skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“เตียงไม่พอ” แพทย์-พยาบาลอาสา ช่วยดูแลผู้ป่วยรักษาอยู่บ้าน
Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

“เตียงไม่พอ” แพทย์-พยาบาลอาสา ช่วยดูแลผู้ป่วยรักษาอยู่บ้าน

 

“เตียงไม่พอ” แพทย์-พยาบาลอาสา ช่วยดูแลผู้ป่วยรักษาอยู่บ้าน

 

“เตียงไม่พอ” คำพูดตอกย้ำความเจ็บปวดและสะท้อนความหดหู่ต่อผู้ป่วยโควิดในขณะนี้อย่างยิ่ง ราวกับเป็นเสียงบอกปัดจากระบบสาธารณสุข จนผู้ป่วยก่อเกิดอารมณ์เคว้งคว้างเหมือนถูกปล่อยเกาะ ต้องโดดเดียว อดทนจมปรักดูแลตัวเองกันตามลำพัง

คำพูด “เตียงไม่พอ” กับภาพผู้ป่วยโควิดไม่ว่าคนเดียวหรือทั้งครอบครัวผุดขึ้นแทบทุกวัน…เราเห็นภาพคนทุกเพศวัย ทั้งผู้เฒ่า คนแก่ เด็กน้อย อีกทั้งทารก นอนซมพิษป่วยโควิดลงปอด พร้อมๆกับเสียงญาติมิตรร้องคร่ำครวญ อ้อนวอนขอช่วยหาเตียงและรีบส่งตัวไปรักษาเพื่อยื้อชีวิตคนเป็นที่รักให้คงอยู่

ภาพเช่นนี้ สร้างจินตภาพไปถึงผู้ป่วยร่างกายทรุดโทรมสิ้นเรียวแรงขยับเขยื้อน เรารับรู้ถึงลมหายใจแผ่วเบาใกล้หมดลง…แล้วความเศร้าโศกมาเยื่อนเมื่อภาพคนชุดขาวหามศพไปเผาที่วัด ศพแล้วศพเล่าจนเมรุระเบิด แต่เสียง “เตียงไม่พอ” ยังดังก้องอยู่และถี่ขึ้นในพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้มของกรุงเทพฯ และปริมณฑล 10 จังหวัด

 

ดูเหมือนเสียง “เตียงไม่พอ” เป็นคำพูดออกจากปากคนใจโหดร้าย ซึ่งไม่แตกต่างจากเสียงมัจจุราชตะคอกเอาชีวิตผู้ป่วย พร้อมสั่งให้ร่ำลาญาติมิตรแต่เนิ่นๆ ภาพการณ์เช่นนี้ แม้คนยังไม่ป่วย หรือติดเชื้อไม่รุนแรงในระดับสีเขียว แต่ฉุนเฉียวกับระบบสาธารณสุขที่มีชุดความคิดรักษาผู้ป่วยโควิดแบบง่ายๆเพียงสามพยางค์ว่า “เตียงไม่พอ” แล้วสรุปจบเคสรักษา

ดังนั้น “เตียงไม่พอ” จึงเป็นเสียงบอกให้นอนรอความตายอยู่บ้าน ซึ่งเห็นจำเจซ้ำซาก อีกทั้งยังมีนัยยะว่า ความตายของหนึ่งชีวิตมักจบลงด้วยญาติมิตรคนใกล้ชิดที่อาศัยอยู่ในครอบครัวได้เตียงรองรับไปรักษาชีวิตในโรงพยาบาล…หรือท่ามกลางโควิดระบาดรุนแรง ความตายคือภาวะจำต้อง “แลก” ให้ผู้ป่วยที่เหลือได้รับการรักษาและรอดตาย

 

หลายวันที่ผ่านมา การระบาดของโควิดหนักหนาขึ้น เพิ่มยอดผู้ติดเชื้อใหม่ไต่ระดับเกินหลักหมื่นราย  ศบค.รายงานเมื่อ 25 ก.ค.ที่ผ่านมาว่า มีผู้ติดเชื้อใหม่สูงสุด 15,335 ราย เสียชีวต 129 ราย ในจำนวนนี้ กรุงเทพและปริมณฑลติดเชื้อมากสุด และเสียชีวิตมากที่สุด

 

หากพิจารณาตัวเลขผู้ป่วยอยู่ระหว่างการรักษา ณ วันที่ 24 กค. มีมากถึง 150,248 ราย แบ่งเป็นในโรงพยาบาล 86,045 ราย ในโรงพยาบาลสนาม 64,203 ราย ตัวเลขเช่นนี้บ่งบอกภาพ “เตียงไม่พอ” กับภาพความเศร้าของผู้ป่วยตกค้างได้ชัดเจน

 

รวมทั้งถ้านำผู้ติดเชื้อใหม่ในวันที่ 24 ก.ค. จำนวน 14,260 รายมาหักลบกับตัวเลขการรักษาหายกลับบ้านเพียง 7,637 ราย ถึงพบความแตกต่างในเชิงตัวเลขกันเกือบครึ่ง ดังนั้น “เตียงไม่พอ” จึงเป็นทั้งข้อเท็จจริงที่นำไปเป็นเหตุเป็นผลให้ผู้ป่วยอยู่ในภาวะจำยอมต้องรักษาตัวเองอยู่บ้าน แม้บางคนพยายามกัดฟันเดินหาเตียงโรงพยาบาลรักษาตัวเอง แต่ล้มพับสิ้นชีวิตคาถนนกลางกรุงเทพฯ ก็เกิดขึ้นมาแล้ว

 

ล่าสุดเมื่อกลางคืน 23 ก.ค.ที่ผ่านมา มีเสียงครวญยามดึกหน้าตึกกระทรวงเกษตรฯ (กษ.) ตรงตึก ส.ป.ก. จากเหตุป้าไรเจ้าของร้านส้มตำใน กษ.ติดโควิดทั้งบ้านต้องมากางมุ้งนอนรอเตียงที่หน้าตู้เอทีเอ็มข้างรั้วกระทรวงกันเลย

 

“หน้ากระทรวงเกษตรเลยครับ และยังจะให้ จนท. เข้าไปเสี่ยงภัย เข้าไปทำงานที่กระทรวง ไม่ WFH ล่าสุดแม่บ้านห้องผู้ช่วยปลัดฯ ก็ติดไปอีก กักตัวกับเพียบ ข้าราชการชั้นผู้น้อยตอนนี้ ถ้าติดเชื้อขึ้นมา จะไปตรวจ ไปรักษาที่ไหน ที่บอกจะรับผิดชอบๆ ถึงเวลา ใครจะรับผิดชอบครับ” เสียงผู้ส่งสารบอกเล่า ซึ่งเชื่อว่า ปานนี้คงได้เตียงมีคนมารับตัวไปดูแลรักษาแล้ว

 

อาการผู้ป่วยติดโควิดที่ตกค้างจากระบบรักษา แล้วออกมาเรียกร้องขอเตียงรักษาเกิดขึ้นมาแล้วที่หน้าทำเนียบรัฐบาลเช่นกัน และครั้งนั้น ผู้ป่วย 2 คนถูกตำรวจสวมชุดขาวกันเชื้อนำตัวไปนอนเตียงรักษาโควิด กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์โควิด กทม.และระดับชาติ สั่งการให้หน่วยงานไปคิดหาวิธีไม่ให้มีผู้ป่วยติดบ้านและอยู่ข้างถนน

 

“จะต้องไม่เห็นภาพนี้อีก ท่านจะต้องไปคิดมาเป็นความรับผิดชอบของทุกหน่วยงานนะครับ ไม่ใช่กระทรวงสาธารณสุขอย่างเดียว หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาวิธีการให้ได้ว่าทำยังไงคนเหล่านี้จะมาสู่โรงพยาบาลสนาม” พล.อ.ประยทธ์ กำชับเมื่อ 23 ก.ค.ที่ผ่านมา

บัดนี้เสียงพูด “เตียงไม่พอ” ได้กระเพื่อมแรงมาถึงรัฐบาลและหน่วยงานรัฐต้องเร่งรีบหาเตียงให้พอรองรับผู้ป่วยใหม่ อย่าได้มีเหลือตกค้าง ทั้งๆที่การเพิ่มเตียงในพื้นที่ กทม.มีเป็นระยะจากเดิมมีเตียงแค่ 2,946 เตียง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ระบุเมื่อ 30 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า จะเพิ่มอีก 5,200 เตียงรวมเป็น  8,146 เตียงสำหรับรองรับผู้ป่วย

 

แม้เพิ่มเตียงมาอย่างต่อเนื่องทั้งขยายเพิ่มในโรงพยาบาลสนามบุษราคัมอีก 450 เตียง แต่ยังไม่เพียงพอการการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลตาอยู่ดี เมื่อ 21 ก.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ สั่งการให้เพิ่มเตียงโรงพยาบาลที่สนามบินสุวรรณภูมิอีก 4,500 เตียง เมื่อบวกกับดัดแปลงคลังสินค้าสนามบินดอนเมืองเป็นเตียงสนามอีก 2,000 เตียง รวม กทม.ได้เตียงโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 7,000 เตียง แต่ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นระดับเกินหมื่นราย ซึ่งคงไม่เพียงพออยู่ดี และย่อมมีผู้ป่วยตกค้างจากระบบสาธารณสุขอีกจำนวนมากตามเคย

 

ดังนั้นในสถานการณ์ผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น การรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านจึงเป็นความจำเป็นเฉพาะกิจ กระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ตัดสินใจให้ผู้ป่วยยื่นขอสิทธิรักษาตัวที่บ้าน หรือ Home Isolation (HI) โดยข้อมูลของ สปสช. ตั้งแต่วัที่ 13 ก.ค.-22 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้ป่วยแบบ HI มากถึง 22,547 คน มีหน่วยบริการตอบรับดูแลผู้ป่วย 2,769 ราย ในจำนวนนี้อยู่ระหว่างการดูแลติดตามอาการ HI 1,391 ราย

 

.   การดูแลผู้ป่วยแบบ HI นั้น ยังมีอาสาสมัคร ภาคประชาชน เข้ามาร่วมดูแลอาการแบ่งเบาภาระของ สปสช.จำนวนมาก รวมทั้งรวมถึงคณะทำงานพัฒนาแนวทางการแก้ปัญหาโควิด-19 และการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิในสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย สมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัว ประเทศไทย และชมรมแพทย์เวชปฏิบัติครอบครัว ที่ได้ประกาศหากลุ่มอาสาสมัครทั้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกรเข้าร่วมโครงการ โดยติดต่อผ่าน Line official: @ThaiFMconnect และเฟซบุ๊คชมรมแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว (https://www.facebook.com/SFPTH/)

 

แพทย์อาสาคนหนึ่งกล่าวว่า ตั้งแต่รับสมัครแพทย์อาสา มีแพทย์สนใจสมัครเข้ามาจนถึงปัจจุบันถึง 1,200 คน มากกว่าความคาดหมายของทีมอย่างมาก ทางทีมได้พยายามปรับระบบการทำงานเพื่อรองรับผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลที่บ้าน ทั้งผู้ป่วยแบบสีเขียว เหลือง และ แดง ที่รอส่งต่อ

 

แพทย์และพยาบาลอาสาฯกลุ่มนี้ เริ่มเปิดตัวปฏิบัติงานเมื่อ 14 ก.ค.ที่ผ่านมาเป็นวันแรก โดยนำร่องดูแลผู้ติดเชื้อ HI จำนวน 25 คน ยึดหลักการทำงานเป็นทีมเสริม สปสช. สายด่วน 1330 ซึ่งผู้ป่วยลงทะเบียนเข้าระบบ แล้วซักประวัติ คัดแยกสีผู้ป่วย ไปจนถึงติดตามอาการผ่านทางโทรศัพท์และไลน์ ควบคุมกับการทำงานของทีมแพทย์พยาบาลที่ลงพื้นที่ชุมชนด้วย

 

ขณะนี้กลุ่มแพทย์อาสาฯ บริการผู้ป่วยได้วันละถึง 300 – 400 คน แต่ก็ยังบริการได้ไม่สมบูรณ์ครอบคลุมผู้ที่ต้องการรับบริการ เพราะปริมาณเคสทีหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมาก ส่วนใหญ่เคสมีความจำเป็นเร่งด่วนและต้องการระบบสนับสนุนหลายๆ อย่าง ที่ติดขัดขาดแคลน ไม่เพียงพอสำหรับการบริการตามแนวปฏิบัติได้อย่างราบรื่นครับ แต่ทางทีมก็พยายามจัดการให้ดีที่สุดภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่

 

นอกจากนี้ ทีมอาสาตั้งเป้าหมายจะช่วยดูแลผู้ติดเชื้อได้รอบละ 1,000 คน หรือแบ่งทีมพยาบาลออกเป็น 4 ทีม ติดตามผู้ติดเชื้อ 1 คน ตั้งแต่วันแรกจนครบ 14 วัน หรือจนหายเป็นปกติ ซึ่งตัวเลขผู้ป่วยโควิดที่จะสามารถกักตัวในพื้นที่ กทม.และปริมณฑล คาดว่าจะมีอยู่ประมาณ 40,000 คน ดังนั้น จำนวนอาสาสมัครที่ต้องการมาเสริมทัพเรียกได้ว่าไม่จำกัด ยังพร้อมรับเพิ่มต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถดูแลผู้ป่วยจนหายดี ลดอัตราการเสียชีวิตลงไปได้

 

ส่วนความสำคัญของโครงการ Home Isolation นั้น ไทยพีบีเอสออนไลน์ รายงานคำพูดของ นพ.อภินันท์ อร่ามรัตน์ ประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ว่า จะเป็นจุดเริ่มต้นให้คนไทยเริ่มเข้าใจการดูแลผู้ป่วยที่บ้านมากขึ้น ผ่านการดูแลกันในชุมชนที่เข้มแข็ง ซึ่งหน่วยงานรัฐอาจมีการประสานจ่ายเงินให้ชุมชนช่วยดูแลเรื่องน้ำ- อาหาร ให้ผู้ติดเชื้อ สร้างรายได้ให้ชุมชน และสร้างความเกื้อกูลและความเข้าใจ ลดความกลัวหรือรังเกียจ หากสิ่งเหล่านี้หลอมรวมกันจะช่วยลดปัญหาคนติดเชื้อโควิด ถูกตีตราจากสังคมแม้ว่าจะหายแล้วลงไปได้อีกด้วย

 

ส่วน พญ.สายรัตน์ นกน้อย รองประธานราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย และประธานอนุกรรมการวิชาการ ระบุว่า การติดตามประจำวันจะมีการให้คำแนะนำการแยกกักตัวเอง ทำความเข้าใจกับผู้ติดเชื้อและญาติ ประเมินผู้ป่วยผ่านการพูดคุยทางโทรศัพท์หรือไลน์ พร้อมติดตามสภาพร่างกายทั้งอุณหภูมิ ค่าออกซิเจน รวมไปถึงสภาพจิตใจของผู้ติดเชื้อซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะซึมเศร้าได้

“การดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน เป็นการดำเนินการเพื่อให้เขาเข้าถึงการรักษาให้ได้เร็วและมากที่สุด เพราะเรามองว่าการดูแลอย่างถูกวิธี และเข้าถึงยารักษาได้เร็ว จะช่วยลดอัตราการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะสถานการณ์คนไข้สีเหลืองและสีแดงที่รอเตียงอยู่จำนวนมาก”

 

กล่าวโดยรวมแล้ว “เตียงไม่พอ” เป็นทั้งความเจ็บปวดที่ประชาชนระดับล่างไม่ควรได้รับ แม้มี Home Isolation เข้ามาช่วยพยุงไว้ แต่ผู้ป่วยติดเชื้อที่เข้าถึงระบบดูแลที่บ้านต้องมีการกักตัวแยกออกจากคนอื่น ซึ่งคนทั่วไปติดเชื้อเป็นครอบครัว ดังนั้น เตียงโรงพยาบาลเท่านั้นจึงจะช่วยให้มีชีวิตอยู่รอดจากภัยโควิดได้


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

Back To Top