skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“เติมคุณภาพ-เพิ่มแปรรูป” ทางรอดทางรุ่งสินค้าอาหาร
Communication chat icon above cityscape in the night light of the city.

“เติมคุณภาพ-เพิ่มแปรรูป” ทางรอดทางรุ่งสินค้าอาหาร

“เติมคุณภาพ-เพิ่มแปรรูป” ทางรอดทางรุ่งสินค้าอาหาร

     นายมงคล ลีลาธรรม ประธานกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) บรรยายหัวข้อ “สินค้าอาหาร ทางรอด ทางรุ่งเศรษฐกิจไทย” ในการอบรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง รุ่นที่ 11 ที่โรงแรม มิราเคิล แกรนด์ เมื่อ 7 พ.ย. ที่ผ่านมา

 

     นายมงคล กล่าวว่า ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม แต่ถ้าพิจารณาภายใต้กรอบคิดการผลิตแบบอุตสาหกรรมอาหารแล้ว กลับมีจีดีพีน้อยมาก คือแค่ 5.5 % ของประเทศ เมื่อไล่เรียงผลผลิตการเกษตรพบว่า เป็นพืชอาหารสำคัญหลายชนิด เช่น ข้าว น้ำตาล ปลาทูน่า มันสำปะหลัง สัปะรด ดังนั้น เมื่อก่อนพืชอาหารเหล่านี้ทำให้ไทยเป็นมหาอำนาจส่งออกของโลก แต่ปัจจุบันถดถอยลง ถูกประเทศอินเดีย เวียดนาม กัมพูชา ขยับแซงข้ามหน้าไป

 

     มีความน่ากังวลว่า เมื่อไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารของโลก แต่ทำไมจีดีพีจึงมีน้อยมาก หากกล่าวกันตามตรงแล้ว ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจาก “ไม่มีปัญญาขายของ” มุ่งแต่ขายสินค้าราคาถูก เน้นส่งออกพืชอาหารตามฤดูของผลผลิต และที่สำคัญคือ ไม่ (เคย) พัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรจากชุมชนฐานรากการผลิตขึ้นมาตามช่วงวิถีการผลิต

     คงเป็นด้วยเหตุนี้ เมื่อโลกเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19  ความต้องการอาหารมีสูงขึ้น ดังนั้น สินค้าอาหารจึงเป็นโอกาส เป็นทางรอด ทางรุ่งของเศรษฐกิจไทย เพราะไทยมีพื้นฐานสินค้าอาหารมั่นคง หลากหลายและสำคัญเป็นที่ต้องการของตลาดโลก

 

     หากกล่าวเฉพาะกิจการเอสเอ็มอีแล้ว ช่วงวิกฤตโควิด-19 ประสบปัญหาหนักหนาสาหัส ดังนั้นในวิกฤตนี้จึงควรปรับตัวและต้องเปลี่ยนโครงสร้างวิถีการผลิตให้ได้ เนื่องจากเชิงข้อมูลระบุถึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอีว่าเกือบ 50% มุ่งมั่นค้าขาย และ 20-30% เป็นกิจการบริการ ส่วนที่เหลือ 20% เป็นภาคการผลิต โดยในจำนวนนี้ผลิตอาหารแค่ 5% แล้วอยู่ในกลุ่มทุนรายใหญ่หมด

 

     การปรับตัวนั้น ต้องเริ่มจากปรับเปลี่ยนการผลิตอาหารของไทยที่เคยทำกันตามลักษณะพื้นฐาน แล้วมุ่งเน้นแนวทางใหม่แบบวิถี“บวกและยกกำลัง” หมายถึงการผลิตที่ทำให้เกิดคุณภาพและเกิดการแปรรูปต่อยอดสู่สินค้ายั่งยืนค้าขายได้ทั้งปีหรือตลอดฤดูผลิตการเกษตร

 

     อีกอย่าง การผลิตอาหารแบบพื้นฐานนั้น หากไม่ได้แปรรูปเป็นอุตสาหกรรม มุ่งส่งออกขายตลาดคนซื้ออย่างเดียว เช่น สหรัฐและจีน ซึ่งมีประชากรมากเกิดการบริโภคเยอะ แต่สินค้าอาหารที่ไทยขายกลับสร้างรายได้ได้น้อย เพราะไม่ได้แปรรูป ทั้งที่สินค้าทุกชนิดสามารถนำมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าได้ถึง 3 เท่าตัว

 

     ส่วนการเพิ่มมูลค่าสินค้านั้น มีหลักยึดให้ไปสู่แนวทางสำคัญ 3 ประการ คือ เริ่มจากชุมชนลงมือผลิตอาหารอินทรีย์ ไม่มีสารเคมีปนเปือน เน้นอาหารแบบสุขภาพและเป็นยารักษา รวมทั้งการแปรรูป เนื่องจากอาหารแบบอินทรีย์จะขายได้ดีมาก โดยตลาดใหญ่อยู่ที่ สหรัฐ และญี่ปุ่น

 

     อีกอย่างสินค้าเพื่อสุขภาพ ประเทศออสเตรเลีย โดดเด่นมาก ซึ่งเกิดจากการปรับตัววิถีการผลิตอุตสาหกรรมรถยนตร์มาสู่ตลาดใหม่ และสุดท้ายคือ ขยับขึ้นสู่ตลาดอาหารใหม่ ดังนั้น การปรับตัวเหล่านี้จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยอย่างมากมาย เมื่อเราอยู่ใกล้ชิดชุมชน ควรต้องเปลี่ยนสายการผลิตใหม่ โดยหาทางให้สินค้าอาหารได้คุณภาพ เอาสารเจือปนออก แล้วแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นรายได้ย้อนสู่ชุมชน

     อย่างไรก็ตาม สินค้าเกษตรเหมาะอย่างยิ่งกับการผลิตแบบ ODM คือ การผลิตขนาดใหญ่สามารถนำพาจีดีพีของประเทศให้สูงขึ้นได้ โดยเริ่มต้นควรคิดถึงโลกจะเปลี่ยนอย่างไร นำเอาความรู้ของโลก พฤติกรรมของโลก และสิ่งที่เป็นประโยชน์จากพืชอาหารมาสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่ม

 

     “การยึดมั่นการผลิตสินค้า Value creation (สินค้าสร้างสรรค์เพิ่มมูลค่า) ในทุกขั้นตอนที่ทำได้หรือทำไม่ได้ จะทำให้ให้ชุมชนแข็งแรง เพราะการผลิตเช่นนี้ บริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น อเมซอน ทำกันแล้ว ดังนั้น การผลิตลักษณะนี้จึงเป็นประโยชน์มากกับพื้นที่ชุมชน เหมือนกับมีทองคำอยู่ใต้ฐานปิรามิด หมายถึง ถ้าทำแล้วสามารถได้กำไรหมด เกิดมูลค่าเพิ่ม สร้างความร่ำรวยอยู่ดีกินดีให้คนที่เกี่ยวข้องได้หมด”

 

     นอกจากนี้ การคิดแบบใหม่ ด้วยการฟื้นภูมิปัญญาเก่ามาผลิตสินค้าอาหาร เช่น ซอส เป็นการแปรรูปเกษตรมาก่อเกิดมูลค่าเพิ่มได้มากมาย เพราะพืชอาหารของไทยมีคุณภาพด้วยห่วงโซการผลิตทางภูมิปัญญาครบครัน ดังนั้น จึงได้ชื่อเป็นสุวรรณภูมิ เป็นทางรอดและทางรุ่งของเศรษฐกิจไทย

     ส่วนการเริ่มต้นเติมภูมิปัญญามาผลิตสินค้าเพิ่มมูลค่านั้น สิ่งสำคัญคือ เดินไปเผชิญกับเหตุ มุ่งลงพื้นที่ สัมผัส GI (จีไอ) คือ ธรรมชาติจะบอกเองว่า อะไรต้องทำอย่างไร เพราะเคล็ดลับได้ผ่านการทดลองทำผิด-ถูก จนกลายเป็นองค์ความรู้ ดังนั้น จึงไม่มีอะไรดีกว่าการสัมผัสธรรมชาติ

 

     วันนี้ไทยมีจีไอครบเกือบหมด คือ มีธรรมชาติเป็นองค์ความรู้ อีกทั้งวิสาหกิจชุมชนมาถูกทาง เพราะเอาสินค้าเกษตรมายกกำลัง คือแปรูป โดยเฉพาะข้าวพื้นเมืองของไทยหลายอย่างหายไป แม้ถูกต่างประเทศนำไปจดทะเบียนลิขสิทธิ์ แต่เราสามารถสืบค้นนำมาเพิ่มมูลค่าได้อย่างสำคัญ เนื่องจากอาหารมีผลกำไรสูง อัตราคืนหนี้จึงมีมาก ด้วยเหตุนี้สินเชื่อจึงเป็นทุนธรรมชาติของแผ่นดินและของชุมชนไทย

 

     “คำว่าทุนคือรายได้ หรือรายได้เป็นที่มาของทุน และทุนจะมีได้ต้องมีทุนจากธรรมชาติ ต้องมีทรัพยากรที่เรียกว่าผลผลิตเกษตรอินทรีย์ แล้วนำมาบวกและยกกำลัง คือเติมการผลิตให้มีคุณภาพและแปรรูป ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องของหลักประกันความเสี่ยง ว่า ให้กู้ได้หรือไม่ได้ แต่หมายความว่า เมื่อทำแล้วจะเกิดรายได้ จึงคืนหนี้ได้ คืนทุนได้”

 

     รายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  https://www.right-livelihoods.org/chanchage-leadership/%e0%b8%9c%e0%b8%b9%e0%b9%89%e0%b8%99%e0%b8%b3-%e0%b8%99%e0%b8%b3%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%88%e0%b8%a2%e0%b8%99%e0%b9%81%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%87-%e0%b8%a3%e0%b8%b8%e0%b9%88%e0%b8%99%e0%b8%97%e0%b8%b5%e0%b9%88-11/


กลับสู่หน้าหลัก โครงการผู้นำ นำการเปลี่ยนแปลง คลิก


ติดตามข้อมูลข่าวสานของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods</span

Back To Top