skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ภาวะแบ่งปันเติมพลัง ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ภาวะแบ่งปันเติมพลัง ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ภาวะแบ่งปันเติมพลัง

ฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

 

-1-

เริ่มแต่เกิดระบาดแพร่เชื้อโรคโควิด-19 รอบสามเมื่อ 5 เมษายน 2564 จากคลัสเตอร์แหล่งบันเทิงย่านทองหล่อ สถานที่เที่ยวของผู้มีอันจะกินและนักการเมือง ส่งผลให้ยอดติดเชื้อในเดือนเดียวสะสมถึง 36,290 ราย เสียชีวิต 130 ศพ ขณะที่ ศบค.ระบุยอดผู้ป่วยสะสมล่าสุด 2 พฤษภาคมนี้ว่า มีมากถึง  68,984 ราย และผู้เสียชีวิตสะสม 245 ศพ

หากนำการระบาดในเดือนเมษายนที่ผ่านมาไปเปรียบเทียบกับการติดเชื้อสะสมจากเดือนมกราคม 2563 ถึงเดือนมีนาคม 2564 ที่มีแค่ 28,863 ราย และเสียชีวิตเพียง 94 ศพ ย่อมพบตัวเลขแตกต่างแบบพุ่งทะยานรุนแรง แสดงถึงภาวะ “วิกฤต” กำลังก่อตัวขึ้น

เมื่อพิจารณาเชิงตัวเลข ย่อมหวั่นระทึกยิ่งกับการระบาดแพร่เชื้อโควิดครั้งใหม่ ที่นักวิชาการทางแพทย์บ่งชี้ว่า เป็นเชื้อกลายพันธุ์อังกฤษมีอัตราแพร่เร็ว ระบาดลงปอดติดหนึบ รักษาไม่ทันคงเสียชีวิตง่ายๆ ชนิดคาดไม่ถึง

สถานการณ์แบบ”คาดไม่ถึง” นั้น หากอธิบายผ่านภาพคนเสี่ยงสูงต้องอยู่บ้านรอคิวโรงพยาบาลนัดไปตรวจหาเชื้อ หรือผู้ป่วยบางคนจำทนกักตัวในบ้านเพื่อรอรถพยาบาลมารับไปพักดูอาการ 14 วันที่โรงพยาบาลสนาม…ภาพเช่นนี้สะท้อนถึงรูปธรรมของระบบสาธารณสุขไทยยังขาดการเตรียมพร้อมรับมือการระบาดของเชื้อขั้นรุนแรง

แล้วคนเหล่านี้ อีกทั้งบางคนรอนาน เชื้อกำเริบหนักขึ้นขั้นลามลงปอด การหายใจค่อยๆ ล้มเหลว แล้วเสียชีวิตในบ้านตัวเอง แม้มีบางคนเสียชีวิตที่โรงพยาบาลในช่วงเวลารักษา 3-5 วัน  หรือบางกลุ่มคนสื่อสารผ่านมือถือขอให้โรงพยาบาลรับได้ไปกักตัวรักษา…แต่อารมณ์สะเทือนใจเยี่ยงนี้ สื่อสะท้อนออกมาเป็นวันต่อวันและต่อเนื่องในเดือนเมษายนที่ผ่านมา

ความหวังของผู้คนยามนั้น แม้…แน่ละไม่มีใครต้องการติดเชื้อโควิด แต่จะป้องกันตัวเองอย่างไรเมื่อมีความจำเป็นต้องออกไปทำงานหาเลี้ยงชีพ ดูแลครอบครัว ดังนั้นการเรียกร้องหาวัคซีน จึงดังกระหึ่มผสมปนเปกับเสียงสะอื้นพร้อมพนมมือไหว้ขอความเมตตาผ่านคลิปมือถือ เพื่อให้มีเตียงว่างจะได้รับส่งตัวไปโรงพยาบาลทันการรักษาชีวิตให้มีลมหายใจ

ยังมีอีกเสียงจากซีกรัฐบาล ตอกย้ำขอความร่วมมือ เตือนประชาชนไม่ประมาท การ์ดอย่าตก  ตระหนักให้ใส่แมสก์ รักษาระยะห่าง ช่วยกันดูแลตัวเอง พร้อมปลุกไทยชนะ หมอพร้อม…เสียงเหล่านี้มีทุกวันผ่านสื่อทุกชนิด แทบแข่งขันกับเสียงรายงานข่าวคนฆ่าตัวตายด้วยผลกระทบจากเชื้อโควิดระบาด แล้วมีจดหมายน้อยเขียนสั่งลา “ขอโทษ…ที่อ่อนแอ”

-2-

เดือนเมษายนผ่านไปแล้ว แต่วิกฤตการระบาดเชื้อโควิดยังไม่ซาลง อนาคตการมีชีวิตรอดจากโควิด-19 และความหวังให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้น ร้านค้าขายเปิดบริการได้ปกติ ผู้คนเดินทางสัญจรไม่หวาดหวั่นคนรอบข้าง มีนักท่องเที่ยวแดนไกลหอบเงินเป็นปึกมาใช้จ่ายเมืองไทย…ทั้งคิดและฝันยิ่งอยากไปให้ถึงโดยเร็ว อาจเป็นเดือนพฤษภาคม หรือเดือนถัดไปต่อเนื่อง หรือคงรอปีหน้า ความหวังคงเป็นจริงขึ้น

ความหวังแบบนี้ เกิดขึ้นดาษดื่นเหมือนกันทุกคน ไม่ว่าฝ่ายค้านและซีกรัฐบาล ส่วนทางเดินไปบรรลุเป้าหมายดีๆ นั้น กลับแตกต่างกันตามบทบาทการเมือง บางพวกตำหนิว่ากล่าว มักเน้นวิธีดุจ “สงครามสร้างสันติภาพ” ส่วนรัฐบาลมุ่งเดินบนทาง “ขอสงบ เน้นร่วมมือ ปลุกสามัคคีเป็นพลังฝ่าฟันโควิด”…แล้วความยุ่งเหยิงจึงถูกคลี่ให้เห็นภาพคำตอบมวลกลาง คือ “วัคซีน” จะทำให้ทุกสิ่งอย่างพลิกกลับมาฟื้นตัวได้อีกในอนาคตช่วงเวลานับปี ไม่ใช่รอแค่พ้นเดือนต่อเดือน

ในยามนี้ “วัคซีน”เป็นศูนย์กลางเดียวของความหวังต่อการสร้างความมั่นใจในสังคม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศจัดหาวัคซีน โดยวางเป้าถึง 100 ล้านโดสเพื่อฉีดฟรีให้ประชาชนวันละ 300,000 โดส ประเมินว่า ภายในสิ้นปี 2564 จะสามารถฉีดได้ 70% ของประชากรไทย ซึ่งเพียงพอต่อการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” ให้เป็นเกราะป้องกัน ต้านทาน ยับยั้งการแพร่เชื้อโควิดให้ลดอิทธิฤทธิ์ แผ่วรุนแรงน้อยลง…

แล้วมีคำถามเพื่อความมั่นใจ แบบแบ่งปันกำลังใจให้กันว่า ท่านทำได้หรือ? รัฐบาลมีองคาพยพพอหรือ? และจัดหาเตรียมวัคซีนไว้เพียงพอได้แล้วหรือ?

 

แน่ละ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำย่อมบอกถึงความมั่นใจ ขณะที่ภาคส่วนอุตสาหกรรมเอกชนตอกย้ำความเชื่อมั่นอีกครั้งว่า รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนหลากหลายยี่ห้อ ทั้งไฟเซอร์ของสหรัฐ ชิโนฟาร์มจากจีน จอห์นสันแอนด์จอห์นสันจากสหรัฐ สปุคนิกของรัสเซีย และ โมเดอร์นาจากสหรัฐ มาเพิ่มอีกประมาณ 35 ล้านโดส

 

ดังนั้น เมื่อมาร่วมกับกับวัคซีนแอสตราชิเนกาที่ผลิตในไทยและรัฐบาลลงนามสั่งซื้อไว้แล้ว 63 ล้านโดส บวกกับซื้อวัคซีนแก้ขัดจากซิโนแวค ที่ส่งมาไทยแล้วจำนวน 2.5 ล้านโดส ถ้านำผสมรวมปริมาณกับเอสตราฯ ที่ส่งมาแล้วประมาณ 1.2 แสนโดส ทำให้ยอดสะสมทะลุไป 100 ล้านโดสตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ ตั้งเป้าการจัดหาไว้

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลยังเปิดไฟเขียวให้โรงพยาบาลเอกชนจัดหาวัคซีนทางเลือกมาบริการผู้ป่วยได้ด้วย ยิ่งเสริมให้มีวัคซีนเพียงพอ จนมองเห็นความหวัง “ภูมิคุ้มกันหมู่” อาจจะเกิดขึ้นสิ้นปีนี้ ดังนั้น นับแต่เดือนพฤษภาคมไป “วัคซีน”เท่ากับแบกรับความมั่นใจของสังคมไว้อย่างสำคัญ และในยามวิกฤตการระบาดโควิด-19 ผู้คนเน้น ความมั่นใจ” ที่จะทำให้ชีวิตกลับมาปกติ คือสิ่งมีคุณค่ามากการถามหา“ประสิทธิภาพ”ของตัววัคซีน

 

-3-

ว่าก็ว่าเถอะ หากเชื่อมั่นวัคซีน 100 ล้านโดสมีพร้อม แล้วรัฐบาลมีศักยภาพการฉีดให้ได้วันละ 300,000 โดส เพื่อครอบคลุมประชากร 70% ภายในสิ้นปี 2564 หรือไม่? …และจะฉีดกันอย่างไรเพื่อไปให้ถึงความต้องการสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่”

อาจเป็นจริงตามคำคมที่ว่า “ในวิกฤตย่อมมีโอกาสเสมอ” เพราะนายทุนผู้ประกอบการใหญ่ ทั้งในนามสมาคมเอกชนได้มาร่วมมือกับภาครัฐ เปิดพื้นที่ห้างสรรพสินค้าหลายแห่งเพื่อรองรับให้รัฐบาลระดมฉีดวัคซีนให้ประชาชน โดยงานใหญ่จะเริ่มในเดือนมิถุนายนเป็นต้นไปตามแผนที่วางไว้

ถ้าพื้นที่พร้อม การจัดการพร้อม แล้วจะฉีดอย่างไรจึงจะได้ตามเป้าหมาย เพราะปัจจุบันตั้งแต่รัฐบาลตื่นตัวจากการระบาดโควิดรอบสองที่สมุทรสาคร ได้เริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ถึงสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา มียอดสะสมฉีดแล้ว 1,411,614 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 1,075,756 โดส และเข็มสองจำนวน 335,855 โดส ซึ่งเฉลี่ยฉีดได้ประมาณ 24,000 โดสต่อวัน

ดังนั้น การฉีดให้ได้ 100 ล้านโดสตั้งแต่เดือนมิถุนายน-เดือนธันวาคม 2564 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่า จะต้องฉีดให้ได้วันละ 5 แสน ถึง 1 ล้านโดส ซึ่งไม่ใช่แค่ตัวเลข 300,000 โดสต่อวันตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ คาดการณ์ไว้

รัฐบาลจะทำได้หรือไม่ ความมั่นใจที่จะมากับการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ด้วยการฉีดวัคซีน 100 ล้านโดส ในประชาชากร 70% ของไทยนั้น จะเป็นจริงในสิ้นปี 2564 หรือไม่ เพราะสิ่งนี้เป็นความหวังเดียวในยามนี้ของสังคม

ความหวังที่จะมีชีวิตรอดจากโควิดระบาด…ความหวังที่จะทำงานหาเลี้ยงปากท้องได้เป็นปกติ และความหวังที่จะพลิกฟื้น ฉุดดึงเศรษฐกิจจากตกดิ่งทรุดลงก้นเหวให้โงหัวขึ้นมา

ความหวังที่ร้านขายค้า ร้านอาหาร พนักงาน โรงแรม กลุ่มท่องเที่ยวทั้งแบบธรรมชาติและซึมซับวัฒนธรรมชุมชน จะได้มีชีวิตคึกคัก มีเม็ดเงินค่อยๆงอกขึ้นหล่อเลี้ยงชุมชนฐานราก ดังนั้น ความหวังเหล่านี้ ล้วนอยู่ที่การฉีดวัคซีนเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่น ไม่ใช่แค่ใส่แมสก์และล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์ แล้วจะปลุกความมั่นใจที่แผ่วผวาแทบหมดสิ้นไป

ความหวังกำลังเกิดขึ้น เมื่อสังคมเริ่มตระหนักถึงความร่วมมือ ภาคเอกชนและรัฐบาลเริ่มหารือกันถี่ขึ้นนั่นเท่ากับก่อตัวกันเป็น “เบ้าหลอมพลัง” ที่ทุกภาคระดมแรงคิด สละพื้นที่มาแบ่งปันสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกิดขึ้นในสังคม…การแบ่งปันเป็นวิถีสำคัญในการสร้างสังคมสัมมาชีพหลังโควิด-19 คลี่คลายตัวลง

 

ว่าแต่รัฐบาลจะเอาตัวรอดจากมรสุมการเมืองรุมทึ้ง แล้วอยู่ถึงสังคมหลังโควิด-19 หรือไม่???

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

Back To Top