skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
เล่าประสบการณ์ปั้น“Local Alike จาก”ท่องเที่ยวโดยชุมชน”สู่ธุรกิจที่ยังยืน

เล่าประสบการณ์ปั้น“Local Alike จาก”ท่องเที่ยวโดยชุมชน”สู่ธุรกิจที่ยังยืน

เล่าประสบการณ์ปั้นLocal Alike
จาก”ท่องเที่ยวโดยชุมชน”สู่ธุรกิจที่ยังยืน

 

         เมื่อวันเสาร์ที่ 28 กันยายน 2562 ”ไผ”สมศักดิ์ บุญคำ” ผู้ก่อตั้ง ”Local Alike” ให้เกียรติมาเป็นวิทยากรในการอบรม”หลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง”รุ่นที่ 10 จัดโดยมูลนิธิสัมมาชีพ มีสาระน่าสนใจดังนี้

         สมศักดิ์ บุญคำ ผู้ก่อตั้ง”Local Alike”  เริ่มต้นด้วยการเล่าเรื่องราวชีวิตในวัยเด็กว่ามียากจนมากๆพ่อแม่ต้องออกจากบ้านมามาขายแรงงานเจอหน้าพ่อแม่ครั้งแรกก็ตอนอายุ8ขวบ แต่ความจนทำให้เขามีความอดทน มุ่งมั่นในการเรียนอย่างมากเพราะแม่สอนว่าการศึกษาจะทำให้หนีจากความยากจนได้ด้วยการจบปริญญาตรีจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม สาขาวิชาปิโตรเคมี และวัสดุโพลีเมอร์ ศิลปากร หลังจากจบใหม่ๆ ก็ไปทำงานที่เยอรมนี เป็นเวลาหนึ่งปี จากนั้นจึงย้ายกลับมาประจำโรงงานในเมืองไทย ตำแห่งหัวหน้าฝ่ายผลิตต่ออีก 3 ปี

         จุดพลิกผันในชีวิตคงเป็นช่วงที่เขาขอลางาน2เดือนจึงไปท่องเที่ยวหลายๆที่ได้เห็นวิถีชีวิต วัฒนธรรม ความเป็นอยู่อย่างยากลำบากของชาวบ้านทั้งไทยและต่างประเทศ จุดประกายความคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะช่วยคนพวกนี้ได้อีกทั้งเคยศึกษาโมเดล “ธนาคารเพื่อคนจน” ของ”ยูนูส” จึงอยากทำงาน “กิจการเพื่อสังคม”  เลยตัดสินใจไปเรียนต่อระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจแบบยั่งยืน ที่สหรัฐอเมริกา

        กลับมาเข้าฝึกงานกับมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง งานที่เลือกทำตอนนั้น คือ พัฒนาธุรกิจโฮมสเตย์ให้กับชาวเขาซึ่งเป็นจุดเริ่มการทำงานในองค์กรเพื่อสังคมหลังจากนั้นก็ได้รับการบรรจุเข้าทำงานหาประสบการณ์ ใช้เวลาหนึ่งปีเต็มในมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง กระทั่งมั่นใจว่า ธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ในแบบของเขา น่าจะเริ่มต้นได้แล้วจึงเลือกทำธุรกิจเพื่อสังคมเกี่ยวกับการท่องเที่ยว เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ตอนนั้นการท่องเที่ยวโดยชุมชนถูกใช้ในมุมมองของการพัฒนา แต่การตลาดยังเข้าไม่ถึง ด้วยทักษะที่ตัวเองมี คิดว่าน่าจะช่วยท่องเที่ยวชุมชนให้เข้าถึงตลาดจริงๆ

       สมศักดิ์เล่าว่าการท่องเที่ยวในแบบของ Local  Alike คือ การจัดทัวร์ที่ประสานความร่วมมือให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในการออกแบบทริปและนำเที่ยวเองภายในแต่ละชุมชน มุ่งเป้าไปที่กลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งแบบองค์กรและแบบส่วนตัวที่แสวงหาประสบการณ์คุณภาพจากการท่องเที่ยวในเชิงวัฒนธรรมและวิถีชีวิต

       นี่คือ นิยามของกิจการธุรกิจท่องเที่ยวแนวใหม่ ภายใต้ชื่อ Local Alike  ช่วงสองปีแรก จะยังเป็นแบบ “ออฟไลน์” โดยตัวเขาลงพื้นที่ศึกษาชุมชนหาข้อมูลในประเด็นต่างๆ เช่น เหตุใดประโยชน์จากการท่องเที่ยวถึงตกไปถึงชุมชนน้อยมาก การท่องเที่ยวกระแสหลักบ้านเราเป็นอย่างไร ฯลฯ เพื่อจะได้เข้าใจบริบทตลาดและชุมชนไปพร้อมกัน

        ย่างเข้าปีที่สามส่งแผนธุรกิจเข้าประกวด ในฐานะที่เป็น”มาร์เก็ต เพลซ”ซึ่งเป็นสตาร์ตอัพ โดยมีกองทุนท่องเที่ยวให้ชาวบ้านนำเงินไปแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมในชุมชนของเขาในที่สุดก็ได้รับการสนับสนุนเป็นเงินทุนก้อนโต ถึงแม้จะใช้เม็ดเงินตั้งต้นทำธุรกิจจำนวนไม่น้อย แต่เขาสามารถนำพาธุรกิจเพื่อสังคมนี้ เข้าสู่ภาวะคืนทุนได้ตั้งแต่เมื่อสองปีที่แล้ว

        หลายคนอาจมองการท่องเที่ยวชุมชนแบบยั่งยืนนั้นเป็น”ตลาดเฉพาะกลุ่ม”หรือ”นิชมาร์เก็ต” แต่มีมูลค่าเป็นหลายร้อยล้านบาท จากจุดเริ่ม หมู่บ้านหล่อโยเชียงราย ชุมชนแรก ที่Local Alike เข้าไปร่วมคิด ร่วมพัฒนา จนปัจจุบันสามารถดูแลตัวเองได้แล้ว

        สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นลูกค้า แบ่งออกเป็น 3 ตลาด   คือ หนึ่ง ลูกค้าคนไทยเน้นกลุ่มลูกค้าองค์กร ปัจจุบันมีลูกค้าประจำอยู่ราว 45 บริษัทชั้นนำ สอง ตลาดเอเชีย มีทั้งรายบุคคล รายกลุ่ม  สิงคโปร์ มาเลเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฮ่องกง ที่เข้าใจการท่องเที่ยวแนวนี้ และ สาม ตลาดสหรัฐอเมริกา ยุโรป ซึ่งเน้น เป็นรายบุคคล ส่วนใหญ่ติดต่อมาทางผ่านเว็บไซต์

       อะไรที่ถือว่าเป็นความสำเร็จนั้น “สมศักดิ์” เล่าว่าLocal Alike มุ่งพัฒนา และต่อยอดองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น ผ่านการใช้การท่องเที่ยวโดยชุมชนเป็นเครื่องมือ

       “Local Alike ทำธุรกิจที่เป็น fair trade และให้ความใส่ใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติการทำงานของเราคือการพัฒนาชุมชนเข้าสู่การท่องเที่ยว มุ่งเน้นว่าจะป้องกัน และส่งเสริมอย่างไรให้ชุมชนอยู่รอดอย่างยั่งยืน โดย จะเป็น facilitator ที่ช่วยเพิ่มมูลค่า และคุณค่าให้กับการท่องเที่ยวของชุมชนมากขึ้น

     “ตอนนี้เราทำงานกับ 100 กว่าหมู่บ้าน ใน 40 จังหวัด ซึ่งการจัดการที่ดี และคนที่มีศักยภาพถือเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็ง”สมศักดิ์เล่าอย่างได้อรรถรส

        สำหรับธุรกิจของ Local Alike มี 3 BU และ 1 core function ได้แก่ หนึ่ง Community Development Solution สร้างองค์ความรู้ด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งให้ชุมชนพัฒนาทักษะต่าง ๆ ที่จำเป็น สร้างเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนที่มีเอกลักษณ์ชุมชน และพัฒนาโครงการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ตลาดท่องเที่ยวยุคใหม่

       สอง Co-created Journey สร้างสรรค์เส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนให้ตรงความต้องการของลูกค้า และออกแบบเส้นทางการท่องเที่ยวโดยชุมชนตามความต้องการของนักท่องเที่ยว

      สาม Local Alike Community Fund จัดตั้งกองทุนชุมชน พร้อมเชื่อมต่อกองทุนกับแหล่งเงินจากองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนในชุมชนในหลายด้าน เช่น การศึกษา, การจัดการ และสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

       สี่ CBT Marketplace เชื่อมต่อชุมชนกับนักท่องเที่ยวผ่านwww.localailke.com ด้วยการนำเสนอประสบการณ์การท่องเที่ยวโดยชุมชนที่หลากหลาย และให้ความรู้ และเผยแพร่แนวคิดการท่องเที่ยวโดยชุมชน

       ในส่วนของการออกแบบโปรแกรมท่องเที่ยว “สมศักดิ์” ยกตัวอย่างกรณีชุมชนที่ทำเรื่องการท่องเที่ยวอยู่บ้างแล้ว โดย Local Alike จะนำแนวทางของ business model เข้าไปให้ความรู้กับชุมชนก่อน ซึ่งให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการหากลุ่มเป้าหมายของการท่องเที่ยวของชุมชนนั้น ๆ ให้เจอ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนักศึกษา คนทำงาน หรือบริษัท

      หลังจากนั้นจึงเข้าสู่การร่วมออกแบบการท่องเที่ยว โดยมีพื้นฐานสำคัญ คือ ชุมชนอยากให้เป็นแบบไหน แล้วนำทุนที่ชุมชนมีอยู่มาผสมผสานเข้ากับสิ่งที่นักท่องเที่ยวอยากได้ ซึ่งแผนการท่องเที่ยวแต่ละแผนไม่สามารถใช้ได้กับทุกชุมชน เพราะแต่ละพื้นที่มีทุน และความต้องการที่แตกต่างกัน

     “การทำงานของเรามีทั้งที่เข้าไปติดต่อเพื่อทำงานเอง หมู่บ้านติดต่อมา หรือบริษัทติดต่อมาทำงานร่วมกัน เพื่อเข้าไปร่วมกันพัฒนาชุมชน ทัวร์ของเรามีทั้ง CSR trip, outing และอื่น ๆ โดยการเข้าถึงชุมชนแต่ละครั้ง เราใช้ใจทำและใช้ใจเป็นตัวนำ เพราะชุมชนรู้ว่าใครเข้าไปทำอะไร ดังนั้น เราเอาใจเข้าสู้ในการทลายกำแพง เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกับชุมชนก่อนที่จะทำงานร่วมกัน”

      “สมศักดิ์” กล่าวเพิ่มเติมถึงเป้าหมายของ Local Alike ว่า ปัจจุบันเราทำงานกับระดับหมู่บ้าน แต่อยากขยายพื้นที่การทำงานไปสู่ระดับตำบล และจังหวัด เพราะมองว่าการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนเกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม และอื่น ๆ ตรงนี้จึงเป็นความท้าทายของ Local Alike ต่อไปในอนาคต

        จากจุดเริ่มแทบไม่มีใครสนใจ แต่ปัจจุบัน มีกลุ่มลูกค้าประจำแน่นอน บางรายแถมยังถึงขั้นจองคิวกันข้ามปีกันเลยทีเดียว

Back To Top