skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
มานพ แก้วโกย: เกษตรกรรุ่นใหม่ บุกเบิกสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาวนา

มานพ แก้วโกย: เกษตรกรรุ่นใหม่ บุกเบิกสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาวนา

 

มานพ แก้วโกย:เกษตรกรรุ่นใหม่

บุกเบิกสร้างเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาวนา

…………………………………….

“มานพ แก้วโกย” จัดเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่ ตามนิยามส่งเสริม เรียกกันสุดโก้ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า “Young Smart Farmer” โดยเน้นคุณสมบัติให้คนรุ่นใหม่สายเลือดเกษตรกรแท้ ผู้อยู่ในวัยฉกรรจ์ ไม่ห่างทิ้งหายไปจากอาชีพเกษตรกรรมของครอบครัว

สิ่งสำคัญในโลกยุคนี้ เกษตรกรรุ่นใหม่ต้องอาศัยศาสตร์และความรู้หลากหลายผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการ พลิกฟื้นผลผลิตเกษตรสู่ตลาด ดังนั้น อาชีพการเกษตรวิถีใหม่จึงไม่ได้มีเพียงชีวิตจำเจเดิมๆ ที่โหมหยาดเหงื่อทุกฤดูการผลิต ขูดรีดกำลังแรงงานตัวเองเข้มข้นในการหาอยู่หากิน ก้มหน้าปลูกผลผลิตเพื่อขายพ่อค้า เมื่อแหงนหน้าขึ้นสัมผัสสังคมกลับจมปลักกับความจนดักดาน

หากมองในเชิงโครงสร้างแล้ว เป้าหมายของเกษตรกรรุ่นใหม่คงมุ่งบุกเบิกนำพาชุมชนเกษตรไปสู่การรวมกลุ่มแบบ“วิสาหกิจชุมชนแปรรูปและค้าขาย” ซึ่งเป็นการก่อรูประบบองค์กร“เศรษฐกิจชุมชนชาวนา”เชื่อมประสานเครือข่ายวัฒนธรรมการผลิต แล้วโยงสัมพันธ์กับเศรษฐกิจสาขาอื่น และหลอมรวมเป็นส่วนหนึ่งในระบบเศรษฐกิจแห่งชาติในแกนกลางแนวคิดวัฒนธรรมเศรษฐกิจพอเพียงนำพา

อย่างไรก็ตาม เส้นทางเดินขององค์กรเศรษฐกิจชุมชนชาวนามุ่งสนองต่อวิถีความเป็นอยู่ของครอบครัวการผลิตและเครือข่ายชุมชนเป็นด้านหลัก อีกทั้งรูปแบบการผลิตและการค้าจึงมุ่งก่อรูปจริยธรรมธุรกิจแบบ“สัมมาชีพ” โดยเข้าถึงคุณธรรมชีวิตกับสังคม ซึ่งแตกต่างจาก“เศรษฐกิจทุนนิยม”ที่หวังต่อกำไรสูงสุดของธุรกิจเป็นที่ตั้ง

เหนืออื่นใดแล้ว การส่งเสริม ผลักดัน ผลิตสร้าง“เกษตรกรรุ่นใหม่” จึงยึดกุมจุดเริ่มจากความมุ่งมั่นเอาจริงของตัวตน แล้วขยายโยงไปสู่องค์กรเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาวนาให้ได้ประโยชน์ทั้งแปรรูปและการค้าร่วมกัน ดังนั้นทางเดินตามเส้นชีวิตดุลยภาพของสังคมการผลิตเกษตรเช่นนี้ จึงแตกต่างสิ้นเชิงกับคนเมืองโหมประโคมผุดสร้าง“เกษตรกรวันหยุด” หรือให้ไฮโซผู้มีจะกินมาเป็น “ชาวนาในเทศกาลหยุดพักผ่อน” เพื่อสร้างภาพลักษณ์ “ชาวนามืออาชีพ” อันแตกต่างจาก “ชาวนาผู้ยึดอาชีพทำนา”

“มานพ แก้วโกย”ทั้งในภาพชีวิตครอบครัวและเครือข่ายธุรกิจการเกษตร ได้จัดวางตัวเองเป็นผู้สืบสาน ปรับตัว ยกระดับอาชีพชาวนา ซึ่งมีแต่ความจนเข้มข้นซ้ำซากไปสู่ระดับการผลิตชั้นกลางที่มีความหวังไต่เส้นรายได้พ้นปากท้องอดอยาก แต่ถึงที่สุดทุกการขยับปรับเปลี่ยนแบบวิถีการผลิต เขาไม่เคยบอกตัวเองว่า “เป็นมืออาชีพ” ดังนั้น เกษตรกรรุ่นใหม่จึงห่างไกลจากพวกชาวนาวันหยุดที่ย้ำเน้นบอกผู้มีอาชีพทำนาว่า ตัวเองเป็นมืออาชีพ

ดังนั้น ชีวิตและสิ่งที่เกิดขึ้นตามภาพลักษณ์ “เกษตรกรรุ่นใหม่”ของ “มานพ แก้วโกย” ย่อมสะท้อนถึงภาพหวังของชุมชนตามแบบวิถีเครือข่ายเศรษฐกิจชุมชนชาวนาได้ในชั้นจุลภาค แต่เชื่อว่า แนวทางเติมจริยธรรมชุมชนในช่วงแปรรูปและค้าขาย คงเป็นกรณีศึกษาถึงแนวทางยกระดับ ขยายงานผลิตสร้างสินค้าวัฒนธรรมเกษตรกรรมจนเกิดภาพถึงขั้นมหภาคขึ้นได้

“มานพ แก้วโกย” เป็นลูกชาวนาเลือดเนื้อเชื้อไขจังหวัดสุรินทร์ ดินแดนชาวนาปลูกข้าวหอมมะลิอันขึ้นชื่อ เขาฝันเป็นเถ้าแก่ตามระบบเศรษฐกิจชุมชนเพื่อตอบแทนสังคม หวังพลิกวิถีชีวิตชาวนาให้หลุดวังวนความยากจน ระดมทุนรวบรวมเครือข่ายชาวนาไทย ตั้งโรงสี แปรรูป หาตลาดขายผ่านแอพพลิเคชั่น แล้วส่งออก“ข้าวออร์แกนิค”ไปต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายความมุ่งมั่นเป็นภาพหวังที่ต้องการไปถึง หากหันดูชีวิตตั้งแต่เฝ้ามองพ่อ-แม่ทำนาปลูกข้าว ปากท้องคุ้นเคยกับความหิว เมื่อเติบใหญ่ได้ทุนมาศึกษาสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหาร ลาดกระบัง จนจบเป็นบัณฑิตคณะวิศวกรรมศาสตร์ แล้วย้อนกลับสู่บ้านเกิดไปเป็นเกษตรกรเดิมๆ

วันนี้ “มานพ แก้วโกย”อยู่ในวัย 30 ต้นๆ นั่นแปลความว่า หลังจบการศึกษาเขาใช้เวลาประมาณ 9 ปีปลุกปั้นภาพหวังลดทอนความจนให้ชาวนา ปรับเปลี่ยนชาวนาปลูกข้าวคุณภาพดี ต่อยอดเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ เน้นสร้างเครือข่ายเกษตรกรรมเป็นวิสาหกิจชุมชนเพื่อทำการตลาดไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง

ความมุ่งมั่นจะไปถึงผสมเครือข่ายเกษตรเอาด้วย พร้อมกับได้แรงส่งเสริมจากหน่วยงานรัฐช่วยเหลือเงินทุนแล้ว ในวันนี้ “มานพ แก้วโกย” เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง (CEO & Founder) บริษัทเนเจอร์ฟู้ด โปรดักส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด อีกทั้งเป็นประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ขวัญทุ่งกุลา ซึ่งได้รับรางวัลดีเด่นจากกระทรวงพาณิชย์เมื่อปี 2562

การก้าวมาถึงจุดนี้ และทางเดินทุกย่างก้าว เขาไม่ได้โดดเดี่ยวเดินคนเดียว แต่มีเครือข่ายย่ำไปที่ละก้าวเพื่อไปสู่ความหวังของชาวนา จากข้อมูลดิบบันทึกจากปากคำของเขา เปิดเผยว่า เขาเริ่มต้นด้วยทุน 4,000 บาท ส่งเสริมและรวมตัวสร้างเครือข่ายชาวนา เกษตรกร เริ่มรวมตัวขึ้นในบ้านเกิด จังหวัดสุรินทร์ แล้วขยายเป็น 8 จังหวัดมีสมาชิกกว่า 6,000 ครอบครัวกลายเป็นห่วงโซ่การผลิตเกษตรอินทรีย์ (Organic) ประกอบด้วย ตาก, ลำปาง, นครราชสีมา, นครสวรรค์, พิจิตร, เชียงราย โดยบริษัทรับซื้อผลผลิต พร้อมกับช่วยทำตลาดขายผ่านสมาชิก ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ยครอบครัวละ 57,032 บาทต่อปี เพิ่มเป็น 160,000 บาทต่อปี หรือเพิ่มขึ้น 280%

ขณะเดียวกันยังเข้าไปขยายผลิตภัณฑ์เพิ่มข้าวแปรรูป ได้มาจากงานวิจัยร่วมกันกับมหาวิทยาลัย ที่ค้นพบแอลคาร์เนทีน โปรตีนธรรมชาติที่อยู่ในข้าว มาต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์เทรนด์ สุขภาพ และไม่อ้วน ภายใต้ชื่อ “ข้าวหุ่นเพรียว”

ธุรกิจเติบโตมาเป็นลำดับ พร้อมได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อขยายกิจการเพิ่มกำลังการผลิต เริ่มต้นจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์เการเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อขยายโรงงานพัฒนาสินค้าแปรรูปใน จ.สุรินทร์ ล่าสุดได้รับเงินกู้ จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีดีแบงก์) วงเงิน 6 แสนบาทรวมถึง ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ปีที่แล้วให้กู้วงเงิน 1 ล้านบาท และเพิ่มวงเงินเป็น 4 ล้านบาท

ผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ ส่งออกไปแล้วใน 5 ประเทศ ประกอบด้วย จีน, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, สิงคโปร์, ออสเตรเลีย และสหรัฐ ปีหน้ายังมีแผนจะเข้าไปเจาะทำตลาดเพิ่มในสหภาพยุโรป โดยมีเป้าหมายการเติบโตที่ยอดขาดระดับ 100 ล้านบาท และคิดไปถึงตัวเลขการค้าในระดับแตะ 1,000 ล้านบาทเอาเสียด้วย

จุดเปลี่ยนที่สำคัญในการเติบโตนั้น “มานพ แก้วโกย” ให้ความสำคัญกับการทำตลาดออนไลน์ ในหลายช่องทางไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม สมัครเป็นสมาชิกบนเว็บไซต์ Thaitrade.com  ทำให้มีโอกาสติดต่อกับลูกค้าในต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงได้เข้าร่วมกิจกรรมของเว็บไซต์มาโดยตลอด ได้เข้าร่วมงานแสดงสินค้าอาหารแห่งเอเชีย ทำให้ใกล้ชิด สัมผัสกลุ่มลูกค้าต่างประเทศ จนมียอดสั่งซื้อจากสิงคโปร์และเยอรมัน

ดังนั้น บทบาทการเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่จึงอยู่ที่ การปรับตัวผลผลิตเกษตร มุ่งสู่การทำตลาดด้วยผลิตภัณฑ์เฉพาะ เน้นด้านสุขภาพ ต่อยอดด้วยช่องทางการสื่อสารเทคโนโลยี่สมัยใหม่มาช่วยเข้าถึงกลุ่มลูกค้า และที่สำคัญคือ การสร้างแล้วร่วมเดินไปกับเครือข่ายชาวนา ซึ่งผลประโยชน์ที่ออกดอกขึ้นชุมชนเกษตรกรรมจึงได้รับด้วย

ท่ามกลางโควิด-19 ระบาดรุนแรงทั่วโลก แน่ละย่อมกระทบกับสินค้าเครือข่ายเกษตรออร์แกนิค กลุ่มผลิตข้าวอินทรีย์ ข้าวโพดหวานราชินีทับทิมสยาม และกล้วย ถูกยกเลิกสัญญาซื้อจากต่างประเทศจำนวนมาก แต่โอกาสเกิดขึ้นเสมอในวิกฤต เพราะได้เปิดตลาดสัญาซื้อขายล่วงหน้ากับประเทศแถบยุโรปและตะวันออกกลาง จนมียอดสั่งซื้อเพิ่มขึ้น สามารถคลี่คลายธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพและปลอดภัยได้

จากบันทึกปากคำของ“มานพ แก้วโกย” ได้ระบุว่า เรามีความมุ่งมั่นตั้งใจผลิตข้าว อาหาร สินค้าเกษตรที่ดีที่สุด ปลอดภัยจากสารพิษสารเคมี เราไม่คาดหวังจะเป็นบรรษัทขนาดใหญ่ที่สุดในโลก แต่เราจะเป็นผู้ผลิตอาหารที่ดีที่สุดโลก

นอกจากนี้ เราจะไม่บิดเบือนระบบธรรมชาติของการผลิตอาหารไม่ว่าด้วยการดัดแปลงพันธุกรรม ใช้สารเร่ง หรือยาปฏิชีวนะ เพียงเพราะกระหายเงิน เพราะมันจะส่งผลเสียต่อสุขภาพของเกษตรกรและคนกิน

บันทึกปากคำเช่นนี้ ย่อมไม่ใช่สิ่งที่คนเมืองโหมโคมตัวเองเป็นชาวนาในวันหยุด หรือประกาศตัวเป็นชาวนามืออาชีพ แต่ปากคำของ “มานพ แก้วโกย” ในช่วงวัย 30 ปีต้นบ่งบอกถึงจริยธรรมแบบคนพอเพียง มีสัมมาชีพแบบวิถีวัฒนธรรมชุมชนเกษตรกรรุ่นใหม่

“ต้องการให้ชาวนาและเครือข่ายเกษตรกรไทยลุกขึ้นมาต่อสู้กับความยากจน เพราะจำฝังใจตั้งแต่เด็กผลผลิตข้าวดีมากแต่ถึงเวลาขายให้พ่อค้าคนกลางกลับขายได้ราคาต่ำ จึงเกิดเป็นอุดมการณ์ไปพัฒนาโมเดลธุรกิจให้กับเกษตรกรในชุมชนเพื่อผลักดันรายได้เกษตรกรให้สูงขึ้น” มานพ แก้วโกย ให้ปากคำและถูกสื่อบันทึกอุดมการณ์ไว้ และความมุ่งมั่นเช่นนี้ยังมีอีกหลายเกษตรกรรุ่นใหม่ในไทย

 

ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพผ่านทางเพจเฟสบุ๊คมูลนิธิสัมมาชีพ

https://www.facebook.com/sammachiv

Back To Top