขยายเครือข่ายและขบวนขับเคลื่อนสัมมาชีพให้เต็มพื้นที่ โดยการคัดเลือกได้กำหนดคุณสมบัติเบื้องต้น 4 ด้าน และแบ่งเกณฑ์พิจารณา ดังนี้
- ข้อมูลส่วนตัว (20 คะแนน) พิจารณาถึงหลักจริยธรรม และอาชีพการงาน เป็นผู้มีคุณธรรมพื้นฐาน โดยผู้สมัครต้องเป็นผู้ยึดหลักสัมมาอาชีวะ บ่งชี้ถึงการเป็นแบบอย่างระดับครอบครัว แบบอย่างระดับชุมชน
- งานที่ทำและวิถีพัฒนานวัตกรรมสังคม (40 คะแนน) เน้นที่วิธีการ การริเริ่ม-สร้างสรรค์ การเป็นผู้ลงมือทำ การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เน้นพิจารณากระบวนการ การนำเอาทุนปัญญาท้องถิ่นและทุนทางสังคมมาใช้งาน (นัยยะของการเป็นตัวแทนของพื้นที่ทางสังคม) การปรับใช้ความรู้และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า (ความทันสมัยและความสามารถ) รูปแบบที่ก้าวหน้าของการประสานความร่วมมือจากแหล่งสนับสนุนจากภาคส่วนอื่น
- ผลลัพธ์ของงาน (20 คะแนน) โดยให้ความสำคัญกับคุณค่าการพัฒนางาน ผลิตภัณฑ์ หรือบริการมีความแตกต่างไปจากกรณีทั่วไป อีกทั้งสร้างความมั่นคงทางการตลาดและรายได้ทางเศรษฐกิจ
- ผลของการเปลี่ยนแปลงต่อสังคม (20 คะแนน) ซึ่งมุ่งให้เกิดการปรับเปลี่ยนในระดับโครงสร้าง การเชื่อมโยงระบบเศรษฐกิจและสังคมเข้าด้วยกัน และการขยายผลงานออกไปสู่วงกว้าง
สำหรับการสรรหาและการตัดสินนั้น มูลนิธิสัมมาชีพ ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมการตัดสินรางวัล กับ คณะกรรมการสรรหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยคณะกรรมการสรรหาฯ จะเชิญชวนให้องค์กรในภาคส่วนต่าง ๆ ที่ร่วมงานกับองค์กรชุมชน และผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะได้รับรางวัล ได้แนะนำข้อมูลเบื้องต้นของบุคคลมีคุณสมบัติเข้าข่ายมายังฝ่ายบริหารสำนักงานของมูลนิธิสัมมาชีพ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2565 เพื่อจะได้คัดกรอง และลงพื้นที่สัมภาษณ์ข้อมูลเพิ่มเติม (ในระหว่างเดือนกันยายน) และนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการตัดสินรางวัล เพื่อพิจารณาตัดสินรางวัล
ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนตัวและผลงานของบุคคลที่มีความเหมาะสมได้รับรางวัล ที่องค์กรต่างๆ จะนำเสนอ ประกอบไปด้วยข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับ ชื่อ สกุล อายุ ที่อยู่ และผลงานเชิงประจักษ์ หรือสอบรายละเอียดเพิ่มเติม ฝ่ายบริหารสำนักงาน มูลนิธิสัมมาชีพ โทร: 02 530 9204-5
การจัด“รางวัลปราชญ์ชาวบ้าน-ต้นแบบสัมมาชีพ” เริ่มในปี 2565 นับเป็นครั้งที่ 1 ของมูลนิธิสัมมาชีพ เพื่อขยับขยายเชื่อมโยง “คน ชุมชน สังคม และรัฐ” เข้าด้วยกัน เพื่อนำไปไปสู่การสร้างพลังต่อการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะนำพลังและความสำเร็จที่เป็นสาระสำคัญจากภาคส่วนฐานรากของสังคมไปร่วมสร้างให้เป็นพลังขับเคลื่อน
มูลนิธิสัมมาชีพก่อตั้งเมื่อ 2553 ตลอดการดำเนินงานเพื่อการกุศลนั้น เมื่อปี 2559 จัดให้มี “รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพ” ไปแล้ว 16 รางวัล แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ การท่องเที่ยวโดยชุมชน การเกษตรกรรม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนที่เป็นอาหาร การแปรรูปผลิตภัณฑ์ชุมชนที่ไม่ใช่อาหาร และการบริการทางการเงินและสวัสดิการชุมชน
การมอบ“รางวัลปราชญ์ชาวบ้าน-ต้นแบบสัมมาชีพ” เป็นการขยายเชื่อมประสานปราชญ์ชาวบ้านได้ถ่ายทอดประสบการณ์สู่วิสาหกิจชุมชนต้นแบบ เพื่อมุ่งมั่นผลักดัน“สัมมาชีพเต็มพื้นที่” ให้ท้องถิ่นไทยเข้มแข็ง ยั่งยืน
ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก
https://bit.ly/3axuQOL
ติดตามมูลนิธิสัมมาชีพได้ที่
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedeehttps:
//www.youtube.com/user/RightLivelihoods
ไม่มีภาพกิจกรรม
ไม่มีวิดีโอ