“สามพรานโมเดล” ต้นแบบธุรกิจพบเกษตรกร สานพลังเครือข่าย “เกษตรอินทรีย์ยั่งยืน”
สวนสามพรานเป็นโรงแรมเก่าแก่ที่อยู่คู่เมืองนครปฐมมานาน เมื่อมีการสานต่อการทำงานจากทายาทซึ่งเป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ จึงได้มีแนวคิดให้เพิ่มพื้นที่ปลูกพืชผักออร์แกนิกไว้เองเพื่อบริการสำหรับลูกค้าที่เข้าพักในโรงแรม แต่เมื่อทดลองทำไปได้ระยะหนึ่งแล้วปริมาณพืชผลมีไม่เพียงพอกับความต้องการ จึงต้องแสวงหาพันธมิตรจากเกษตรกรในพื้นที่รอบข้าง เพื่อขอรับซื้อวัตถุดิบต่างๆ ที่ต้องการ
เมื่อคลุกคลีกับเกษตรกรจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จึงได้พบว่า ปัญหาของเกษตรกรไทยนั้นเป็นวงจรที่แก้ไขไม่เคยจบ เพราะคนปลูกไม่เคยกำหนดราคาผลผลิตได้ การใช้สารเคมีในการปลูกพืชทำให้สุขภาพย่ำแย่ หนี้สินท่วมท้น และที่สำคัญคือทำลายสิ่งแวดล้อมให้เลวร้ายลงไปทุกที แต่ “คุณอรุษ นวราช” กรรมการผู้จัดการสวนสามพราน เชื่อว่า ปัญหานี้แก้ได้แม้จะต้องใช้เวลาก็ตาม
สวนสามพรานโมเดลเป็นโมเดลธุรกิจที่ยั่งยืนบนพื้นฐานความเป็นธรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงภายใต้การขับเคลื่อนโดย มูลนิธิสังคมสุขใจด้วยทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ย้อนกลับไปในปี 2553 สวนสามพรานเริ่มสนับสนุนให้เกษตรกรในนครปฐมและจังหวัดข้างเคียง หันมาทำเกษตรอินทรีย์ภายใต้โครงการ สามพรานโมเดล ก่อนหน้านั้นเกษตรกรส่วนใหญ่ขายผลผลิตผ่านพ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคา ในขณะเดียวกัน เกษตรกรไม่สามารถควบคุมต้นทุนที่สูงขึ้นตามราคาสารเคมีได้ ทำให้มีปัญหาหนี้สินเพิ่มขึ้น สุขภาพและสิ่งแวดล้อมก็เสื่อมโทรมลง เกษตรกรส่วนใหญ่ติดอยู่ในวงจรแบบนี้มาทั้งชีวิตซึ่งถ้า 35% ของประชากรไทยคือเกษตรกร นี่ก็คือปัญหาใหญ่ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และสุขภาพของประเทศ
โครงการสามพรานโมเดล จะหาช่องทางการตลาดใหม่ๆ ให้กับเกษตรกร เป็นการเชื่อมตรงระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ผ่านห่วงโซ่คุณค่าเกษตรอินทรีย์บนพื้นฐานของธุรกิจที่เป็นธรรม ปัจจุบันช่องทางการตลาดมี ตลาดสุขใจ ตลาดสุขใจสัญจร โมเดิร์นเทรด สวนสามพราน โรงแรมในกรุงเทพฯ ศูนย์ประชุม และเว็บไซต์ Sookjai Organics
กล่าวโดยสรุป สามพรานโมเดลคือการสร้างเครือข่ายระหว่างเกษตรกรผู้ปลูกพืชผักผลไม้และวัตถุดิบทางการเกษตร ร่วมกับโรงแรมสวนสามพราน อธิบายแบบเข้าใจง่ายๆ คือเกษตรกรมีหน้าที่ส่งสินค้าให้กับโรงแรมเป็นหลัก แต่สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นคือ ความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายนี้ต้องยืนอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน เป็นการค้าที่เป็นธรรม โดยต่างฝายต่างไม่ขาดทุน กล่าวคือ โรงแรมได้วัตถุดิบออร์แกนิกที่ดีและปลอดภัยในราคาที่ใกล้เคียง (หรือแพงกว่าอีกแค่เล็กน้อย) เมื่อเทียบกับซื้อผักเคมี ส่วนชาวบ้านก็สามารถกำหนดราคาที่ตัวเองพอใจได้และนี่อาจเป็นครั้งแรกที่ชาวบ้านสามารถกำหนดราคาผลผลิตของตัวเองได้จริง
ส่วนประโยชน์ที่โรงแรมได้รับจากความร่วมมือกับเกษตรกรคือสามารถสื่อสารกับลูกค้าของโรงแรมได้อย่างเต็มที่ว่าเราเสิร์ฟอาหารออร์แกนิก นี่คือมูลค่าเพิ่มที่ลูกค้าได้รับ ได้กินอาหารที่ดี อาหารอร่อยและปลอดภัย ทางโรงแรมบอกได้ว่าอาหารชนิดนี้มาจากแหล่งไหน สามารถเพิ่มมูลค่าในมิติอื่นๆ ได้ด้วย เช่น สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร โดยการพานักเที่ยวไปเยือนแหล่งปลูกในเครือข่ายแบบ Exclusive trip รวมถึงทำ CSR สำหรับโรงแรมได้ด้วย
ในทางปฏิบัติฝ่ายจัดซื้อของโรงแรมกับเชฟได้ลงแปลงพบเกษตรกรไปทำงานด้วยกันเพื่อจะได้ประสานกับเกษตรกรว่ามีความต้องการแบบไหน มีผักอะไรทดแทนได้บ้าง หรือบางอย่างก็เป็นโอกาสที่จะได้เอาวัตถุดิบพื้นบ้านมาทดลองทำเป็นเมนูใหม่ๆ จะได้จุดขายอีกแบบคือความเป็นเอกลักษณ์ที่แตกต่าง แล้วนำเสนอคุณค่าโภชนาการที่โดดเด่น เป็นต้น
แต่มากกว่านั้น สิ่งที่สามพรานโมเดลมุ่งหวังจริงๆ คือการเพิ่มเครือข่ายผู้ผลิตเกษตรอินทรีย์ในพื้นที่ให้มากขึ้น เมื่อมีคนทำเกษตรอินทรีย์มากขึ้น สิ่งแวดล้อมย่อมดีขึ้น สุขภาพเกษตรกรดีขึ้น หนี้สิ้นลดลง เป็นประโยชน์ที่เอื้อเฟื้อไปสู่วงกว้าง นับจากการเริ่มต้นในปี 2553 จนถึงวันนี้สามพรานโมเดลมีเกษตรกรจากทั้งนครปฐมและจังหวัดใกล้เคียงรวม 11 กลุ่ม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ขณะนี้แนวคิดสามพรานโมเดลได้ขยายไปโรงแรมอื่นๆ มากมายภายใต้ชื่อโครงการ “ฟาร์ม ทูฟังชั่น” และโครงการอื่นๆ เอาไว้จะกล่าวถึงต่อไป
บทความโดย ทวี มีเงิน
ภาพประกอบจาก เว็บไซต์สวนสามพราน