skip to Main Content
02-530-9204 sammachiv.pr@gmail.com
“เจอ-แจก-จบ”โรคระบาดฉุกเฉิน เพิ่มทางเลือกใหม่สู้ภัยโควิดโอมิครอน

“เจอ-แจก-จบ”โรคระบาดฉุกเฉิน เพิ่มทางเลือกใหม่สู้ภัยโควิดโอมิครอน

“เจอ-แจก-จบ”โรคระบาดฉุกเฉิน

เพิ่มทางเลือกใหม่สู้ภัยโควิดโอมิครอน

 

นับตั้งแต่โควิคระบาดในไทยเมื่อต้นปี 2563 เรื่อยมาถึงปัจจุบันปี 2565 รวมเวลา 2 ปีต่อเนื่อง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) หน่วยงานหลักได้ต่อสู้ ควบคุมการแพร่ระบาด และรักษาผู้ติดเชื้อฟรี โดยมาตรการที่นำมาใช้ก็ปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์รุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน แต่หลักๆแล้วขึ้นอยู่กับปัจจัย“ความพร้อม”ในการดูแลประขาชนเป็นสำคัญ

 

ช่วงโควิดระบาดมา 2 ปีแนวทางของ สธ.เน้นหนักไปด้านการ “ควบคุม” โดยสร้างโรงพยาบาลสนามกักกันผู้ติดเชื้อ ปลุกโหมมาตรการบับเบิ้ลแอนด์ซีล (Bubble and Seal) ป้องกันการลุกลามแพร่เชื้อในวงกว้าง เน้นให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย พร้อมตอกย้ำให้ล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์และเว้นระยะห่าง

 

ย้อนมาตรการ สธ.รับมือโควิด

แนวทางต่อสู้กับโควิดผ่านไป 1 ปีเมื่อปี 2563 สธ.ต่อสู้อย่างได้ผล มั่นใจคุมโควิดอยู่ จำนวนผู้ติดเชื้อทั่วประเทศมีจำนวนหลักร้อยคน ซึ่งไม่มาก ส่วนผู้เสียชีวิตมีแค่หลักสิบ เสียงชื่นชมดังกระหึ่ม รัฐบาลเริ่มเยินยอตัวเองจัดการคุมโควิดให้เป็นเพียงโรคไข้หวัดใหญ่จนอยู่หมัด แล้วความหย่อนยานก็เกิดขึ้น การแพร่เชื้อแบบคลัสเตอร์จากคนงานต่างชาติ และในปี 2564 การระบาดใหญ่ด้วยสายพันธุ์ “เดลตา” ได้เขย่าขวัญระบบสาธารณสุขไทยในขณะที่ไม่มีวัคซีนมาฉีดสร้างภูมิคุ้มกันประชาชน

 

เสียงตำหนิความเชื่องช้าในการจัดหาวัคซีนดังกลบเสียงโอ้อวด “โควิดโรคกระจอก”ของรัฐบาลมากขึ้น สังคมถามหาวัคซีนอยู่ไหน ทำไมไม่ได้ฉีด รัฐบาลได้แต่ปลอบประโลมเดี๋ยวมาฉีดให้เต็มแขน แต่รอแล้วรอเล่า ผู้ติดเชื้อมากขึ้นเป็นหมื่นต่อวัน โรงพยาบาลสนามขาดแคลน คนป่วยสีเหลืองขยับไปสีแดงมากจนโรงพยาบาลรับมือไหว ห้องไอซียูมีไม่เพียงพอกับการรักษาชีวิตผู้ป่วยหนัก คนเสียชีวิตเพิ่มเป็นหลักร้อย

 

ในยามนั้นวัคซีนเป็นสิ่งต้องการของประชาชน สังคมกระตุ้นรัฐบาลรีบจัดหาให้เพียงพอ สธ.คิดสูตรใหม่ใช้มาตรการ “ฉีดไขว้”วัคซีนต่างชนิดกันระหว่างเข็มหนึ่งกับเข็มสอง ซึ่งแนวทางเช่นนี้คือ การบริหารจัดการวัคซีนที่มีเล็กน้อยจาการซื้อ “แอสตร้า” เป็นตัวยืนพื้น แล้วมี “ซิโนแวค” ทั้งซื้อและบริจาคจากจีนมาผสมส่วนได้ยื้อเวลาไปเป็นเดือนๆ เพื่อรอแอสตร้าส่งมาตามล็อตการสั่งซื้อของรัฐบาล

 

เมื่ออุปสรรคการต่อสู้กับโควิดอยู่ที่วัคซีน ซึ่งมีน้อย (ในช่วงนั้น) พร้อมทั้งผู้ติดเชื้อมีมาก โรงพยายบาลสนามเต็ม คนนอนรอการรักษาที่บ้าน ข้างถนนอย่างหดหู่ใจ แนวทางของ สธ.ผุดขึ้นมาอีกด้วยมาตรการสร้างระบบรักษาตัวที่บ้าน Home Isolation (HI) และตามมาด้วยศูนย์พักคอย  (Community Isolation : CI) มารองรับอุปสรรคการกักตัวที่บ้าน อีกทั้งเสริมมาตรการแจก ATK ให้ประชาชนไปตรวจหาเชื้อเอง เพื่อป้องกันไม่ให้ไปรอตรวจหาเชื้อแน่นโรงพยาบาล ซึ่งส่อถึงแนวโน้มระบบสาธารณสุขล้มเหลว

 

 

มาถึงวันนี้และเริ่มมาตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 เป็นต้นไป สธ.ออกมาตรการใหม่มาอีกชุดหนึ่ง เป็นแนวทางที่เรียกว่า “เจอ-แจก-จบ” ราวกับต่อยอดชื่อเรียกการประกันภัยโควิด “เจอ-จ่าย-จบ” ที่ทำให้บริษัทประกันภัยล้มพังย่อยยับไม่เป็นท่ามาแล้ว

 

แนวทาง “เจอ-แจก-จบ” ของ สธ.นั้น เป็นมาตรการ “ทางเลือกใหม่” ในการรักษา คุมควบ สกัดโควิดโอมิครอนแพร่ระบาด ดูเหมือนแนวทางนี้ผุดขึ้นมาเสริมระบบ HI และ CI เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับโควิด และเตรียมความพร้อมไปสู่การประกาศให้โควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” ในอีกราว 4-5 เดือนข้างหน้า ซึ่งแปลว่า รัฐบาลจะไม่รักษาฟรีให้ประชาชนอีกต่อไป

 

“เจอ-แจก-จบ” เตรียมพร้อมสู่โรคประจำถิ่น!

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ.ประกาศใช้มาตรการเจอ-แจก-จบ ตั้งแต่ 1 มี.ค. 2565 โดยแนวทางนี้มีชุดความคิดหลักอยู่ที่ “การเลือกใช้ยารักษาตามอาการผู้ติดเชื้อ” ที่ผ่านการวินิจฉัยจากหมอที่ลงความเห็นการติดเชื้อใน 3 ระดับ และให้โรงพยาบาลต่างๆรักษาแบบ OPD case หรือแบบผู้ป่วยนอก คือ เจอผู้ติดเชื้อ ให้จ่ายยา แล้วให้กลับบ้านไปทานยาดูแลตนเองและกักตนเอง โดยไม่ต้องเข้าระบบ HI ที่มีเจ้าหน้าที่ดูแล

 

 

การแจกยาทั้ง 3 ระดับนั้น ประกอบด้วย ยาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการมาก  แจกยาฟ้าทะลายโจรสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย และแจกยารักษาตามอาการเช่นยาไข้ ยาไอ ยาลดน้ำมูก สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการ สิ่งสำคัญอีกส่วนหนึ่งคือ แนวทางทางเลือกใหม่นี้ ชมรมแพทย์ชนบท มีความเห็นสอดคล้องกับ สธ. โดยเชื่อมั่นว่า จะนำพาประชาชนไปสู่การอยู่ร่วมกับโควิด อีกทั้งยังลดภาระของสถานบริการ ลดค่าใช้จ่ายภาครัฐที่ต้องใช้งบเงินกู้มาช่วยดูแลประชาชน

 

แม้ในความเห็นพ้องของชมรมแพทย์ชนบท แต่ยังมีข้อเสนอแนะให้ สธ. เร่งสื่อสารให้ชัดเจนว่า “แนวทาง เจอ-แจก-จบ” เป็นอีกแนวทางทางเลือกใหม่สำหรับการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดแบบ OPD case แต่ต้องไม่ใช่แนวทางหลักหรือแนวทางเดียวของการดูแลผู้ป่วยโควิด เพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือการสื่อสารที่ขาดความชัดเจน  

 

ข้อสรุปของชมแพทย์ชนบทมีว่า การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดของประเทศไทย จะประกอบด้วย การ admit เข้าโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม CI-HI หรือรักษาแบบ OPD case (เจอ-แจก-จบ) ตามแต่ดุลยพินิจของแพทย์หรือวิชาชีพสุขภาพจะพิจารณา ให้สอดคล้องกับบริบททั้งของผู้ป่วย การระบาด และความเพียงพอของเตียงและกำลังคนในสถานพยาบาล

 

“เจอ-แจก-จบ” ต้องเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

ในความห่วงกังวลของชมรมแพทย์ชนบทได้เน้นหนักไปที่ประการสำคัญของแนวทาง “เจอ-แจก-จบ” คือ การหย่อนมาตรการการควบคุมโรค เพราะการอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับไปกักตัวเองและดูแลตนเอง 10 วัน เสมือนเป็นไข้หวัดทั่วไป อาจมีบางคนที่มีความจริงจังในการกักตัวน้อย หรือบางรายก็มีข้อจำกัดเรื่องที่พักที่คับแคบ ทำให้มีโอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคสูงขึ้น

 

ดังนั้นในพื้นที่ที่ยังมีการระบาดน้อย อาจต้องใช้การกักตัวใน CI หรือ HI ที่มีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขดูแล ซึ่งจะช่วยลดการระบาดได้มากกว่าการใช้แนวทาง “เจอ-แจก-จบ” อีกทั้งแนวทางนี้เป็นการรักษาแบบ OPD case หรือผู้ป่วยนอก ทำให้โรงพยาบาลต่างๆไม่สามารถขอรับค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิดจากงบการรักษาพยาบาลกองกลางของรัฐบาลได้ ต้องใช้งบจากเงินจัดสรรรายหัวตามสิทธิหลักประกันสุขภาพของกองทุนผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลเอง ซึ่งการรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ แม้ค่ายาจะไม่มาก แต่ค่าใช้จ่ายของชุด PPE รวมทั้งค่าจ้างค่าตอบแทนเจ้าหน้าที่ เป็นรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นมาจากระบบปกติ 

 

สิ่งสำคัญหากกระทรวงสาธารณสุขยืนยันว่า ต้องอยู่กับโควิดให้ได้ ด้วยการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) แทนการเป็นโรคระบาด  สธ.ต้องคุยกับนายกรัฐมนตรีให้ยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในการควบคุมโรคโควิดได้แล้ว เพราะหมดความจำเป็นและถอดโรคโควิดจากการเป็นโรคติดต่ออันตราย จึงจะทำให้เกิดความสมเหตุสมผล มิเช่นนั้นก็จะเกิดความลักลั่นสับสนของทั้งในระดับหลักการและในระดับปฏิบัติ

 

“เจอ-แจก-จบ” คืออีกทางเลือกในการดูแลผู้ติดเชื้อโควิด แต่ต้องไม่ตอกย้ำจนกลายเป็นทางหลักทางเดียวนะครับ..” ชมรมแพทย์ชนบท ตอกย้ำทิ้งท้าย

 


ติดตามข้อมูลข่าวสารของมูลนิธิสัมมาชีพเพิ่มเติมได้ที่:

 

 

https://www.facebook.com/sammachiv

https://www.facebook.com/chumchonmeedee

https://www.youtube.com/user/RightLivelihoods

 

Back To Top