12 ปีมูลนิธิสัมมาชีพ มุ่งมั่นสู่ผู้ประกอบการชุมชน
12 ปีมูลนิธิสัมมาชีพ
มุ่งมั่นสู่ผู้ประกอบการชุมชน
กว่าจะมาถึงเวลาหนึ่งโหล หรือ 12 ปีในปี 2564 นี้ มูลนิธิสัมมาชีพมุ่งถางทางสร้างทางเลือกทางออกของชุมชนทีละก้าวตามกรอบคิดวิถีชุมชนของ นพ.ประเวศ วะสี ผสมผสานเข้ากับธุรกิจตลาดของ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ แล้วกลายรูปสู่ “เศรษฐกิจฐานราก” เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ พร้อมถอดรื้อระบบสังคมรวยกระจุก จนกระจาย แล้วสร้างวิถีใหม่ให้ชุมชนพึ่งพาตนเอง
ราวๆ ทศวรรษ พ.ศ. 2540 วิถีเศรษฐกิจฐานรากเริ่มก่อตัวขึ้น โดยเน้นกระบวนการขับเคลื่อนแบบ “บนลงล่าง” คือรัฐนำพา ชุมชนทำตาม จุดเริ่มของแนวคิดนี้ต่อยอดจากปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง แล้วปรับตัวไปเป็นระบบเศรษฐกิจชุมชนท้องถิ่นช่วยเหลือเอื้อเฟื้อซึ่งกันและกัน มีคุณธรรม และเอื้อให้เกิดการพัฒนาทุกด้านในสังคม ทั้งผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม รวมทั้งอยู่ร่วมกับทรัพยากรธรรมชาติอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน
ดังนั้น เศรษฐกิจฐานรากจึงมีหลักการสำคัญอยู่ที่ “ชุมชนลงมือทำ เอกชนขับเคลื่อน รัฐบาลสนับสนุน” เมื่อเติมแนวคิดแบบสัมมาชีพผสมส่วนด้วย ย่อมกลายเป็นระบบเศรษฐกิจจริยธรรมเพื่อชุมชนประกอบอาชีพ ที่ลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยึดมั่นประหยัดมีรายจ่ายน้อยกว่ารายได้ ซึ่งเน้นทางเช่นนี้จำนำพาให้เป้าหมายชุมชนได้พึ่งพาตนเองอย่างสมบูรณ์ขึ้น
ย้อนไปเมื่อปี 2552 มูลนิธิสัมมาชีพก่อตั้งขึ้น โดยหวังเป็นแกนกลางประสานธุรกิจเอกชนนำวิทยาการ เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเชื่อมร้อยรัดกับภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วออกแบบเศรษฐกิจจริยธรรมมาหนุนเกื้อชุมชนให้อยู่เย็นเป็นสุขตามสภาพสังคมชนบทที่ดิ้นรนหนีความไม่แน่นอนของกลไกตลาดทุนนิยมเข้มข้นที่บงการด้วย “มือที่มองไม่เห็น”
การก้าวเดินแต่ละปีของมูลนิธิสัมมาชีพมีเป้าหมายไปบรรลุธุรกิจจริยธรรมชุมชนให้มั่งคงและเข้มแข็ง มูลนิธิฯปักฐานสัมมาชีพด้วยโครงการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง หรือหลักสูตร Leadership for
Change (LFC) ต่อเนื่องมา 11 ปีตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของตลาดภายในและต่างประเทศ แล้วยังดำเนินต่อในปีที่ 12 เพื่อนำเสนอทางเลือก ทางรอดในยุคโควิด-19 ระบาดรุนแรงในปัจจุบัน
นอกจากนี้ มูลนิธิสัมมาชีพเชื่อว่า เศรษฐกิจท้องถิ่นจะมีความเข้มแข็งและมีเสถียรภาพได้ จะต้องมีรากฐานวิสาหกิจชุมชนที่เข้มแข็ง เป็นฐานการรวมกลุ่มเพื่อการประกอบการของชุมชน ด้วยเหตุนี้จึงมุ่งเน้นการสร้างผู้ประกอบการชุมชนในพื้นที่ชุมชนทั่วประเทศ ตามแนวคิด “สัมมาชีพเต็มพื้นที่” อีกทั้ง ยังประสานผนึกพลัง 3 ฝ่าย คือ “มูลนิธิ-ชุมชน-เอกชน” มาร่วมมือปั้นระบบ “หนึ่งตำบล หนึ่งบริษัท” ที่กำลังคึกคักเอาจริงเอาจังในขณะนี้
แล้วในปีที่ 12 นี้ ทั่วโลกผจญกับมหันตภัยโควิด-19 กันถ้วนหน้า ด้วยการระบาดของเชื้อโรคร้ายจากสายหันธุ์หนึ่งแล้วกลายพันธุ์ใหม่ๆรุนแรงขึ้น เศรษฐกิจทุกแขนงถูกกระทบจนรวนเร ถดถอยจวนพังพาบ ผู้ประกอบการเมืองเข้าขั้นวิกฤตล้มละลายเป็นทิวแถว
ในอนาคตทางรอดแทบมองเห็นยากเต็มทน แต่โครงการ LFC-12 ยังดำเนินการตามเดิม ในปี 2564 นี้โครงการมุ่งเน้นแนวทางมองไปข้างหน้าอย่างมีความหวัง (Looking Forward) ถึงการเตรียมการรองรับวิถีชีวิต ความพร้อม และมุมมองใหม่ๆ ในการตอบสนองความต้องการที่เปลี่ยนแปลงหลังเกิดโรคระบาดโควิด-19 และมุ่งสร้าง”ผู้นำแห่งอนาคต”(The Future Leaders) ผ่านวิกฤตด้วยสัมมาชีพ
การอบรม LFC-12 อยู่ในกรอบคิด “ผ่านวิกฤตด้วยสัมมาชีพ” ซึ่งสะท้อนถึงการปรับตัวของสังคม ผู้คน วัฒนธรรมการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ แต่ยังยึดมั่นเจตนารมณ์สัมมาชีพอย่างมั่นคง เป็นแนวทางธุรกิจจริยธรรมเพื่อป้องกันและฟื้นฟูรากฐานชีวิตชุมชนให้เข้มแข็งตามเดิม
อย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลามูลนิธิสัมมาชีพ ก่อเกิดมาได้ครบ 12 ปีนี้ ภารกิจของมูลนิธิฯยังก้าวเดินต่อไป แต่จากประสบการณ์ 11 ปีที่ผ่านมา เท่ากับเติมพลังความมั่นใจมากขึ้น เพื่อไปสู่เป้าหมาย “ผู้ประกอบการชุมชนเต็มพื้นที่” เหนืออื่นใดแล้ว มุ่งหวังให้ชุมชนเป็นหลังพิงชีวิตของคนท้องถิ่นในรูปแบบใหม่ที่พัฒนาขึ้นตามสถานการณ์เปลี่ยนแปลงของไทยและโลก
แม้ระบบเศรษฐกิจตลาดทุนนิยม ได้ทะลวงชุมชนท้องถิ่นให้ค่อยๆ ละทิ้งวิถีแบบชาวนา มาเป็นแรงงานรับจ้างในเมือง แต่วิกฤตโควิด-19 ได้ไล่ต้อนให้ผู้คนกลับสู่ท้องถิ่นครั้งใหญ่อย่างสำคัญ ทั้งหนี้การระบาดของโรคโควิด-19 หรือไปซุบกำลังที่เป็นทุกข์จากเศรษฐกิจล้มเหลว ถูกเลิกจ้าง ไม่มีรายได้ยังชีพในสังคมเมือง
ดังนั้นท้องถิ่นจึงเท่ากับปรับวิถี “ชาวนากับเกษตรกร” ให้ผสมส่วนเติมเต็มแก่กันละกัน โดยมูลนิธิฯ หวังว่า กระบวนการใหม่นี้จะทำให้เกิด “ผู้ประกอบการชุมชนเต็มพื้นที่” ได้เร็วขึ้น ซึ่งเรากำลังเดินไปให้บรรลุเป้าหมายตามระบบนี้ร่วมกัน…ในอนาคต
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv