skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
ภูแลนคา : ไฟป่า-ไฟคน

ภูแลนคา : ไฟป่า-ไฟคน

ภูแลนคา: ไฟป่า-ไฟคน สัมพันธ์ชุมชนปรับตัวควบคุม

 

ทุกหน้าแล้งในเดือนมีนาคมกับเมษายนของทุกปี มักเกิดไฟป่าลุกโหมเผาไหม้ หมอกควันลอยฟุ้งปลิวลามสู่คนเมือง โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและอีสานช่วงนี้จะสูดดมอากาศไม่สะอาด ตามด้วยเสียงเอะอะโวยวายของรัฐผุดพุ่งเป้ากล่าวโทษประชาชนเผาป่าเป็นปกติวิสัย

 

แต่ไฟป่ายังเกิดขึ้นเสมอในช่วงหน้าแล้งยามอากาศร้อน ต้นไม้ผลัดใบสีสนิมแห้งหล่น ถมทับเป็นเชื้อเพลิงธรรมชาติ วัฎจักรป่าเขาเป็นเช่นนี้ และเป็นวิถีที่ควรเป็นมาเนินนาน กระทั่งรัฐเข้ามาจัดการควบคุมป้องกันตามแบบ“คู่ตรงข้าม” ภายใต้กรอบแนวคิด“ธรรมชาตินิยม”ของสังคมสมัยใหม่ โดยแยกคนออกจากป่า ขีดเส้นแบ่งพื้นที่ชาวบ้านกับพื้นที่ป่าไม้และอุทยานแห่งชาติ ห้ามคนเข้าป่าบุกรุกป้องกันสุมก่อ“ไฟคน”เข้าแทนที่“ไฟป่า” แล้วความสัมพันธ์คนพึ่งป่าก็เปลี่ยนไป รัฐขัดแย้งกับชาวบ้านที่พยายามใช้ผืนป่าเป็นแหล่งอาหารดำรงชีวิตตามที่เคยเป็นมา

 

เมื่อแนวคิดจัดการแบบคู่ตรงข้ามเข้ามาแทนที่ระบบนิเวศไฟป่า ซึ่งวิธีคิดแบบนิเวศไฟป่ามองว่า ไฟป่าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีการผลิตมาช้านาน อีกอย่างไฟป่ามีความหมายกับชาวบ้านในแง่การเอื้ออำนวยประโยชน์ เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ชาวบ้านมีไฟเป็นส่วนประกอบ เช่น ใช้ไฟกระตุ้นของป่า ไฟเพื่อจัดการทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ไฟในการแปรรูปไม้และการเผาถ่าน ไฟกับการจัดการพื้นที่เกษตร รวมถึงใช้ไฟจัดการสัตว์ดุร้ายในป่า…แต่ปัจจุบันไฟในป่าถูกนิยามให้เป็น“ภัย”คุกคามวิถีชีวิตเศรษฐกิจของคนเมือง

มีรายงานระบุสถิติพื้นที่ป่าถูกไฟไหม้รวมทั้งประเทศสะสมตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 จนถึงวันที่ 23 เมษายน 2563 อยู่ที่ 170,835 ไร่ โดยพื้นที่กว่า 75% อยู่ในภาคเหนือ จนเกิดปัญหาหมอกควันและฝุ่น PM 2.5 ปกคลุมทั่วพื้นที่เชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง

 

ส่วนรัฐจัดงบประมาณปี 2563 ประมาณ 720 ล้านบาทเพื่อควบคุมและดับไฟไม่ให้ลุกลามกระทบเศรษฐกิจคนเมืองผู้ไม่เผาป่า นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินเบื้องต้นว่า ในปี 2563 ต้นทุนค่าเสียโอกาสทางเศรษฐกิจจากเหตุไฟไหม้ป่า คิดเป็นมูลค่าประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาท แน่นอนผลกระทบหลักจะตกหนักอยู่ที่ภาคการบริการและท่องเที่ยว ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุดในโครงสร้างเศรษฐกิจภาคเหนือราว 54%

 

ขณะเดียวกันกรมป่าไม้ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายของป่าไม้จากไฟไหม้ป่าไว้เฉลี่ยไร่ละ 7,871 บาท แยกเป็นป่าเต็งรังเฉลี่ยไร่ละ 6,178 บาท และป่าเบญจพรรณเฉลี่ยไร่ละ 9,564 บาท  เมื่อนำมาคิดคำนวณกับขนาดพื้นที่ถูกไฟไหม้ของประเทศไทยในแต่ละปีแล้ว ทำให้เห็นว่าไฟป่าสร้างความเสียหายอยู่ไม่น้อย

 

ไฟป่าเต็งรังและหญ้าเพ็ก

เทือกเขาภูแลนคา ประกอบไปด้วยอุทยานแห่ง 3 อุทยาน คือ อุทยานแห่งชาติภูแลนคา อุทยานแห่งชาติตาดโตนและอุทยานแห่งชาติไทรทอง เนื่องจากระบบนิเวศของเทือกเขาภูแลนคามีไฟป่าเป็นองค์ประกอบ เพราะส่วนใหญ่พื้นที่ป่าปกคลุมไปด้วยป่าเต็งรัง ซึ่งเป็นแหล่งสะสมเชื้อเพลิงในหน้าแล้งอย่างดี

 

นายศิริ อัคคะอัคร นักวิชาการกรมป่าไม้ ที่มีชื่อเสียงด้านการจัดการไฟป่า สรุปข้อมูลช่วงฤดูไฟป่าอยู่ระหว่างเดือนธันวาคมถึงเดือนพฤษภาคม ไฟป่าอันตรายที่สุดในเดือนมีนาคม ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในฤดูแล้งเพียงตัวเดียวที่มีอิทธิพลต่อความรุนแรงของไฟป่า

 

กล่าวเฉพาะไฟป่าในเขตเทือกเขาภูแลนคา เป็นไฟป่าประเภทไฟผิวดิน มีความสูงของเปลวไฟประมาณ 1-3 เมตร นับว่าเป็นไฟป่าที่เกิดขึ้นเป็นส่วนใหญ่ของประเทศไทย ไฟผิวดินมีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับไฟป่าอีก 2 ประเภท คือ ไฟเรือนยอดและไฟใต้ดิน

 

เทือกเขาภูแลนคามีเชื้อเพลิงเกิดไฟป่าที่สำคัญ คือ หญ้าเพ็ก เป็นพรรณไม้ที่เติบโตได้ดีในสภาพป่าเต็งรังที่มีความแห้งแล้ง ดินตื้น วงจรชีวิตของเพ็กจะเริ่มแตกยอดอ่อนตั้งแต่หน้าแล้งราวเดือนเมษายนและเติบโตเต็มที่ในหน้าฝน ใบเพ็กจะเขียวชอุ่มตลอดทั่วทั้งป่า และเมื่อเริ่มแก่ใบแห้งเหี่ยวในหน้าแล้งช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ผสมภูมิอากาศร้อนแห้งการสะสมไฟป่าธรรมชาติย่อมเกิดขึ้น แต่หลังไฟไหม้ป่า เพ็กสามารถแตกยอดใหม่ได้อย่างรวดเร็วราว 1-2 สัปดาห์ ดังนั้นความรุนแรงของไฟป่า ขึ้นอยู่กับความหนาแน่นและความต่อเนื่องของเพ็ก ผสมกับมีลมแรงพัดแตนไฟ-สะเก็ดเพลิงปลิวว่อนขยายลุกไหม้และบางครั้งลมพัดแตนไฟลอยเข้าถึงหมู่บ้าน

 

เพ็กจึงถือว่าเป็นพืชดัชนีชี้วัดลักษณะของป่าไม้เต็งรังที่เกิดอุดมสมบูรณ์ในป่าภาคเหนือและอีสาน กล่าวคือ เพ็กจะเกิดหนาแน่นเป็นพืชชั้นล่างของป่าเต็งรังซึ่งเป็นป่าผลัดใบในหน้าแล้ง และไม่ปรากฏเพ็กในป่าดิบแล้ง เช่นป่าในภาคใต้ ดังนั้นป่าเต็งรังบางพื้นที่มีไฟป่าไหม้เป็นประจำทำให้การเจริญเติบโตทดแทนของกล้าไม้ต่ำ แต่ต้นเพ็กจะสามารถเจริญเติบโตทดแทนได้ดีกว่า

 

ข้อมูลสถานีควบคุมไฟป่าตาดโตน-ภูแลนคา ระบุว่า ในป่าเต็งรังหลังเกิดไฟไหม้ จะมีเถ้าถ่านเชื้อเพลิงบนพื้นดินป่าไม้ เถ้าถ่านเหล่านี้อุดมไปด้วยธาตุอาหารแก่ต้นไม้ แล้วจะมีการหมุนเวียนธาตุอาหารในดินอย่างรวดเร็ว

 

เจ้าหน้าที่สถานีฯ ระบุไว้ว่า จากการสำรวจในป่าเต็งรังของเทือกเขาภูแลนคาช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2561 หลังจากเกิดไฟไหม้ป่า 2 สัปดาห์ ปรากฏว่ามีต้นไม้ที่กำลังงอกออกมาจากใต้ดิน เป็นลูกไม้เล็กๆ ขนาดตั้งแต่ 5-20 เซนติเมตร ต้นไม้เหล่านี้มีศักยภาพในการปรับตัวได้ดีหลังไฟป่า โดยงอกต้นใหม่จากส่วนที่มีชีวิตในดิน เช่น ต้นรัง ต้นเต็ง ต้นกุงหรือพลวง ต้นพะยอม ผักหวาน ต้นเพ็ก และต้นประดู่…นี่คือวัฎจักรป่าได้ผลิตสร้างแหล่งอาหารและหมุนเวียนให้คนพึ่งพิงดำรงชีวิตเป็นฤดูต่อฤดู

 

 

ไฟคนบนเทือกเขาภูแลนคา

เมื่อสถานีควบคุมไฟป่ากับชุดความรู้วิทยาศาสตร์เข้ามาจัดการผืนป่าภูแลนคา ส่งผลต่อความหมายไฟป่าเปลี่ยนไปจากเครื่องมือผลิตสู่ภัยคุกความความมั่นคงของผู้คนอื่นผู้ไม่เผาป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ขณะที่การป้องกันไฟป่าของหน่วยงานรัฐเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ การใช้ประโยชน์จากป่าของชาวบ้านยิ่งถูกจำกัดมากยิ่งขึ้นเช่นเดียวกัน

สถานีควบคุมไฟป่าตาดโตน-ภูแลนคา ระบุสถิติไฟป่าในเขตเทือกเขาภูแลนคาไว้ว่า ส่วนใหญ่จากมากสู่น้อยมาจากการล่าสัตว์ การหาของป่า การเลี้ยงสัตว์ และการเผาไร่ แต่มีแนวโน้มลดลงทั้งด้านจำนวนและพื้นที่เสียหาย โดยข้อมูลบ่งชี้ว่า ปี 2558 ไฟป่าก่อความเสียหายพื้นที่ป่าจำนวน 2,346 ไร่ แล้วเสียหายเพิ่มขึ้นในปี 2559 เป็น 2,515 ไร่ แต่ในปี 2560 ลดเหลือเพียง 1,155 ไร่

 

หากแยกประเภทกิจกรรมการเกิดไฟป่าแล้วสัดส่วนการล่าสัตว์กับหาของป่าสร้างความเสียหายให้มากที่สุด คือ ในปี 2558 การล่าสัตว์กับหาของป่าก่อเกิดไฟป่ารวม 1,610 ไร่ ในปี 2559 จำนวน 1,698 ไร่ และในปี 2560 จำนวน 640 ไร่ ส่วนการเผาไร่เตรียมพื้นที่เพาะปลูกอ้อย มันสำปะหลังและปอ ทำให้เกิดความเสียหายน้อยที่สุด โดยในปี 2558-2560 พื้นที่ป่าเสียหายจากเผาไร่มีเพียง 434 ไร่เท่านั้น

 

จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนได้ว่า คนกับป่าสัมพันธ์กัน โดยคนพึ่งพาอาศัยป่าเป็นแหล่งเลี้ยงชีพในหน้าแล้ง ในป่ามีแหล่งอาหาร มีสัตว์ป่า มีผักหวานป่า เห็ดป่าชนิดต่างๆ ดอกกระเจียว หน่อไม้ แมลงชนิดต่างๆ เป็นต้น และมีทุ่งเพ็กโล่งเหมาะกับการเลี้ยงวัวภูเขา และที่สำคัญยังมีการลักลอบตัดไม้ตามใบสั่งความต้องการของคนเมืองคนไม่เผาป่า

 

ดังนั้นพื้นที่ป่าย่อมมาพร้อมกับไฟคนก่อเผาไหม้สร้างความเสียหาย ซึ่งเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านบริเวณเทือกเขาภูแลนคา ด้วยเหตุนี้ ชาวบ้านนอกจากพึ่งพิงป่า ยังคือคน“ผู้ประมาท”ก่อคุกคามความมั่นคงสมบูรณ์ของป่าตามทัศนะคนเมืองและรัฐที่มาพร้อมหลักคิดแบบธรรมชาตินิยม

 

อย่างไรก็ตาม แม้ธรรมชาติคืนชีวิตอุดมสมบูรณ์ให้ป่า แต่คนยังเป็นผู้รุกรานผืนป่าเป็นหลัก หากคนทำกิจกรรมในป่าอย่างประมาท ไฟคนย่อมทำให้เกิดไฟป่าลุกโหมเพลิงไหม้ป่าแผ่ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ อีกทั้งถ้าความประมาทของคนยังดำรงอยู่ ขาดรู้สึกรู้สาไม่มีการควบคุม ไฟคนจะทำให้ไฟป่าเกิดถี่ขึ้นซ้ำๆ และแหล่งอาหารในป่าเต็งรังยากจะมีเวลาได้ฟื้นตัว แล้วป่าสมบูรณ์ย่อมแปรสภาพเป็นป่าเสื่อมโทรม ดังนั้นกระบวนการบริหาร จัดการ ควบคุมเพื่อดับไฟประมาทในใจคนจึงเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ

สัมพันธ์ประสานจัดการ

หลังจากรัฐเข้ามาจัดการไฟป่าในเขตเทือกเขาภูแลนคา มีการตั้งสถานีควบคุมไฟป่าตาดโตน-ภูแลนคาเมื่อปี 2540 เพื่อเป็นหน่วยงานหลักในการควบคุมไฟป่า โดยแบ่งกำลังเป็น“ชุดดับไฟ” หรือ “หมู่ดับไฟ”

 

นอกจากนี้ สถานีฯยังให้ความรู้เรื่องไฟป่า การควบคุมไฟป่า และหมอกควัน อีกทั้งเป็นตัวแทนของรัฐในการถ่ายทอดชุดความรู้ไฟป่าให้กับองค์กรท้องถิ่น โรงเรียน รวมถึงฝึกชาวบ้านเพื่อสร้างเครือข่าย “อาสาสมัครป้องกันไฟป่า”ขึ้น

มีข้อมูลระบุถึงระดับรับผิดชอบและควบคุมไฟป่าว่า ไฟป่าเทือกเขาภูแลนคา อยู่ในขั้นปกติสถานีฯสามารถควบคุมได้ คือ มีไฟป่าไหม้ทุกปีในพื้นที่ไม่ถึง 100 ไร่ แต่ละครั้งกินเวลา 1-3 วัน แต่ในบางปีมีไฟรุนแรงไหม้กินพื้นที่กว่า 100 ไร่ ผู้ว่าราชการจังหวัดจะลงมาสั่งการโดยตนเอง แต่ถ้าหากไฟป่าไหม้ยาวนานเกิน 7 วันและไหม้สร้างความเสียหายมากกว่า 100 ไร่ ถือว่าเข้าขั้นวิกฤติ จะมีการสั่งการจากอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ

 

อีกอย่าง เมื่อไฟรุนแรงหรืออาจเข้าขั้นวิกฤติ จะมีความร่วมมือจากหน่วยงานต่างๆ คือ อุทยานแห่งชาติตาดโตน หน่วยจัดการต้นน้ำลำปะทาว ชีรอง องค์การบริหารส่วนตำบลต่างๆ อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เจ้าหน้าที่ป่าไม้จากฐานปฏิบัติการอู่ตะเภา และกองกำลังอาสารักษาดินแดน เป็นต้น มาช่วยกันควบคุมไฟป่าให้เร็วที่สุดและเสียหายน้อยที่สุด

 

การเตรียมการรับมือไฟป่าจะมีแผนอย่างเป็นระบบในการปฏิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดไฟป่า ระหว่างเกิดไฟป่า หลังเกิดไฟป่า ซึ่งก่อนเกิดไฟป่าจะเริ่มทำแนวกันไฟ คือ แนวกันไฟป่าตามผิวดินและแนวกันไฟป่าป่าเปียก โดยแนวกันไฟผิวดินจะถางพื้นดินในป่าให้ถึงหน้าดินกว้าง 9 เมตรใช้แรงงานคนของสถานีฯ มีเครื่องมือที่สำคัญ คือ เครื่องตัดหญ้า ไม้กวาด และเครื่องเป่าลม เป็นแนวกันไฟรอบๆแนวรอยต่อป่าภูแลนคากับชุมชน ความยาวกว่า 230 กิโลเมตร ส่วนแนวกันไฟป่าเปียก เป็นการเลือกพรรณไม้ “ไม่ผลัดใบ” มาปลูกเป็นแนวกันไฟหรือชะลอไฟ เช่น กล้วยป่า สะเดาช้าง เป็นต้น โดยปลูกในพื้นที่ที่มีความชื้นเพียงพอ

 

นอกจากการทำแนวกันไฟแล้ว การ“ชิงเผา”เป็นอีกทางเลือกกับพื้นที่เสี่ยงต่อไฟป่าเพื่อลดความรุนแรงโดยทำลายเชื้อเพลิงก่อนจะเข้าสู่ฤดูไฟป่า และยังช่วยรักษาโครงสร้างของป่าเต็งรังให้ดำรงอยู่และสามารถสืบต่อพันธุ์ไม้ได้

 

การชิงเผาเป็นวิธีการป้องกันไฟป่าที่ถูกจัดให้อยู่ในลำดับท้ายๆของการป้องกันไฟป่าในเขตเทือกเขาภูแลนคา เนื่องจากเหตุผลด้านข้อจำกัดของความรู้วิชาการและประสบการณ์ในการชิงเผาในประเทศไทยยังน้อย ต้องอาศัยประสบการณ์ การคาดการณ์ และทักษะของผู้ปฏิบัติงานอย่างมากในการกำหนดขอบเขตการชิงเผา การกำหนดช่วงเวลาในการชิงเผา

ชุมชนปรับตัว: จากเป็น“ภัย”สู่ผู้ควบคุม

จากสถิติไฟป่าที่เกิดขึ้น มีสาเหตุมาจากการหาของป่าและการเลี้ยงวัวเป็นส่วนใหญ่ เพราะเกี่ยวข้องกับวีถีชีวิตชาวบ้าน จึงทำให้สถานีควบคุมไฟป่าฯ สนใจคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ แม้ว่าคนกลุ่มนี้เป็นปัจจัยเกิดไฟคนจะมีจำนวนลดลง แต่ยังเชื่อว่าเป็นที่มาของไฟป่า เพราะอาชีพที่ถูกมองว่าเป็นสาเหตุที่เกี่ยวกับไฟป่าเทือกเขาภูแลนคา คือ การเก็บผักหวาน หาของป่า และการเลี้ยงวัว มีความเกี่ยวข้องกับไฟป่าเป็นลำดับต้นๆ

 

การปรับตัวเริ่มขึ้นด้วยการจัดการ “จำกัด”ของสถานีควบคุมไฟฟ่าฯ ออกบัตรอาสาพิทักษ์อุทยานแห่งชาติตาดโตน ที่อนุญาตให้ชาวบ้านสามารถเก็บหาของป่าได้ แต่ต้องช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลป่าจากการลักลอบตัดไม้และเผาป่า ชาวบ้านเรียกบัตรนี้ว่า “บัตรเก็บเห็ด”

 

รวมถึง การปรับตัวของคนชุมชนที่เข้าป่าเก็บผักหวานป่า มาเป็นปลูกผักหวานเอง ในรูปแบบของสวนผักหวานเพื่อสร้างผลผลิตสินค้าเกษตรกรรม และสามารถขายสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอย่างเป็นกอบเป็นกำ เช่นสวนผักหวานของชาวบ้านซับสมบูรณ์ ตำบลห้วยไร อำเภอคอนสวรรค์ ชัยภูมิ ซึ่งดูแลโดยให้น้ำผ่านระบบน้ำหยด มีการตัดแต่งกิ่ง ใส่ปุ๋ยบำรุงดิน และฉีดพ่นปุ๋ยน้ำหมักจากซากอินทรีย์ เริ่มเก็บผลผลิตยอดอ่อนในพื้นที่ 5 ไร่ ได้ประมาณวันละ 10 กิโลกรัม เก็บตั้งแต่ตีสี่ถึงหกโมงเช้า แล้วน้ำพรมนำไปวางขายตลาดชุมชนกิโลกรัมละ 150-240 บาท

 

ไม่เพียงแค่ปรับตัวทางอาชีพเท่านั้น ชาวบ้านมีส่วนเกิดกระบวนการดับไฟในใจคนด้วย โดยปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากคนถูกมองว่า เป็น “ภัย”คุกคามป่า มาอาสาสมัครเป็นพนักงานควบคุมป่า ซึ่งสถานีฯ จะรับสมัครคนเพิ่มประมาณปีละ 60 คน โดยมีสัญญา 4-6 เดือน โดยเลือกรับสมัครชาวบ้านในท้องถิ่น ซึ่งต้องมีสุขภาพแข็งแรง มีค่าจ้างเดือนละ 7,200 บาท เพื่อมาฝึกควบคุมไฟป่าในฤดูไฟป่า รับผิดชอบต่อพื้นที่ 65,200 ไร่ การทำงานแต่ละครั้งเป็นทีม เรียกว่า “ชุดควบคุมไฟป่า” ชุดละ 22 คน โดยมีอุปกรณ์ คือ ไม้ตบไฟ ครอบเหล็ก (ลาโค่) และถังฉีดน้ำพลาสติกแบบพกพา

กระบวนการดับไฟในใจคนไม่ง่ายเหมือนการเปลี่ยนวัตถุสิ่งของแบบโละของเก่า เอาสิ่งใหม่มาแทนที่ แต่ในกระบวนการเชิงจิตใจเช่นนี้ จึงมีทั้งการเชื่อมประสานปรับตัวจากหน่วยงานรัฐเข้าหาชาวบ้านเพื่อสืบสานวิถีชีวิตคนพึ่งพาป่าเป็นแหล่งอาชีพ ดังนั้น การปรับตัวของรัฐส่วนหนึ่งจึงสะท้อนออกมาที่ทำ “บัตรเก็บเห็ด” ให้ชาวบ้านเข้าป่าได้ อีกทั้งการรับสมัครอาสาป้องกันไฟป่าเท่ากับหลีกเลียงการปะทะขัดแย้งรุนแรง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการเกิดไฟคนเผาป่าเช่นกัน

 

ประกอบกับการรณรงค์จากสถานีควบคุมไฟป่า องค์กรท้องถิ่น ตัวแทนหน่วยงานรัฐในพื้นที่ โรงเรียน กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อชวนชาวบ้านเข้าร่วมบริหารจัดการ ควบคุมไฟป่าจากการกระทำของไฟคนด้วยกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดในอดีต ยิ่งเพิ่มตอกย้ำให้การปรับตัวเชิงวิธีคิดและจิตใจได้มองเห็นคุณค่าป่า และการมีสิทธิที่ทำกินในรูปแบบไม่แตกต่างจากวิถีผืนป่าชุมชนของชาวบ้าน

 

ดังนั้น วิถีแบบป่าชุมชน อาจเป็นหมุดหมายให้เกิดความหวงแหนผืนป่า สะท้อนถึงเป็นทรัพย์สินส่วนรวมมาเหนียวนำควบคุมและป้องกัน“ไฟคน-ไฟป่า”ไม่ให้ลุกลาม ก่อหมอกควันไปกระทบคนเมืองผู้ไม่เผาป่า (?)….แน่ละ อาจเป็นจริงของชาวบ้านที่ว่า “ถ้าเป็นที่ของเราเองใครจะปล่อยให้ไฟไหม้”

 

ไม่มีภาพกิจกรรม

ไม่มีวิดีโอ

Back To Top