skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
กรรมการสรรหาฯ ถกเข้มนัดแรก เฟ้นหา “เอสเอ็มอีต้นแบบ” ปี 62

กรรมการสรรหาฯ ถกเข้มนัดแรก เฟ้นหา “เอสเอ็มอีต้นแบบ” ปี 62

          เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2562 เวลา 10.00 น. ที่ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย (SME Development Bank) ได้มีการประชุมคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจ มูลนิธิสัมมาชีพ ครั้งที่ 1 ประจำปี 2562 โดยมีนางสาลินี วังตาล ประธานคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจ ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม พร้อมด้วยกรรมการและผู้แทนกรรมการจากหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม

          อาทิ นางรัตนาภรณ์ พึ่งบุญไพศาล รักษาการผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน กองพัฒนาอุตสาหกรรมชุมชน กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม, นางสาวธัญญากร จันทร์สว่าง จากธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม แห่งประเทศไทย, นางสุทธิกานต์ มาสำราญ จากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และนายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิสัมมาชีพ เป็นต้น

          โดยที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณารับรอง การแต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาวิสาหกิจ มูลนิธิสัมมาชีพ ปี 2562 เพื่อดำเนินการประกวดรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2562 พร้อมติดตามความคืบหน้าการทำงาน ขยายผลของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เคยได้รับรางวัลปี 2560 และ ปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่มีการพัฒนาต่อยอดทางธุรกิจในระดับที่น่าพอใจ

 

          อาทิ บริษัท ที เจ เฮ้าส์ จำกัด จ.มหาสารคาม ผู้ผลิตเครื่องสำอางจากโปรตีนรังไหม พบว่ามีการขยายผลในองค์กร โดยเริ่มส่งสินค้าไปขายตลาดสหรัฐอเมริกาแล้ว 2 ล็อต และได้รับการคัดเลือกให้เป็น Product Champion ของ จ.มหาสารคาม ประจำปี 2561 ด้านการขยายผลต่อชุมชนและสังคมพบว่า ได้ดำเนินการเพื่อเข้าสู่การรองรับเกษตรอินทรีย์ ส่วนแนวทางการต่อยอดทางธุรกิจนั้น ทางบริษัทต้องการเพิ่มช่องทางการจำหน่ายให้มากขึ้น โดยได้เน้นทำการตลาดและประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อดิจิตอล

 

 

 

          นางสาลินี กล่าวถึงแผนการทำงานเพื่อสรรหารางวัลฯ ว่า เกณฑ์การพิจารณาตัดสินรางวัลในปีนี้ นอกจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะต้องดำเนินธุรกิจตามหลักธรรมาภิบาล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและชุมชนแล้ว ผู้ประกอบการยังจะต้องมีความสามารถในการบริหารธุรกิจให้เติบโตและยั่งยืนด้วย

          เนื่องจากต้องยอมรับว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปมาก สินค้าที่เคยมียอดจำหน่ายสูง ปัจจุบันกลับไม่เป็นที่ต้องการของตลาด ส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายรายปรับตัวไม่ทัน จนต้องประสบภาวะขาดทุน ดังนั้นผู้ประกอบการยุคนี้จึงต้องมีศักยภาพในเชิงพาณิชย์ สามารถทำธุรกิจที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคและแนวโน้มของตลาดโลกได้

          ด้านคุณเสน่ห์ กล่าวว่า ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี มีจุดแข็งในเรื่องการตอบสนองความต้องการของตลาดกลุ่มเฉพาะ ซึ่งหลายรายสามารถพัฒนาต่อยอดได้อีกมาก อย่างไรก็ตามควรจะมีการสำรวจและสรุปจำนวนผู้ประกอบการกลุ่มนี้ให้ชัดเจน เพื่อส่งเรื่องต่อให้กับทางกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นภาคีเครือข่าย ได้ดำเนินการช่วยเหลืออย่างตรงจุด 

          โดยในโอกาสนี้ คุณเสน่ห์ในฐานะตัวแทนผู้บริหารของมูลนิธิสัมมาชีพ ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมการ ที่เสียสละเวลาให้คำแนะนำและร่วมดำเนินงานสรรหา และตัดสินรางวัลเอสเอ็มอีต้นแบบสัมมาชีพ เป็นปีที่ 3 อย่างต่อเนื่อง

          ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติในเบื้องต้น ให้ปรับปรุงหลักเกณฑ์และวิธีการสรรหารางวัล ประเด็นเกณฑ์ความสามารถทางธุรกิจ เพื่อให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป นอกจากนี้คาดว่าจะสามารถเริ่มทำการประชาสัมพันธ์ เพื่อเปิดรับสมัครได้ในช่วงเดือนเมษายน ส่วนการประกาศผลรางวัล จะทราบช่วงเดือนพฤศจิกายน โดยพิธีมอบรางวัลจะถูกจัดขึ้นภายในงานครบรอบ 10 ปี ของมูลนิธิสัมมาชีพ

Back To Top