skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“ผู้นำกับความเป็นผู้นำ” ผนึกสร้างสังคมเป็นธรรม

“ผู้นำกับความเป็นผู้นำ” ผนึกสร้างสังคมเป็นธรรม

“ผู้นำกับความเป็นผู้นำ” ผนึกสร้างสังคมเป็นธรรม

นายอุตตม สาวนายน หัวหน้าพรรคสร้างอนาคตไทยและอดีต รมว.คลัง เป็นวิทยากรผ่านระบบซูม วิดีโอคอมมิวนิเคชันส์ หรือ”ซูม” ในการอบรมหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 12 ที่โรงแรม รามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ เมื่อ 23 เมษายน ที่ผ่านมา ในหัวข้อ “แผลเป็นจากโควิด-19 ทิ้งไว้กับประเทศไทย สร้างโอกาสอย่างไรจากความเจ็บครั้งนี้”

นายอุตตม เริ่มกล่าวถึงตัวตนและการสร้างการยอมรับในการเป็นผู้นำว่า เริ่มตั้งแต่เข้าสู่วงการวิชาการ นักบริหารธนาคาร มาถึงนักการเมืองได้เป็นรัฐมนตรี 3 กระทรวงใหญ่ คือ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) กระทรวงอุตสาหกรรม และกระทรวงการคลัง สิ่งสำคัญของชีวิตแต่ละช่วงเวลาที่ผ่านมาอยู่ที่การวางตัวให้เกิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นจุดเริ่มสะสมความเป็นผู้นำให้เกิดขึ้น

ส่วนในทางการเมือง ไม่เคยคิดจะมาทำงานการเมือง เมื่อชะตาชีวิตให้เป็นเช่นนั้น จึงได้เรียนรู้มหาศาลว่า การเมืองไม่ควรรังเกียจ เพราะมีทั้งดีและไม่ดี โดยเฉพาะมนุษย์การเมืองเป็นพันธุ์พิเศษแตกต่างจากวงการเอกชนและมหาวิทยาลัย

 

สำหรับความท้าทายที่สำคัญของนักการเมืองคือ การทำงานที่อยู่ในสายตาประชาชนตลอดเวลา การกำหนดนโยบายจึงต้องอาศัยการตัดสินใจ ดังนั้นความเป็นผู้นำจะทำอย่างไรให้บรรลุเป้าหมายทางการเมือง จึงรู้สึกสนุกและอยากทำเนื่องจากการเมืองเกี่ยวข้องและท้าทายกับคนทั้งประเทศ ทำให้น่าสนใจมาก ตนจึงกลับมาสู่การเมืองอีกครั้ง จนได้เข้าใจมากขึ้นและไม่รังเกียจการเมืองเลย

เทคนิคทำงานให้เกิดความสำเร็จ

การทำงานต้องเข้าใจ พร้อมทั้งเข้าถึงข้อมูลเพื่อนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ อีกอย่างต้องมีทักษะใช้ในประเทศได้จริง โดยเฉพาะการสื่อสารให้องค์กรเกิดพลังเป็นประโยชน์ในการทำงาน ดังนั้นทุกองค์กรต้องมีทักษะในการสื่อสารเพื่อเข้าถึงคนอื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากมาก

 

ด้านภาวะเงินเฟ้อนั้น คาดคงไม่จบกันง่ายๆ แน่นอน ซึ่งจะส่งผลให้การค้าขายไม่คล่องตัว แม้ส่วนตัวเชื่อว่าไม่เป็นปัญหานัก แต่ในเชิงบริหารย่อมวางใจไม่ได้ เพราะจะลากยาวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จนเกิดเศรษฐกิจฝืดหรือไม่ สิ่งนี้จึงเป็นการบริหารจัดการของฝ่ายรัฐ ซึ่งเหนื่อยแน่นอน

 

เมื่อเข้ามาเป็น รมต. ไอซีที นั้น เทคโนโลยีเป็นความสำคัญอีกอย่างหนึ่งจึงสนับสนุนให้คนไทยเข้าถึงอินเตอร์เน็ตก่อน โดยเริ่มโครงการอินเตอร์เน็ตหมู่บ้านเพื่อให้ประชาชนเข้าถึง แล้วจะนำไปสู่เศรษฐกิจใหม่แบบ “เศรษฐกิจดิจิทัล” จนเกิดกฎหมายดิจิทัลและไปสู่การตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

 

ในยุคทำงาน รมต.อุตสาหกรรม อยู่ 3 ปี ได้พัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลเต็มรูปแบบเพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ จนนำไปสู่อตสาหกรรมแบบ 4.0 นอกจากนั้นยังเน้นระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก หรือ EEC ให้ทุกองค์ประกอบร้อยเรียงด้วยเทคโนโลยี ทั้งการดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว รวมถึงเน้นยึดโยงกับวิสาหกิจชุมชนและเกษตรยั่งยืน ตลอดจนให้ EEC เป็น “ฮับ” การขนส่งสินค้าในเอเซียตะวันออก แล้วเชื่อมสู่เศรษฐกิจโลก ดังนั้น EEC จึงเป็นพื้นที่เมืองใหม่ เกิดอุตสาหกรรมใหม่ พร้อมทั้งสร้างผู้ประกอบการใหม่เกิดขึ้น

 

กระทั่งช่วงที่เป็น รมต.คลัง เศรษฐกิจเริ่มปรากฎความท้าทายมากขึ้น โดยต้องการเห็นประเทศไทยเน้นเศรษฐกิจแบบใช้เทคโนโลยี นำไปสู่รูปแบบดิจิทัลทางการเงิน จึงเกิดระบบระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Payment)

 

ตนไม่ต้องการให้เศรษฐกิจถอดถอยไปมาก ดังนั้นการบริหารจึงเน้นไปที่ผู้ประกอบการ และยกระดับ E-Payment ไปสู่ “เป๋าตัง” เกิดพร้อมเพย์ (PromptPay) เมื่อโควิดระบาดมาจึงไม่ต้องการให้เกิดความแตกตื่น ระบบดิจิทัลแบบพร้อมเพย์จึงช่วยได้มากในการส่งเงินเข้าถึงประชาชน เพื่อช่วยเหลือเศรษฐกิจปากท้อง กระทั่งกลายเป็นโครงสร้างดิจิทัลสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นประโยชน์คือข้อมูลที่ได้กลับมา ได้สร้างอนาคตการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทย

อุปสรรคท้าทาย

ในสถานการณ์ปัจจุบัน โควิดไม่ใช่อุปสรรคสำคัญ แต่ปัญหาตัวการจริงๆ นั้นได้ฝังอยู่ในโครงสร้างของเศรษฐกิจไทยมาตลอด 50-60 ปี เพราะการพัฒนาอุตสาหกรรมเน้นการผลิตเพื่อส่งออก ทำให้ประเทศเข้าสู่ประเทศรายได้ปานกลาง แต่ยังไม่หลุดพ้นจากประเทศยากจนเนื่องจากฐานรากยังไม่แข็งแรงและยังปรับเปลี่ยนไม่ทัน

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา เริ่มปรากฎว่า อุตสาหกรรมส่งออกได้อ่อนกำลังลง และก้าวไม่ทันตลาดโลก จนทำให้เศรษฐกิจฐานรากที่ไม่แข็งแกร่งเกิดอาการรวนไปหมด เมื่อโควิดเข้ามาจึงเห็นความอ่อนแอ ความเปราะบาง เกิดความเหลื่อมล้ำได้ชัดเจนขึ้น ที่น่าสนใจคือ โควิดจะหายไปหรือไม่ แม้แค่บรรเทาลงก็จะทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจไทยต้องเปลี่ยนใหม่และแรงงานต่างชาติจะกลับมาไทยอีกหรือไม่ก็ยังไม่รู้ ปัญหาเหล่านี้จึงนำไปสู่อนาคตของเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งสิ้น

 

อุปสรรคที่ท้าทายคือ ถ้าอุตสาหกรรมต้องเปลี่ยนและจะเปลี่ยนไปสู่อะไร อีกทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์จะไปสู่รถไฟฟ้าได้อย่างไร มีฐานการผลิตรองรับได้หรือไม่ รวมทั้งทักษะแรงงานต้องเปลี่ยนไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าด้วย

 

ส่วนการเมืองก็เป็นความท้าทาย เพราะมีผลโดยตรงต่อการพัฒนาให้มั่นคงและมีประสิทธิภาพ ถ้าการเมืองนิ่ง ไม่แตกแยกจะดันให้การพัฒนามีประสิทธิภาพ ดังนั้น การเมืองจึงเป็นความท้าทายที่สำคัญที่สุด

 

สำหรับคนรุ่นใหม่ เมื่อมีพลังงานการคิดมาก มีความมั่นใจสูง สิ่งสำคัญการสื่อสารกับคนต่างรุ่นจึงมีความสำคัญให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมของสังคม ดังนั้นปัจจัยเหล่านี้ต้องหล่อหลอมให้เกิดการสื่อสารแบบไม่เอาหัวชนฝากับคนต่างรุ่น

 

ถึงที่สุดแล้ว คนรุ่นใหม่คืออนาคตของประเทศ จึงเป็นพลังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้เกิดโอกาสใหม่ทางสังคมทั้งการค้าขาย จึงต้องทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นความชัดเจนในอนาคต ดังนั้น ผู้บริหารประเทศต้องมีแผนพัฒนา โดยรัฐต้องขับเคลื่อนให้สังคมมีความหวัง

 

กล่าวเฉพาะผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนั้น ผู้นำใครก็เป็นได้ แต่ “ความเป็นผู้นำ” อยู่ที่ตัวบุคคลมีประสิทธิภาพหรือไม่ ดังนั้น ความเป็นผู้นำจึงมีความสำคัญในอนาคตอย่างยิ่ง และจำต้องมีทุกระดับของคนทำงาน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาโลกใหม่

 

“ความเป็นผู้นำควรขับเคลื่อนไปในการทิศทางเดียวกัน และไม่จำเป็นต้องมาจากตำแหน่ง สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จการพัฒนาไปสู่การเปลี่ยนแปลง ขออย่าท้อแท้ ขอช่วยนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม”

 

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top