เร่งฉีดวัคซีนเข็มสาม 100% หวังดันโควิดสู่โรคประจำถิ่น
เร่งฉีดวัคซีนเข็มสาม 100%
หวังดันโควิดสู่โรคประจำถิ่น
การติดเชื้อโควิดในไทยทั้งพันธุ์เดลตาและโอมิครอนยังเพิ่มสูงขึ้นระดับ 7,000 คนต่อวัน เมื่อ 11 ม.ค. 2565 มีจำนวน 7,133 คน ถ้ารวมผลตรวจ ATK ที่เข้าข่ายอีก 1,545 คน ย่อมทยานไปแตะที่ตัวเลข 8,678 คน แม้เป็นจำนวนไม่น้อยและน่าหวั่นวิตกก็ตาม แต่พิจารณาถึงอาการผู้ป่วยหนักจำนวน 492 คน ซึ่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง คงทำให้ใจคอดีขึ้นมาบ้าง
ยิ่งจำนวนผู้เสียชีวิตต่อวันเมื่อ 11 ม.ค.มี 12 ศพ นับเป็นสัญญาณขาลงเช่นกัน เพราะสะท้อนถึงกระทรวงสาธารณสุขทำหน้าที่ควบคุมและรักษาโรคค่อนข้างเอาอยู่ และสิ่งสำคัญยังบ่งบอกถึงอิทธิฤทธิ์ของโควิดส่ออาการไม่รุนแรงถึงชีวิต เมื่อผู้ติดเชื้อเข้ารักษาตามกระบวนการได้รวดเร็ว
แม้วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดทั้งในไทยและต่างประเทศพุ่งทยานขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะสหรัฐฯติดเชื้อมากถึงล้านคนต่อวัน แต่ผลการศึกษาจากต่างประเทศยังมองเห็นความหวัง โดยคาดกันว่า โอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์ทำให้โควิดกลายเป็นโรคประจำถิ่นเช่นเดียวกับโรคไข้หวัดใหญ่ นั่นหมายถึงความรุนแรงของโรคจะลดน้อยลง และอัตราการตายก็จะน้อยลงมากจนไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อความมั่นคงทางด้านสาธารณสุขอีกต่อไป
อย่างไรก็ตาม การคาดการณ์ดังกล่าวยังต้องอาศัยทั้งข้อมูลและระยะเวลาเพื่อที่จะได้ข้อสรุปมาตอกย้ำให้ชัดเจนขึ้น เพจสำนักข่าว Hfocus รายงานความเห็น “นพ.เอฟเธอรอส ไมโลนากี้ส์” หัวหน้าแผนกโรคติดเชื้อจากไลฟ์สแปน ผู้ดูแลโรงพยาบาลและคลินิกทั้งหมดของในเครือของโรงพยาบาล โรดไอส์แลนด์ โดย นพ.ไมโลนากี้ส์ กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ว่าโควิดจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่มันไม่ได้หมายความว่าโรคโควิดจะมีรูปแบบการพัฒนาของโรคเช่นเดียวกับโรคไข้หวัด เนื่องจากยังมีตัวอย่างอีกมากมายที่การพัฒนาของเชื้อไวรัสไม่ได้เป็นรูปแบบเดียวกันกับเชื้อไข้หวัดใหญ่ที่กลายเป็นโรคตามฤดูกาล อีกทั้งยังมีความไม่รู้อีกมากเกี่ยวกับโรคโควิด โดยเฉพาะเรื่องระยะเวลาของภูมิคุ้มกันโรค เป็นต้น
อย่างไรก็ตามนายแพทย์ผู้นี้เชื่อว่า ข้อมูลจะมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากที่มีการหยุดระบาดของสายพันธุ์โอมิครอน และเมื่อใดก็ตามที่มีการติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ภูมิคุ้มกันก็จะพบมากเช่นเดียวกัน และยังหมายรวมถึงการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่เมื่อเกิดจากการติดเชื้อตามธรรมชาติอีกด้วย
นพ.ไมโลนากี้ส์ ระบุว่า จากการศึกษารูปแบบการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ต่างๆของโรคโควิดในอังกฤษจะมีรูปแบบการระบาดที่คล้ายกันกับสหรัฐฯ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนในครั้งนี้ ช่วงระยะเวลาของการระบาดสูงสุดน่าจะใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์
“หมายความว่าระยะเวลาการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนน่าจะผ่านพ้นไปได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา และยังมีหลักฐานข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ภูมิคุ้มกันที่เกิดจากการติดเชื้อโอมิครอน สามารถป้องกันการติดเชื้อจากสายพันธุ์เดลตาได้เช่นกัน”
ในขณะเดียวกัน นพ.นัชมัน อัช ที่ปรึกษาด้านสุขภาพระดับสูงของอิสราเอล เชื่อว่าประเทศอิสราเอลจะมีภูมิคุ้มกันหมู่เกิดขึ้นจากการระบาดอย่างหนักของสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อมีการติดเชื้อในคนจำนวนมาก จนภูมิคุ้มกันหมู่สามารถเกิดขึ้นได้จากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ หรือเกิดจากการฉีดวัคซีนประมาณ 94% ของประชากรจึงจะสามารถยับยั้งการระบาดได้
เขายังมีความกังวลว่า การทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่โดยเฉพาะจากโรคโควิดเป็นเรื่องที่อ่อนไหว เนื่องจากมีข้อมูลของการลดลงของภูมิต้านทานค่อนข้างเร็วภายใน 2-3 เดือนหลังจากได้รับเชื้อ และภูมิคุ้มกันดังกล่าวยังไม่สามารถปกป้องร่างกายจากสายพันธุ์อื่นที่กลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสในอนาคตอีกด้วย
ส่วน ดร. เกรกอรี่ โปแลนด์ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาวัคซีน จากมาโยคลินิก มีความเห็นแย้งว่า ตราบใดที่โรคโควิดยังคงมีการกลายพันธุ์ หรือมีสายพันธุ์ใหม่ๆที่อยู่ในความกังวลเกิดขึ้น การเกิดภูมิคุ้มกันแบบถาวรแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย เนื่องจากสายพันธุ์ใหม่ๆจะหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่มนุษย์สร้างขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่เสี่ยงที่ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีผลเสียจากการเกิดภูมิคุ้มกันหมู่จากการติดเชื้อโดยธรรมชาติ คือราคาที่ต้องจ่ายในการรักษาพยาบาล และมีการเสียชีวิตตามมา
ดังนั้นจึงไม่ใช่กลยุทธ์ที่ถูกต้องนัก ที่จะให้เกิดการติดเชื้อโดยธรรมชาติเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ และตราบใดการที่ยังไม่มีการฉีดวัคซีนอย่างครอบคลุม การระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนก็จะยังคงเป็นปัญหาอยู่
“สำหรับคนที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง สายพันธุ์โอมิครอนดูเหมือนว่าจะอันตรายน้อยกว่า แต่ไม่ได้หมายความว่ามันจะไม่สามารถแพร่กระจายเชื้อได้ นอกจากนี่การติดเชื้ออาจนำไปสู่โรคโควิดระยะยาว ดังนั้นการสร้างภูมิคุ้มกันจากการฉีดวัคซีนจึงเป็นอาวุธที่ดีที่สุดในการจัดการกับเชื้อไวรัส”
ดร. เกรกอรี่ ยกตัวอย่างกรณีของไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมีการระบาดตามฤดูกาล ได้มีการผลิตวัคซีนที่มาจัดการกับการระบาดในสายพันธุ์นั้นๆ แต่สิ่งเหล่านั้นดูเหมือนจะเกิดขึ้นได้ช้ากับสายพันธุ์โคโรนาไวรัส ซึ่งมันกำลังจะเปลี่ยนแปลงเป็นโรคประจำถิ่นในที่สุด โรคไข้หวัดใหญ่เกิดขึ้นเมื่อร้อยกว่าปีก่อน และมาถึงปัจจุบันมนุษย์ก็ยังคงต้องฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ เช่นเดียวกันกับในอีกหนึ่งร้อยปีในอนาคต มนุษย์ก็ยังคงต้องฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิดจากสายพันธุ์โคโรนาไวรัสเช่นเดียวกัน
สำหรับประเทศไทย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ค่อนข้างเชื่อมั่นว่า นับจากนี้อีก 2 เดือนโอมิครอนจะค่อยๆลด แล้วคาดการณ์ถึงขั้นว่า ใน 1 ปีอาจกลายเป็นโรคประจำถิ่น แต่ต้องมีปัจจัยเอื้อหนุน ทั้งการฉีดวัคซีน ประชาชนมีภูมิต้านทานจนไม่เสริมให้โควิดกลายพันธุ์เพิ่ม และการติดเชื้อไม่รุนแรง
ความหวังอันสูงยิ่งของทุกประเทศอยู่ที่โอกาสโควิดจะเข้าสู่โรคประจำถิ่น นพ.เกียรติภูมิ นอกจากย้ำถึงเกณฑ์การป้องกันควบคุมและสร้างภูมิต้านทานแล้ว ยังเน้นถึงการพิจารณาการดูแลรักษาที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดอัตราการป่วยหนักและเสียชีวิตลงด้วย ซึ่งในประเทศไทยขณะนี้มีอัตราเสียชีวิตค่อยๆลดลงเหลือ 1% แตกต่างจากการระบาดเริ่มแรกที่เสียชีวิตมากถึง 3% ถ้าปัจจุบันสามารถลดเหลือ 0.1% ก็จะเข้าข่ายโรคประจำถิ่นได้
ดังนั้น ทั้งกรณีการระบาดในไทยและต่างประเทศ รวมถึงการเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนจำนวนมาก ยิ่งอยู่ในระดับ 100% ของประชากรก็ยิ่งเป็นสิ่งดีๆ เพราะเท่ากับหนุนส่งและผลักดันให้ประชาชนมีภูมิต้านถึงขั้นตามธรรมชาติได้ ด้วยความเชื่อมั่นเช่นนี้ นับเป็นความหวังที่สอดคล้องกันทั้งโลก ซึ่งจัดเป็นความหวังสากลที่ต้องการให้โควิดไม่ว่าสายพันธุ์ไหนๆ จะได้กลายเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคตอันเร็ววัน
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv