skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ผ่างบแสนล้านฟื้น ศก.ฐานราก จ้างงานชุมชนเข้มแข็ง
Bottles of cash with coins in saving money concept

ผ่างบแสนล้านฟื้น ศก.ฐานราก จ้างงานชุมชนเข้มแข็ง

ผ่างบแสนล้านฟื้น ศก.ฐานราก
จ้างงานชุมชนเข้มแข็ง

       ล็อตแรกของเงินกู้ในส่วนการฟื้นฟูเศรษฐกิจวงเงิน 4 แสนล้านบาท คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติประเดิมแล้วเมื่อ 8 ก.ค. 2563 จำนวน 1.55 หมื่นล้านบาทจาก 5 โครงการฐานราก ซึ่งเน้นการจ้างงาน สร้างอาชีพ และให้ความรู้ประชาชนเพื่อสร้างเศรษฐกิจฐานราก

        ทั้งนี้ 5 โครงการได้รับเงินก้อนแรก ส่วนใหญ่เป็นโครงการเน้นการสร้างงาน ฟื้นฟูรายได้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับชุมชนตามแผนงานพัฒนาเศรษฐกิจแนวทางทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียงที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ยึดเป็นแกนกลางนโยบายพัฒนาประเทศมาตลอด 7 ปีการบริหารประเทศตั้งแต่ยึดอำนาจเมื่อปี 2557 จนถึงปัจจุบัน

ครม.นำร่องงบฟื้นชุมชน

โครงการทั้ง 5 ที่ ครม.นำร่องการฟื้นฟูเศรษกิจ ได้กระจายไป 4 กระทรวงหลัก ประกอบด้วย

      1.โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่ม เกษตรทฤษฎีใหม่ เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,805 ล้านบาท เป็นการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำเพื่อการเกษตร ระยะเวลาการดำเนินการ 15 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค.2563 – ก.ย.2564

      มีเป้าหมายในการเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร 32,072 ราย เพิ่มการจ้างงานเกษตรกรทั่วประเทศไม่น้อยกว่า 3,463.7 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ดำเนินการใน 4,009 ตำบลทั่วประเทศ จะมีการอบรมเกษตรกรในพื้นที่แต่ละตำบลรวม 64,144 ราย ซึ่งเกษตรกรแต่ละรายจะใช้พื้นที่เพาะปลูกทำเกษตรทฤษฎีใหม่คนละ 3 ไร่รวมเป็นพื้นที่ 192,432ไร่

      โครงการนี้จะช่วยให้เกษตรกรสามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีรายได้ที่ดีขึ้น ช่วยเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร พัฒนาความมั่นคงน้ำและการเกษตร ช่วยเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำฝน และเพิ่มพื้นที่ป่าปลูกใหม่ และมีพื้นที่ต้นแบบเพื่อการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ให้กับเกษตรกรที่มีความสนใจนำทฤษฎีนี้ไปประยุกต์ใช้

       กระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า โครงการนี้จะช่วยบรรเทาปัญหาการว่างาน ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานภาคเกษตรกรรมไปสู่ภาคอื่นๆและสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนในท้องถิ่นช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจระยะสั้น และช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ทำให้เกษตรกรสามารถเลี้ยงตนเองสร้างรายได้ให้กับครับครัวได้อย่างพอเพียงและยั่งยืนได้

      2.โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์ “โคก หนอง นา โมเดล” เสนอโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,787 ล้านบาท จะเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร และประชาชน 25,179 ครัวเรือน/เพิ่มการจ้างงานเกษตรกร 6,492 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 25,759 ไร่

     3.โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ย เพื่อชุมชน เสนอโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 169.88 ล้านบาท จะเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและ ปุ๋ยเพื่อชุมชน 2,364 คน/ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจต่างๆไม่น้อยกว่า 20% หรือ 18,000 ตัน โดยสร้างมูลค่าเพิ่มได้อีก 253 ล้านบาท

      4.โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับ นักท่องเที่ยว (safety zone) เสนอโดยกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท ดำเนินการ 5 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเมืองเก่าน่าน หาดบางแสน จ.ชลบุรี เอเชียทีค ชุมชนบ้านไร่กองขิง เชียงใหม่ และเยาวราช มีเป้าหมายสร้างต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยว กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจฐานราก

      5.โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า เสนอโดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วงเงินรวม 741.5 ล้านบาท เพื่อปรับปรุงและยกระดับสถานที่ท่องเที่ยวเชิงคุณภาพของอุทยานแห่งชาติ ช่วยจ้างงานในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 1,250 คน โดยพัฒนาให้เป็นมัคคุเทศก์ท้องถิ่นสร้างผู้ประกอบการก่อสร้างในท้องถิ่นจำนวน 125 ราย

      ถ้าพิจารณาเชิงปริมาณโครงการแล้ว งบก้อนแรกนั้นมีน้อยนิดเมื่อเปรียบเทียบกับโครงการทั้งหมด 186 โครงการวงเงิน 9.24 หมื่นล้านบาทที่เสนอตั้งแท่นให้ ครม.อนุมัติเมื่อ 8 ก.ค. 2563 แต่ น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า โครงการที่เหลือจะทยอยอนุมัติในที่ประชุม ครม.ครั้งถัดไป

กรอบหลักฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานราก

      พล.อ.ประยุทธ์ เปิดเผยว่า ที่ประชุม ครม. อนุมัติหลักการ โครงการในระยะที่ 1 ในเรื่องของการใช้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม วงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยจะเน้นหนักด้านการเกษตร และส่วนที่ได้รับความเดือดร้อนมากที่สุดก่อน เพื่อสร้างความเข้มแข็งภาคประชาชน

       สำหรับระยะที่ 2 มีอีก 300,000 ล้านบาท จะนำมาทยอยเสนอ ครม.ต่อไป สิ่งสำคัญสุดคือต้องทำให้เกิดการจ้างงาน เนื่องจากบางธุรกิจ ไม่สามารถประกอบกิจการได้ สินค้าส่งออกไม่ได้ เพราะความต้องการจากต่างประเทศ โดยจะใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รวมถึงต้องระมัดระวังการตรวจสอบจากภาคประชาชน และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตภาครัฐ (ป.ป.ท.) ด้วย

      อย่างไรก็ตาม งบ 100,000 ล้านบาทที่ ครม.ตั้งเป้าให้ไปสู่ชุมชนเศรษฐกิจฐานรากเพื่อประคับประคองความเดือดร้อนของชุมชนนั้น ไม่ได้มีเพียง 5 โครงการการที่ผ่านการอนุมัติเท่านั้น เมื่อตรวจสอบจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หน่วยงานหลักในการกลั่นกรองโครงการ พบว่า อนุมัติหลักการ  196 โครงการ กรอบวงเงิน 94,069 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน ได้แก่ แผนงานสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานรากวงเงิน 51,328.68 ล้านบาท แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนวงเงิน 20,340.43 ล้านบาท และโครงการแผนงานกระตุ้นการอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว วงเงิน 22,400 ล้านบาท

      เมื่อลงลึกแต่ละแผนงานแล้ว ภาพรวมการเสนอโครงการจะไหลงบประมาณไปสู่พื้นที่ชุมชนได้อย่างน่าสนใจ คือ ในแผนงานสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก ประกอบด้วย 111 โครงการ ซึ่งผ่านการกลั่นกรองแล้ว คือ การสร้างงาน สร้างอาชีพ 72 โครงการ วงเงิน 5,301,687,700 บาท งานเกษตรทฤษฎีใหม่เพื่อให้พึ่งพาตนเอง 13 โครงการวงเงิน 14,650,113,800 บาท งานตามความต้องการของชุมชน (กองทุนหมู่บ้าน) 1 โครงการวงเงิน 15,920,800,000 บาท โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล 15 โครงการวงเงิน 13,590,428,919 บาท งานอุตสาหกรรมเศรษฐกิจฐานราก 3 โครงการ วงเงิน 1,840,000,000 บาท และงานโลจิสติกส์ และ Digital Platform เพื่อเชื่อมโยงชุมชนกับตลาด 7 โครงการวงเงิน 25,651,105 บาท

     ส่วนแผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืนมี 83 โครงการ ประกอบด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ/BCG จำนวน 13 โครงการวงเงิน 1,966,041,900 บาท งานเกษตรแปลงใหญ่ และเกษตรสมัยใหม่ 49 โครงการวงเงิน 16,110,167,070 บาท และงานท่องเที่ยวเน้นคุณภาพ 21 โครงการวงเงิน 2,264,221,449 บาท รวมทั้ง แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว ประกอบด้วยโครงการ 2 โครงการ คือ แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยววงเงิน 22,400,000,000 บาท

กองทุนหมู่บ้านเงินหมุนจ้างงาน

      หากแยกหน่วยงานที่เสนอแล้ว ความน่าสนใจของโครงการที่ตอบสนองชุมชนและพัฒนาคนโดยตรงคงเป็นสำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง หรือ กทบ. ซึ่งมีหมด 79,000 กองทุน เสนอของบไป 40,000 ล้านบาท แบ่งเป็น วงเงิน 10,000 ล้านบาทแรกใช้จ้างนักศึกษา หรือผู้ที่เป็นลูกหลานของสมาชิกกองทุน สำรวจข้อมูลเบื้องต้นว่า สมาชิกกองทุนหมู่บ้านมีอาชีพอะไร ความเป็นอยู่และมีสภาพพื้นที่เป็นอย่างไร

      สำหรับกรอบเวลาในการจ้างนักศึกษา เบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน ซึ่งงบประมาณ 10,000 ล้านบาทดังกล่าว เป็นค่าแรงสำรวจข้อมูล ทั้งนักศึกษาหรือลูกหลานกองทุน 3 คนต่อหมู่บ้าน อัตราค่าจ้าง 14,000 บาทต่อคน ต่อเดือน เมื่อสำรวจข้อมูลครบเรียบร้อยแล้ว จึงจะกำหนดแผน พัฒนาชุมชนแต่ละหมู่บ้าน

      ขณะที่วงเงิน 30,000 ล้านบาทที่เหลือ จะใช้ในการจัดสรรเท่าๆ กันทั้ง 79,000 หมู่บ้าน เพื่อนำไปใช้พัฒนาตามความเหมาะสมของพื้นที่ โดยแต่ละหมู่บ้านควรได้รับโอกาสเท่ากัน ตาม 5 แผน คือ แผนการสร้างรายได้ แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ แผนท่องเที่ยวชุมชน แผนการค้าออนไลน์ และแผนขนส่งชุมชน

      นอกจากนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ได้เสนอแผนการใช้เงิน แบ่งเป็น แผนท่องเที่ยวชุมชนยั่งยืน 800 ล้านบาท และ แผนฟื้นฟูท่องเที่ยวเร่งด่วน 400 ล้านบาท รวม 1,200 ล้านบาท เพราะต้องการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวในระยะยาว และ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวคนไทย ที่น่าจะเพิ่มขึ้น หลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการเที่ยวปันสุข

     อย่างไรก็ตาม จังหวัดที่อยู่ในความดูแลพิเศษของ อพท.ที่เน้นท่องเที่ยวประสานฟื้นฟูชุมชน มี 6 จังหวัด ได้แก่ ตราด ชลบุรี สุโขทัย กำแพงเพชร เลย และน่าน ซึ่ง อพท. ได้ประสานกับโรงแรมต่างๆ ในพื้นที่ เพื่อให้ชุมชนได้ประโยชน์จากโครงการด้วย

     รวมทั้ง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังเสนอโครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 20,400 ล้านบาท, โครงการ 1 หมู่บ้าน 1 จุดเรียนรู้ตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่ 19,387 ล้านบาท, โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 14,315 ล้านบาท โครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร ขนาดมากกว่า 2 ล้านลูกบาศก์เมตร 13,423 ล้านบาท และโครงการผลิตพันธุ์ดีและปัจจัยการผลิต (เมล็ดพันธุ์ ท่อนพันธุ์ เนื้อเยื่อ พันธุ์ปศุสัตว์ พันธุ์สัตว์น้ำ ไข่ไหมพันธุ์ดี) 12,045 ล้านบาท

     เมื่อ 8 ก.ค. 2563 ครม.มีมติอนุมัติเพียง 5 โครงการจากที่ตั้งแท่นให้พิจารณา 186 โครงการ ดังนั้น การประชุม ครม. ครั้งถัดไปคงมีมติทยอยโครงการฟื้นฟูชุมชนออกมาเป็นระยะจนครบงบ 100,000 ล้านบาทตามกรอบที่ตั้งไว้ จะเห็นได้ว่ามีความพยายามของรัฐบาลในการสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากโดยเร่งด่วนผ่านโครงการต่างๆที่ดำเนินการโดยกระทรวง กรมและส่วนราชการอื่นๆ ที่เป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก ขณะที่ชุมชนเป้าหมายอยู่ปลายล่างสุดของกระบวนการฟื้นฟู สิ่งที่เป็นความกังวลก็คือ ในการวางโครงการต่างๆมีความสอดคล้องกับปัญหาเศรษฐกิจชุมชนแค่ไหน เพียงใด วิสาหกิจชุมชนและชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการให้ข้อมูล ในการวางแผนและมีบทบาทในการขับเคลื่อนงานแค่ไหน เพียงใด 

     เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่วิสาหกิจชุมชนและชุมชนท้องถิ่นต่างๆต้องเข้าไปมีบทบาทในเรื่องต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น เพื่อให้งานฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากเกิดขึ้นอย่างแท้จริง เป็นจุดเริ่มต้นใหม่หลังสถานการณ์โควิด ซึ่งทุกพื้นที่ท้องถิ่นควรตระหนัก ในจุดแข็งของตนเอง และมุ่งไปพัฒนาจุดนั้นให้เป็นฐานแข็งแกร่งของเศรษฐกิจฐานรากต่อไป

Back To Top