ย้อนรอย…ล็อกดาวน์(อีกครั้ง)
ย้อนรอย…ล็อกดาวน์(อีกครั้ง)
อนาถคนไทย มาถึงจุดต้องตากฝนหามรุ่งหามค่ำจองคิวเข้ารับตรวจหาเชื้อโควิด อีกทั้งมีเสียงเรียกร้อง ดังระงมเชิงร้องขอเตียงโรงพยาบาลสนามรับผู้ป่วยติดเชื้อไปรักษา อย่าได้ปล่อยให้ตายที่บ้าน พร้อมอ้อนวอนรัฐบาลเร่งฉีดวัคซีน ถึงขั้นประชาชนควักเงินซื้อเองยังยอม…ภาพสะท้อนเช่นนี้บ่งบอกถึงวิกฤตโรคระบาดทลวงทั้งด้านจิตใจและสุขภาพไปทั่วอนูพื้นที่แล้ว
ขณะเดียวกัน รายงาน ศบค.ระบุยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งกระฉูดต่อเนื่อง ข้อมูลเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 มีผู้ติดเชื้อใหม่ 9,326 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 91 คน ซึ่งเป็นนิวไฮหรือสูงสุดเท่าที่เกิดระบาดโควิดในไทยมาตั้งแต่ ม.ค. 2563 กระทั่งยังไม่มีแววว่า จะถอยลดลงวันไหน
เมื่อคนติดเชื้อโควิดพุ่งทะยานขึ้นเรื่อยๆ ย่อมเกิดความทุกข์ลากจิตใจให้หวั่นวิตกกังวลลุกลามไปทั่วประเทศ นั่นเป็นภาพทุกข์อนาถให้ไปยืนรอตรวจหาเชื้อ เพื่อเร่งรักษา และรีบฉีดวัคซีน ควบขนานกับมาตรการรัฐบาลเข้มงวดคุมโรค เอาจริงเอาจังโดย “ล็อกดาวน์” หรือเลี่ยงมาเรียกคุมพื้นที่เบ็ดเสร็จก็ตาม แต่กระนั้นควรมีการเยียวยาช่วยเหลือปากท้องไปพร้อมกันด้วย
“ล็อกดาวน์”เจ็บแต่ไม่จบ
หากย้อนไป การระบาดของไวรัสโควิดระลอกแรกในไทยเมื่อ ม.ค. 2563 ถึงวันที่ 14 ธ.ค. 2563 กินเวลาประมาณ 11 เดือนครึ่ง มียอดผู้ติดเชื้อสะสม 4,237 คน เสียชีวิต 60 คน ซึ่งระลอกนี้รัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้นควบคุมโรคติดเชื้อนี้ให้อยู่ในวงจำกัดและจบให้เร็วที่สุด
มาตรการที่รัฐบาลนำมาใช้ คือ สั่งล็อกดาวน์ทุกจังหวัด ปิดสถานที่ต่างๆ งดจัดกิจกรรมทุกชนิด ตั้งด่านคัดกรองแรงงานต่างด้าว ปิดสถานประกอบการร้านอาหาร โรงแรม ห้างสรรพสินค้า และสถานบริการ พร้อมประกาศเคอร์ฟิว จำกัดการเดินทางของประชาชนในยามวิกาล
นอกจากนี้ รัฐบาลออก พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท อัดเม็ดเงิน 6 แสนล้านบาท ช่วยเยียวยาปัญหาปากท้องคนละ 5,000 บาทนาน 3 เดือน อีกทั้งฉีดเงินในโครงการ“คนละครึ่ง” “เราชนะ” ยังแบ่งให้ระบบสาธารณสุข 4.5 หมื่นล้านบาท ส่วนการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทั้งสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ พักชำระหนี้ ขยายเวลาชำระภาษีพิเศษจำนวน 3.55 แสนล้านบาท
แม้จะประสบความสำเร็จ เดือน พ.ค. 2563 ไม่พบรายงานคนติดเชื้อในประเทศ แต่ภาคเศรษฐกิจทั้งระดับบนจนถึงระดับรากหญ้าได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง อุตสาหกรรมหลักๆ แทบจะปิดตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว สายการบิน รวมถึงธุรกิจเอสเอ็มอีล้มหายตายจากไปจำนวนมาก เป็นหนี้สินรุงรัง สิ่งเหล่านี้ คือความเจ็บปวดที่ลากยาวมาถึงปัจจุบัน จนเกิดวาทกรรม “ประชาชน) เจ็บแต่(โควิด)ไม่จบ”
ส่วนรัฐบาลเอาแต่ชื่นมื่นกับยอดติดเชื้อเป็น“ศูนย์” แล้วโอ้ลาล้ากับเสียงต่างประเทศชื่นชม ยกเป็นประเทศควบคุมโควิดจนประสบความสำเร็จ แต่อืดอาดรุกคืบไปจัดหาวัคซีนมาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันการระบาดของโรค ขณะที่ทั้งหมอ รัฐมนตรี และ ศบค.เน้นเตือนอย่าการ์ดตก เว้นระยะห่าง ใส่หน้ากากอนามัย อ้างเป็นดรามาว่า มาตรการเช่นนี้ป้องกันเชื้อโรคได้ และไม่เจ็บจิ๊ดเหมือนเข็มฉีดวัคซีน
คุมเข้มหลีกเยียวยา
เมื่อรัฐสามารถปิดจ๊อบลดการระบาดรอบแรกได้ หน่วยงานรัฐกลับหย่อนยาน เจ้าหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ตามชายแดนเกิดการ์ดตก ปล่อยให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แล้วการระบาดระสองสองจึงเกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2563 โดย จ.สมุทรสาครพบผู้ป่วยติดเชื้อโควิดในแพกุ้ง ค้าขายที่ตลาดกลางกุ้ง ใน ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร ทั้งที่ไม่เคยมีประวัติการเดินทางออกนอกประเทศ
การแตกตื่นครั้งนี้ มีจุดระบาดเชื้อถึง 90% เป็นแรงงานเมียนมา ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ทำให้แพร่สู่ผู้อื่นได้ง่าย อีกทั้งแรงงานเมียนมาพักอยู่รวมกันอย่างแออัด กลายเป็นคลัสเตอร์ใหญ่ ส่วนมากทำงานในอุตสาหกรรมประมง และยังพบผู้ติดเชื้อจาก จ.สมุทรสาคร กระจัดกระจายอยู่ในพื้นที่หลัก คือ กรุงเทพฯ นครปฐม และสมุทรปราการ ขณะที่พ่อค้าแม่ค้าจากหลายจังหวัดและบริเวณโดยรอบต่างเดินทางมาซื้อสัตว์ทะเล
มาตรการของรัฐบาล ศบค. และหน่วยงานสาธารณสุขเน้น “คุมเข้มพื้นที่” เมื่อผู้ป่วยมีมากขึ้นจึงเกิดโรงพยาบาลสนามเฝ้าดูอาการกลุ่มเสี่ยง และคัดกรองส่งตัวไปรักษาในโรงพยาบาลหลักประจำพื้นที่ การระบาดระลอกสองจบลงในวันที่ 31 มี.ค. 2564 หรือรวมประมาณ 3 เดือนครึ่ง มีผู้ติดเชื้อโควิดทั้งสิ้น 24,626 คน และเสียชีวิต 34 คน
ส่วยรัฐบาลไม่ใช้ “ยาแรง” ไม่มีการล็อกดาวน์และเคอร์ฟิว โดยหยุดทุกอย่างเหมือนระบาดระลอกแรก แต่ปล่อยให้จังหวัดงัดมาตรการสกัดการเดินทางข้ามพื้นที่กันเอง พร้อมเข้มงวดกิจกรรมที่มีผู้คนจำนวนมาก พร้อมสั่งหยุดฉลองเทศกาลปีใหม่ 2564 และไม่มีเยียวยาปากท้องความเดือดร้อน…แล้วประชาชนเจ็บซ้ำเติมอีกครั้ง รวมทั้งความทุกข์ยากส่อไม่จบลงอีก และชีวิตปกติไม่มีแนวโน้มจะกลับมา
แม้การระบาดโควิดระลอกนี้ รัฐบาลเกิดตื่นตัวในการจัดหาวัคซีน รีบสั่งซื้อซิโนแวค 2 ล้านโดส และร้องขอแอสตร้าเซเนกาแบ่งมาช่วย 1.17 แสนโดส เพื่อฉีดแก้ขัดให้บุคลากร ด่านหน้ากลุ่มเสี่ยงติดโควิด โดยเริ่มปักเข็มแรกเมื่อ 28 ก.พ. 2564
แต่วัคซีนยังหายากสำหรับคนไทยที่มีความต้องการมากขึ้น รัฐบาลย้ำปลอบใจว่าจะมีวัคซีนมากถึง 100 ล้านโดส และจะทยอยฉีดให้ประชาชน 50 ล้านคนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 70% ซึ่งถึงวันนี้คนไทยยังรอคอยวัคซีน ถึงเสียเงินซื้อเองก็พร้อมไปรอคิวยาวเยียด แล้ววัคซีนจึงทำให้เจ็บใจและความเชื่อมั่นรัฐบาลเริ่มแผวจบลง
แบ่งสี ปิดแคมป์ และล็อกดาวน์
โควิดระลอกสองผ่อนคลายลงไม่นานนัก ต้น เม.ย. 2564 เกิดระบาดระลอกสามตามมาต่อเนื่อง เป็นผลมาจากหน่วยงายรัฐ ตำรวจ ทหาร การ์ดตกอีกตามเคย เชื้อเริ่มแพร่จากสถานบันเทิงแทบทองหล่อ ย่านเที่ยวราตรีของคนรวย แล้วระบาดลุกลามไปสู่บ่อนการพนัน จนปัจจุบันไม่มีท่าทีจะผ่อนคลายลงในช่วงไหน ด้วยมาตรการอย่างไร
การระบาดในระลอกสามนี้ ฝ่ายหมอ-สาธารณสุข ระบุถึงเชื้อโควิดแพร่ในไทยกลายพันธุ์แล้ว โดยเบื้องต้นมีโควิดพันธุ์ฮู่ฮั่นดั่งเดิมจากจีนเข้ามาป่วน ขยายเป็นพันธุ์อังกฤษลุกลามหนักไปทั่วประเทศ แล้วพบพันธุ์อินเดีย พันธุ์อัฟฟริกาใต้เล็ดลอดตามชายแดน เมื่อมาผสมกันจึงกลายพันธุ์เป็น “เดลต้า” ที่มีอิทธิฤทธิ์ดื้นวัคซีน ทะลุทลวงเชื้อลงสู่ปอดได้รวดเร็ว เกิดการติดเชื้อได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น
สิ่งที่สะท้อนถึงการระบาดในระลอกสามถึงขั้นวิกฤตนั้น บ่งบอกด้วยเครื่องชี้วัดว่า มีจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน โดยพุ่งไต่ระดับจาก 4-5 พันคนต่อวัน ไปเป็น 9 พันกว่า ข้อมูล ศบค.ระบุเมื่อวันที่ 10 ก.ค. 2564 มีผู้ป่วยสะสมระลอกนี้ (ตั้งแต่ 1 เม.ย. 2564) จำนวน 297,969 ราย จากป่วยโควิดสะสมทั้งหมด 326,832 ราย และมียอดเสียชีวิตสะสม 2,531 ราย จากทั้งหมด 2,625 ราย
นอกจากนี้ การตรวจหาเชื้อยังพบเป็นกลุ่มก้อนหรือเรียก “คลัสเตอร์” มากขึ้นในพื้นที่ กทม.และปริมณฑลศูนย์กลางระบาดของประเทศ ซึ่งถูกคุมเข้มจำกัดให้เป็นพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม ขณะที่รัฐบาลเฝ้าดูอาการแพร่ระบาด ด้วยการบังคับใส่หน้ากากอนามัย ฝ่าฝืนมีโทษปรับจับขังคุก ปิดร้านอาหาร ห้ามนั่งกินในร้าน กำชับอย่ารวมคนหมู่มาก ปิดโรงเรียนให้สอนออนไลน์ สั่งตลาดสดงดจำหน่าย ปล่อยห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อรายใหญ่เปิดบริการได้ไม่จำกัดเวลา
มาตรการแบ่งโซนสีเพื่อควบคุมการระบาดโควิดแทบไม่เกิดผลให้แพร่เชื้อลดน้อยลง รัฐบาลขยับสั่งปิดแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่เสี่ยง สำนักงานประกันสังคมควักเงิน 7.5 พันล้านบาทพร้อมจ่ายเยียวยาเงินเดือน 50% เติมด้วยเงินช่วยจากรัฐบาลให้คนงานคนละ 2,000 บาท แล้วช่วยนายจ้างอีกคนละ 3,000 บาท ทั้งหมดการเยียวยาอยู่ในเวลา 1 เดือน สิ้นสุดลงสิ้น ก.ค.
พร้อมๆกับรัฐบาลออก พ.ร.ก.เงินกู้ฉุกเฉินอีก 5 แสนล้านบาท มาสู้กับการระบาดระลอกสาม ก็ยังเอาไม่อยู่ กระทั่งยอมจำนนเสียงเรียกร้องของหมอด่านหน้ารักษาผู้ป่วยให้ “ล็อคดาวน์” กทม. เพราะคนป่วยล้นโรงพยาบาล เต็มห้องไอซียู เตียงโรงพยาบาลสนามขาดแคลน คนติดเชื้อไม่ได้รักษานอนซมอยู่บ้าน และอาการหนักทยอยตายมากขึ้นในแต่ละวัน
รัฐบาลประกาศมาตรการใหม่เมื่อ 9 ก.ค. 2564 แม้พยายามเลี่ยงใช้คำว่า “ล็อคดาวน์” แต่มาตรการเข้มข้นที่นำมาใช้ในพื้นที่ กทม.-ปริมณฑลนั้น ไม่แตกต่างจากการล็อคดาวน์ที่ใช้เมื่อ เม.ย. 2563 คือ เคอร์ฟิวตั้งแต่ 21.00 น.-04.00 น. ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน เวิร์คฟอร์มโฮมให้มากที่สุด
ส่วนระบบขนส่งสาธารณะ ปิดให้บริการตั้งแต่เวลา 21.00 -04.00 น. , ร้านสะดวกซื้อ และตลาดโตรุ่ง ปิดเวลา 20.00-04.00 น. ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ เปิดได้เฉพาะซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหารและเครื่องดื่ม ธนาคาร สถาบันการเงิน ร้านขายยาและเวชภัณฑ์ ร้านอุปกรณ์เครื่องมือสื่อสาร รวมถึงสถานที่ฉีดวัคซีน เปิดได้ถึงเวลา 20.00 น.
ส่วนร้านจำหน่ายอาหาร หรือเครื่องดื่ม ห้ามบริโภคอาหาร หรือสุรา หรือเครื่องดื่มภายในร้าน โดยเปิดได้ถึง 20.00 น. ทั้งนี้มีคำสั่งให้ปิดสถานที่ที่เสี่ยง ได้แก่ สถานที่นวดเพื่อสุขภาพ สปา สถานเสริมความงาม ขณะที่สวนสาธารณะ สามารถเปิดให้บริการได้ถึงเวลา 20.00 น.
มาตรการเพื่อสกัดโควิดระลอกสามนี้ ใช้บังคับ 14 วันเป็นเบื้องต้น โดยใช้ 12 ก.ค. 2564 ส่วนการเยียวยารัฐบาลยังไม่เปิดเผย จะช่วยเหลือประชาชนเดือดร้อนอย่างไร และแบบไหน แต่สิ่งที่เห็นเบื้องหน้าคือ ผลกระทบที่ทำให้ประชาชนเจ็บซ้ำซากอีกตามเดิม
ยอมเจ็บขอวัคซีนมาช่วยจบ
เป็นที่ชัดเจนว่า ในส่วนของประชาชนได้ร่วมมือเพื่อป้องการการแพร่เชื้อโควิดอย่างเต็มที่ เท่าที่จะทำได้ด้วยการเว้นระยะห่าง เลี่ยงการร่วมหมู่คนจำนวนมาก สวมหน้ากากอนามัยเข้มงวดในที่สาธารณะ แต่การระบาดครั้งใหญ่ขั้นวิกฤตนี้ มีบ่อเกิดจากความหละหลวม ไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาล ทั้งหย่อนยานการควบคุมพื้นที่ระบาด ขาดความตระหนักในการตรวจหาเชื้อ แยกผู้ป่วยไปรักษา และจัดหาวัคซีนให้เพียงพอต่อความต้องการ
ขณะนี้ทุกมาตรการทยอยออกมานั้น ล้วนสร้างความเจ็บปวดต่อประชาชนในวงกว้างขึ้น เป็นความเจ็บที่แลกมาด้วยความพังพาบด้านเศรษฐกิจ ผู้คนเดือดร้อน ความหวังเดียวที่เหลืออยู่คือ การเร่งฉีดวัคซีนมาต่อสู้กับโควิด เพื่อจะได้อยู่กับเชื้อโรคร้ายได้อย่างไม่ตื่นตระหนกและกังวลกลัวเสียชีวิต
แต่การบริหารจัดการวัคซีนของรัฐบาลกลับเละเทะ ยุ่งเหยิง จนหลายองค์กรทั้งส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชนต้องใช้งบประมาณมาซื้อหาวัคซีนด้วยตัวเอง สิ่งนี้บอกถึงการขาดความเชื่อมั่นรัฐบาลได้ชัดเจน
ดังนั้น การล็อคดาวน์ (อีกครั้ง) ต้องมีเป้าหมายให้จบด้วย เมื่อประชาชนยอมเจ็บกันแล้ว แต่การจบนั้นอยู่ที่ประสิทธิภาพของรัฐบาลในการบริหารจัดการเป็นด้านหลัก เพราะประชาชนเจ็บจนชินชามานานแล้ว และต้องการจบให้เร็วก่อนพินาศไปกันใหญ่ โดยจบด้วยฉีดวัคซีนอย่างเร่งรีบ อย่าอืดอาดแต่คุยอวดกันอีก
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv