“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีต ผอ.LFC คนแรก เล่าความหลังในงาน “รียูเนี่ยนLFC” ครั้งที่2
“สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” อดีต ผอ.LFC คนแรก
เล่าความหลังในงาน “รียูเนี่ยนLFC” ครั้งที่ 2 “มูลนิธิสัมมาชีพ และ LFC …จุดเริ่มต้นนโยบายพลังประชารัฐ”
สืบเนื่องจากในวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา มูลนิธิสัมมาชีพร่วมกับชมรมผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลงจัดงาน “สานสัมพันธ์คืนสู่เหย้าชาว LFC” รียูเนี่ยนชาว LFC ครั้งที่ 2ขึ้นที่ ห้องพฤกษชาติพระทรงชัย สถาบันวิชาการป้องกันประเทศ โดยในปีนี้ LFC รุ่นที่ 2 เป็นเจ้าภาพ
โดยได้รับเกียรติจาก “คุณสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในฐานะอดีตประธานกรรมการบริหารมูลนิธิสัมมาชีพ และผู้อำนวยการหลักสูตรผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change : LFC) คนแรก ให้เกียรติมาปาฐกถาพิเศษ “LFC to move Thailand” ด้วยบรรยากาศแบบเป็นกันเองฉันท์พี่น้อง
เนื้อหาทั้งหมดนี้เป็นบางช่วงบางตอนในการปาฐกถา ซึ่งท่านรัฐมนตรีนำเสนอในเฟสบุ๊ค ทางเว็บไซด์มูลนิธิสัมมาชีพเห็นว่า น่าจะเป็นประโยชน์กับพี่น้องชาว LFC ที่ไม่ได้มาร่วมงานและผู้ที่สนใจให้ได้รับทราบ ดังนี้
โครงการผู้นำ-นำการเปลี่ยนแปลง (Leadership for Change : LFC) ภายใต้มูลนิธิสัมมาชีพ เป็นหลักสูตรที่ผมเคยร่วมริเริ่มไว้เมื่อหลายปีก่อนครับ เพราะเชื่อมั่นในศักยภาพของทุกรุ่น ทุกสาขาอาชีพ ทั้งจากภาคราชการ ภาคธุรกิจ ท้องถิ่น ชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้มีแนวคิดขับเคลื่อนสังคมไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีๆ จุดประกายจากรุ่นสู่รุ่น สานพลังเป็นเครือข่ายเชื่อมโยงกันทั่วประเทศในปัจจุบัน
ผมมีโอกาสร่วมงาน LFC รียูเนี่ยนครั้งที่ 2 ก็ได้เล่าให้เครือข่ายฟังครับว่า มูลนิธิสัมมาชีพและ LFC สำคัญมาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบาย “พลังประชารัฐ” บูรณาการกลไกการทำงาน จนเกิดเป็นแนวทางของ “ประชารัฐรักสามัคคี” ที่มีองค์ประกอบของคนไทยทั่วประเทศ ทั้งภาคประชาสังคม ภาคราชการ และภาคเอกชน ไปจนถึงคนเล็กคนน้อย วันนี้ผมจึงอยากให้ภาคภูมิใจครับว่า…นี่คือการทำงานสร้าง “พลังที่แท้จริง”
ผมยังเปิดใจถึงเจตนารมณ์ในการเข้ามาทำงานการเมือง และการรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า ต้องการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของประเทศไทยนะครับ แม้สังคมเราจะประกอบไปด้วยคนหลากหลายฐานะ แต่ในขณะที่คนข้างบนทานอาหารได้ถึงมื้อละ 1-2 หมื่นบาท คนข้างล่างจำนวนไม่น้อยเลยครับ ที่ผมสามารถใช้คำว่า “ไม่มีจะกิน”
ผมเคยมีโอกาสนั่งพูดคุยกับผู้ที่ได้รับ “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” พวกเขามีชีวิตทุกข์ยาก รายได้ไม่พอรายจ่าย แถมหนี้สินติดตัว บางคนบอกว่าไม่มีแม้กระทั่งเงินซื้อน้ำมันมาทอดไข่ ต้องใช้น้ำเปล่านี่แหละครับมาทอดไข่ให้สุก ดังนั้น เงินที่ช่วยเหลือ 300 บาท จึงได้นำไปซื้อไข่ไก่ ข้าวสาร และน้ำมันพืชมาประทังชีวิตในแต่ละเดือน
คนไทยที่รายได้น้อยกว่า 3 หมื่นบาทต่อปี คิดเป็นรายได้เพียงเดือนละ 2-3 พันบาท ต่อวันก็แค่ 100 บาท ยังเทียบไม่ได้กับกาแฟสตาร์บัคที่พวกเราทานกันด้วยซ้ำไป…คนไทยที่ขาดโอกาส ช่วยเหลือตัวเองได้ยากกลุ่มนี้มีประมาณ 3 ล้านกว่าคนครับ แล้วเราจะทำอย่างไรให้พวกเขาก้าวข้ามเส้นรายได้ 3 หมื่นบาทนี้ขึ้นไปให้ได้ ?
ในโลกที่หมุนเร็วอย่างทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำนับวันก็จะยิ่งห่างมากขึ้น รุนแรงมากขึ้นอีก ถ้าเรามัวแต่มีค่านิยมเพียงว่าความมั่งคั่งคือความสำเร็จที่ทุกคนต้องตักตวง แล้วใครล่ะครับที่เอื้อมมือมาช่วยคนข้างล่าง อย่างที่ผมกล่าวถึงได้อย่างเต็มที่ มูลนิธิสัมมาชีพเพียงลำพังคงยาก
ถึงเวลาที่เราต้องสร้าง “แพลทฟอร์ม” ใหม่ร่วมกัน จับมือร่วมกับภาคส่วนที่มีหน้าที่ในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเหล่านี้ แล้วเดินไปด้วยกัน ผมเชื่อว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นแน่นอน ในไม่ช้าครับ