เกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS คว้ารางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 64
เกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS
คว้ารางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 64
ช่วงเวลา 4 ปีเศษ หลังจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS จ.สมุทรสาคร เมื่อปี 2560 ผลผลิตการเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษเริ่มขยับยกระดับเชื่อมโยงกับตลาดให้ผู้บริโภคเข้าถึงผลได้กว้างขวางขึ้น พร้อมแนวทางอนาคตยังได้ส่อถึงความมุ่งมั่นเดินหน้าสู่เป้าหมาย “อาชีพเกษตรกรรมยั่งยืน” อย่างจริงจังของ “สุรนุช บุญจันทร์”ประธานวิสาหกิจชุมชนฯ ที่เป็นแกนนำรุ่นบุกเบิกการทำเกษตรอินทรีย์
การรับรองตามระบบ PGS เป็นมาตรฐานการเน้นให้เกษตรกรสมาชิกมีส่วนร่วมในการผลิตบนพื้นฐานความไว้วางใจ สร้างสังคมเครือข่าย มีการแลกเปลี่ยนความรู้ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อ ตามมาตรฐานของระบบเช่นนี้จึงคำนึงถึงผลผลิตที่ส่งผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค เกษตรกรผู้ผลิต และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นจุดเด่นต่อการสร้างตลาดสนองกลุ่มผู้บริโภคได้เลือกสินค้าที่ดี ปราศจากสารเคมีอันตราย โดยตลาดสินค้าแนวทางนี้เริ่มขยายตัวรวดเร็วต่อเนื่องภายใต้การรับรู้ว่า “ตลาดสีเขียว”
ด้วยจุดเด่นตามมาตรฐาน PGS ได้นำร่องการผลิตของกลุ่มวิสาหกิจอย่างเอาการเอางานมาตั้งแต่ปี 2560 พร้อมทั้งขยายตลาด สร้างเครือข่ายเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพเข้าถึงผู้บริโภค ดังนั้นจึงเกิดผลดีต่อเกษตรกรและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญหนุนนำให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS จ.สมุทรสาคร คว้ารางวัลชนะเลิศวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 2564 ประเภทการเกษตร จากมูลนิธิสัมมาชีพ
รางวัลวิสาหกิจชุมชนต้นแบบสัมมาชีพปี 2564 อาจเป็นรางวัลล่าสุดที่กลุ่มวิสาหกิจฯแห่งนี้ได้รับและคงสร้างความภูมิใจต่อชุมชน แล้วแปรเป็นพลังทุ่มเทผลักดันขยายการเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพได้เข้าถึงผู้บริโภคให้มากขึ้น อีกทั้งแนวโน้มคงมีรางวัลอื่นๆ จัดคิวรอมอบให้เป็นเครื่องรับประกันผลผลิตเกษตรอินทรีย์ที่มีคุณภาพต่อสุขภาพของผู้บริโภค
การขยายเครือข่ายชุมชนเกษตรอินทรีย์
จุดเริ่มการทำเกษตรกรรมอินทรีย์ของบ้านคลองเจ็ดริ้ว ตำบลคลองตัน อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มีมาตั้งปี 2549 ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย แต่ยังขาดแนวทางการผลิตที่ชัดเจนด้านการตลาด ผลผลิตของเกษตรกรจึงนำขายในพื้นที่ไม่กว้างขวางและเป็นการเฉพาะของผู้ปลูก
กระทั่งในปี 2552 หลังจากรับความรู้ตามแนวทางระบบ PGS เกษตรกรได้เข้ามามีส่วนร่วม เกิดการร่วมกลุ่มสมาชิกเกษตรอินทรีย์บนพื้นที่ปลูกจำนวน 9 แปลงจำนวน 45 ไร่ เพื่อส่งผลผลิตให้ตลาด อ.ต.ก. ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่มีผู้บริโภคเข้าถึงในวงกว้างขวางขึ้น
ขณะเดียวกันชุมชนเกษตรกรรมอินทรีย์ได้รับความร่วมมือจากนักวิชาการ กล่าวได้ว่าเป็นเครือข่ายที่เชื่อมประสานความรู้ด้านการทำปุ๋ยอินทรีย์และขยายพันธุ์พืช แล้วพัฒนาเครือข่ายแลกเปลี่ยนระบบการผลิตเพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่เกษตรกรรม 4 จังหวัดคือ อ่างทอง, ระยอง, นครปฐม, สมุทรสาคร
ไม่เพียงเท่านั้นชุมชนเกษตรกรรมยังได้ยกระดับตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจเพื่อสังคมเกษตรอินทรีย์คลองตัน PGS ในปี 2560 แล้วผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองตามระบบ PGS จึงทำให้เกษตรกรรมอินทรีย์เป็นที่ยอมรับอย่างโดดเด่นจนได้ทำ MOU กับโรงพยาบาลสมุทรสาคร, โรงพยาบาลบ้านแพ้ว, โรงพยาบาลกระทุ่มแบน, โรงพยาบาลวิชัยเวช และส่งจำหน่ายในห้างสรรพสินค้า TOP, เซ็นทรัล มหาชัย จึงเป็นประกาศนียบัตรบ่งบอกถึงผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีคุณภาพเหมาะกับผู้บริโภคที่ห่วงใยสุขภาพเป็นสำคัญ
เมื่อตลาดจำหน่ายผลผลิตส่อแนวโน้มขยายชัดเจน ย่อมทำให้เกษตรกรมีเป้าหมายในการผลิต จึงส่งผลให้กลุ่มวิสาหกิจมีสมาชิกเพิ่มขึ้นจาก 30 คนเป็น 60 คน พร้อมกับขยายพื้นที่การผลิตเกษตรอินทรีย์กว่า 200 ไร่ในปัจจุบัน สิ่งนี้เป็นผลจากการทุ่มเทการผลิตเพื่อผลดีต่อสุขภาพของผู้บริโภค
จัดรูปแบบองค์กรท้องถิ่นส่วนร่วม
เมื่อผลผลิตเกษตรอินทรีย์มีช่องทางการตลาดมากขึ้น และเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคที่คำนึงถึงสุขภาพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแห่งนี้จึงมีการปรับรูปองค์กรการมีส่วนร่วมของท้องถิ่น โดยมีคณะกรรมการและโครงสร้างการทำงานที่ชัดเจน เพื่อดำเนินกิจกรรมตามแนวทาง 3 รูปแบบ คือ หนึ่งรับซื้อผลผลิตสมาชิก และนำมาแช่ห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาคุณภาพและนำส่งให้โรงพยาบาล โดยจะโอนเงินให้กับสมาชิกอาทิตย์ละ 2 ครั้ง หรือจ่ายเงินสดให้กับสมาชิกที่ต้องการใช้เงิน สำหรับผักที่เหลือจากความต้องการของโรงพยาบาลจะส่งขายตลาด แนวทางนี้เกิดเงินทุนหมุนเวียนให้สมาชิกเดือนละประมาณ 100,000 บาท หรือเฉลี่ยรายได้ละ 20,000 บาท/คน
สอง กลุ่มติดต่อประสานงานกับโรงพยาบาลสมุทรสาครเพื่อให้สมาชิกมีพื้นที่ขายสินค้าจำนวน 11 ร้านค้าจากสมาชิก 11 ราย นำผลผลิตไปขายทุกวันศุกร์ โดยสมาชิกต้องควบคุมคุณภาพสินค้าเพราะทางโรงพยาบาลจะสุ่มตรวจผักทุกครั้ง ซึ่งสมาชิกจะมีรายได้อาทิตย์ละ 4,000-5,000 บาท
อีกทั้ง สาม ยังมีการเปิดศูนย์เรียนรู้และสอนหลักสูตรการทำเกษตรมาตรฐาน PGS เปิดสอนหลักสูตรละ 10-20 คน ให้สมาชิกที่สนใจได้มีความรู้และสามารถนำไปทำเกษตรปลอดภัยตามมาตรฐาน PGS จึงเป็นการขยายเครือข่ายเกษตรปลอดภัยให้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ กลุ่มมีแผนต่อยอดและยกระดัขยายตลาดเข้าสู่รูปแบบออนไลน์ เช่น Facebook Websit เละ Lineofficial โดยรุกสู่สังคมโซเชียลซึ่งเป็นช่องทางที่กำลังนิยมระหว่างผู้ซื้อและผู้บริโภคในสังคมปัจจุบัน
สมาชิกมีกำไร-รายได้สูงกว่า จปฐ.
ช่วงการปรับเปลี่ยนแนทางสู่ PGS เมื่อปี 2560 การดำเนินงานช่วงนี้เริ่มได้ผลตอบแทนด้านรายได้และกำไรเติบโตขึ้นต่อเนื่องในช่วง 2 ปี โดยปี 2562 มีรายได้รวม 1.4 ล้านบาท กำไร 1.8 แสนบาท แล้วปี 2563 มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกเป็น 4.5 ล้านบาท กำไร 8.9 หมื่นบาท เฉลี่ยกำไร 2 ปีกว่า 1.3 แสนบาท เมื่อเทียบรายได้ความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของประชากรจังหวัดสมุทรสาคร เฉลี่ย 1.1 แสนบาท/คน/ปี แต่กลุ่มสามารถสร้างรายได้ให้สมาชิกประมาณหนึ่งแสนบาท/คน/ปี หรือคิดเป็น 86.4% ของรายได้ประชากรจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งสะท้อนถึงอาชีพ “เกษตรกรรมอินทรีย์สื่อถึงแนวโน้มยั่งยืน”
อย่างไรก็ตาม ในการบวนการผลิตนั้น แม้ปุ๋ยอินทรีย์เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างผลผลิตให้มีคุณภาพที่ดีต่อสุขภาพแล้ว แต่กลุ่มยังส่งเสริมให้สมาชิกใช้พลังงานแสงอาทิตย์ มาลดค่าใช้จ่ายจากพลังงานไฟฟ้า และยังใช้ความร้อนจากห้องเย็นเพื่อผลิตเห็ด ซึ่งไม่สิ้นเปลืองพลังงานและมีส่วนลดภาวะโลกร้อนได้ด้วย นอกจากนี้กลุ่มยังมีห้องเย็นที่นำกำไรช่วง 2 ปีไปจัดซื้อมารองรับการแช่ผลผลิตของสมาชิกที่มีมากขึ้น เพื่อจัดส่งสู่ตลาดอย่างได้คุณภาพความสดของผลผลิตการเกษตรอินทรีย์
ไม่เพียงเท่านั้น กลุ่มยังมีแนวทางการพัฒนาระบบการผลิตแบบลดต้นทุนโดยการพัฒนาระบบการดูแลระบบน้ำและการให้ปุ๋ยโดยใช้แอปพลิเคชันผ่านระบบมือถือ ซึ่งนวัตกรรมใหม่แต่อยู่ในช่วงการพัฒนาและทดลองใช้ โดยเชื่อว่า แนวทางนี้จะช่วยลดต้นทุนการผลิต แรงงาน เวลา และเตรียมรับรองพื้นที่การปลูกได้มากขึ้น
ผลลัพธ์กับเป้าหมายยั่งยืน
ตลอด 4 ปี ตั้งแต่ปี 2560 กลุ่มพัฒนาการผลิตเกษตรอินทรีย์ตามแนวทางระบบ PGS ได้ดำเนินกิจกรรมสะท้อนรูปธรรมอย่างชัดเจนทั้งแนวทางและเป้าหมายในอนาคต โดยเกิดการจ้างงานคนชุมชนและสมาชิกในกระบวนการผลิต ส่งผลให้สมาชิกและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการขายผลผลิตให้กลุ่มวิสาหกิจฯ
สิ่งสำคัญ เกษตรกรมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำการเกษตรแบบใช้สารเคมีมาเป็นการทำเกษตรแบบอินทรีย์โดยใช้วัตถุดิบจากธรรมชาติ 100% มีแนวคิดในการจัดระบบสวัสดิการที่ดีสำหรับสมาชิกและชุมชน โดยนำผลกำไร 30 % ใช้ในการปันผลและการจัดการองค์ความรู้ จนได้รับประกาศนียบัตรมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices : GAP) และการรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guaruntee Systems : PGS) มารับประกันคุณภาพและสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคว่า ผลผลิตเกษตรอินทรีย์ของกลุ่มไม่สร้างผลกระทบต่อสุขภาพ
ด้วยรูปธรรมที่ชัดเจนในช่วงการปรับตัวมา 4 ปีนั้น สิ่งสำคัญคือ ส่วนหนึ่งบ่งบอกถึงแนวโน้มเป้าหมายที่จะมุ่งมั่นเดินหน้าสู่ “เกษตรกรรมยั่งยืน” โดยเป็นความยั่งยืนทั้งในมิติคุณภาพชีวิตของสมาชิก อีกทั้งชุมชนเกษตรกรได้จัดระบบสวัสดิการให้ชุมชนสมาชิกด้วยตนเอง รวมถึงมั่นใจว่าผลผลิตมีตลาดรองรับ ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งด้านการผลิต การตลาด และจำนวนสมาชิกที่จะเข้ามาร่วมมากขึ้นในอนาคต
ดังนั้น ผลลัพธ์ช่วง 4 ปีที่ผ่านมาดังกล่าว การร่วมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนจึงเป็นข้อสรุปของชีวิตเกษตรกรที่มีส่วนร่วมสร้างพลังแบบกลุ่ม เป็นพลังสามารถทำให้ท้องถิ่นยืนด้วยขาตัวเองได้ชัดเจน แม้ในปี 2563 การระบาดของโควิดทำให้ผู้คนเดือดร้อน เศรษฐกิจปากท้องย่ำแย่ คนตกงานกราดเกลื่อน แต่กลุ่มเกษตรอินทรีย์ยังฝ่าฟันเอาตัวรอดอยู่ได้ นั่นมาจากพลังร่วมกลุ่มได้ผนึกแรงช่วยเหลือกัน เพื่อก้าวเดินไปสู่เป้าหมายใหญ่ในอนาคต คือ ผู้ผลิต ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อมยั่งยืน
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv
https://www.facebook.com/chumchonmeedee
https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods