“เที่ยวชุมชน ยลวิถี” บ้านศรีดอนชัย สุดยอดชุมชนต้นแบบวัฒนธรรม
“เที่ยวชุมชน ยลวิถี”
บ้านศรีดอนชัย
สุดยอดชุมชนต้นแบบวัฒนธรรม
“แอ่วบ้านลื้อ แวะซื้อผ้าทอ
เจ้าบ่อคู่บ้าน โอฬารหนองรงค์
มั่นคงสามัคคี ประเพณีงดงาม”
สโลแกนข้างต้นบ่งบอกถึงอัตลักษณ์ การสืบทอดภูมิปัญญามายาวนานของบ้านศรีดอนชัย ต.ศรีดอนชัย อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชนที่กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศให้เป็น 10 สุดยอดชุมชนต้นแบบ “เที่ยวชุมชน ยลวิถี”เป็นชุมชนที่มีศักยภาพและมีความพร้อมด้านการท่องเที่ยวในทุกมิติ เพื่อสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนและชุมชน เสริมสร้างเศรษฐกิจฐานราก ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยแนวทาง “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) ไทย
รัฐบาลพยายามขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจใหม่ พร้อมผลักดัน “ซอฟต์พาวเวอร์”(Soft Power) หรืออำนาจละมุนมาดึงดูด โน้มนำให้ชุมชนมีส่วนร่วม โดยไม่ใช้อำนาจเข้มข้นบังคับข่มขู่ ซึ่งปัจจุบันแนวทางซอฟต์พาวเวอร์ด้าน “ทุนทางวัฒนธรรม” เป็นปัจจัยหนึ่งในการสร้างอิทธิพลต่อความคิดของสังคมและประชาชนให้ต่อยอดสร้างสรรค์สินค้าและบริการ เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้จากการท่องเที่ยว และบริการทางวัฒนธรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมวัฒนธรรมที่มีศักยภาพ ดังนั้น ชุมชนจึงเป็นคำตอบต่อการพลิกฟื้นเศรษฐกิจฐานราก
สมชาย วงศ์ชัย ผู้ใหญ่บ้านฯ บอกว่า บ้านศรีดอนชัย ชาวบ้านทำอาชีพเกษตรกรรมตามฤดูกาล ย่อมมีปัญหารายได้ไม่พอค่าใช้จ่าย ดังนั้นการเป็นชุมชนชาวไทลื้อที่อพยพมาจากสิบสองปันนาเมื่อร้อยกว่าปีก่อน อีกทั้งยังคงรักษาภาษาและแต่งกายด้วยผ้าทอไทลื้อ ยึดมั่นวัฒนธรรมประเพณีโดดเด่นจากสิบสองปันนา ดังนั้น จึงมั่นใจว่า “เที่ยวศรีดอนชัย เหมือนได้ไปสิบสองปันนา”
ด้วยเหตุนี้ภิปัญญา วัฒนธรรมที่สืบทอดกันยาวนาน จึงเข้าข่าย“ซอฟต์พาวเวอร์” ที่กระทรวงวัฒนธรรมผลักดันให้เป็นต้นแบบการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และที่สำคัญ ทุนวัฒนธรรมที่คือ ต้นทุนนำไปสู่การทำท่องเที่ยวเพื่อสร้างรายได้เสริมขึ้นมาจุนเจือปากท้อง ลดความอัตคัดขัดสน
เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือน จะเริ่มสัมผัสวิถีชีวิตแบบไทลื้อตั้งแต่เช้าตรู่ คือ การส่งข้าวพระ เนื่องจากพระไทลือไม่ออกบิณฑบาต ตามที่เคยเห็นปกติในทุกท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้ชาวบ้านจึงนำอาหารถวายพระถึงวัด เพื่อจะได้ออกไปทำงานในท้องทุ่งไร่นา นอกจากนี้ชุมชนยังมีเสน่ห์การพึ่งพาแม่น้ำอิง สายน้ำแห่งวัฒนธรรม เช่น พิธีบวงสรวงศาลเจ้าบ่อ หรือพิธีเข้ากรรมเจ้าบ่อ พิธีสืบชาตา ประเพณี 12 เดือน โดยเฉพา ประเพณี “จุลกฐินถิ่นไทลื้อศรีดอนชัย”
มหาจุลกฐิน ถิ่นไทยลื้อ คือ พิธีปลูกฝ้ายมงคล พิธีกล่อมฝ้ายมงคลหรือใส่ปุ๋ยต้นฝ้าย และพิธีเก็บฝ้ายมงคล โดยชาวบ้านชุมชนศรีดอนชัย จะพร้อมเพรียงกันจะแต่งกายด้วยชุดผ้าทอไทลื้อที่งดงามอลังการร่วมกันเก็บฝ้ายด้วยจิตใจอันบริสุทธิ์ แล้วช่วยกันปั่น ย้อม และถักทออย่างบรรจงออกมาเป็นผ้าจุลกฐินภายในคืนเดียว เรียกว่า ผ้ากฐินทันใจ เพื่อนำมาตัดเย็บเป็นผ้าสบง สังฆาฏิ จีวร อังสะ ทอดถวายในวันรุ่งขึ้นทันที เชื่อกันว่า เป็นพิธีที่มีความศักดิ์สิทธิ์มาก ต้องใช้อิทธิบาท 4 และความสามัคคีร่วมใจของชาวไทลื้อหลายพันคน
สิ่งสำคัญชุมชนศรีดอนชัย ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและโน้มนำความเป็นอยู่ของชาวบ้าน โดยมีวัดท่าข้ามศรีดอนชัย เป็นศูนยกลางทางจิตใจชุมชน มีศูนย์วัฒนธรรมไทลื้อ ศูนย์การเรียนรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น “พิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำ” ที่ “สุริยา วงค์ชัย”ทายาทชาวไทลื้อผู้สืบทอดหัตกรรมผ้าทอของไทลื้อ ก่อตั้งขึ้นเมื่อ 13 พ.ย. 2558 โดยด้านหลังของพิพิธภัณฑ์มี “ซังวาคาเฟ่” เป็นภาษาไทลื้อแปลว่า “อะไร” ให้ไปนั่งชิลชมท้องนา
“ซังวา คาเฟ่” ล้อมรอบธรรมชาติ ทุ่งนา ป่าเขา ลมเย็นพัดกลิ่นมวลดอกไม้ได้สัมผ้สสดชื่น มีสะพานไม้ทอดยาวให้เดินเล่นชมบรรยากาศวิวทิวทัศน์ มีเครื่องดื่มชาแอปเปิ้ล ชาพีช กาแฟ และเค้กอร่อยไว้บริการ ราคาไม่แพง ส่วนภายในร้านมีพิพิธภัณฑ์ไทลื้อ “ลื้อลายคำ” ตกแต่งเป็นเรือนไม้ มีของโบราณหลากหลายในการดำรงชีวิตของชาวบ้าน
ไม่ไกลจากพิพิธภัณฑ์ลื้อลายคำคือ “เฮือนเอื้อยคำ” ที่ผู้คนรู้จักกันในนาม “เฮือนไทลื้อ 100 ปี” เป็นเรือนไม้แบบไทลื้อ เจ้าของคือคุณธนนิตย์ และสหัสชายา นุชเทียน แต่เดิมบ้านหลังนี้ได้เปิดบ้านด้านล่างเป็นร้านค้าของชำแห่งหนึ่งในชุมชน ต่อมาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2554 มีการขยายถนนเป็นสี่ช่องจราจร เจ้าของได้รื้อเพิงร้านค้าด้านหน้าออก ประกอบกับค้าขายไม่สู้จะดีนัก เพราะมีตลาดนัดเข้ามาในชุมชน และมีห้างด้งยักษ์ใหญ่มาตั้งที่เชียงของ จึงหยุดขายของชำ เปลี่ยนไปค้าขายผ้าทอของชุมชนแทน และได้เปิดบ้านด้านล่างโล่งจนเห็นตัวบ้านชัดเจน นอกจากการแสดงของความเป็นสถาปัตยกรรมเฮือนไตแล้ว ภายในบ้านมีการจัดแสดงผ้า สิ่งทอ ผ้าเก่า ผ้าโบราณ อุปกรณ์เก่าที่ใช้ในการทอผ้า เครื่องเรือนใช้สอยในวิถีชีวิตของชาวไทลื้อ และมีผ้าทอจำหน่ายเป็นสินค้า ของฝาก ของที่ระลึกจากชุมชน
ส่วน “ศูนย์เรียนรู้ผ้าทอไทลื้อบ้านแม่ครูดอกแก้ว ธีระโครต” แม่ดอกแก้ว ครูช่างศิลปหัตถกรรม ประจำปี 2557 ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) มีความโดดเด่นในการนำฝ้ายมามัดหมี่และย้อมด้วยสีธรรมชาติ เกิดลวดลายที่มีความละเอียดประณีต อีกทั้งยังได้เรียนรู้กระบวนการผ้าทอไทลื้อศรีดอนไชย “จากเมล็ดฝ้ายสู่ผ้าทอที่วิจิตรงดงาม” ด้วยการนำฝ้ายมามัดหมี่และย้อมด้วยสีธรรมชาติ เกิดลวดลายที่มีความละเอียดประณีต ผ่านกระบวนการทอมือ สร้างลวดลายอันเป็นเอกลักษณ์ จากนั้นนำมาแปรรูปตัดเย็บตามต้องการ
สำหรับการท่องเที่ยวและกิจกรรมให้ผู้มาเยือนได้มีส่วนร่วมในวิถีประจำวันของชุมชน เช่น ทำบุญตักบาตร การบายศรีสู่ขวัญ ทำอาหารพื้นบ้าน งานประดิษฐ์ งานฝีมือ การละเล่น การแสดงพื้นบ้าน ล่องเรือ ล่องแก่ง ปั่นจักรยาน ปลูกข้าว ปลูกป่าชายเลน ฯลฯ รวมทั้งช้อปผลิตภัณฑ์ผ้าทอไทลื้อของชุมชนได้ตลอดทุกวัน ส่วนด้านที่พักแรม มีทั้งโฮมสเตย์ โรงแรม รีสอร์ท รองรับผู้มาเยือนจำนวน 10 แห่งในพื้นที่ชุมชนและใกล้เคียง
นอกจากแหล่งท่องเที่ยวในชุมชนไทลื้อบ้านศรีดอนชัยแล้ว ยังมีเส้นทางท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงไปยังชุมชนอื่นๆ ที่ใกล้เคียงให้ได้ยลวิถีแนวเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์ อิงธรรมชาติ และที่สำคัญเป็นการสร้างรายได้สู่ชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากท้องถิ่นและประเทศหลังในยามโควิดระบาดรุนแรง ยอดคนติดเชื้อพุ่งทยานไม่หยึดหย่อน แต่ทุนวัฒนธรรมชุมชนในนิยามซอฟต์พาวเวอร์ ยังโน้มนำให้ชุมชนอยู่รอดได้
ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:
https://www.facebook.com/sammachiv