skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ฉีดวัคซีนชักช้า เสี่ยงติดโอมิครอนถึงตาย!

ฉีดวัคซีนชักช้า เสี่ยงติดโอมิครอนถึงตาย!

ฉีดวัคซีนชักช้า

เสี่ยงติดโอมิครอนถึงตาย!

 

เชื้อโอมิครอนระบาดหนักขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้ยอดผู้ติดเชื้อรายวันขยับเกือบแตะ 30,000 คน พุ่งมากจนน่าตกใจ ข้อมูล 5 วันตั้งแต่ 14-18 ก.พ.มียอดรวมมากถึง 100,961 คน เฉลี่ยวันละ 20,192 คน โดยเฉพาะวันที่ 18 ก.พ. มีผู้ติดเชื้อมากถึง 28,022 คน ซึ่งรวมทั้งผลตรวจจาก ATK เป็นบวกสะท้อนถึงเข้าข่ายติดเชื้ออีกจำนวน 9,956 คนด้วย

 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนัก และโรคผู้สูงอายุ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ เตือนว่า อย่าตกใจ เพราะคนติดเชื้อยังพุ่งต่อเนื่องไปเรื่อยๆจนถึงต้นมีนาคมจากนั้นจะเป็นขาลง พร้อมย้ำถึงแนวโน้มว่า ทุกคนต้องติดในไม่ช้า ดังนั้น การบรรเทาอาการคือ รีบฉีดวัคซีนให้ครบ

 

การฉีดวัคซีนให้ครบในความหมายของ นพ.มนูญ คือ การฉีดเข็มสามเพื่อกระตุ้นภูมิต้านทานเชื้อโอมิครอน  แม้ตัวเลขฉีดวัคซีนเมื่อ 17 ก.พ. ยอดรวมฉีดวัคซีนทั้งประเทศมีจำนวนเกือบ 121 ล้านโดส แต่ในจำนวนนี้ฉีดเข็มสองเพียง 49 ล้านโดส และเข็มสามในจำนวนน้อยนิดแค่ 18 ล้านโดส แปลความว่า อีกกว่า 30 ล้านคนที่ฉีดเข็มสองยังไม่ได้ไปฉีดเข็มสาม ดังนั้น จำนวนคนฉีดวัคซีนไม่ครบจึงมีชีวิตอยู่ในสภาพรอติดโอมิครอนได้ทุกเมื่อเชื่อวัน

 

ถ้ายึดในระดับการคุ้มกันเชื้อโอมิครอนแล้ว ควรใส่ใจกับตัวเลขฉีดวัคซีนเข็มสองและเข็มสาม ซึ่งมีประสิทธิภาพยับยั้งการติดเชื้อโอมิครอนได้มากกว่าฉีดเข็มหนึ่ง ด้วยเหตุนี้ ท่ามกลางโอมิครอนระบาดรวดเร็ว โอกาสเสี่ยงติดเชื้อจึงมีสูงกับคนฉีดวัคซีนเข็มสอง แล้วนับประสาอะไรกับคนฉีดแค่เข็มหนึ่ง รวมทั้งคนไม่ได้ฉีดวัคซีนเลย ความกังวลต่อการลุกลามย่อมน่าหวั่นสะท้านเป็นระลอกระบาดครั้งแล้วครั้งเล่า และหากปล่อยปละละเลยย่อมเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้

 

 

 

5 วันติดเชื้อโอมิครอน

ปี 2565

ติดเชื้อ

รักษา เสียชีวิต
RT-PCR ATK รวม รพ. อาการหนัก เครื่องช่วยหายใจ

14 ก.พ. 14,900 7,687 22,587 129,933 687 138 26
15 ก.พ. 14,373 7,701 22,074 132,728 702 145 27
16 ก.พ. 16,462 11,816 28,278 138,295 699 155 27
17 ก.พ. 17,349 11,969 29,318 144,061 728 163 22
18 ก.พ. 18,066 9,956 28,022 149,589 755 182 27
รวม 100,961 รวม 129

 

 

แล้วคนในวัยไหนมีโอกาสเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากโอมิครอน นพ.นูญ เทียบช่วงวัยกับความเสี่ยงเสียชีวิต ว่า คนสูงอายุตั้งแต่ 65-74 ปี หากติดเชื้อไวรัสโควิดย่อมเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าคน 18-29 ปีถึง 65 เท่า ส่วนคนอายุ 75-84 ปี มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า 140 เท่า และคนอายุ 85 ปี ขึ้นไป มีความเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่า 340 เท่า

 

ข้อมูลจากกรมอนามัย ผู้สูงอายุได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 9.8 ล้านคน เข็ม 3 อีก 3.3 ล้านคน ผู้สูงอายุทั้งประเทศมีมากกว่า 12 ล้านคน ยังมีผู้สูงอายุอีกกว่า 2.2 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

 

ด้วยประการฉะนี้ ในช่วงขาขึ้นของการแพร่ระบาดของเชื้อโอมิครอน สิ่งสำคัญรีบไปฉีดวัคซีนให้ครบเข็มสาม จะสามารถผ่อนหนักเป็นเบาและลดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ และเสียงเตือนย้ำว่า ไม่ควรฉีดวัคซีนเชื้อตาย และอย่ากลัวผลข้างเคียงของวัคซีน ขอให้กลัวไวรัสโควิดมากกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพ เพียงพอสำหรับทุกคนในประเทศไทย

ขณะที่มัวชักช้ากับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นด้วยเหตุผลประการใดก็ตาม มาตรการเฉพาะหน้าในยามโอมิครอนระบาดหนัก การดูแลตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อตอกย้ำไม่ให้ประมาท สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แนะนำแนวทางเอาตัวรอดและเรียนรู้กับเชื้อไว้ 5 ข้อ ดังนี้

 

  1. “โอมิครอน” แค่เปิดปาก ก็แพร่เชื้อได้ แม้เชื้อไม่ค่อยลงปอด แต่เชื้อกลับไปเกาะบริเวณเซลล์ผนังลำคอจำนวนมาก เมื่อผู้ติดเชื้อพูดคุย ตะโกน ไอ จาม เชื้อจึงกระจายออกมาง่าย และมากกว่า ทำให้เกิดการแพร่เชื้อได้ง่าย

 

 

  1. ยิ่งอยู่ในพื้นที่ปิด ละอองเชื้อที่แห้ง ลอยไกลอยู่ได้นาน แม้ผู้ติดเชื้อไม่อยู่แล้ว เชื้อโควิดถูกห่อหุ้มด้วยน้ำมูก หรือ น้ำลาย แต่เวลาอยู่ในพื้นที่ปิด เมื่อน้ำมูก หรือน้ำลายระเหยแห้งไป เชื้อโควิดที่มีขนาดเล็กลง จะสามารถล่องลอยไปไกล และตกค้างในอากาศได้นาน ไวรัส ซึ่งคือน้ำมูกหรือน้ำลาย (เส้นผ่านศูนย์กลาง มากกว่า 5 ไมครอน) ฝอยละอองขนาดใหญ่ น้ำหนักของน้ำมูกหรือน้ำลาย ทำให้ลอยตกทันที เมื่อระเหยเป็น “ไวรัส” ฝอยละอองขนาดเล็ก ลอยในอากาศได้นาน

 

  1. พื้นที่ปิดหรือระบายอากาศไม่ดี เสี่ยงเจอเชื้อตกค้าง การเปิดประตูหน้าต่างเพื่อระบายอากาศ มีส่วนช่วยในการลดการสะสมของเชื้อโรคได้ ทั้งนี้ การเปิดช่องระบายอากาศควรเปิดให้ทแยงด้านกัน เพื่อทำให้อากาศเกิดการถ่ายเทได้รอบบริเวณมากที่สุด ไม่เหลือการตกค้างของเชื้อโรค อีกทั้งควรเปิดระบายอากาศครั้งละ 5-10 นาทีทุก 2 ชั่วโมง ถ้ามีข้อจำกัดอาจเปิดระบายก่อนเริ่มใช้ห้อง ระหว่างพัก และก่อนเลิกใช้

 

  1. ในพื้นที่ปิด เชื้อแพร่ยกกำลัง 3 นอกจากการเว้นระยะห่างแล้ว การเลี่ยงไม่อยู่ในพื้นที่ปิดก็ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อโควิดได้ เพราะภายในพื้นที่ปิด เชื้อจะสามารถแพร่ได้ถึง 3 ทางได้แก่ ระยะใกล้ติดจากฝอยละอองขนาดใหญ่ ระยะไกลติดจากฝอยละอองขนาดเล็ก ระยะประชิดติดจากการสัมผัส

 

 

  1. วิธีเอาตัวรอด เมื่ออยู่ในที่อากาศไม่ถ่ายเท ใช้หน้ากากที่มีประสิทธิภาพ สวมอย่างถูกวิธี กระชับใบหน้า เว้นระยะห่าง ล้างมือ และฉีดวัคซีน รวมทั้งการเลือกสวมหน้ากากที่มีประสิทธิภาพเหมาะสูง เช่น N95 หรือ KN95 โดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยง เช่น พื้นที่แออัด มีคนจำนวนมาก ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มาก แต่ทั้งนี้ต้องสวมให้ถูกวิธี และกระชับใบหน้า เพราะการสวมหน้ากากไม่กระชับอาจเกิดช่องโหว่ให้เชื้อโรดลอดเข้ามาได้ ได้แก่ ช่องเหนือจมูก ช่องข้างแก้ม และช่องใต้คาง

 

 

ดังนั้น มาตรการเฝ้าระวังตัวเองจึงเป็นหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุด ในยามความชัดเจนของรัฐบาลและระบบสาธารณสุข กำลังวนกับการถอดหรือไม่ถอดผู้ป่วยโควิด กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กรณีจะมีการปรับเปลี่ยนการบริการรักษาผู้ป่วยโควิด จากยูเซป (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) หรือโครงการ “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” สามารถเข้ารักษาในกลุ่มฉุกเฉินทุกโรงพยาบาล

 

ความไม่ชัดเจนนั้น กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์กระหึ่มที่จะปรับการรักษาโควิดใหม่ โดยมาเป็นต้องอาการฉุกเฉินสามารถเข้ารักษาได้ ส่วนอาการไม่ฉุกเฉิน แต่มีอาการเข้ารักษาโรงพยาบาลตามสิทธิของแต่ละคน ส่วนคนไม่มีอาการให้รักษาระบบที่บ้าน คือ Home Issolation (HI) และรักษาในชุมชน คือ Commutity Issolation (CI )

 

กล่าวโดยรวมคือ หากป่วยโควิดรักษาฟรี ตามสิทธิรักษาพยาบาลของแต่ละคน ไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่หากวันนี้ไปเข้า รพ.เอกชนที่หนึ่งและขอตรวจ โดยที่ไม่ได้มีอาการเข้าข่ายภาวะฉุกเฉินวิกฤต เมื่อตรวจแล้วผลบวก จะขอรักษา รพ.เอกชน อันนี้ต้องจ่ายค่ารักษาเอง ซึ่งไม่แตกต่างจากคนจนถูกเทให้ผจญโควิดตามลำพังอีกตามเคย

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top