skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
วัคซีนโควิดฉีดคนไทย (ตอน 3 จบ) ซิโนแวค : ประสิทธิภาพกับความปลอดภัย?
Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

วัคซีนโควิดฉีดคนไทย (ตอน 3 จบ) ซิโนแวค : ประสิทธิภาพกับความปลอดภัย?

วัคซีนโควิดฉีดคนไทย (ตอน 3 จบ) ซิโนแวค : ประสิทธิภาพกับความปลอดภัย?

 

     ฮือฮาอย่างตื่นตระหนกกับวัคซีนซิโนแวคของจีนจากผลทดสอบจากประเทศบราซิลในระยะที่ 3 ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายสำหรับตัดสินใจนำมาใช้กับมนุษย์ว่า มีประสิทธิภาพเพียง 50.4% เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานรับรองขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่กำหนดไว้ 50% สะท้อนถึงการผ่านมาตรฐานแบบเส้นยาแดงผ่าแปด อะไรแบบนั้น

 

     อย่างไรก็ตาม ถ้านำผลการทดสอบจาก 3 ประเทศที่เป็นหุ้นส่วนการวิจัยและการผลิตวัคซีนซิโนแวค คือ บราซิล ตุรกี และอินโดนีเซีย พบว่ามีประสิทธิภาพแตกต่างกันลิบลับ โดยความแตกต่างกันนั่นย่อมแสดงถึงการป้องกันเชื้อโควิดขาดความมีเสถียรต่อการสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโควิดแพร่ระบาด

 

     ก่อนหน้านี้ เมื่อธันวาคม 2563 ตุรกีเปิดเผยผลทดสอบระยะที่ 3 ว่า ซิโนแวคมีประสิทธิภาพ 91.25% จากผู้ทดสอบจำนวน 1,322 คน โดย 752 คน ได้รับวัคซีนจริง และอีก 570 คนได้ยาหลอกๆ ส่วนองค์กรอาหารและยาของประเทศอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ผลการทดสอบซิโนแวคมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 65.3% และอินโดนีเซียอนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินแล้ว เนื่องจากเร่งด่วนเพื่อป้องกันการระบาดของเชื้อโควิดมีจำนวนเพิ่มขึ้น

 

     และแล้วสถาบันบูตันตันของบราซิลเปิดเผยการทดสอบขั้นสุดท้ายเมื่อ 12 มกราคมที่ผ่านมาว่า มีประสิทธิภาพเพียง 50.4% จึงเกิดเสียงกังวลวิจารณ์อย่างแตกตื่นกับการใช้วัคซีนซิโนแวคมาฉีดป้องกันโควิดให้กับคนไทย เพราะมีประสิทธิภาพน้อยมากเมื่อเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดอื่นจากสหรัฐและยุโรปที่มีระดับสูงกว่า 90% ทั้งสิ้น

 

ประสิทธิภาพกับความปลอดภัย

     ในการประเมินว่าวัคซีนชนิดใด “ดีมากหรือดีน้อย”นั้น มีหลักบ่งบอกสำคัญ 2 ด้านของการวิจัยทดสอบคือ ประสิทธิภาพการป้องกันโรค และความปลอดภัยกับมนุษย์ที่ได้รับการฉีด แต่ถึงที่สุดแล้ว หลักการวิจัยทางการแพทย์มักเน้นด้านความปลอดภัยมาก่อนประสิทธิภาพ ทั้งนี้เพื่อป้องกันและลดผลกระทบข้างเคียงกับมนุษย์

 

     ด้วยหลักความปลอดภัยต่อชีวิตแล้ว วัคซีนทุกชนิดจึงควรผ่านกระบวนการทดสอบถึง 3-4 ระยะเสมอ เพื่อให้มั่นใจว่า เมื่อมนุษย์ทุกกลุ่มฉีดแล้วไม่มีใครเสียชีวิต ดังนั้น การประเมินประสิทธิภาพของวัคซีนมีสูง หรือ ต่ำ หรือเกินมาตรฐานมากน้อยเพียงใด จึงอาจไม่เป็นธรรมนักหากพิจารณาในเชิงความปลอดภัยของมนุษย์

 

     ที่ว่าไม่เป็นธรรมนั้น เพราะวัคซีนที่มีประสิทธิภาพน้อย ถ้าฉีดแล้วไม่มีใครเสียชีวิต ย่อมเป็นวัคซีนที่ดีกว่าวัคซีนที่มีประสิทธิภาพมากแต่อาจทำให้คนบางคนตาย เนื่องจากวัคซีนประสิทธิภาพสูงมักเน้น “ยาแรง” โอกาสผลข้างเคียงจึงมีมาก ส่วนวัคซีนประสิทธิภาพต่ำคือให้“ยาเบา” ผลที่ตามมาโดยทั่วไปแล้ว มักจะมีผลข้างเคียงต่ำ จึงเป็นวัคซีนที่ดีและให้ความปลอดภัยกับมนุษย์

 

     ดังนั้น เมื่อเปรียบเทียบวัคซีนซิโนแวคของจีนในด้านประสิทธิภาพกับวัคซีนไฟเซอร์และโมเดอร์นาแล้ว คงประเมินได้ว่า ซิโนแวคมีประสิทธิภาพ 50-60% คงไม่น่ากังวลเท่าใดนัก เนื่องจากอยู่ตามเกณฑ์มาตรฐานของ WHO กำหนดไว้แค่ 50% สามารถใช้ได้ แต่สิ่งน่าสนใจคือการเปรียบเทียบในด้านความปลอดภัยกับมนุษย์ว่า ฉีดแล้วเกิดผลข้างเคียงมากน้อยเพียงใด

 

     แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า วัคซีนมีความปลอดภัยกับมนุษย์ในวงกว้าง หรือกล่าวให้ชัดเจนคือเมื่อฉีดแล้วมีผลข้างเคียงต่ำและไม่เสียชีวิต ในเบื้องต้นนั้นจึงอยู่ที่การพิจารณาข้อมูลของวัคซีนนั้นๆว่า ได้เปิดเผยต่อสาธารณะมากหรือน้อย และสังคมได้เข้าถึงแค่ไหน เพราะถ้าเปิดเผยมากย่อมทำให้เกิดความเชื่อมั่นในความ“ปลอดภัย”กว่าวัคซีนที่ให้ข้อมูลเล็กน้อย แถมเป็นข้อมูลไม่ชัดเจนเอาเสียอีก

 

ความกังวลอันคลุมเครือ

     จากผลการทดสอบระยะที่ 3 ของ 3 ประเทศ คือ บราซิล ตุรกี และอินโดนีเซียนั้น แม้ผลด้านประสิทธิภาพมีความแตกต่างกันของแต่ละประเทศ แต่สิ่งที่ตรงกันคือ ทุกประเทศไม่เปิดเผยข้อมูลที่เพียงพอเพื่อให้พิจารณาถึงความปลอดภัยกับมนุษย์

 

     ดังนั้นความกังขาจึงพุ่งเป้าไปที่บริษัทจีนผู้ผลิตซิโนแวคว่า ไม่เปิดเผยข้อมูลให้สาธารณะรับรู้ทั้งหมดอย่างโปร่งใส ชนิดไม่ต้องต้องมีความคลุมเครือหรือเกิดความกังขาใดในการตัดสินใจสั่งซื้อมาฉีดให้ประชาชนของแต่ละประเทศ

 

     อีกทั้ง หลังบราซิลเปิดเผยผลดารทดสอบระยะที่ 3 แล้ว สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานและเฟซบุ๊คDoungchampa Spencer-Isenberg ถอดความคำสัมภาษณ์แพทย์หญิง Denise Garrett ซึ่งเป็นนักระบาดวิทยา ผู้ทำงานมากว่า 23 ปี ในศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (U.S. Centers for Disease Control and Prevention – CDC) กล่าวว่า “มันไม่มีความชัดเจนหรือความโปร่งใสเลย พวกเขาแสดงให้เห็นผลของข้อมูลระดับรองลงมา ต่อการป้องกันเคสที่มีความรุนแรงต่ำ, ความรุนแรงมาก และเคสที่ต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล แต่ไม่ได้เห็นถึงประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโรคได้”

 

     ความสงสัยต่อการไม่เปิดเผยข้อมูลของวัคซีนซิโนแวคต่อสาธารณะนั้น เรียกได้ว่า สื่อระดับใหญ่และสื่อไทยล้วนรายงานตรงกัน โดยเฉพาะแถบยุโรปได้กังขากับความโปร่งใสดังกล่าว จึงส่งผลไม่มีประเทศใดตัดสินใจซื้อวัคซีนซิโนแวคไปฉีดให้ประชาชน

 

     ไม่เพียงเท่านั้น ในประเทศเอเซีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ล้วนไม่ตัดสินใจเลือกใช้วัคซีนซิโนแวคด้วยเหตุผลเชิงข้อมูลที่คลุมเครือต่อสาธารณะ และประเทศเหล่านี้ได้สั่งซื้อวัคซีนจากสหรัฐและยุโรปมาฉีดให้ประชาชนของตนเอง ยกเว้นอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว กัมพูชา ซึ่งอ้างความจำเป็นเร่งด่วนของโควิดระบาดจึงนำมาใช้ในกรณีฉุกเฉิน

 

     นั่นอาจรวมความเร่งด่วนและฉุกเฉินของไทยด้วยเช่นกัน จึงสั่งซื้อจำนวน 2 ล้านโดส วงเงิน 1,228 ล้านบาท โดยแบ่งทยอยมาเป็น 2 แสนโดสแรกจะได้รับในกุมภาพันธ์ 2564 อีก 8 แสนโดสหลังจะได้รับในเดือนมีนาคม 2564 และปลายเดือนเมษายน อีก 1 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนครอบคลุมได้เพียง 1 ล้านคน

 

ท่าทีไทยเดินหน้าฉีดวัคซีน

     ท่ามกลางความกังวลของประสิทธิภาพวัคซีนซิโนแวคมีเพียง 50.4% แต่รัฐบาลและกระทรวงสาธารณะสุขยังยืนยันท่าทีจะนำมาฉีดให้คนไทยได้มีภูมิคุ้มกันป้องกันเชื้อโควิดระบาดตามเดิม ไม่มีอะไรต้องเปลี่ยนแปลง

 

     พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่แสดงความเห็นตรงๆกับประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนซีน แต่ย้ำถี่เสมอว่า วัคซีนทุกชนิดต้องผ่านการรับรองของคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงสามารถใช้ได้

 

     ส่วน อย.กำหนดมาตรฐานรับรองอย่างไรนั้น นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. แถลงผ่านเอกสารเผยแพร่วันที่ 12 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า มีบริษัทมายื่นขอขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิดจำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และวัคซีนของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้รับอนุญาตในการขึ้นทะเบียน

 

     ส่วนความกังวลของคนไทยนั้น นพ.ณรงค์ สายวงศ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข ออกมาปลอบว่า ขอประชาชนไม่ตระหนก เพราะกระทรวงสาธารณสุขได้ประสานขอข้อมูลจากซิโนแวคเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาแล้ว

 

     จากท่าทีดังกล่าว คาดกันว่า รัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขไม่วิตกกับผลการทดสอบวัคซีนซิโนแวคที่มีประสิทธิภาพเพียง 50.4% เพราะเท่ากับยึดมั่นอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานของ WHO กำหนดแค่ 50% และในด้านหลักนั้น ได้คำนึงถึงการฉีดวัคซีนโควิดครั้งแรกในคนไทยต้องมีความปลอดภัยเป็นด้านหลัก กล่าวคือ วัคซีนที่ฉีดต้องเกิดผลข้างเคียงขั้นต่ำหรือน้อยมากกับประชาชน

 

     ดังนั้น การตอกย้ำขอคนไทยอย่าได้ตื่นตระหนกกับเกณฑ์ประสิทธิภาพเชิงเปรียบเทียบกับวัคซีนของสหรัฐและยุโรป อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขกลับไม่เปิดเผยข้อมูลเชิงลึกของการทดสอบเพื่อแสดงถึงความปลอดภัยของคนไทยให้รับรู้อย่างชัดเจน โดยมีเพียงการปลอบใจแบบตัดบทว่า จะประสานขอข้อมูลจากซิโนแวคเพิ่มเติม

     อย่างไรก็ตาม การยืนยันความปลอดภัยของ นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า วัคซีนจากซิโนแวคเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายแบบดั้งเดิม มีความปลอดภัยสูง หลังฉีดยังไม่พบผลข้างเคียงรุนแรง และคาดว่าจะได้รับการขึ้นทะเบียนในประเทศจีนเร็ว ๆ นี้ เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน

 

     แม้ข้อมูลนำมาอธิบายให้คนไทยคลายกังวลกับความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนครั้งแรกยังคลุมเครือ แต่การสร้างเชื่อมั่นให้ประชาชนหายกังวลกลับสะท้อนออกในเชิงการเมืองอีกส่วนหนึ่ง โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข ที่จะรับอาสาขอรับการฉีดวัคซีนเป็นคนแรก

 

     การอาสาของนายอนุทิน นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นในคนไทยได้หายกังวล แต่คงลดความตื่นตระหนกลงได้ไม่มากเท่าใดนัก เนื่องจากผู้นำประเทศและนักการเมืองคนอื่นๆ ยังเงียบเฉยอยู่

 

     ดังนั้นเสียงวิจารณ์ประสิทธิภาพต่ำของวัคซีน ยังลากโยงไปฉุดดึงให้ความปลอดภัยของวัคซีนทรุดต่ำลงเป็นเงาตามตัว ซึ่งเท่ากับความเชื่อในสังคมมีข้อสรุปแคบๆว่า ผลวัคซีนมีประสิทธิภาพสูงย่อมทำให้เกิดความปลอดภัยสูงกับมนุษย์ด้วย

 

     แต่ในความเป็นจริงแล้วความปลอดภัยจากการฉีดวัคซีนนั้น การวิจัยให้น้ำหนักกับผลข้างเคียงที่มนุษย์ได้รับ และความปลอดภัยสูงไม่จำเป็นต้องมาจากวัคซีนประสิทธิภาพสูงเสมอไป

Back To Top